ลูกสาวใจสลาย พ่อถูกงูเห่ากัด รพ.ไม่ฉีดเซรุ่มให้ ปล่อยนอนเนื้อเน่าติดเชื้อโคม่า

ลูกสาวใจสลาย พ่อถูกงูเห่ากัด รพ.ไม่ฉีดเซรุ่มให้ ปล่อยนอนเนื้อเน่าติดเชื้อโคม่า

ลูกสาวใจสลาย พ่อถูกงูเห่ากัด รพ.ไม่ฉีดเซรุ่มให้ ปล่อยนอนเนื้อเน่าติดเชื้อโคม่า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

(20 ก.ค.62) ครอบครัวและญาติๆ ของ นายจำรัส อายุ 68 ปี ได้เข้าร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรม จ.ตรัง กรณีที่ นายจำรัส ถูกงูเห่ากัดที่บริเวณตาตุ่มข้อเท้าด้านขวา เมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา ขณะไปเก็บมะนาวที่ปลูกอยู่บริเวณข้างบ้าน จากนั้นทางครอบครัวจึงได้ทุบตีงูเห่าตัวดังกล่าวจนตาย พร้อมกับนำผ้ารัดขาของ นายจำรัส บริเวณเหนือบาดแผล แล้วนำไปส่งโรงพยาบาล โดยแพทย์ได้ล้างบาดแผล พร้อมให้ยาฆ่าเชื้อและยาแก้ปวด ก่อนจะให้นอนพักที่ รพ.เพื่อดูอาการ แต่แพทย์กลับไม่ยอมฉีดเซรุ่มแก้พิษงูให้ โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากผู้ป่วยไม่มีอาการบ่งชี้ว่าโดนงูกัด โดยไม่มีอาการง่วงซึมหรือตาเบลอ

อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่นอนดูอาการที่โรงพยาบาลนั้น นายจำรัส มีอาการปวดท้องและแน่นหน้าอกอย่างรุนแรง ถึงขั้นนอนไม่หลับ ดังนั้นพยาบาลจึงได้นำยาธาตุน้ำขาวมาให้ดื่ม กระทั่งมาถึงวันที่ 4 ก.ค. นายจำรัส เริ่มมีอาการทรุดหนัก บาดแผลเริ่มเปื่อย และเนื้อรอบบาดแผลเริ่มตาย แพทย์จึงไปเบิกเซรุ่มแก้พิษงูมาฉีดให้ และนำตัวส่งต่อไปรักษาที่ รพ.ศูนย์ตรัง หลังจากนั้นได้มีการตัดแต่งเนื้อที่เน่าเปื่อยออกไป และทำการรักษามาโดยตลอด

กระทั่งต่อมา นายจำรัส เริ่มมีอาการทรุด เหม่อลอย พูดคุยไม่รู้เรื่อง เจ็บปวดทั้งร่างกายตลอดเวลา และหายใจไม่ออก จนต้องเข้าห้องไอซียู เมื่อวันที่ 15 ก.ค. และขณะนี้ นายจำรัส ไม่รับรู้อะไรแล้ว โดยแพทย์ รพ.ศูนย์ตรัง ระบุว่า นายจำรัส มีอาการติดเชื้อในกระแสเลือด ติดเชื้อในสมอง ปอดติดเชื้อ สมองเริ่มตายไปบางส่วน และกำลังจะเข้าสู่ภาวะไตวาย พร้อมแจ้งให้ทำใจ ซึ่งทางครอบครัวและญาติๆ ต่างก็ไม่ได้กล่าวโทษใดๆ ต่อ รพ.ศูนย์ตรัง สำหรับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะเข้าใจว่าได้รักษาตามอาการของผู้ป่วยในระยะหลังแล้ว

แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาครั้งแรก ถึงไม่ได้ฉีดเซรุ่มแก้พิษงูให้ตั้งแต่เกิดเหตุ แต่กลับจะมาฉีดให้ในวันที่ 4 ไปแล้ว จึงจำต้องออกมาร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรม จ.ตรัง เพื่อขอให้ โรงพยาบาลแสดงความรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น พร้อมชี้แจงเหตุผล รวมทั้งวิธีการรักษา นายจำรัส อย่างชัดเจน

ล่าสุด นางสุพิศ อายุ 49 ปี ลูกสาวของ นายจำรัส ผู้ป่วยรายนี้ ได้กล่าวถึงอาการล่าสุดของคุณพ่อขณะที่ยังคงรักษาตัวอยู่ที่ห้องไอซียู รพ.ศูนย์ตรัง ว่า ต้องรอดูอาการของคุณพ่อต่อไปเรื่อยๆ และรู้สึกเสียใจมากๆ ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม หลังเกิดเรื่อง แพทย์จากโรงพยาบาลแรกได้เรียกครอบครัวและญาติๆ ของคุณพ่อไปพูดคุยแล้ว พร้อมขอแสดงความรับผิดชอบเต็มที่ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น กรณีที่ทำไมถึงฉีดเซรุ่มให้กับคุณพ่อล่าช้า แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะเป็นยังไง เพราะต้องรอหารือกันก่อน

ขณะที่ นายสมัคร ตันกุลโรจน์ ประธาน อสม.อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ในฐานะตัวแทนอนุกรรมการการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้รับบริการ ตามมาตรา 41 ก็กล่าวว่า กรณีนี้ได้มีการพูดคุยกันทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว คือ โรงพยาบาล กับครอบครัวและญาติๆ ของผู้ป่วย ส่วนการช่วยเหลือยังไม่ได้สรุปกัน เพราะต้องรอดูการรักษาผู้ป่วยอย่างเต็มที่ต่อไปก่อน โดยที่สาธารณสุข อ.ห้วยยอด ได้เป็นตัวกลางในการประสานติดตามเรื่องนี้มาตลอด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายครอบครัวและญาติๆ ของผู้ป่วย

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปพบ นายแพทย์ สินชัย รองเดช รองนายแพทย์สาธารณสุข จ.ตรัง เพื่อสอบถามถึงกรณีดังกล่าว โดย นายแพทย์ สินชัย บอกว่ารับทราบเรื่องแล้ว แต่ไม่ขอให้สัมภาษณ์ใดๆ เนื่องจากขณะนี้ นพ.บรรเจิด สุขพิพัฒปานนท์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.ตรัง เดินทางไปราชการต่างประเทศ และจะกลับมาในวันที่ 27 ก.ค.นี้ โดยที่มิได้มอบหมายให้ตนเองทำหน้าที่รักษาราชการแทน จึงไม่อาจให้สัมภาษณ์ใดๆ ในกรณีนี้ได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook