นางมอย | ซึมเศร้า สู่ชีวิตเอนจอย สไตล์จอมเทียน
สถิติที่ทำเทยตกใจมากๆ ก็คือความป่วยของโลกในปี 2019 นี้ ภาวะเจ็บป่วยทางจิต ซึมเศร้า ความ Blue ในสภาวะทางอารมณ์กลายเป็นโรคที่กำลังคุกคามมวลมนุษยชาติเป็นอย่างมาก เทยเองก็เชื่อว่าหลายๆ คนก็คงเคยอ่าานคอลัมน์ที่พูดถึงโรคซึมเศร้า ภาวะซึมเศร้า หรือข่าวอันน่าสลดใจเกี่ยวกับเหยื่อของโรคนี้อะไรตั่งต่างมามากแล้ว คราวนี้เทยเลยอยากจะลองหาวิธีมองมุมใหม่ พาทุกคนมารับรู้ว่าจริงๆ แล้ว โรคซึมเศร้า มันหายได้ เพราะคนใกล้ตัวของเทยคนหนึ่งนางหายดีแล้วและกำลังใช้ชีวิตอย่างแฮปปี้ดี๊ด๊า ปกติสุขอยู่มากค่ะ
วันนี้เทยเลยอยากพามารู้จักกับน้องจอม จอมเทียน จันสมรัก อดีตผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ที่หลายๆ คนอาจจะเคยเห็นหน้าเธอมาบ้างในโซเชียลมีเดีย และข่าวที่เกี่ยวข้องกับคอนเทนต์ซึมเศร้าเนอะ ซึ่งเทยกับน้องจอมเรารู้จักกันมาก่อนค่ะ เลยแอบดึงตัวนางมาเมาท์มอยตามประสาคนคุ้นเคยในบรรยากาศสบายๆ
น้องจอมเคยป่วยเป็นโรคซึมเศร้าตามคำวินิจฉัยของแพทย์ในอาการ Major Depressive Disorder ซึ่งเธออยู่ในอาการของโรคนี้แบบตามคำวินิจฉัยมาทั้งสิ้น 3 ปี แต่เอาเข้าจริงเธอก็มีอาการมาก่อนที่จะถึงมือของแพทย์เสียอีก เธอโด่งดังจากการเขียนบทความเรื่อง “60 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ฆ่าตัวตายสำเร็จ” จากเฟซบุ๊กส่วนตัวของเธอ แล้วมีคนแชร์จนกลายเป็นไวรัลเฉยเลย ก็คือโดนไปประมาณ 43,000 แชร์ ภายในไม่กี่สัปดาห์ และจนถึงปัจจุบัน คอนเทนต์ของเธอก็ยังมีการพูดถึงอยู่ไม่น้อย
ปัจจุบันน้องจอมหายป่วยแล้ว หยุดยามาได้ปีกว่า เรามาอัปเดตชีวิตหลังม่านหมอกของเธอกันหน่อย
ตอนนี้จอมทำอะไรอยู่ ชีวิตดูหลั่นล้าเว่อร์ มาอัปเดตชีวิตช่วงนี้ให้ฟังหน่อยจ้า
“ตอนนี้จอมเป็น Content Creator ค่ะ แล้วก็อยู่ในช่วงเตรียมเรียนต่อ แล้วก็กำลังต่อสู้กับศาลยุติธรรมเพื่อย้ายสัญชาติอยู่ค่ะ”
มองกลับไป คิดว่าอะไรที่ทำให้คนแชร์บทความนั้นกันมากมาย
“เพราะว่าอันนั้นเราเขียนเพราะว่าเรายังเป็นเด็กอยู่ เรายังมีความเศร้าและความเด็กอยู่มาก และเรายังมีความกล้าที่จะพูดเรื่องความเศร้าด้วย มันเลยกลายเป็นว่าเราได้ไปเล่าในสิ่งที่หลายๆ คนเขาเป็น แต่ไม่กล้าเล่าออกมา คนก็เลยยิ่งแชร์กันใหญ่เลย แต่พอมาตอนนี้ให้หนูเขียนแบบนั้น หนูเขียนไม่ได้แล้วนะ ไม่รู้เพราะว่าตัวเองโดนตีกรอบจากสังคมหรือเปล่า หรือโตขึ้นหรือเปล่า คือตอนนี้หนูก็จะเริ่มกลัวคอมเมนต์มากขึ้น แบบกลัวว่าเขียนแล้วจะถูกใจคนหรือเปล่า ก็เลยพักงานเขียนไปเป็นปีเลย หลังจากดังในโซเชียลมีเดียมา 3-4 ปี ช่วงปีที่แล้วเป็นปีที่กังวลมากค่ะ”
รู้สึกยังไงบ้างกับการที่เราผ่านตรงนั้นมา
“ข้อแรกเลย เวลาหนูมองกลับไปเห็นคนที่ป่วย หนูจะรู้สึกหลายๆ ครั้งเลยว่า เออ เดี๋ยวเขาก็ผ่านไปได้แหละ จะไม่ค่อยอินกับคนที่เศร้ามากเหมือนแต่ก่อนแล้ว เมื่อก่อนเวลามีคนหลังไมค์มาหาหนู หนูอินไปกับความเศร้าของเขานะ แต่พอมาตอนนี้มามองกลับไป หนูรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นคนแก่ที่มองเด็กๆ อ่ะพี่เทย แล้วทีนี้คนก็ไม่ค่อยชอบหนูละ เวลาที่หนูเขียนแบบหนูสตรองแล้ว อะไรแบบนั้น เพราะเขายังอยากให้เราอินกับความเศร้าของเขาอยู่”
แต่ด้วยความที่เรารู้จักกัน เทยเห็นจอมหลังจากหายป่วย คือได้ใช้ชีวิตมากขึ้น ได้ไปเที่ยว ไปอะไรต่างๆ ไปไหนมาบ้าง ไหนมอยซิ
“ไปญี่ปุ่น ไปเยอรมนี ไปอยู่กับพ่อมาสามเดือนค่ะ ซึ่งพ่อเสียแล้วค่ะ แล้วก็ไปอยู่กับญาติมาสามเดือน จบปมในชีวิตไปเรื่องนึง แล้วก็ได้ไปเที่ยวพม่ามาสามอาทิตย์ค่ะ”
แล้วพอได้ใช้ชีวิตหลังความมืดแล้ว เธอว่ามันเหมือนหรือต่างกันยังไงบ้างอ่ะเธอ
“จอมได้พึ่งตัวเองมากขึ้นเยอะเลยอ่ะค่ะพี่เทย เหมือนแบบถ้าคนเป็นซึมเศร้าเขาก็จะอยู่ในห้องคนเดียว เหมือนแบบเขาต้องรอให้ชีวิตพร้อมก่อน แล้วค่อยทำอะไรได้ แต่ก่อนหนูเป็นแบบนั้น ซึ่งก่อนหนูจะหายป่วยประมาณครึ่งปีหนูปลงละว่าแบบ เฮ่ย ยังไงเรารอไม่ได้ ยังไงเราก็ต้องทำงาน และไอ้จุดเปลี่ยนที่ว่ายังไงก็ต้องทำนี่แหละ เป็นจุดที่ทำให้หนูหายในเวลาต่อมา ซึ่งหนูเริ่มทำงานมาแล้วก็พบว่ายังมีกลิ่นจากโรคซึมเศร้ามาเหมือนกันนะ เพราะเหมือนว่าตอนเราป่วย เราจะรู้สึกเหมือนว่าต้องมีคนดูแล ให้ความสนใจ หรือว่ามีข้ออ้างในการทำตัวขี้เกียจ คือเอาจริงๆ คนที่หายป่วยแล้วไม่ยอมหายซะทีก็ติดนิสัยนี้เหมือนกัน แถมมันยากด้วยที่ตัวเองจะยอมรับว่าติดกับมัน เพราะงั้นหนูก็เลยเลิกพูดไปเลยว่าเคยป่วย พยายามเลิกพูดถึงมัน และใช้มันเป็นข้ออ้าง ถึงแม้ว่ามันมีผลจริง แต่หนูเลิกใช้มันเป็นข้ออ้างเพื่อเอาตัวกลับไปมีภาวะซึมเศร้าละ”
แล้วอย่างการไปหาคุณพ่อที่เยอรมนี ไปจัดการเรื่องศพ หรือการได้เดินทางไปเที่ยวที่ต่างๆ เนี่ย คิดว่ามันช่วยเรื่องนี้บ้างป่ะคะหนู
“จอมว่าการเที่ยวคือการไปเผชิญหน้ากับปัญหาอ่ะค่ะ อย่างตอนไปเยอรมนีเพื่อจัดการเรื่องพ่อ เวลาจอมเศร้าจอมหลบอยู่ในห้องไม่ได้นะ คือเรามีเวลาจำกัดมากในการเดินทางไป ใช้เวลาอยู่ที่โน่น และกลับ คือเราต้องเจอปัญหาตั้งแต่ขอวีซ่าแล้ว หนูว่าการเที่ยวคือการสอนให้เราเผชิญกับปัญหาโดยไม่หลบ และที่สำคัญคือมันเบี่ยงเบนความสนใจเราออกจากตัวเอง ไปสู่ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในที่ต่างๆ ทั่วโลกมากขึ้น อย่างตอนหนูไปพม่า หนูเห็นปัญหาเรื่องสภาพอากาศของเขา เห็นชัดมากว่าที่พม่ามีแต่ฝุ่น แล้วก็มองเห็นเลยว่าประชาชนของเขาไม่เห็นเหมือนที่เราเห็นว่าอากาศของเขามีปัญหา คืออากาศเขาแย่กว่ากรุงเทพด้วยซ้ำ แต่เขาไม่มีความรู้ตรงนี้ เขาก็ยังเผาป่ากันต่อไป หรือแม้แต่ที่เยอรมนี ตอนที่ไป จอมเจออุณหภูมิ 40 องศา นี่คือปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาโลกร้อน ซึ่งทำให้หนูเห็นปัญหาที่ใหญ่กว่าตัวหนูมาก”
งี้เราสามารถพูดได้ป่ะ ว่าการออกไปจากพื้นที่ของตัวเองเนี่ย มันช่วยเรื่องสุขภาพจิต หรืออาจจะช่วยแก้โรคซึมเศร้าได้
“ได้ค่ะ หนูว่าได้ ในชีวิตคนคนหนึ่งไม่ว่าเขาจะเป็นโรคซึมเศร้าด้วยสาเหตุจากอะไรก็ตาม ถ้าคุณเศร้าจนไม่มีเวลาทำกับข้าวให้ตัวเอง หรือออกไปหาอะไรกิน หรือเที่ยว แสดงว่าชีวิตคุณมีปัญหาละ ชีวิตมันต้องบาลานซ์กันให้ได้ คือคนเป็นโรคนี้จะไม่ค่อยกล้าทำอะไรเท่าไหร่ แม้แต่การให้รางวัลตัวเอง ไม่เป็นไรหรอก ไปเหอะ ถ้าเรียนพัง งานพัง ก็ออกไปหาอะไรทำเถอะ ไปเที่ยว ไปอะไรก็ได้”
มาเรื่องความรักกันบ้าง ฟีลดารา จอมเองก็มีเรื่องรักๆ เลิกๆ อยู่เหมือนกัน เท่าที่พี่เทยเคยผ่านๆ ตา ตอนนี้เห็นว่าหลายคนที่มีปัญหาซึมเศร้า ก็มีเรื่องความรักมาเกี่ยวข้อง ในฐานะที่เธอก็ผ่านมาได้แล้ว คิดว่ามันจริงไหม ที่ว่าคนอกหักทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้ง่าย ถึงขั้นอาจเป็นโรคซึมเศร้าต่อได้เลย
“เป็นภาวะซึมเศร้าได้มากกว่าค่ะ เพราะว่าเวลาอกหักเนี่ย คำถามหลักเลยคือ ทำไมเขาถึงไม่รักเรา เราไม่ดีพอหรือเปล่าเขาถึงไม่รัก ไอ้ความรู้สึกที่ว่าทำไมตัวเองดีไม่พอนี่แหละค่ะ เป็นบ่อเกิดได้ แต่หนูรู้สึกว่าอกหักแล้วเป็นโรคซึมเศร้า อืม… หนูก็พูดไม่ได้แล้วแหละ ว่ามันเป็นปัญหาเล็กๆ ถึงแม้ว่าในใจหนูจะมีเสียงแว่วว่าแบบ เออ มันเป็นปัญหาเล็กๆ นะ แต่เนี่ยแหละ ก็คือความเปลี่ยนแปลงของตัวหนูเอง ที่ทำให้หนูมีการชั่งตวงปัญหาเล็ก ปัญหาใหญ่รอบตัวได้ แต่ก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะมันทำให้หนูไปตัดสินปัญหาคนอื่นว่าเป็นเรื่องเล็กได้ง่ายอยู่เหมือนกัน”
เห็นว่ามีคนหลังไมค์มาปรึกษาเรื่องซึมเศร้าเยอะมาก และหลายที่คงถามเคสที่น่าสลดใจหรือน่ากลัวไปมากแล้ว แต่พี่เทยอยากรู้ว่ามีเคสไหนไหม ที่กลายเป็นเรื่องตลกเฉยเลย
“มีพี่เทย ติดอยู่ในใจตลอด (หัวเราะ) มีผู้หญิงคนหนึ่ง นางทักมาปรึกษาเรื่องป่วย แล้วก็มีปัญหากับแฟน แล้วอยู่ดีๆ แชทเดิมนั่นแหละ ภาษาก็เปลี่ยนไป เหมือนมาถามว่า ทำไมต้องมาคุยแบบนี้ด้วย ตอนแรกหนูก็งงๆ จนมาเก็ตว่า มันคือแฟนเขานั่นแหละ คือเขาใช้แชทเดียวกัน เหมือนล็อกอินมาจากอีกที่ คือคู่นี้เขาเป็นคู่เลสเบี้ยนกันด้วยนะ แล้วเขาก็เริ่มทะเลาะกันในแชทให้หนูเห็น หนูก็อ่านไปแล้วก็แบบ เอ๊า … หลังจากนั้นก็เลยพิมพ์ไปเบาๆ ว่า “คุยกันดีๆ นะคะ” แล้วก็ปิดแชทไป”
กลับไปเล่าเรื่องพวกนั้น เคยคิดไหมว่าความเศร้า บางทีอาจจะไม่อยู่กับเรานาน
“เยอะเลยค่ะ มีช่วงนึงก่อนที่จะหยุดยา ตอนนั้นนั่งแว็กซ์ขนอยู่ แล้วอยู่ดีๆ ก็เศร้าขึ้นมา เราก็แบบ เอ๊า นี่กำลังเศร้าตอนแว็กซ์ขน คือเหมือนกับความเจ็บ มันไปกระตุ้นฮอร์โมนในหัวขึ้นมา แล้วเศร้าจนดิ่งหนักมาก ถึงขนาดอยากทำร้ายตัวเอง ผ่านไปชั่วโมงนึงหันกลับมามองตัวเอง นี่ฉันกำลังจะฆ่าตัวตาย โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากการนั่งแว็กซ์ขน ก็ตลกตัวเอง เหมือนเป็นการดิ่งที่ตัวเองจำได้เลย หรือเวลาที่เรารับมือกับความเศร้าที่เข้ามาในชีวิต อย่างเช่นช่วงพ่อจอมเสีย คือมันเป็นเรื่องเศร้าแหละ และเป็นเรื่องที่หนักมาก แต่จอมไม่ได้เศร้าแบบตอนที่เป็นโรคซึมเศร้าเลย ซึ่งทำให้เรารู้ว่าความเศร้ามีหลายชนิดมาก”
Jomtian Jansomrag
เหมือนกับว่าหลังๆ มาเริ่มมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น แล้วยังเป็นกระบอกเสียงให้กับเรื่องความรุนแรงทางเพศมากขึ้นไปด้วย
“จอมอยากมูฟออนเรื่องนี้ไปต่อมากเลยพี่เทย เพราะมันเป็นประเด็นจริงๆ ที่มันพ่วงเรื่องชนชั้นในสังคมกับปัญหาเรื่องเพศ แต่ว่าเรื่องนี้เหมือนกัน ที่ทำให้หนูแอบมีความมั่นใจกับเรื่องซึมเศร้า หนูรู้สึกว่า การที่จะมาคุยว่าเราจะรักษาโรคซึมเศร้ายังไง โดยแค่มาคุยว่าเราจะทรีตเขาหลังจากที่เขาป่วยและหยุดยาอะไรอย่างนี้อย่างเดียวอ่ะมันไม่ได้ หนูรู้สึกว่ามันต้องลงไปถึงโครงสร้างของปัญหาหลักในสังคมมากกว่า เหมือนสังคมมันทำให้เราป่วย แล้วหนูก็รู้สึกว่า หนูกล้าที่จะพูดเรื่องปัญหาความรุนแรงทางเพศได้อยู่แล้ว และอยากจับเป็นเรื่องต่อไป ก็เลยลองเริ่มให้สัมภาษณ์ไปหนึ่งที่ และเริ่มเขียนบทความ แต่คนให้ผลตอบรับแรงมาก ถึงขนาดที่ว่า ทำไมเธอโดนความรุนแรงทางเพศเธอถึงไม่เป็นไรเลยล่ะ หรือถึงขั้นที่แบบ เธอไม่เป็นไรเลย ก็เลยอยากโดนอีกใช่ไหม คือมันแรงมากก็เลยต้องถอยกลับมาตั้งหลัก เพราะถ้าหนูรับฟีดแบ็กพวกนี้ตอนเป็นซึมเศร้าล่ะก็หนูพังแน่เลย ก็เลยกำลังหาวิธีจริงจังกับมันด้วยการเรียนต่อในเรื่องนี้ เพื่อกลับมาพูดเรื่องพวกนี้อีกครั้งค่ะ”
ในฐานะที่เมื่อกี้พูดคำว่า “ความป่วยมาจากสังคม” เธออยากฝากอะไรถึงคนทั่วไป ที่ต้องเผชิญหน้ากับความป่วยของสังคมที่กำลังเกิดขึ้น หรือมีวิธีมองสังคมยังไงให้เรารอดจากความป่วยนี้
“ตอนนี้ทุกอย่างมันหนักมากอ่ะพี่เทย จะมาบอกให้มองทุกอย่างแบบสวยใสมันไม่ได้ค่ะคุณพี่ ประเทศเรามันแบบ... (มองบน) แล้วหลักๆ ง่ายๆ อย่างเราอยู่ในกรุงเทพ เราอยากให้ชีวิตเราสวยใส เราอยากให้รถติดน้อยลง อยากให้มีสวนสาธารณะมากขึ้น เราไม่อยากต้องกดดันในการส่งลูกเข้าโรงเรียนแพงๆ และเราจะแก้ไขปัญหาพวกนี้ได้ยังไงคะ คุณแก้เองไม่ได้ คุณก็ต้องเลือกคนที่จะทำเรื่องนี้ให้คุณได้ คือด้วยความที่หนูไปเที่ยวเยอะด้วยแหละ มันทำให้หนูเห็นว่าปัญหาจริงๆ มันมาจากรัฐบาลเยอะมาก หนักมากๆ หนูไปเห็นพม่าที่เป็นประเทศที่มีคุณภาพชีวิตต่ำกว่าเรา และไปเห็นเยอรมนีที่เป็นประเทศที่คุณภาพชีวิตดีกว่าเรา แล้วหนูเอามาเปรียบเทียบกัน ความเครียดหลักของโรคซึมเศร้าอ่ะ ส่วนใหญ่มันมาจากโครงสร้างเหล่านี้ด้วย คุณภาพการใช้ชีวิต มันมาจากการจัดการของรัฐเยอะมากค่ะ”
สุดท้ายแล้วนะคะ ทั้งเทยและจอมเทียน เราก็นั่งมอยกันว่าปัญหาอะไรบ้างที่รัฐควรจะแก้ไข และสถานการณ์ทางการเมืองมันมีผลต่อคุณภาพชีวิตเราอย่างไร ซึ่งมันปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ค่ะ ว่าเราจะเอ็นจอยกับชีวิตที่ดีได้ คนที่ดูแลสภาพแวดล้อมให้เรามันมีผลจริงๆ นะตัวเธอ
เอาล่ะ ใครมีพลัง ก็จงออกไปหลั่นล้า ไปเติมพลังบวก แล้วเอามาสู้กับความป่วยในสังคมนี้ให้ได้นะคะ เทยและจอมเป็นกำลังใจให้
เหยี่ยวเทย รายงาน