ผอ.ขสมก.ไขก็อก! หึ่งถูกบีบโครงการรถเมล์เอ็นจีวี

ผอ.ขสมก.ไขก็อก! หึ่งถูกบีบโครงการรถเมล์เอ็นจีวี

ผอ.ขสมก.ไขก็อก! หึ่งถูกบีบโครงการรถเมล์เอ็นจีวี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เลขาฯ "สนั่น"ยันไม่เคยได้รับร้องเรียน คนของรัฐรีดเงินจากอู่ต่อรถคันละ 1 ล้าน "ประพันธ์"ย้ำไม่ได้หลีกเลี่ยงชี้แจง กมธ. ประกาศวันว่างพร้อมไปแจง บอร์ด ขสมก.มีมติเห็นชอบ"พิเณศวร์"ลาออกจาก ผอ. สะพัดถูกบีบโครงการรถเมล์เอ็นจีว

นายอรรคพล สรสุชาติ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (พล.ต.สนั่น ขจรประศาส์น รองนายกรัฐมนตรี) กล่าวเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ถึงกรณีนายสันติ พร้อมพัฒน์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า พล.ต.สนั่นเคยได้รับคำร้องเรียนจากผู้ประกอบการอู่ต่อรถบ้านโป่ง จ.ราชบุรี และอู่ต่อรถที่ จ.นครราชสีมา ว่ามีคนจากหน่วยงานรัฐไปเรียกเงินคันละ 1 ล้านบาท เพื่อให้ได้งานโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวีว่า ไม่แน่ใจว่านายสันติเอาข้อมูลมาจากไหน แต่ พล.ต.สนั่นยืนยันว่าไม่เคยรับทราบข้อมูลเรื่องนี้มาก่อน และช่วงที่คณะทำงานของ พล.ต.สนั่น เข้าไปร่วมพิจารณาโครงการเช่ารถเมล์ จะดูรายละเอียดเฉพาะการนำรถมาใช้ระหว่างรถที่ผลิตในประเทศและต่างประเทศเท่านั้น

นายอรรคพล กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ประเด็นการเรียกเงินคันละ 1 ล้านบาท อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงแรกของการผลักดันโครงการที่เน้นการนำเข้ารถทั้งหมดจากต่างประเทศ แต่ตอนนี้รูปแบบโครงการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว มีการกำหนดให้ใช้รถที่ผลิตในประเทศถึง 70% หากแบ่งโควต้าให้กับผู้ประกอบการในประเทศได้อย่างเท่าเทียม เชื่อว่าผู้ประกอบการก็คงพอใจ และไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินตอบแทนให้ใคร

"สิ่งที่น่าสนใจคือ การที่คนซึ่งเป็นถึงอดีตรัฐมนตรี และมีหน้าที่ดูแลโครงการรถเมล์ ออกมาระบุว่ารับทราบข้อมูลการเรียกเงินดังกล่าวตั้งแต่อยู่ในช่วงที่ดำรงตำแหน่ง แต่ไม่ยอมทำอะไรกับข้อมูลส่วนนี้เลย มันเป็นเรื่องที่คงตอบคำถามสังคมได้ยากว่าเกิดอะไรขึ้น" นายอรรคพล กล่าว

วันเดียวกัน ที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) นายปิยะพันธ์ จัมปาสุต ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) ขสมก. แถลงข่าวกรณีคณะกรรมาธิการการคมนาคม และคณะกรรมาธิการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวหาว่าบ่ายเบี่ยงไม่ให้ความร่วมมือในการไปชี้แจงโครงการเช่ารถเมล์ 4,000 คัน โดยยืนยันว่าไม่ได้หลีกเลี่ยง แต่เพราะติดภารกิจถ่ายรายการ "อร่อยร้อยเส้นทาง" แต่ก็มอบหมายให้นายชัยรัตน์ สงวนชื่อ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ในฐานะรักษาการผู้อำนายการ ขสมก.ไปชี้แจงแทนแล้ว

"ผมเคารพในสภานิติบัญญัติ และผมก็ได้แสดงความจริงใจว่าผมว่างวันไหน และได้ทำหนังสือแจ้งไปยังคณะกรรมาธิการ ด้วยว่าว่างวันไหน คือวันที่ 23 มิถุนายน 2552 เวลา 13.00-17.00 น. ส่วนอังคารที่ 30 มิถุนายน ผมติดภารกิจ ถ้าคณะกรรมาธิการยังอยากเชิญให้ไปตอบข้อซักถามก็ยินดีไป" นายปิยะพันธ์กล่าว

ส่วนความคืบหน้าการที่สำนักคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้จัดส่งรายละเอียดแผนฟื้นฟู ขสมก.ภายใน 10 วันโดยกำหนดส่งภายในวันที่ 18 มิถุนายนนั้น นายปิยะพันธ์ กล่าวว่า ไม่ใช่หน้าที่ของบอร์ด เพราะ สศช.แจ้งไปยังกระทรวงคมนาคม และกระทรวงคมนาคมประสานไปยังฝ่ายบริหารของ ขสมก.ให้เตรียมข้อมูลแล้ว โดยจะจัดส่งข้อมูลตามกำหนดภายในวันที่ 18 มิถุนายน

นายปิยะพันธ์ กล่าวถึงกรณีเรื่องรถเมล์ยูโรทู 500 คัน ซึ่งสำนักงานตรวจเงินแผนดิน (สตง.) ระบุว่าทำให้รัฐเสียหายว่า เป็นเรื่องที่ทางฝ่ายการเมืองสามารถขุดคุ้ยขึ้นมาได้ แต่ตนไม่มีปัญหาเพราะเรื่องดังกล่าวได้รับคำสั่งจากคณะกรรมการ ขสมก.ขณะนั้น ให้เป็นประธานการเปิดซองราคาและต่อรองราคา ซึ่งโครงการดังกล่าวไม่ได้มีราคากลางกำหนด เพียงแต่เลือกผู้ที่เสนอราคาต่ำสุดท่านั้น ซึ่งกระทรวงการคลังก็เห็นชอบกับสิ่งที่ดำเนินการและเห็นว่าทั้งบอร์ด ผู้บริหาร ขสมก.และกรรมการเปิดซองราคาและต่อรองราคาก็ไม่มีความผิด เนื่องจากดำเนินการตามหลักเกณฑ์แล้ว

นายปิยะพันธ์ ยังกล่าวว่า วันเดียวกันนี้ นายพิเณศวร์ พัวพัฒนกุล ผู้อำนวยการ ขสมก.ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งกับบอร์ดแล้ว และบอร์ดก็มีมติเห็นชอบ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน เนื่องจากนายพิเณศวร์มีปัญหาสุขภาพซึ่งมีใบรับรองแพทย์ และบอร์ดเห็นชอบให้นายโอภาส เพชรมุณี กรรมการ ขสมก. ทำหน้าที่รักษาการผู้อำนวยการ ขสมก.แทน เนื่องจากเป็นผู้รู้เรื่องแผนฟื้นฟู ขสมก.รวมถึงโครงการเช่ารถเมล์ ขสมก.4,000 คัน

รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านายนายพิเณศวร์จะยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่ง ได้ยื่นขอลาป่วยเป็นเวลา 1 เดือน และเมื่อครบกำหนดได้ขอลาพักผ่อนประจำปีอีก 1 สัปดาห์โดยอ้างเหตุผลเรื่องสุขภาพ อย่างไรก็ตาม มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันว่าสาเหตุสำคัญของการลาออกครั้งนี้ มาจากแรงกดดันเกี่ยวกับโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน

นายสันติ พร้อมพัฒน์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย (พท.) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า พบความไม่โปร่งใสในสนามบินสวรรณภูมิ โดยเฉพาะโครงการเช่าพื้นที่ภายในสนามบินมีการละเมิดสัญญาที่เอกชนทำไว้กับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ถึง 2 ส่วน ที่ทำให้รัฐต้องเสียผลประโยชน์ที่ควรได้ถึงประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท ส่วนที่ 1 คือ พื้นที่ร้านค้า ซึ่งในสัญญาเช่าที่บริษัท คิงเพาเวอร์ จำกัด ทำไว้กำหนดพื้นที่ไว้ 2.2 หมื่นตารางเมตร (ตร.ม.) แต่ ทอท.และอัยการตรวจสอบแล้วพบว่ามีการใช้งานจริงถึง 2.7 หมื่น ตร.ม. เกินกว่าสัญญาถึง 5 พัน ตร.ม. และส่วนที่ 2 คือ พื้นที่ร้านค้าปลอดภาษี หรือดิวตี้ฟรี ซึ่งในสัญญาให้ดำเนินการเพียง 5 พัน ตร.ม.มีการใช้พื้นที่ถึง 1.2 หมื่น ตร.ม.เกินกว่าสัญญาถึง 7 พัน ตร.ม.

นายสันติกล่าวว่า ทั้งนี้ บริษัทคิงเพาเวอร์ไม่ได้จ่ายผลประโยชน์เพิ่มเติมในส่วนเกินที่ดำเนินการเกินจากพื้นที่ที่กำหนดในสัญญา โดยจ่ายผลประโยชน์ขั้นต่ำให้กับ ทอท.เพียง 4.5 พันล้านบาทต่อปี ตามพื้นที่ที่ทำสัญญาไว้เท่านั้น เมื่อรวบรวมตัวเลขความเสียหายจากทำผิดสัญญาดังกล่าวมีถึง 4 พันล้านบาทต่อปี รวม 4 ปี เท่ากับว่า ทอท.ต้องสูญเสียรายได้ไปประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท

"สมัยที่ผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในรัฐบาลพรรคพลังประชาชน ปรากฏว่ามีแรงกดดันจากกลุ่มก๊วนในพรรคขณะนั้นกดดันให้มอบงาน ทอท.และ ขสมก. แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดให้กับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น ถ้ารัฐบาลชุดนี้เข้าไปตรวจสอบเรื่องนี้และนำผลประโยชน์ที่รัฐสูญเสียไปกลับคืนมา คิดว่าเงินส่วนนี้เพียงพอที่จะสร้างรันเวย์ที่สามของสนามบินสุวรรณภูมิได้โดยไม่จำเป็นต้องกู้เงิน" นายสันติกล่าว

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook