นักวิเคราะห์ชี้ "ทรัมป์" ได้เปรียบหลายด้าน มีสิทธิ์ชนะเลือกตั้งสมัยที่ 2

นักวิเคราะห์ชี้ "ทรัมป์" ได้เปรียบหลายด้าน มีสิทธิ์ชนะเลือกตั้งสมัยที่ 2

นักวิเคราะห์ชี้ "ทรัมป์" ได้เปรียบหลายด้าน มีสิทธิ์ชนะเลือกตั้งสมัยที่ 2
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นักวิเคราะห์บ่งชี้ "โดนัลด์ ทรัมป์" อาจจะดูคะแนนนิยมลดลง แต่ยังมีปัจจัยหลายๆ อย่างทำให้ได้เปรียบ และยังมีสิทธิ์คว้าชัยเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีต่อสมัยที่ 2

ถึงแม้ว่าโพลต่างๆ จะบงชี้ว่า "โดนัลด์ ทรัมป์" มีคะแนนความนิยมน้อยกว่าผู้ลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีคนอื่นๆ จากพรรคเดโมแครต แต่ผู้เชี่ยวชาญชาวอเมริกันจำนวนมากกล่าวว่า นอกจากทรัมป์จะมีข้อได้เปรียบจากการเป็นประธานาธิบดีคนปัจจุบันแล้ว ก็ยังมีปัจจัยอื่นที่เอื้อให้เขาชนะการเลือกตั้งอีกสมัยด้วย เช่น เศรษฐกิจที่รุ่งเรืองของประเทศในปัจจุบัน

ในช่วงเวลาเพียง 3 เดือนในไตรมาสที่สองของปี 2019 ทรัมป์สามารถรวบรวมเงินสนับสนุนได้มากถึง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3.06 พันล้านบาท) ซึ่งเป็นเงินจำนวนมหาศาลที่จะสามารถสนับสนุนแคมเปญการหาเสียงเลือกตั้งของเขาได้ ยังไม่มีผู้ลงสมัครคนใดจากพรรคเดโมแครต ที่ระดมเงินได้ใกล้เคียงกับทรัมป์เลยแม้แต่คนเดียว

โดยในช่วงเวลาเดียวกัน พีต บูติเจิจ (Pete Buttigieg) จากพรรคเดโมแครตหาเงินได้ 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (765.5 ล้านบาท) อดีตรองประธานาธิบดี โจ ไบเดิน รวบรวมได้ 21.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (658.3 ล้านบาท) และผู้ลงสมัครคนอื่นๆ อาทิ อลิซาเบธ วาร์เรน, เบอร์นี แซนเดอร์ส และคามาลา แฮร์ริสทำเงินรวมกันได้ราว 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.5 พันล้านบาท)

“ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าแรงสนับสนุนของฝั่งรีพับลิกันที่มีต่อทรัมป์นั้นสูงมาก และการที่เขาดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนปัจจุบันก็เป็นข้อได้เปรียบมากเช่นกัน” ฟอร์ด โอคอนเนล นักยุทธศาสตร์ฝ่ายรีพับลิกันและผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัว “เพราะเขาเป็นผู้เล่นคนเดียวในเกม และเขาต้องรวบรวมเงิน” โอคอนเนลกล่าวเสริม

คริสโตเฟอร์ กัลดีรี ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากวิทยาลัยเซนต์อันเซล์มคาดการณ์ว่า การเลือกตั้งในปีหน้าจะแตกต่างจากปี 2016 เพราะ “ทรัมป์จะมีเงินหนาในปี 2020” และกล่าวเสริมว่า “นี่คือความแตกต่างของการเลือกตั้งในปี 2020 กับปี 2016 ที่เรายังประเมินมันต่ำไป”

เงินจำนวนที่ทรัมป์ระดมได้ในขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ สร้างความแตกต่างอย่างใหญ่หลวง เพราะมันเป็นตัวกำหนดว่าเขาจะสามารถสร้างแรงสนับสนุนจากผู้คนใดมากเท่าใด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทรัมป์จะมีทุนมากมายในการผลักดันแคมเปญหาเสียงของเขา แต่ในโพลสำรวจต่างๆ ทรัมป์ก็ยังพ่ายให้กับผู้ลงสมัครจากพรรคเดโมแครตอยู่ดี

ข้อมูลโดยเฉลี่ยจากโพลการสำรวจล่าสุดของเรียลเคลียร์โพลิทิกส์ (Real Clear Politics) เผยว่า ทรัมป์มีคะแนนน้อยกว่าไบเดิน ซึ่งเป็นผู้ลงสมัครอันดับ 1 จากพรรคเดโมแครตอยู่ร้อยละ 6 ตามหลังแฮร์ริสและเบอร์นี แซนเดิร์ส ที่เคยลงสมัครเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ผู้กล่าวว่าตนเป็นนักสังคมนิยม อยู่ร้อยละ 2

อย่างไรก็ตาม โอคอนเนลกล่าวว่า สื่อสหรัฐฯ และกลุ่มต่อต้านทรัมป์กำลังหลงดีใจกับผลการสำรวจมากเกินไป

จุดแข็งที่สำคัญของทรัมป์คือการที่เขายังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอยู่ โดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญยกสถิติตั้งแต่ปี1900 มาชี้ว่า ร้อยละ 80 ของประธานาธิบดีที่ลงเลือกตั้งในขณะที่ดำรงตำแหน่งอยู่จะชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2

โอคอนเนลยังชี้ว่า สถิติในอดีตได้พิสูจน์แล้วว่าโพลก่อนการเลือกตั้งไม่สามารถคาดการณ์ผลลัพธ์ได้อย่างแม่นยำเสมอไป โดยยกตัวอย่างโพลช่วงเดือนมิถุนายน 1983 ที่วอลเทอร์ มอนเดล ผู้ลงสมัครจากพรรคเดโมแครตมีคะแนนนำโรนัลด์ รีแดน แต่สุดท้ายแล้วผู้ที่ชนะการเลือกตั้งกลับเป็นรีแดน เช่นเดียวกันกับโพลในเดือนมิถุนายน 2011 ที่ตัวแทนพรรครีพับลิกันคะแนนนำบารัก โอบามาร้อยละ 5 แต่ท้ายที่สุดแล้วโอบามาก็ได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีในปี 2012

ในขณะเดียวกัน กลุ่มผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า เศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับประชาชนที่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง โดยตั้งแต่สมัยที่แฟรงก์ลิน เดลาโน รูสเวลท์ ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ประธานาธิบดีที่ดำรงตำแหน่งอยู่และสามารถหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ในระหว่างการลงเลือกตั้ง ก็จะชนะการเลือกตั้งมาโดยตลอด

หรืออย่างน้อยก็ในตอนนี้ ที่ยังไม่มีการพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ อย่างจริงจัง และหุ้นในสหรัฐฯ ก็ขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้กลุ่มผู้เกษียณอายุและชนชั้นกลางชาวอเมริกันหลายล้านคนได้รับผลประโยชน์มากมาย

นอกจากนี้เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (5 ก.ค.) มีรายงานว่าสหรัฐฯ มีการจ้างงานใหม่ 224,000 ตำแหน่ง ในเดือนมิถุนายน ซึ่งสูงกว่าตัวเลขที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์ คาดการณ์ไว้ บวกกับค่าแรงก็ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 3.1 จากปีก่อน อีกทั้งจำนวนผู้ว่างงานก็ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์อีกด้วย เศรษฐกิจที่รุ่งเรืองนี้ สอดคล้องกับตัวเลขความนิยมล่าสุดของทรัมป์ ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่เขาเข้ารับตำแหน่ง

สำหรับโพลใหม่จากวอชิงตันโพสต์-เอบีซี นิวส์ ระบุว่า ร้อยละ 47 ของผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ยอมรับในการบริหารบ้านเมืองของทรัมป์ ซึ่งตัวเลขนี้ขยับสูงขึ้นจากสถิติเดือนเมษายนร้อยละ 5 โดยผู้ที่ไม่ยอมรับอยู่ที่ร้อยละ 50

หากเปรียบเทียบกับโอบามา สัดส่วนของผู้ที่เห็นด้วยกับทรัมป์ สูงกว่าสถิติของโอบามาในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งอยู่ทีร้อยละ 46 โดยตัวเลขสถิติเดียวกันนี้ของอดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ขณะที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรกสูงถึงร้อยละ 61

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook