วิษณุ เฉลยข้อสอบกรณีคุณสมบัตินายกฯ ลั่น "เจ้าพนักงาน" ไม่ใช่ "เจ้าหน้าที่ของรัฐ"
เมื่อช่วงดึกคืนที่ผ่านมา (25 ก.ค.) นายวัน อยู่บำรุง ส.ส.พรรคเพื่อไทย ถึงคิวลุกขึ้นอภิปรายในที่ประชุมรัฐสภาระหว่างการแถลงนโยบายของรัฐบาล โดยช่วงหนึ่งนายวันกล่าวถึงคุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมีการหยิบยกเอาคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ฟ้องร้องคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ศาลชี้ว่าหัวหน้า คสช. เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มาอ้างอิง
จนกระทั่งมีการประท้วงเกิดขึ้น ในที่สุด นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา แจ้งให้ผู้อภิปรายฟังว่าเรื่องคุณสมบัติ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ ประเด็นนี้ไม่ควรพูด ไม่ควรไปก้าวก่าย ขอใหัอภิปรายในประเด็นเกี่ยวข้องกับนโยบาย ทำให้นายวัน กล่าวปิดท้ายการอภิปรายของตนเองก่อนจะนั่งลงว่า "ผมไม่ทราบว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นนายกฯ เถื่อนหรือไม่ แต่ผมว่าท่านเป็นนายกฯ ที่ไม่สง่างามครับ"
หลังจากนั้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ลุกขึ้นชี้แจงเรื่องคุณสมบัตินายกฯ ว่าขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว รัฐบาลเพิ่งเอาคำให้การไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตอบประเด็นที่ ส.ส. 110 คน ยื่นคำร้องไป แต่ตนอยากจะแก้ไขคลาดเคลื่อนที่มีการยกเอาคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3578/2560 ขึ้นมาเทียบเคียง เพราะในคดีดังกล่าวซึ่งก็มักจะเอามาอ้างกัน ไม่มีที่ใดในคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้เลยที่บอกว่า คสช. หรือหัวหน้า คสช. เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่บอกว่าเป็นเจ้าพนักงาน
“ซึ่งคดีนี้ได้มีการฟ้องว่าจำเลยนั้นขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 ซึ่งบัญญัติว่าผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน ขีดเส้นใต้คำว่าเจ้าพนักงาน มีความผิดลหุโทษ คราวนี้ก็มาเกิดความเข้าใจว่าเจ้าพนักงานกับเจ้าหน้าที่ของรัฐชะรอยจะเป็นอันเดียวกัน ซึ่งไม่ใช่ เจ้าพนักงานก็เจ้าพนักงาน เจ้าหน้าที่ของรัฐก็เจ้าหน้าที่ของรัฐ คุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 98 (15) นั้น พูดถึงเรื่องการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ใช่เจ้าพนักงาน” ส่วนหนึ่งของคำชี้แจงที่นายวิษณุ ระบุในที่ประชุมรัฐสภาเมื่อคืนนี้
นอกจากนี้ นายวิษณุ อธิบายเพิ่มเติมว่า เคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7540/2554 มีการจับเจ้าอาวาสวัดหนึ่ง ในข้อหาว่าเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ของวัด เพราะว่าตามกฎหมายคณะสงฆ์ถือว่าเจ้าอาวาสเป็นเจ้าพนักงาน คดีนั้นที่พระเป็นเจ้าอาวาสหรือจำเลยได้สู้คดีว่าตนไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตนจึงไม่ควรจะเป็นเจ้าพนักงาน ศาลฎีกาตัดสินว่าจำเลยซึ่งเป็นเจ้าอาวาส เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายคณะสงฆ์ แต่ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายอื่น เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐและเจ้าพนักงานเป็นคนละเรื่อง คนละอย่างกัน ถ้ากฎหมายประสงค์จะเอาผิดบุคคลใดเพราะเป็นเจ้าพนักงานก็จะระบุว่าเป็นเจ้าพนักงาน
“บังเอิญฎีกานี้ก็เป็นฎีกาที่ผู้ร้อง 110 คน ได้อ้างต่อศาลรัฐธรรมนูญ และยกขึ้นมาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามนัยแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าว และผมขอกราบเรียนท่านประธานอีกครั้งหนึ่งว่า ไม่มีที่ใดบรรทัดใดในจำนวนทั้งหมดของคำพิพากษาศาลฎีกา 34 หน้านี้ และไล่มาตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ จนถึงศาลฎีกาเลยแม้แต่นิดเดียวที่บอกว่า คสช. หรือหัวหน้า คสช. เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ขออนุญาตกราบเรียนประเด็นนี้ ส่วนประเด็นอื่นว่าจะหลุดไปเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายอื่นหรือไม่ หรือตามรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น เป็นประเด็นที่อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว” นายวิษณุ ปิดท้ายการชี้แจง
ต่อจากนั้น นายวัน อยู่บำรุง ลุกขึ้นใช้สิทธิพาดพิงโดยพยายามสอบถามประธานรัฐสภาว่าเหตุใดจึงปล่อยให้รองนายกฯ อภิปรายชี้แจงได้แบบนั้น ถือว่าเป็นการชี้นำหรือก้าวล่วงอำนาจศาลหรือไม่ เมื่อประธานบอกว่ารองนายกฯ ใช้สิทธิชี้แจงไปแล้วก็ต้องเป็นไปตามนั้น ทำเอานายวันถึงกับอุทานออกมาว่า "แบบนี้ก็ได้หรอครับ" ก่อนจะนั่งลงแบบจำยอมในที่สุด