ไขปริศนา "ไปจิ้มก้องเมืองจีน" แท้จริงแล้วคือการทำอะไร

ไขปริศนา "ไปจิ้มก้องเมืองจีน" แท้จริงแล้วคือการทำอะไร

ไขปริศนา "ไปจิ้มก้องเมืองจีน" แท้จริงแล้วคือการทำอะไร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"จิ้มก้อง" เป็นภาษาจีน โดย จิ้ม (進) แปลว่า ให้, ก้อง (貢) แปลว่า ของกำนัล ดังนั้น จิ้มก้องก็คือการให้ของกำนัลนั่นแหละ แต่สำหรับประเทศจีนในสมัยโบราณนั้น การจิ้มก้องเป็นเรื่องใหญ่เนื่องจากจีนเป็นมหาประเทศที่ต้องการแผ่อำนาจออกไปทั่วทุกทิศตามแบบจักรพรรดิราช

จีนจึงมีการทวงถามถึงการจิ้มก้อง แบบว่าประเทศที่อยู่นอกอาณาเขตของจีนทั้งใกล้และไกลให้ส่งทูตมาสวามิภักดิ์พร้อมของกำนัล ซึ่งก็เหมือนกับการส่งเครื่องราชบรรณาการจากหัวเมืองประเทศราชของไทยในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั่นเอง

จากหลักฐานหนังสือจดบันทึกประวัติศาสตร์ฉบับหลวงของจีนในสมัยราชวงศ์หยวน (ราชวงศ์มองโกลที่มีกุบไลข่านเป็นปฐมราชวงศ์) ที่เรียกว่าหมิงสือลู่เล่าว่า เมื่อกุบไลข่านได้ครอบครองอาณาจักรจีนใน พ.ศ. 1822 (ค.ศ. 1279) ก็ได้ส่งทูตไปแจ้งบรรดาอาณาจักรรอบด้านให้อ่อนน้อมและส่งเครื่องราชบรรณาการที่เรียกกันว่า "จิ้มก้อง" นั่นแหละ ซึ่งหลายอาณาจักรรวมทั้งอาณาจักรขอมก็ยินยอมแต่โดยดี แต่ที่ไม่ยอมก็คือ เกาหลี เวียดนาม (ไดเวียด) พุกาม (พม่า) ก็โดนปราบอย่างราบคาบ แต่มีญี่ปุ่นกับชวาเพียง 2 อาณาจักรที่สามารถต่อกรกับทหารมองโกลได้แบบไม่เสียเมือง

พ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งอาณาจักรสุโขทัยในชั้นแรกก็เตรียมตัวรับมือการรุกรานจากมองโกลเช่นกัน ด้วยการผูกพันธมิตรกับพระยางำเมืองแห่งอาณาจักรพะเยา และพระยามังรายแห่งอาณาจักรล้านนา แต่ในที่สุดก็ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการไปยังเมืองจีน (จิ้มก้อง) เมื่อ พ.ศ. 1833 สำหรับสมัยสุโขทัยที่ไม่ยาวนานนักนี่ ตามบันทึกของจีนระบุว่าได้ไปจิ้มก้องเมืองจีนถึง 14 ครั้ง

ครั้นในช่วงปลายของราชวงศ์หยวน ชาวมองโกลอ่อนแอลง ชาวจีนจึงรวมกำลังกันขับไล่มองโกลออกจากจีนได้สำเร็จ และมีการสถาปนาราชวงศ์หมิงขึ้นในระหว่าง พ.ศ. 1911-2187 จักรพรรดิแห่งราชวงศ์หมิงก็รื้อฟื้นการแจ้งบรรดาอาณาจักรทั้งหลายให้กลับมาอ่อนน้อมและมาจิ้มก้องดังเดิม หลังจากที่ได้ว่างเว้นไปนานเนื่องจากเกิดสงครามภายในจีนเพื่อขับไล่พวกมองโกลเสียหลายปี

การมาทวงการจิ้มก้องประสบผลสำเร็จอย่างใหญ่หลวงในสมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ โดยเฉพาะการส่งกองเรือขนาดใหญ่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ที่มีเรือขนาดใหญ่ถึง 317 ลำ บรรทุกทหารมาถึงกว่า 27,000 คนภายใต้การบัญชาการของ "เจิ้งเหอ" ออกมาแสดงแสนยานุภาพถึง 7 ครั้ง บังคับให้อาณาจักรต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (รวมทั้งกรุงศรีอยุธยา) เอเชียใต้จนถึงฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกาให้ยอมอ่อนน้อมด้วยการส่งทูตไปจิ้มก้องที่เมืองจีนกันถ้วนหน้า (มีครั้งหนึ่งที่เจิ้งเหอได้นำยีราฟจากแอฟริกากลับไปเมืองจีนด้วยโดยเข้าใจว่าเป็นกิเลน)

การจิ้มก้องในสมัยอยุธยาเป็นทั้งการยอมรับอำนาจของจีนและได้ผลประโยชน์ทางการค้าด้วยการที่สามารถซื้อสินค้าของจีนโดยไม่ต้องเสียภาษี เช่น ผ้าไหม เครื่องเคลือบ ทั้งนำมาใช้เองและขายต่อให้ต่างชาติ โดยเฉพาะชาติตะวันตกทั้งหลายที่ไม่ได้จิ้มก้องก็มาซื้อต่อจากทางอยุธยา

นอกจากนี้ เมื่อทางอยุธยาไปจิ้มก้องโดยส่งทูตไปนั้น ของบรรณาการก็เป็นของพื้นเมืองที่เก็บส่วยมาได้ เช่น ฝาง งาช้าง นอระมาด ดีบุก พริกไทย อำพัน การบูร และช้างตัวเป็นๆ แต่จีนในฐานะผู้ใหญ่ต้องตอบแทนด้วยข้าวของที่มีราคาประมาณ 2 เท่ากลับคืนให้ทุกครั้งไป อีกทั้งอยุธยายังได้เครื่องชั่ง ตวง วัดจากจีน ทำให้การค้าขายสะดวกขึ้น คนจีนก็เข้ามารับราชการและตั้งชุมชนอยู่ที่อยุธยาด้วย

การจิ้มก้องต้องหยุดชะงักลงเมื่อไทยเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่าครั้งแรกใน พ.ศ. 2112 แต่ก็ฟื้นฟูกลับมาอย่างรวดเร็วในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยพระองค์ได้เสนอว่าจะช่วยจีนรบกับญี่ปุ่นที่มารุกรานเกาหลีซึ่งเป็นเมืองประเทศราชของจีน และได้ร่วมมือกับจีนปราบพม่าที่โจมตีชายแดนจีนที่ยูนนานอีกด้วย

ในสมัยพระเจ้าปราสาททอง มีข้าวเป็นสินค้าสำคัญของไทยที่ส่งออกไปขายที่จีน โดยสรุปแล้วในช่วงสมัยอยุธยา ไทยเราส่งคณะทูตไปจิ้มก้องถึง 102 ครั้งทีเดียว

ครั้นพอเราเสียกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2310 พระเจ้าตากสินมหาราชทรงกอบกู้เอกราชกลับคืนมาได้ แต่พระองค์ยังต้องใช้ความพยายามร่วม 10 ปีให้ทางจีนยอมรับสถานภาพของพระองค์ว่าเป็นกษัตริย์แห่งกรุงธนบุรี เพื่อที่จะได้ไปจิ้มก้องและค้าขายกันได้ต่อไป

ในสมัยรัตนโกสินทร์จนถึง พ.ศ. 2396 ซึ่งเป็นปีสุดท้าย ไทยส่งจิ้มก้องไปจีนรวม 54 ครั้ง ซึ่งนับว่าถี่มาก คือเฉลี่ยปีครึ่งต่อครั้ง จนกระทั่งจีนต้องเตือนมาอย่างเป็นทางการให้จิ้มก้องได้ 3 ปีต่อครั้งตามกฎเกณฑ์ เพราะการไปจิ้มก้องแต่ละครั้งนั้นไทยเราได้กำไรบาน กล่าวคือเครื่องราชบรรณาการก็ไม่ต้องซื้อหาเนื่องจากเป็นส่วยที่ราษฎรต้องส่งให้ทางการอยู่แล้ว และทางการจีนจะจัดสิ่งของตอบแทนโดยประเมินราคาแล้วก็จะต้องสูงกว่าของที่ไทยนำไปถวายประมาณ 2 เท่าตัว ทำนองผู้ใหญ่ให้ของตอบแทนผู้น้อยนั่นแหละ

นอกจากนี้ กรมพระคลังสินค้ายังแต่งเรือสำเภาไปซื้อของจากจีนได้โดยอิสระแบบไม่ต้องเสียภาษี ทำนองเอกสิทธิทางการทูตนั่นแหละครับ ยิ่งไปกว่านั้นบรรดาขุนนางชั้นผู้ใหญ่ก็จะถือโอกาสแต่งเรือสำเภาขนสินค้าประเภทข้าว ฝ้าย พริกไทย ไม้แดง หนังสัตว์ ร่วมขบวนไปและใช้สิทธิทางการทูตซื้อสินค้าจากจีนโดยไม่ต้องเสียภาษี

ในราว พ.ศ. 2396 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงตัดสินพระทัยว่าต่อไปไทยเราจะไม่ส่งทูตไปจิ้มก้องจักรพรรดิจีนอีก แม้ว่าทางจีนจะส่งทูตมาทวงถาม ทางไทยเราก็ผลัดผ่อนและอ้างเหตุต่างๆ นานา เนื่องจากจีนมิได้เป็นมหาอำนาจศูนย์กลางของโลกอีกต่อไป เนื่องจากเหล่ามหาอำนาจตะวันตกโดยเฉพาะอังกฤษได้ก้าวขึ้นมายิ่งใหญ่แทนนั่นเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook