50 ปี ภารกิจอะพอลโล 11: ก้าวแรกบนดวงจันทร์ ก้าวยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ

50 ปี ภารกิจอะพอลโล 11: ก้าวแรกบนดวงจันทร์ ก้าวยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ

50 ปี ภารกิจอะพอลโล 11: ก้าวแรกบนดวงจันทร์ ก้าวยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"เราเลือกที่จะไปดวงจันทร์และทำสิ่งอื่นๆ ให้ได้ภายในทศวรรษนี้

ไม่ใช่เพราะมันเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย แต่เพราะมันทำได้ยาก"

ส่วนหนึ่งในสุนทรพจน์ของ จอห์น เอฟ เคนเนดี ประธานาธิบดีคนที่ 35 ของสหรัฐอเมริกา เมื่อ 12 กันยายน 2505

หากย้อนกลับไปเมื่อ 57 ปีที่แล้ว คำกล่าวนี้ดูจะท้าทายความสามารถของมวลมนุษยชาติ และเป็นจริงได้ยาก มนุษย์ตัวเล็กๆ อย่างเราจะต้านทานแรงโน้มถ่วงของโลก แล้วบินไปประทับรอยเท้าบนดวงจันทร์ได้จริงหรือ? 

อย่างที่รู้กันว่าหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 นานาประเทศต่างช่วงชิงบทบาทผู้นำโลก โดยเฉพาะ 2 มหาอำนาจในเวลานั้น "สหรัฐอเมริกา และ สหภาพโซเวียต" จึงเกิดเป็น "ยุคสงครามเย็น" ยุคที่ไม่ได้รบกันซึ่งหน้า ไม่มีอาวุธยุทโธปกรณ์ หากแต่ใช้ความก้าวหน้าด้านต่างๆ เป็นเครื่องพิสูจน์ความยิ่งใหญ่ และแน่นอนความก้าวหน้าทาง "เทคโนโลยีอวกาศ" ย่อมเป็นหนึ่งในนั้น

ก้าวที่ใหญ่ยิ่งกว่า

ขณะนั้นสหภาพโซเวียตส่ง "ยูริ กาการิน" ขึ้นสู่อวกาศและโคจรรอบโลกพร้อมยานวอสตอก 1 ได้สำเร็จ นับเป็นครั้งแรกของโลกที่สามารถส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศได้ ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดีจึงเล็งเห็นว่าหากต้องการจะล้ำหน้าสหภาพโซเวียตไปอีกขั้น ไม่เพียงแค่ขึ้นไปโคจรรอบโลก แต่การได้ไปเหยียบดวงจันทร์คือเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ "โครงการอะพอลโล" โครงการที่มุ่งมั่นจะส่งนักบินอวกาศไปพิชิตดวงจันทร์ให้ได้ภายใน 1 ทศวรรษ

TASS / AFP

อะพอลโลส่งยานอวกาศหลายลำขึ้นทดสอบ หลายๆ คนจะคุ้นเคยกับโครงการ อะพอลโล 4-17 แต่รู้หรือไม่ว่า อะพอลโล 1-3 หายไปไหน?

โครงการแรกของ อะพอลโล จะเริ่มนับตั้งแต่ อะพอลโล 4 เป็นต้นไป เนื่องจาก 3 ครั้งแรกที่เริ่มทดสอบยานนั้นใช้เป็นชื่อรหัส AS-201, AS-203 และ AS-202 ซึ่งเป็นการทดสอบความพร้อมการทำงานส่วนยานควบคุม (CSM) และจรวด Saturn IB (ยังไม่ใช่ Saturn V) เท่านั้น

AS-204 โศกนาฏกรรม อะพอลโล 1

หลังจากการทดสอบยานในสามครั้งแรก ก็ถึงคิวของยาน AS-204 ซึ่งเป็นยานแรกของโครงการที่จะมีนักบินอวกาศโดยสารไปด้วยจริงๆ เหล่านักบินจึงตั้งชื่อเล่นให้กับภารกิจตนเองว่า อะพอลโล 1

แต่ทว่าการทดสอบในครั้งนี้กลับไปไม่ถึงฝัน เนื่องจากในวันที่ 27 มกราคม 2510 ได้เกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันขึ้น มีแก๊สรั่วภายในยานอวกาศ ส่งผลให้นักบินทั้ง 3 คนที่เข้าร่วมการฝึกซ้อมในครั้งนั้นเสียชีวิต ทำให้โครงการนี้ต้องถูกชะลอออกไป

HO / NASA / AFP

อะพอลโล 4 การกลับมาของ NASA

หลังถูกชะลอโครงการไปพักใหญ่ ปี 2510 องค์กรบริหารการบินและอวกาศสหรัฐ (NASA) ก็ยังไม่หยุดยั้ง กลับมาใหม่พร้อมกับโครงการ อะพอลโล 4 โดยเป็นภารกิจแบบไร้นักบิน ทำการทดสอบความพร้อมและความเหมาะสมของระบบยานเท่านั้น โดยทดสอบการโคจรรอบโลก และที่สำคัญยังเป็นโครงการแรกที่เปลี่ยนมาใช้จรวด Saturn V ที่เราคุ้นหูกันในปัจจุบัน

อะพอลโล 10 ความฝันที่ใกล้เป็นจริง

เมื่อโครงการ อะพอลโล 4-6 ปฏิบัติการได้อย่างราบรื่น ในโครงการ อะพอลโล 7 ซึ่งเป็นการทดสอบโคจรรอบโลกครั้งสุดท้าย NASA จึงตัดสินใจส่งนักบินอวกาศขึ้นไปโคจรรอบโลกอีกครั้ง และในครั้งนี้สำเร็จด้วยดี ส่งผลให้โครงการ อะพอลโล 8-10 ที่ตามมาเป็นการทดสอบการโคจรรอบดวงจันทร์

โดยเฉพาะในโครงการอะพอลโล 10 ที่เป็นปฏิบัติการทดสอบที่เข้าใกล้ความจริงมากที่สุด เพราะนอกจากจะทดสอบความพร้อมของระบบแล้ว ยังเป็นการซ้อมระบบการลงจอดของยานในวงโคจรของดวงจันทร์อีกด้วย ซึ่งวงโคจรดังกล่าวห่างจากพื้นผิวดวงจันทร์เพียง 15 กิโลเมตรเท่านั้น

NASA / AFP

อะพอลโล 11: ยานอวกาศลำแรกที่ลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์

เมื่อ 16 กรกฎาคม 2512 อะพอลโล 11 ทะยานขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวด Saturn V จากแหลมแคนาเวรัล มลรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ภารกิจในครั้งนี้มีนักบินอวกาศที่ได้รับการคัดเลือกให้ร่วมเดินทางด้วย 3 คนได้แก่ นีล อาร์มสตรอง, บัซ อัลดริน และไมเคิล คอลลินส์

มนุษย์คอมพิวเตอร์ แห่งแลงเลย์

การเดินทางไปดวงจันทร์ในครั้งนี้ใช้วิธีการติดเครื่องยนต์ออกจากโลกเพียงครั้งเดียว จากนั้นจะวนกลับมายังโลกในลักษณะเลข 8 โดยไม่ต้องติดเครื่องอีกครั้งระหว่างอยู่ในอวกาศ เรียกว่า "วิถีตกกลับอิสระ" (Free Return Trajectory) ซึ่งสุดยอดอัจฉริยะที่คำนวณวิถีโคจรนี้คือ แคทเธอรีน จอห์นสัน นักคณิตศาสตร์หญิงผิวสี แห่งศูนย์วิจัยแลงเลย์ในเวอร์จิเนีย

NICHOLAS KAMM / AFP

กองทัพต้องเดินด้วยท้อง ว่าด้วยเรื่องอาหารบนดวงจันทร์ที่หลายคนอาจสงสัย

"ต้องไม่แตกเป็นผง ถูกหลักโภชนาการ และอร่อย"

เนื่องจากบนอวกาศมีสภาวะสุญญากาศ อาหารอวกาศจึงไม่ได้มีหน้าตาเหมือนอาหารที่เรากินทั่วไป ต้องมีลักษณะเป็นก้อน ห้ามแตกเป็นผง หรือถ้าเป็นน้ำต้องอยู่ในซองมิดชิดเท่านั้น เหล่านี้เพื่อป้องกันเศษอาหารลอยเข้าไปติดในแผงวงจรและเป็นอันตรายได้

อาหารในโครงการอะพอลโล 11 ถูกพัฒนาขึ้นโดยบริษัทเนสท์เล่ มีลักษณะเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมพอดีคำ มีให้เลือกถึง 4 รส ได้แก่ สตรอเบอร์รี่ ถั่ว มะพร้าว และช็อกโกแลต

Nestle

นอกจากอาหารชนิดก้อน กาแฟก็เป็นเครื่องดื่มอีกอย่างหนึ่งที่นักบินอวกาศขาดไม่ได้ ซึ่งถูกพัฒนาด้วยเทคโนโลยีฟรีซดรายจากเนสท์เล่เช่นกัน ถึงแม้ว่าการดื่มกาแฟในอวกาศไม่ใช่เรื่องง่าย ความกดอากาศที่เปลี่ยนไปทำให้จุดเดือดของน้ำเปลี่ยนไปด้วย ดังนั้นการชงกาแฟก็ต้องเปลี่ยนวิธี แต่นักบินอวกาศก็พยายามหาทางชงกาแฟดื่มจนได้

วินาทีแห่งมวลมนุษยชาติ

วันที่ 20 กรกฎาคม 2512 อะพอลโล 11 (ส่วนสำรวจดวงจันทร์ที่ได้รับการขนานนามว่า นกอินทรีย์) ก็ลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ได้สำเร็จ โดยจุดที่ลงจอดในภารกิจครั้งนี้คือ Sea of Tranquility หรือทะเลแห่งความสงบ ตั้งชื่อตามภูมิประเทศบริเวณนั้นที่มีลักษณะเป็นแอ่ง

"นีล อาร์มสตรอง" เป็นมนุษย์คนแรกที่ได้ประทับรอยเท้าบนดวงจันทร์ ทันทีที่เท้าสัมผัสเขาได้กล่าวขึ้นมาว่า "นี่คือก้าวเล็กๆ ของมนุษย์ (คนหนึ่ง) แต่เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ" นับเป็นวรรคทองสุดโด่งดังนับแต่นั้นมา อีกหนึ่งคนที่สำคัญและจะขาดไม่ได้ก็คือ "บัซ อัลดริน" มนุษย์คนที่ 2 ที่ได้สัมผัสดวงจันทร์ ทั้ง 2 ใช้เวลาอยู่บนดวงจันทร์ 21 ชั่วโมง 36 นาที 21 วินาที

NASA / AFP

ระหว่างที่อยู่บนดวงจันทร์นักบินอวกาศทั้ง 2 ได้เก็บตัวอย่างหิน ติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ และที่สำคัญเขาปักธงสหรัฐอเมริกาลงบนดวงจันทร์ สร้างความปลาบปลื้มให้แก่ชาวโลก และถือเป็นการประกาศว่าพวกเขาทำสำเร็จแล้ว!

ส่วนไมเคิล คอลลินส์ นักบินอวกาศอีกคนนั้น แม้ไม่ได้สัมผัสดวงจันทร์ แต่ก็รับหน้าที่สำคัญอยู่บนยานส่วนบังคับการ (โคลัมเบีย) โดยถ่ายภาพทำแผนที่และส่งผ่านสัญญาณวิทยุติดต่อกับโลก นับเป็นอีกหนึ่งความภูมิใจ ภารกิจในครั้งนี้ใช้กำลังคนกว่า 400,000 คน ร่วมปฏิบัติการ แม้พวกเขาจะไม่ได้เหยียบดวงจันทร์ แต่ก็เป็นกำลังขับเคลื่อนให้ภารกิจลุล่วงไปได้

NASA / AFPนีล อาร์มสตรอง, ไมเคิล คอลลินส์ และบัซ อัลดริน

วันที่ 24 กรกฎาคม 2512 อะพอลโล 11 กลับสู่โลก โดยลงจอดในมหาสมุทรแปซิฟิกอย่างปลอดภัย ใช้เวลาทั้งสิ้น 8 วัน 3 ชั่วโมง 18 นาที 35 วินาที เป็นอันสิ้นสุดภารกิจอะพอลโล 11 อย่างสมบูรณ์

หลังจากโครงการอะพอลโล 11 ประสบความสำเร็จ NASA ก็ส่งยานอวกาศขึ้นไปสำรวจดวงจันทร์อีกหลายครั้งจนถึง "อะพอลโล 17" ซึ่งเป็นภารกิจสุดท้ายออกจากฐานเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2515 และกลับมายังโลกในวันที่ 19 ธันวาคม หลังจากภารกิจ 12 วัน ปิดตำนานโครงการอะพอลโลอย่างสมบูรณ์

ความตั้งใจของประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดีประสบผลสำเร็จภายในระยะเวลา 7 ปี หลังจากการกล่าวสุนทรพจน์ในครั้งนั้น ถึงแม้ว่าเขาจะไม่มีโอกาสได้อยู่ชื่นชมความสำเร็จในครั้งนี้ แต่ท่านก็ได้ริเริ่มสิ่งที่ยิ่งใหญ่ และประวัติศาสตร์ที่น่าจดจำไว้ให้มวลมนุษยชาติแล้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook