เปิดขั้นตอนการสละอากาศยาน ครูฝึกประคองเครื่องหลบชุมชน จนทำให้ดีดตัวไม่ทัน

เปิดขั้นตอนการสละอากาศยาน ครูฝึกประคองเครื่องหลบชุมชน จนทำให้ดีดตัวไม่ทัน

เปิดขั้นตอนการสละอากาศยาน ครูฝึกประคองเครื่องหลบชุมชน จนทำให้ดีดตัวไม่ทัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากกรณีเกิดเหตุเครื่องบินรบของกองทัพอากาศที่ใช้ฝึกบิน ประสบอุบัติเหตุระหว่างการซ้อมบินแล้วตกลงที่ พื้นที่เขตรอยต่อระหว่าง บ้านเกาะกลาง ตำบลป่าแดด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ กับบ้านป่าเปอะ ตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ช่วงเย็นวันที่ 11 ก.ค.62 ทำให้ เรืออากาศโทธีรวัฒน์ คูณขุนทด นักบินที่ 1 บาดเจ็บเล็กน้อย และ นาวาอากาศตรีณฤพล เลิศกุศล นักบินที่ 2 ซึ่งเป็นครูการบิน เสียชีวิต

>> เครื่องบินฝึก L-39 กองทัพอากาศตกที่เชียงใหม่ ยืนยันทหารเสียชีวิต 1 นาย

เฟซบุ๊ก ThaiArmedForce.com ได้เปิดเผยขั้นตอนการสละอากาศยานของกองทัพอากาศไทย ซึ่งมีกระบวนการฝึกตามหลักสากล คือการพิจารณาถึงสภาพแวดล้อมและชุมชนในพื้นที่สละอากาศยานเป็นสำคัญเพื่อป้องกันความสูญเสียของประชาชนเป็นหลัก

จากเหตุการณ์ดังกล่าว นาวาอากาศตรี ณฤพล เลิศกุศล เจ้าหน้าที่นักบินผู้ทำหน้าที่ครูการบิน (IP/Instructor Pilot) ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนนิรภัยการบินอย่างถูกต้อง ตั้งแต่การเกิดเหตุเครื่องยนต์ดับกลางอากาศ แต่ด้วยสภาพสิ่งแวดล้อมโดยรอบปัจจุบันเต็มไปด้วยชุมชนอยู่เป็นจำนวนมาก หากดีดตัวออกไปแล้วเครื่องจะอยู่ในสภาวะขาดการควบคุม พื้นที่จุดตกนี้จึงเป็นจุดสุดท้ายที่นักบินจะตัดสินใจสละอากาศยาน 

ด้วยขั้นตอนการสละอากาศยานที่ครูการบินต้องให้ศิษย์สละเครื่องก่อน เพื่อให้ครูการบินที่มีทักษะการบินที่สูงกว่าเป็นผู้รักษาอาการเครื่องไว้ให้นานที่สุด จึงเป็นเหตุให้ครูการบินต้องทำการสละเครื่องช้ากว่าระดับความสูงที่ปลอดภัยในการดีดตัว การตัดสินใจของนาวาอากาศตรี ณฤพล เลิศกุศล เป็นการหลีกเลี่ยงความสูญเสียร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนได้จนถึงวินาทีสุดท้าย

ล่าสุดวันนี้ (12 ก.ค.62) พลอากาศเอก ชัยพฤกษ์  ดิษยะศริน ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธานในพิธีรับศพ นาวาอากาศตรี ณฤพล เลิศกุศล หัวหน้าฝ่ายการข่าว ฝูงบิน 411 กองบิน 41 ที่เสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ครูการบิน จากเหตุการณ์เครื่องบินขับไล่และฝึกแบบที่ 1 (L-39) ประสบอุบัติเหตุขณะทำการฝึกบินสกัดกั้นในการควบคุม บริเวณพื้นที่บ้านป่าแดด จังหวัดเชียงใหม่วานนี้  โดยกองทัพอากาศ ได้จัดเครื่องบิน C-130 เคลื่อนศพจากท่าอากาศยานทหาร กองบิน 41 จังหวัดเชียงใหม่ มายัง ท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 ดอนเมือง พร้อมจัดกองทหารเกียรติยศประกอบพิธีอย่างสมเกียรติ ก่อนที่จะนำร่างไปบำเพ็ญกุศล ที่ฌาปนสถานกองทัพอากาศ วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน

ทั้งนี้ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้แสดงความเสียใจต่อครอบครัว และญาติของผู้เสียชีวิต  พร้อมกล่าวยกย่องวีรกรรม หลีกเลี่ยงนำเครื่องตกบ้านเรือนประชาชน  ทำให้สละอากาศยานไม่ทัน  และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯทรงพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และทรงรับศพไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ตลอด 7 วัน 

ผู้บัญชาการทหารอากาศได้สั่งการให้คณะกรรมการตรวจสอบอากาศยานอุบัติเหตุกองทัพอากาศเข้าพื้นที่เพื่อรวบรวมข้อมูล และตรวจสอบสาเหตุของอุบัติเหตุดังกล่าว อีกทั้งได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการด้านสิทธิกำลังพล มอบให้แก่ญาติและครอบครัวของผู้เสียชีวิตอย่างเต็มที่ ดังนี้ ได้รับการปูนบำเหน็จพิเศษ 8 ขั้น,  ได้รับพระราชทานยศ เป็น พลอากาศโท และ เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นตริตาภรณ์ช้างเผือก ต.ช. , เงินบำนาญพิเศษรายเดือน ประมาณ 33,304 บาท/เดือน ,เงินสงเคราะห์ข้าราชการเสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ และเงินสงเคราะห์อื่นๆ ประมาณ 3.4 ล้านบาท

ผู้บัญชาการทหารอากาศ ยังเปิดเผยว่า ต้องรอการตรวจสอบสาเหตุของอุบัติเหตุครั้งนี้ เบื้องต้นทราบเพียงเครื่องยนต์ดับแล้วร่อนลง พยายามนำเครื่องกลับที่ตั้ง ซึ่งเป็นวิสัยของนักบิน ที่จะไม่ทิ้งเครื่องง่ายๆ สาเหตุของการเครื่องดับนั้นมีอยู่หลายปัจจัยอย่างด่วนสรุปไม่ได้ ส่วนการสละเครื่องบินด้วยการดีดตัว ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีของเครื่องบินนั้นๆ ว่าจะมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหนและต้องสัมพันธ์กับความเร็วความสูง  ซึ่งปกติ จะต้องโดดร่มก่อนระยะสูง 2000 ฟุต แต่กรณีนี้ นักบินที่ 1 ซึ่งอยู่ด้านหน้า โดดร่มเป็นคนแรก โดยครูฝึกซึ่งเป็นนักบินที่ 2 และนั่งอยู่ด้านหลังเสียสละให้ นักบินที่ 1 ทำการโดดร่มก่อน ทั้งที่ปกติ คนที่นั่งด้านหลังจะต้องโดดร่มก่อน เพื่อความปลอดภัย ทั้งนี้นักบินที่ 1 เริ่มโดดร่มที่ความสูง 1,700 ฟุต ซึ่งถือว่าต่ำมาก เพราะความสูงในพื้นที่เชียงใหม่ ก็ประมาณ 1,000 ฟุต แล้ว เหลือเพียง 700 ฟุต ส่วนนักบินที่ 2 ยังไม่ทราบ คงต้องตรวจสอบต่อไป ซึ่งจริงๆ คงเขาคงจะพยายาม บังคับเครื่องไม่ให้กระทบบ้านเรือนประชาชน ไม่อย่างนั้น เขาก็โดดไปนานแล้ว เขารู้อยู่แก่ใจดี 

>> เผยเบื้องหลังเครื่องบิน L-39 ตก เครื่องดับตั้งแต่ประตูท่าแพ ครูสั่งลูกศิษย์ดีดตัวก่อน

>> โซเชียลแชร์คลิปกล้องหน้ารถ จับภาพวินาทีเครื่องบินกองทัพอากาศตกที่เชียงใหม่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook