หน่วยข่าวแฉ15มิ.ย.โจรใต้ก่อเหตุรุนแรง ครบ540ปี วันรัฐชาติมลายูฯ

หน่วยข่าวแฉ15มิ.ย.โจรใต้ก่อเหตุรุนแรง ครบ540ปี วันรัฐชาติมลายูฯ

หน่วยข่าวแฉ15มิ.ย.โจรใต้ก่อเหตุรุนแรง ครบ540ปี วันรัฐชาติมลายูฯ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แฉเหตุโจรใต้ป่วนหนักเพราะ 15 มิ.ย.ครบรอบ 540 ปีสถาปนา วันรัฐชาติมลายูอิสลามปัตตานี นักวิชาการชี้รัฐบาลขอ 3 ปีแก้ปัญหาไม่ใช่เรื่องง่าย เผย ปล่อย ทหาร-ตำรวจ ทำเพียงลำพังรักษาโรคได้แค่ผิวเผิน องค์กรพุทธ ร้องรบ.คุ้มครองพระ

ชี้เหตุป่วนใกล้วันสถาปนารัฐปัตตานี

ผู้เชี่ยวชาญด้านข่าวความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบุว่า สาเหตุที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบพยายามก่อเหตุร้ายอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้ เนื่องจากวันที่ 15 มิถุนายน 2540 เป็นวันก่อตั้ง องค์กร สมัชชาประชาชาติมลายูปัตตานี หรือ สภาประชาชนปัตตานี (MAJLIS PERMESYUARATAN RAKYAT MELAYU PATTANI-MPRMP) และ กลุ่มขบวนการร่วมเพื่อเอกราชปัตตานี กำหนดเป็น วันรัฐชาติมลายูอิสลามปัตตานี ตรงกับวันที่ 9 เดือนซอฟาร์ ปีฮิจเราะห์ศักราช 1418 ยึดถือตามวันประกาศการเข้ารับนับถืออิสลามอย่างเป็นทางการของรัฐปัตตานี ในปี พ.ศ.2000 และเป็นวันครบรอบปีที่ 540 ของการรับนับถือศาสนาอิสลามอย่างเป็นทางการของปัตตานี

"ดังนั้น นับแต่ก่อตั้งสมัชชาประชาชนมลายูปัตตานี ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา จึงถือว่าวันที่ 15 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันสถาปนารัฐชาติมลายูปัตตานีและทำให้วันที่ 15 มิถุนายนของทุกปีกลายเป็นสัญลักษณ์ในการกระตุ้นเจตนารมณ์การต่อสู้ของกลุ่มขบวนการดังกล่าว จึงมีการก่อเหตุรุนแรงเป็นประจำทุกปี ส่วนความรุนแรงอาจจะมากน้อยต่างกันไป" ผู้เชี่ยวชาญระบุ

องค์กรพุทธ ร้องรบ.คุ้มครองพระ

วันเดียวกัน ที่วัดราชาธิวาสวิหาร กรุงเทพมหานคร องค์กรชาวพุทธ ร่วมกับศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย องค์การบริหารนิสิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) และคณะกรรมการนักศึกษามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) จัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์บำเพ็ญกุศลอุทิศแด่พระสงฆ์ที่มรณภาพจากเหตุการณ์ไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีพระธรรมกิตติเมธี กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ในฐานโฆษก มส.เป็นประธานในพิธี

พระธรรมกิตติเมธี กล่าวว่า มส.มีความห่วงใยในความไม่ปลอดภัยของพระสงฆ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกรณีพระสงฆ์ถูกสังหารขณะออกบิณฑบาต ซึ่งถือเป็นการปฏิบัติพุทธกิจจึงขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้เร่งหามาตรการคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่พระสงฆ์ในพื้นที่อย่างเร่งด่วน

ขณะที่ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทยออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดภาคใต้ โดยให้ดำเนินมาตรการตามยุทธศาสตร์ 4 ประการ คือ 1.ยุทธศาสตร์การป้องกันไม่ให้องค์กรภายนอกเข้ามาแทรกแซงในบ้านเมืองทุกรูปแบบ 2.ยุทธศาสตร์กำจัดปราบปรามพฤติกรรมโหดร้ายให้เกิดผลสัมฤทธิ์ 3.ยุทธศาสตร์พัฒนาให้ทุกภาคส่วนร่วมพัฒนาอย่างจริงจังทั้งด้านสังคม การศึกษา การเมือง และวิถีชีวิต 4.ยุทธศาสตร์อารักข์ โดยอารักขาคุ้มครองประชาชนทุกชีวิตให้ปลอดภัย สงบ มีความสุขอย่างเท่าเทียม

ด้านพระเทพศีลวิสุทธิ์ เจ้าคณะจังหวัดนราธิวาส วัดประชุมชลธารา ต.สุไหงปาดี อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ให้ความเห็นว่า พระสงฆ์ใน จ.นราธิวาส มีน้อยมากบางวัดมีพระอยู่เพียง 1-5 รูป ตามสภาพของชุมชน สำหรับวัดที่อยู่ในพื้นที่ล่อแหลม และเสี่ยงภัย พระสงฆ์มีความเป็นอยู่ลำบากมาก บางพื้นที่พุทธศาสนิกชนอพยพครอบครัวหนีภัยไปอยู่ในพื้นที่อื่นจนเกือบหมดหมู่บ้าน ขณะที่บางพื้นที่พุทธบริษัทไม่กล้าไปวัด เพราะกลัวคนร้ายดักทำร้ายระหว่างทาง จึงทำให้พระสงฆ์ไม่มีภัตตาหารที่จะฉัน โดยเฉพาะที่วัดดุซงญอ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส ชาวไทยพุทธหนีออกจากพื้นที่เหลือไม่กี่ครอบครัวแล้ว จึงแก้ปัญหาด้วยการให้ทหารชุดรักษาความปลอดภัยแก่วัดปรุงภัตตาหารถวายพระ

ชี้รัฐบาลแก้3ปีสงบไม่ใช่ง่าย

ด้านนายครองชัย หัตถา นักวิชาการทางด้านภูมิศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวถึงกรณีรัฐบาลจะแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ต้องใช้เวลา 3 ปีว่า ที่รัฐบาลระบุว่าจะสงบภายใน 3 ปีจึงไม่มีหลักประกันใดๆ จนกว่ารัฐจะสร้างความเข้าใจด้านประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ และความรู้สึกต่อมาตุภูมิ ซึ่งคนบางกลุ่มยังทวงถามสิทธิการเป็นเจ้าของที่เคยมีมาในอดีต รัฐจึงต้องให้การศึกษาที่ถูกต้อง และให้ความเป็นธรรมต่อการปกครองไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดเช่นในอดีตที่ก่อให้เกิดความทรงจำ และไม่ไว้วางใจรัฐต่อเนื่องยาวนานมากว่า 100 ปี และการที่จะให้สงบภายใน 3 ปี ไม่ไช่เรื่องง่ายหากรัฐบาลและข้าราชการบางหน่วยงานที่ใช้วิธีเดิม

"ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปลูกจิตสำนึกของความเป็นพลเมืองที่ดีของรัฐ เมื่อการให้การศึกษาที่ถูกต้องควรลุกขึ้นมาทำงานให้มากกว่านี้ อย่าปล่อยให้หน่วยงานของรัฐด้านความมั่นคง โดยเฉพาะทหาร ตำรวจ ทำงานตามลำพัง ซึ่งจะรักษาโรคได้เพียงผิวเผิน ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใตต้องแก้ที่รากของปัญหา หากปล่อยให้ฝ่ายความมั่นคงทำฝ่ายเดียวปัญหาจะยืดเยื้อยาวนานไม่จบสิ้น" นายครองชัย กล่าว

ด้านนายฮัจยียะโก๊บ หร่ายมณี อิหม่ามประจำมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี กล่าวหากรัฐบาลใช้เวลาแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องใช้เวลา 3 ปี จะสงบ ถ้าเป็นจริงตามที่พูดถือเป็นอนิสงฆ์อันประเสริฐ สำหรับคนทั้งประเทศที่ต้องการให้เกิดความสงบสันติเกิดขึ้น โดยเฉพาะประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงขณะนี้การแก้ปัญหาไม่ไช่การใช้คำพูดเป็นใครก็พูดได้ การแก้ปัญหาอยากให้เน้นหนักในภาคปฏิบัติมากกว่า ไม่ไช่ออกมาพูดโดยไม่มีจุดหมายที่แน่นอน รัฐทำไมถึงมั่นใจขนาดนั้นในขณะที่เหตุการณ์สถานการณ์ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องและทำท่าว่าจะประทุรุนแรงขึ้นอีก รัฐบาลเอาอะไรมาเป็นประกันว่าจะสงบภายใน 3 ปีตนคิดว่าคนทั้งประเทศต้องการให้เกิดความสงบขึ้นจริง เพราะไม่อยากให้เกิดการสูญเสียของทุกฝ่ายทั้งพุทธและมุสลิมไปมากว่านี้ เพราะทุกคนเป็นคนไทยที่อยู่ภายใต้ร่มพระบรามีขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยกันทั้งนั้น

เผยผลวิเคราะห์แก้ไฟใต้รอบ65เดือน

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ได้รายงานวิเคราห์สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการนี้สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อศึกษาความเปลี่ยนแปลงทัศนคติต่อสถานการณ์เฉพาะหน้าในพื้นที่ ระหว่างเมษายน-พฤษภาคม

โดยทีมวิจัยสำรวจความคิดเห็นประชาชนในกลุ่มตัวอย่างในเขตเมืองและชนบทในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 1,995 คน ผลสำรวจส่วนหนึ่งเกี่ยวกับบทบาทการเข้าถึงและการให้บริการประชาชนในพื้นที่ชุมชนต่างๆ พบว่าความถี่ของหน่วยงานที่เข้าชุมชนที่มากที่สุดคือ หน่วยงานสาธารณสุข รองลงมาคือกำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน อันดับสาม คือทหารหน่วยสัมพันธ์มวลชนซึ่งเข้าไปในพื้นที่เพื่อให้บริการและช่วยเหลือประชาชนในด้านต่างๆ อีกสถาบันที่เข้าถึงประชาชนก็คือผู้นำศาสนา เช่น อิหม่าม

เมื่อถามถึงความรู้สึกเชื่อถือที่มีต่อหน่วยงานต่างๆ หน่วยงานที่ได้รับการยอมรับเป็นอันดับแรกคือผู้นำทางศาสนา 2.ครู 3.หมอพยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 4.คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 5 และ 5 คือนักวิชาการมหาวิทยาลัย และกำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน

เมื่อถามถึงความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่สะท้อนให้เห็นว่าไม่ค่อยเห็นด้วยกับการใช้วิธีการทางทหารในการจัดการกับปัญหาความไม่สงบ ดังจะเห็นได้จากคำถามที่ว่า "ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการที่รัฐบาลจะยังคงใช้กำลังทหารมาจัดการกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้" ผู้ตอบร้อยละ 50.7 สะท้อนว่าไม่เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ขณะที่ร้อยละ 18.6 บอกว่าเห็นด้วยกับแนวทางนี้ส่วนอีกร้อยละ 30 มีความเห็นกลางๆ กล่าวโดยสรุปคือการแก้ปัญหาความรุนแรงที่ซับซ้อนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องอาศัยแนวทางการเมืองนำการทหาร

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook