มารู้จักกับอุโมงค์ไฟฟ้าใต้ดินขนาดยักษ์ใจกลางกรุงเทพ !

มารู้จักกับอุโมงค์ไฟฟ้าใต้ดินขนาดยักษ์ใจกลางกรุงเทพ !

มารู้จักกับอุโมงค์ไฟฟ้าใต้ดินขนาดยักษ์ใจกลางกรุงเทพ !
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน. อัปเดตความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างอุโมงค์เพื่อเชื่อมต่อไฟฟ้าขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มเส้นทางการจ่ายไฟฟ้าด้วยระบบสายไฟฟ้าแรงสูงใต้ดินให้ครอบคลุมพื้นที่ในเขตเมืองมากยิ่งขึ้น โดยครั้งนี้เป็นการดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์แบบ Shielded Tuneling เพิ่มเติมจากถนนชิดลมถึงถนนสารสิน (ตลอดแนวถนน) และถนนเพลินจิต (จากสี่แยกชิดลมถึงสี่แยกเพลินจิต) โดยเป็นการก่อสร้างในส่วนต่อขยายจากอุโมงค์ไฟฟ้าใต้ดินเดิมของ กฟน. ที่ปัจจุบันเชื่อมต่อการจ่ายระบบไฟฟ้าระหว่างสถานีต้นทางบางกะปิถึงสถานีต้นทางชิดลม ขนาดแรงดัน 230 กิโลโวลต์ (kV)

การก่อสร้างอุโมงค์แบบ Shielded Tunneling ครั้งนี้ใช้เครื่องขุดเจาะขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.6 เมตร และ 3.6 เมตร ซึ่งเป็นรูปแบบที่สามารถขุดอุโมงค์พร้อมกับการติดตั้งผนังอุโมงค์ได้ในคราวเดียวกัน และยังสามารถกำหนดทิศทางการเจาะเป็นเส้นโค้งได้อีกด้วย

สำหรับความปลอดภัยของระบบภายในอุโมงค์ไฟฟ้าแห่งนี้ มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยต่างๆ มาใช้ เช่น ระบบป้องกันความปลอดภัยในกรณีเกิดอุทกภัยด้วยระบบระบายน้ำ (Drainage Pump System) และการก่อสร้างทางลงอุโมงค์ในระยะพ้นน้ำ (Freeboard) ในขนาดความสูง 1.20 เมตร รวมถึงการติดตั้งระบบแจ้งเตือนอัคคีภัย และระบบระบายอากาศเพื่อป้องกันเหตุเพลิงไหม้ ซึ่งการดำเนินการก่อสร้างทั้งหมดใช้งบประมาณกว่า 878 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาการก่อสร้างทั้งสิ้น 1,080 วัน (พ.ศ. 2560 - 2563)

หลายคนอาจจะสงสัยว่า ตอนนี้มีโครงการอุโมงค์สายไฟฟ้าใต้ดินแรงดันสูง 230 กิโลโวลต์ ของ กฟน. อยู่กี่แห่งกันแน่ คำตอบคือ 4 แห่ง โดยแบ่งเป็นโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ คือ อุโมงค์สถานีต้นทางบางกะปิถึงสถานีต้นทางชิดลม ระยะทาง 7 กิโลเมตร และอุโมงค์สายส่งไฟฟ้าลาดพร้าว-วิภาวดี ส่วนโครงการที่ดำเนินการอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง คือ โครงการบริเวณคลองพระโขนง และโครงการอุโมงค์ Outgoing สถานีต้นทางชิดลมแห่งนี้นั่นเอง

แน่นอนว่าการดำเนินการก่อสร้างสายไฟฟ้าใต้ดินในแต่ละโครงการนั้นไม่ง่าย กฟน. จึงได้มีการวางแผนบริหารจัดการจราจรร่วมกับหน่วยงานที่เป็นเจ้าของพื้นที่ เช่น กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อบริหารจัดการการปิดพื้นที่เพื่อเร่งรัดการทำงานให้เสร็จโดยเร็ว จะได้ดำเนินการบริหารจัดการการจราจรให้สอดคล้องและส่งผลกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด กฟน. จึงได้มีการจัดทำแผนงานประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนรับทราบความคืบหน้าของการดำเนินโครงการตลอดระยะเวลาดำเนินการ โดยจะมีการลงพื้นที่เพื่อให้ข้อมูลของแผนงานกับประชาชนในพื้นที่ที่จะดำเนินการก่อสร้างหรือใกล้เคียงให้ได้รับทราบก่อนดำเนินการก่อสร้าง

สำหรับประโยชน์จากการดำเนินการโครงการเพิ่มเส้นทางการจ่ายไฟฟ้าด้วยระบบสายไฟฟ้าแรงสูงนี้ นอกจากจะช่วยรองรับความต้องการการใช้ไฟฟ้าในย่านธุรกิจสำคัญใจกลางเมือง ที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งช่วยสร้างความมั่นคงให้กับระบบจำหน่ายไฟฟ้าของ กฟน. และลดความเสี่ยงทางกายภาพที่อาจเกิดขึ้นกับสายไฟฟ้าแรงสูงบนพื้นดิน เช่น อุบัติเหตุ และผลกระทบจากพายุฝน หรือลมพายุในฤดูกาลต่างๆ แล้ว ยังรองรับการเชื่อมต่อสายไฟฟ้าแรงสูงกับโครงการเปลี่ยนสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินในพื้นที่ใกล้เคียง ตลอดจนการเชื่อมต่อกับท่อร้อยสายที่ กฟน. ก่อสร้างร่วมกับเส้นทางรถไฟฟ้าในถนนเพลินจิต ถือเป็นการดำเนินการที่เชื่อมโยงครอบคลุมแบบบูรณาการ ทำให้เกิดประโยชน์และมีความคุ้มค่าในการลงทุนมากยิ่งขึ้น

แม้โครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินจะดำเนินการมาอย่างยาวนานตั้งแต่ พ.ศ. 2527 แต่ กฟน. ก็ไม่เคยย่อท้อต่อทุกอุปสรรค และยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าดำเนินโครงการนี้ต่อไปตามวิสัยทัศน์ “พลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร” เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ที่นอกจากจะได้ใช้ไฟฟ้าอย่างมั่นคงและเพียงพอภายใต้ระบบที่มีคุณภาพ และครอบคลุมอย่างทั่วถึงแล้ว ยังได้เป็นเจ้าของมหานครที่มีทัศนียภาพสวยงาม ไร้เสาไฟและสายไฟมาบดบังทัศนียภาพร่วมกัน แม้โครงการฯ นี้จะยังไม่แล้วเสร็จในเร็ววัน แต่ย่านธุรกิจสำคัญ ๆ ของกรุงเทพ ที่ กฟน. ดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินสำเร็จแล้ว อาทิ ถนนสีลม ถนนศรีอยุธยา ถนนพหลโยธิน ถนนพระราม 1 ถนนเพลินจิต ถนนราชดำริ ถนนสุขุมวิท ถนนราชปรารภ (ประตูน้ำ) จากความสำเร็จของ กฟน. เมืองมหานครของประเทศไทยก็ค่อย ๆ สวยขึ้นเรื่อย ๆ จนคุณสังเกตได้ด้วยตัวเอง และไม่ช้ากรุงเทพมหานครก็จะเป็นเมืองที่สามารถจ่ายไฟฟ้าด้วยระบบสายไฟฟ้าใต้ดินแบบเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ได้ในที่สุด

(Advertorial)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook