รัฐมนตรียุติธรรมจ่อแถลงความคืบหน้าคดี "แพรวา 9 ศพ" 23 ก.ค.นี้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมยุติธรรม จ่อแถลงคืบหน้า คดี "แพรวา 9 ศพ" 23 ก.ค. นี้ ที่กระทรวงยุติธรรม
นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยกับสำนักข่าวไอ.เอ็น.เอ็น. ถึงกรณีที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สังกัดกระทรวงยุติธรรม เข้าไปดำเนินการให้ความช่วยเหลือ ครอบครัวของผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต จากเหตุการณ์ที่ น.ส. อรชร หรือ แพรวา ขับรถเก๋งชนกับรถตู้โดยสาร บนทางยกระดับโทลล์เวย์ขาเข้า ช่วงด้านหน้าสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เมื่อคืนวันที่ 27 ธ.ค. 2553 ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 9 คน ว่า ขณะนี้ในส่วนของกระทรวงยุติธรรม ได้เร่งดำเนินการ ประสานการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมบังคับคดี ฯลฯ อย่างต่อเนื่อง โดยในวันอังคารที่ 23 ก.ย. 62 เวลา 10.00 น. ที่กระทรวงยุติธรรม ทางนายสมศักดิ์ จะเป็นผู้แถลงข่าวกับสื่อมวลชนเกี่ยวกับภาพรวมความคืบหน้าคดี และไทม์ไลน์ในการดำเนินงานทั้งหมดในส่วนของกระทรวงยุติธรรมด้วยตนเอง
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวมีรายงานว่า ในส่วนของขั้นตอนการชดเชยความเสียหายนั้น โดยทั่วไปหากจำเลยไม่ชดใช้ค่าเสียหายหลังศาลมีคำพิพากษาให้ชำระค่าชดเชยความเสียหายตามกำหนดเวลา โจทก์สามารถขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีได้ ซึ่งกรณีนี้ ศาลแพ่งเป็นผู้ออกคำสั่ง การขอออกหมายบังคับคดีจึงต้องไปขอที่ศาลแพ่ง จากนั้นศาลแพ่งจะส่งหมายบังคับคดีไปที่ที่สำนักงานบังคับคดีแพ่งกรุงเทพมหานคร 1 เมื่อได้รับหมายก็จะเป็นหน้าที่ของโจทก์หรือเจ้าหนี้ที่ต้องดำเนินการสืบหาทรัพย์ว่าจำเลยมีทรัพย์สินใดบ้าง ซึ่งในส่วนดังกล่าวโจทก์หรือเจ้าหนี้สามารถนำคำพิพากษาของศาลไปขอตรวจสอบทรัพย์สิน
ทั้งนี้ หลังพบทรัพย์สินแล้วสามารถนำมายื่นคำร้อง เพื่อขอตั้งเรื่องบังคับคดี ยึดทรัพย์สินดังกล่าวไปขายทอดตลาดเพื่อนำเงินที่ได้มาชดเชย ซึ่งหากมีเอกสารพร้อม พนักงานพิทักษ์ทรัพย์สามารถดำเนินการได้ทันที โดยการบังคับคดีและสืบเสาะทรัพย์มีอายุความ 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา อย่างไรก็ตาม หากพบมีกรณีที่จำเลยโอนย้ายทรัพย์สินไปยังบุคคลอื่น ทำให้ทรัพย์ดังกล่าวไม่ใช่ของจำเลยแล้ว โจทก์หรือเจ้าหนี้จะต้องไปยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนความเป็นเจ้าของทรัพย์นั้นจากผู้รับโอนก่อนได้