LGBTQ+ เป็นตัวอันตรายที่ต้องถูกเฝ้าระวังจริงหรือ?

LGBTQ+ เป็นตัวอันตรายที่ต้องถูกเฝ้าระวังจริงหรือ?

LGBTQ+ เป็นตัวอันตรายที่ต้องถูกเฝ้าระวังจริงหรือ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากกรณีที่นักเรียนชายในโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดเลย ถูกครูชายล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งแม้จะมีการลงโทษครูคนดังกล่าวแล้ว แต่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดกลับออกมาตรการป้องกัน โดยการทำหนังสือไปยังโรงเรียน 457 แห่ง ในจังหวัดเลย เน้นย้ำให้ผู้บริหารสถานศึกษาหมั่นตรวจสอบบุคลากรครูที่มีพฤติกรรม “เบี่ยงเบนทางเพศ” อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเกรงว่าจะมีการใช้ผลการเรียนหลอกล่อให้เด็กนักเรียนตกเป็นเหยื่อทางเพศ ส่งผลให้เป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความสมเหตุสมผลของมาตรการนี้

นอกจากความไม่สมเหตุสมผลแล้ว กรณีนี้ยังสะท้อนถึงปรากฏการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง ซึ่ง อ.ดร. ชเนตตี ทินนาม นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเพศภาวะ มองว่า กรณีนี้สะท้อนให้เห็นประเด็นต่างๆ 3 ประเด็น ได้แก่ การเลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ การแก้ปัญหาเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศที่ไม่ตรงจุด และการที่สังคมยังไม่เข้าใจสาเหตุของปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งเกิดจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่ากัน ไม่ใช่จากเพศสภาพ

เหยื่อของการเลือกปฏิบัติ

อ.ดร. ชเนตตีกล่าวว่า ประเด็นแรกที่พบในข่าวนี้คือ การเลือกปฏิบัติต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเมื่อผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศกระทำความผิด มักจะถูกปฏิบัติแบบสองมาตรฐาน หรือถูกตีตราทางสังคมอย่างรุนแรงมากขึ้น โดยตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การที่ผู้บริหารด้านการศึกษาของจังหวัดให้สัมภาษณ์โดยใช้คำว่า “เบี่ยงเบนทางเพศ” ซึ่งเป็นคำที่องค์การอนามัยโลกประกาศยกเลิกไปนานแล้ว

“คำว่าเบี่ยงเบนทางเพศเป็นคำที่องค์การอนามัยโลกยุคก่อนหน้านั้นนิยามตามทฤษฎีของจิตแพทย์ ว่าถ้าเป็นคนรักเพศเดียวกัน คือการป่วยทางจิต ซึ่งเขายกเลิกแล้ว เพราะว่ามันไม่ใช่พฤติกรรมที่ป่วยทางจิต แต่มันเป็นรสนิยมที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ” อ.ดร. ชเนตตีระบุ และเสริมว่า นอกจากการตีตราโดยใช้คำพูดแล้ว ยังมีการสร้างภาพของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศให้ดูวิปริต น่ากลัว ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตด้านอื่นๆ ของบุคคลผู้นั้น โดยเฉพาะในเรื่องการทำงาน

“การตีตราซ้ำให้ข่าวนี้มีความน่ากลัว มีความวิปริต เพิ่มความวิตกกังวลแก่สังคมมากขึ้น อาจจะไปกระทบกับวิถีชีวิตด้านอื่นๆ ของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งอาจทำให้เขาถูกใช้ความรุนแรงในรูปแบบอื่นๆ ตามมา สมมติว่าเป็นครู ครูคนนี้อาจจะถูกเลือกปฏิบัติ เช่น อาจจะไม่ได้รับการปรับเงินเดือนหรือเลื่อนขั้น หรือพิจารณาให้ต่ำกว่ากลุ่มชายหญิง หรือแม้แต่การพิจารณาเลือกรับเข้าทำงาน สอบบรรจุเป็นข้าราชการครู อาจจะไม่ผ่านก็ได้” อ.ดร.ชเนตตีกล่าว

ทางแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด

ในขณะที่ผู้หลักผู้ใหญ่พยายามเฝ้าระวังครูที่มีความหลากหลายทางเพศ สิ่งหนึ่งที่ถูกมองข้ามไปก็คือปัญหาที่แท้จริงอย่าง “การล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียน” ซึ่งอาจส่งผลในระยะยาวอย่างคาดไม่ถึง

การเฝ้าระวังครูที่มีลักษณะหลากหลายทางเพศ ทำให้เราไม่ได้ไปแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือการล่วงละเมิดทางเพศ เราควรย้อนถามว่าโรงเรียนมีนโยบายหรือมีแนวทางปฏิบัติที่จะเป็นการป้องกันล่วงหน้าหรือไม่ มาตรการนั้นต้องเป็นมาตรการที่เด็กมีส่วนร่วม และให้ความรู้ว่าถ้าเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น เขาจะไปร้องเรียนที่ไหน จะปรึกษาใครเป็นอันดับแรก แล้วครูจะมีมาตรการอะไรให้ตัวเองอยู่ภายใต้กรอบจริยธรรมของอาชีพ” อ.ดร.ชเนตตีให้ความเห็น

ยิ่งกว่านั้น ประเด็นย่อยที่ อ.ดร.ชเนตตีรู้สึกว่ายังไม่ถูกนำเสนอในสื่อ ได้แก่ “การล่วงละเมิดทางเพศในเด็กผู้ชาย” ซึ่งมักจะไม่ถูกพูดถึงมากนักในแทบทุกพื้นที่

สังคมชายเป็นใหญ่ปลูกฝังให้ผู้ชายตั้งแต่วัยเด็ก ต้องเข้มแข็ง เป็นผู้นำ ต้องมีบทบาทนำในเรื่องเพศ จะถูกล่วงละเมิดทางเพศไม่ได้ ดังนั้น เมื่อถูกล่วงละเมิดทางเพศ เขาจะปิดเรื่องนี้เป็นความลับ ไม่กล้าร้องเรียน หรือแจ้งความดำเนินคดี เพราะกลัวจะถูกมองว่าเป็นลูกผู้ชายที่ล้มเหลว ที่สำคัญอีกอย่างคือ เด็กผู้ชายหลายคนที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ จะรู้สึกกลัวว่าคนจะคิดว่าเขาเป็นเกย์ ก็จะเงียบเสียงของเขาลง ไม่บอกพ่อแม่ ไม่บอกครู ไม่กล้าไปแจ้งความ เพราะกลัวสังคมจะเข้าใจว่าเขาเป็นเกย์ มีสถิติจากทั่วโลกที่ระบุว่าเด็กผู้ชายที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศก็เสียใจ วิตกกังวล และไม่มีความสุขจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ เท่าๆ กับที่เด็กผู้หญิงรู้สึก แต่ข่าวนี้กลับถูกเบี่ยงให้เป็นเรื่องของความเบี่ยงเบนทางเพศ เราคิดว่ามันกำลังหลงทาง” อ.ดร.ชเนตตีกล่าว

ต้นเหตุที่แท้จริงคือ “อำนาจ”

นอกเหนือจากการเลือกปฏิบัติและการแก้ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศที่ไม่ถูกจุดแล้ว มาตรการเฝ้าระวังดังกล่าวยังทำให้สังคมไม่เกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับสาเหตุที่แท้จริงของการล่วงละเมิดทางเพศ นั่นคือ “ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่ากัน” ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับเพศสภาพหรือรสนิยมทางเพศแต่อย่างใด

“การคุกคามทางเพศทั้งหมด คือรูปแบบของการใช้อำนาจเหนือ การที่คนคนหนึ่งกล้าที่จะไปคุกคามทางเพศคนอื่น ตั้งแต่ระดับวาจา สายตา สัมผัสร่างกาย หรือข่มขืน นั่นแปลว่าคนคนนั้นเชื่อว่าเขามีอำนาจเหนือบุคคลที่เป็นเหยื่อ เราก็ต้องย้อนกลับไปดูว่าอะไรที่สอนให้คนรู้สึกว่ามีอำนาจเหนือ และใช้อำนาจนั้นคุกคามทางเพศคนอื่น อย่าไปวิเคราะห์ว่า เป็นเพราะเขาเป็นคนรักเพศเดียวกัน คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะล่วงละเมิดทางเพศคนอื่น ต้องมีความต้องการทางเพศสูง นี่คือมายาคติ เพราะในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าคุณจะอยู่ในเพศสภาพแบบไหน ไม่ว่าคุณจะมีรสนิยมทางเพศแบบไหน คุณสามารถที่จะเป็นผู้กระทำความรุนแรงทางเพศต่อคนอื่นได้

อ.ดร.ชเนตตีอธิบายต่อว่า การล่วงละเมิดทางเพศมักเกิดขึ้นในสังคมที่มีการสร้างช่วงชั้นทางสังคม อย่างเช่นสังคมไทย ที่มีการให้อำนาจแก่ผู้อาวุโส เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีอำนาจมากกว่ากระทำการคุกคามทางเพศต่อผู้ที่ด้อยกว่า

“การคุกคามทางเพศเกิดได้ในกรณีที่ผู้ใหญ่กระทำกับเด็ก เช่น ในโรงเรียน ครูก็เป็นผู้อาวุโส สถานะบทบาทของอาชีพก็เป็นตัวการใช้อำนาจอีกอย่างหนึ่ง เช่น ผู้บังคับบัญชาคุกคามทางเพศผู้ใต้บังคับบัญชา ตำแหน่งของครูกับความเป็นลูกศิษย์ หรือมิติของเพศ เช่น เพศชายก็มีแนวโน้มที่จะกระทำความรุนแรงทางเพศได้มากกว่าเพศหญิง หรือแม้กระทั่งฐานะทางเศรษฐกิจ คนที่มีรายได้สูงกว่า นายจ้าง หรือคนรวย ก็สามารถใช้อำนาจไปคุกคามทางเพศคนอื่น หรือความสัมพันธ์ที่มันไม่เท่ากัน เช่น พ่อข่มขืนลูกสาว พี่ชายข่มขืนน้องสาว สามีข่มขืนภรรยา” อ.ดร.ชเนตตีอธิบาย

วัฒนธรรมอำนาจร่วม

เมื่อการเฝ้าระวังพฤติกรรมของครูไม่ใช่ทางออกของปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในโรงเรียน อ.ดร.ชเนตตี เสนอว่า การแก้ปัญหานี้สามารถทำได้โดยปลูกฝัง “วัฒนธรรมอำนาจร่วม” ซึ่งเป็นการจัดการระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่ากัน ด้วยการมองว่าคนทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่ากัน ไม่มีใครมีอำนาจเหนือกว่าใคร

“โรงเรียนต้องสอนเรื่องความสัมพันธ์ในเชิงอำนาจ เราไม่ค่อยสร้างวัฒนธรรมอำนาจร่วม เพราะกลัวศิษย์จะมาล้างครู กลัวเด็กจะขาดความกตัญญู ดังนั้น โรงเรียนก็จะเป็นพื้นที่ที่ใช้อำนาจเหนือทุกอย่าง แม้กระทั่งเรื่องเพศ เพราะฉะนั้นมันควรที่จะมาทบทวนวิธีคิดตรงนี้ใหม่ การเฝ้าระวังครูที่มีความหลากหลายทางเพศ ทำให้ประเด็นถูกเบี่ยงไปที่เรื่องเพศสภาพ ไม่ได้มาดูองค์ประกอบของปัญหาที่แท้จริง แล้วก็จะไม่สามารถวิเคราะห์ไปได้ถึงสถานการณ์ และหลายเรื่องก็ถูกทำให้สูญหายไปเลย แล้วเราจะไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ สุดท้ายมันก็จะมีกรณีที่สอง สาม สี่ ห้า ไม่รู้จักจบสิ้น” อ.ดร.ชเนตตีกล่าว

สุดท้าย อ.ดร.ชเนตตียืนยันว่าความหลากหลายทางเพศไม่ได้มีผลเสียต่ออาชีพครูแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม การที่มีครูที่มีความหลากหลายทางเพศอยู่ในโรงเรียนกลับก่อให้เกิดผลดีต่อการศึกษามากกว่า

“โรงเรียนควรจะมีครูที่มีเพศสภาพหลากหลายอยู่ในโรงเรียน ทั้งหญิงชาย โฮโมเซ็กชวล ทอม เลสเบี้ยน ผู้ชายข้ามเพศ ผู้หญิงข้ามเพศ เพราะว่าสังคมมันเปลี่ยน แล้ววิถีชีวิตในโลกทุกวันนี้เราให้คุณค่ากับความหลากหลาย ถ้าเรามีครูที่มาจากลักษณะทางเพศสภาพที่แตกต่างหลากหลาย จะยิ่งเป็นประโยชน์ต่อการเสริมภูมิทางสังคมให้กับเด็ก ยิ่งโรงเรียนเชิดชูความหลากหลายทางเพศ ก็จะยิ่งผลิตนักเรียนที่จะเป็นบุคคลที่เคารพความเป็นมนุษย์ เคารพความแตกต่างของคนที่อยู่ร่วมกันในสังคม

“ถ้าเราเชื่อว่าคุณครูคือต้นแบบที่จะวางรากฐานที่สำคัญในการที่เด็กจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ครูที่มีความหลากหลายทางเพศก็จะได้ใช้ตัวเองเป็นตัวอย่าง จำลองความเป็นมนุษย์ที่หลากหลายให้เด็กเห็น ได้เรียนรู้ ได้เคารพตั้งแต่ต้น ก็จะกลายเป็นสิ่งที่ดีสำหรับสังคมในวันข้างหน้า” อ.ดร.ชเนตตีสรุป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook