อำนาจแห่งเครื่องด่า จงสำแดงฤทธา ณ บัดนี้

อำนาจแห่งเครื่องด่า จงสำแดงฤทธา ณ บัดนี้

อำนาจแห่งเครื่องด่า จงสำแดงฤทธา ณ บัดนี้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คุณกิตติขา ประชุมสภาเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมามันร้อนแรง เบิร์นนิ่ง ฮอตท่าห์ เอลนีโญ มากๆ เหล่านักการเมืองในสภาไทยสมัยนี้ เนื้อหา 3 นาที ที่เหลือด่า อร๊อยอร่อย ละครหลังข่าว แม่ค้าร้านตลาดต้องมาดูงานค่ะ

แต่ช้าก่อน คุณกิตติคะ การด่านั้นไม่ใช่เพียงการหาถ้อยคำผรุสวาทมาเพื่อทำให้อีกฝ่ายปวดแปลบแสบเจ็บสุดทนเท่านั้นนะคะ แต่การด่านั้น มันมีพลังอำนาจเหลือคณานับเลยทีเดียว มาค่ะ เทยจะพาไปสู่จักรวาลแห่งการด่ากัน

คำด่านั้น มันถูกนับรวมอยู่กับเนื้อหาหลักภาษาของภาษาต่างๆ ไม่ได้ต่างอะไรจากหมวดหมู่คำอื่นๆ ค่ะคุณ ฉะนั้นก่อนเราจะไปสู่คำด่า เราก็ต้องรู้จักภาษากันเสียก่อน อะไรคือภาษาคะคุณกิตติ ติ๊กต่อก เราพูดกันจนกลืนเป็นเนื้อเดียวกับปากแต่หลายคนยังไม่รู้นะคะ ว่าภาษาคือเครื่องมือหนึ่งของการสื่อสารระหว่างคนสองบุคคลขึ้นไป มันเป็นสื่อกลางที่จำเป็นจะต้องมีการตกลงกันทั้งสองฝ่าย เพื่อทำความเข้าใจร่วมกัน แบบ แกๆ เห็นนังนั่นป่ะ ผู้รับสารก็จะแบบ เออๆ เห็นละ อะไรอย่างนี้ หากสองฝ่ายเข้าใจตรงกันแล้ว ก็จะมีการสื่อสารส่งผ่านข้อมูลระหว่างกันได้ ซึ่งภาษาก็เหมือนกับตัวเชื่อมนั่นเองค่ะ

แผนผังแสดงการรับสารและส่งสาร พื้นฐานการสื่อสารของมนุษย์ทั่วไปSLT Infoแผนผังแสดงการรับสารและส่งสาร พื้นฐานการสื่อสารของมนุษย์ทั่วไป

เฉพาะภาษาเองนั้นมันก็มีหลายระดับ ตั้งแต่ภาษาท้องถิ่น ภาษาทางการ ภาษาราชการ ภาษาเขียน ไล่ลงต่ำไปถึงพวกคำห้วนๆ ไม่เป็นประโยค พวกวลี ศัพท์สแลงที่ใช้กันเฉพาะกลุ่ม รวมไปถึงคำหยาบคายตั่งต่างก็ยังถูกนับรวมว่าเป็นภาษาอยู่ด้วย ทุกภาษาในโลก มีโครงสร้างดังนี้เหมือนกันหมด ทุกคนพูดเหมือนกันหมด

แต่ในภาษาไทย พวกเธอก็ต้องทำใจ เราเป็นชนชาติที่ภาษาเรามีลำดับขั้น ชนชั้นมากมายจนบันไดวนต้องไหว้ แต่ความสวยงามทางภาษาไทยนั้น ดันเกิดความลักลั่นกันอยู่มากประมาณ ภาษาสุภาพที่เราใช้กันก็ดันเป็นคนละอย่างกับภาษาพูดปกติ ครั้นภาษาที่พูดปกติมันก็คนละอย่างกับที่เราใช้พูดกับเพื่อน และไอ้ที่เราพูดกับเพื่อนหลายครั้งมันก็ดันเป็นหมวดหมู่ของคำหยาบ แต่ไอ้คำหยาบที่เราพูดกับเพื่อน มันก็ดันคนละอย่างกับคำด่าอีก งงในงงในงงดีไหมล่ะคะ

และหากจะขุดลงไปให้ลึกอีกนิด ไปให้ถึงที่มาของคำด่า เอาเฉพาะในหมวดหมู่ภาษาไทย ก็คงต้องย้อนไปในสมัยอยุธยาที่ปรากฏหลักฐานไว้ใน “พระไอยการลักษณวิวาทตีด่ากัน” มาตรา 36 ซึ่งระบุไว้ ว่าการใช้คำว่าไอ้หรืออี หรือการขึ้นต้นคำใดๆ ว่าขี้ ก็จะผิดเพราะมันถือเป็นการตีกัน เช่น ขี้ตรุ ขี้เมา ขี้ฉ้อ ขี้ขโมย ขี้ข้า ขี้ครอก ลากไปจนถึง อีดอกทอง ด้วย

“พระไอยการลักษณวิวาทตีด่ากัน” มาตรา 36Silpa-mag“พระไอยการลักษณวิวาทตีด่ากัน” มาตรา 36

หลังจากนั้นมา คำด่าแซ่บๆ ก็ปรากฏอยู่ในวรรณคดีไทยอยู่ประปราย จนล่วงเลยมายังกรุงรัตนโกสินทร์ คำด่า ก็ถูกขัดเกลาให้ยองใยชัดเจนขึ้นใน “อักขราภิธานศรับท์” ของหมอบรัดเลย์ ซึ่งพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2416 ด้วยการอธิบายไว้ตามหลังคำไทยบางคำ จนสามารถสรุปได้ว่าหากตอนนั้นเราด่าใครนำหน้าด้วยคำว่า “อี” จะเป็นการเรียกเพื่อหมิ่นศักดิ์ศรีให้คนคนนั้นตกเป็นหญิงคนยาก เป็นทาส ให้ต่ำลงไปจากเราเสีย และคำด่าที่ปรากฏอยู่ในอักขราภิธานศรับท์นั้น เราก็ยังใช้ด่ากันมาอยู่หลายคำเลยค่ะ เช่น อีห่า อีขี้ข้า อีบ้า วิธีใช้ก็ง่ายแสนง่ายเห็นป่ะคะ แค่ใส่คำว่า อี ลงไปนำหน้าแค่นั้นเอง ทรีมินิท มิราเคิล

อักขราภิธานศรับท์ของหมอบรัดเลย์ ซึ่งพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2416ds.lnwfileอักขราภิธานศรับท์ของหมอบรัดเลย์ ซึ่งพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2416

คำด่าที่เทยกล่าวมา จะเห็นได้ว่ามันอยู่ในหมวดคำหยาบที่สื่อความหมายของชนชั้น ซึ่งมันไทยสไตล์โดยแท้ ตามเนื้อผ้าสภาพสังคมของคนไทยอ่ะโนะ แต่ถ้าคุณผู้ชมตัดภาพไปยังโลกตะวันตก เขาก็จะมีชุดคำด่าที่แตกต่างออกไปเล็กน้อยค่ะ โดยคำด่าของพวกเขานั้น หากเป็นหมวดคำหยาบแล้ว นางก็จะแอบวนเวียนอยู่กับเรื่องใต้สะดือเสียส่วนใหญ่ เธอมันลูกคนขายบริการทางเพศ มีเพศสัมพันธ์กับแม่ แบบนี้ พอจะนึกออกใช่ไหมคะ

แต่พอเอาบริบทของพวกเขามาทาบกับของคนไทย มันก็ดันแปลกประหลาดเสียจริง เพราะคำใต้สะดือของคนไทยแต่ก่อน มันดันกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกับภาษาปากของคนไทยอยู่แล้ว ฉะนั้นเอาคำใต้สะดือมาด่ากันในบริบทไทยเมื่อก่อนมันเลยไม่หยาบเท่าไหร่ ด่าไปก็ไม่เจ็บ แต่มันมาเจ็บแบบในยุคปัจจุบันได้อย่างไร จุดพลิกผันมันคือในช่วงที่ยุคสมัยสร้างชาติของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เรารับเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาเพื่อเชิดชูความเป็นชาติใหม่ การแต่งตัว การเดินเหิน การพูดจาต้องมีครับ มีค่ะ มีคำว่าสวัสดี ดังนั้นภาษาที่ประชาชนชาวไทยใช้ในตอนนั้น มันก็ขยับขึ้นมาดูดีมีชาติตระกูลขึ้นมาโดยพลัน

เมื่อทุกคนดูดีมีชาติตระกูลเสียแล้ว ใครก็ตามที่ยังพูดจาหยาบต่ำจนติดปาก ก็มิวายจะโดนปัดลงไปเป็น “พวกไพร่” ใครใช้คำเรียกที่ไม่ใช่ฉันเธอ หรือถึงขั้นพูดจาด้วยคำพูดใต้สะดือโดยสะดวกปาก ก็จะกลายเป็นพวกหยาบ พวกชนชั้นล่างไปเสีย คนที่ชาติอารยะแล้ว เขาต้องพูดสุภาพเข้าไว้ค่ะ

กระนั้นในโลกสมัยใหม่ การที่อยู่ดีๆ จะออกไปโพล่งคำหยาบ เราเองก็จะดูต่ำทรามไปด้วย “การด่า” ก็เลยมี Evolution ขึ้นไปอีก นั่นคือการยกเปรียบเทียบเปรียบเปรยเอา ผสมคำกับสิ่งที่ไม่ใช่คำหยาบ แต่พอเอามาประกบกับการพยายามทำให้อีกฝ่ายเจ็บปวด มันเลยกลายเป็นคำด่าเฉยเลย เช่นคำว่า “ในสมองเธอคงมีแต่อากาศแน่ๆ” ถามว่าหยาบไหม ไม่มีอะไรหยาบ แต่แสบสัน แน่นอนเป็นคำด่าค่ะ และมันถูกเรียกว่าคำเสียดสีนั่นเอง สมัยนี้ใช้กันให้ดาษดื่นทีเดียว

การเสียดสีนี้เอง ที่ถูกลากโยงเข้ามาในสนามการเมือง และการฟาดฟันกันในสภาหรือในสื่อชนิดถึงพริกถึงขิงด้วยคำพูดที่แค่เสียดสีบ้าง ด่าบ้าง บางทีก็เลยเถิดไปถึงคำหยาบบ้าง เพื่อโจมตีฟากฝั่งตรงข้ามให้สั่นสะเทือนเลื่อนลั่น ซึ่งการต่อสู้ทางการเมืองด้วยคำหยาบนั้น มิใช่แต่ด่าเพื่อเอาความสะใจ เอาอรรถรส ชี้หน้าเทียบเคียง แม่กิ๊ก สุวัจนี ให้ได้เท่านั้น อำนาจของมันยิ่งใหญ่ไพศาล จนสามารถนำไปนับรวมกับ Non-Violent Action หรือ การทำอารยะขัดขืนได้เลย

Non-Violent Action เป็นสันติวิธีที่ใช้เพื่อโค่นอำนาจที่ไม่ชอบธรรมในที่สาธารณะ วิธีนี้ก็ใช้กันมามากในการต่อสู้ทางการเมือง ต่อระบบ ต่ออำนาจ ต่อเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรมในที่ต่างๆ ในโลก ซึ่งการจะกระทำสันติวิธีนั้น หลายๆ ครั้งมันก็ไปขัดกับข้อกฎหมายที่กำลังถือโดยผู้มีอำนาจอยู่หลายตัว นักทำอารยะขัดขืนทั้งหลาย หากจะเดินทางสายนี้แล้วล่ะก็ คุณก็จะต้องยอมติดคุกตามกฎหมาย (ที่มักจะไม่ชอบธรรม) เพื่อบอกว่า "ผู้มีอำนาจนั่นแหละผิด" เพื่อให้เกิด Second Wave ต่อไปในสังคมว่า "เอ๊า ทำไมคนธรรมดาถึงติดคุกล่ะ" ซึ่งทั้งคานธี หรือ แมนเดลา สองนักสันติวิธีชื่อก้องโลก ทั้งคู่ก็เคยติดคุกหรือถูกยิงตายกันทั้งนั้น แต่สิ่งที่เขาต่อสู้ ก็ยังเป็นสัญลักษณ์ต่อมาให้ศึกษาจนถึงปัจจุบัน

มหาตมะ คานธี และ เนลสัน แมนเดลา สองนักสันติวิธีที่เป็นวีรบุรุษระดับโลกistockphotoมหาตมะ คานธี และ เนลสัน แมนเดลา สองนักสันติวิธีที่เป็นวีรบุรุษระดับโลก

คำว่า Non-Violent Action ความหมายตรงตัวก็คือ การกระทำที่ไม่ใช้ความรุนแรงทางกายภาพ ฉะนั้น เราจะต่อสู้กับอีกฝ่ายอย่างไรได้บ้าง โดยไม่ต้องลุกขึ้นไปตบหน้าเขาสักฉาดสองฉาดก่อน

ขั้นที่หนึ่ง การตั้งคำถาม
เป็นอาวุธที่เบาแต่รุนแรงที่สุด หลายๆ ครั้งการตั้งคำถามในบางเรื่องและในบางสถานการณ์ มันก็อาจจะดูไร้มารยาท ยิ่งในสังคมที่เต็มไปด้วยมารยาทเคร่งครัดเช่นสังคมไทยด้วยแล้วก็ยิ่งยากไปใหญ่ แต่ทว่าการตั้งคำถามมันเป็นจุดเริ่มต้นของการหา Alternative Solution ที่ดีกว่า ซึ่งต้องอาศัยมุมมองแบบ นักคิด นักออกแบบ หรือ Critical Thinking ค่อนข้างสูง รวมถึงวิศวกรเอง ก็ยังใช้การตั้งคำถามเพื่อผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ ให้โลกเสมอมา แม้ว่าจะขัดกับหลักศีลธรรมที่คนส่วนใหญ่ยึดถืออยู่

เช่น กาลิเลโอ เคยบอกว่าโลกไม่ใช่ศูนย์กลางของจักรวาลโดยมีนรกอยู่ล่างสวรรค์อยู่บน ตอนนั้นก็ดูไม่มีมารยาทกับทางคริสตจักร แต่ทว่าเรื่องที่เขาคิด เป็นจริงในอีกหลายร้อยปีต่อมา เงิบกันระนาวอ่ะค่ะ

ขั้นต่อมา เขาก็ว่าต้องไม่ทำลายทรัพย์สินด้วย
เราต้องไม่กวาดข้าวของลงจากโต๊ะเครื่องแป้งอย่างเกรี้ยวกราด ไม่เผาบ้านเมือง แต่บางคนเขาก็ว่ามันไม่เกี่ยวกัน เช่น การต่อต้านโรงงานผลิตอาวุธปืนในบางแห่ง ก็มีการบุกเข้าไปทำให้อุปกรณ์บางอย่างในโรงงานให้มันใช้ไม่ได้ซะ เพื่อขัดขวางการผลิตอาวุธปืน ซึ่งก็ต้องทำความเข้าใจด้วยว่า ไม่ใช่นักสันติวิธีทุกคนจะทำตามในระดับนี้

และขั้นสุดท้าย ต้องไม่ Verbal Abuse หรือ ด่ากราด หรือ พูดจาส่อเสียด
การกระทบกระทั่งเสียดสีอีกฝ่ายด้วยถ้อยคำรุนแรง เราต้องสะกดกลั้นความโกรธ กำหมัดแน่นให้ได้ พอยิ่งมาระดับนี้ นักสันติวิธีหลายๆ คนก็มองว่า ถ้ายังห้ามตรงนี้อีก พื้นที่ของการต่อสู้มันก็จะแคบลงอีกนะ สรุปแล้วฉันทำอะไรได้บ้างคะเนี่ย แล้วถ้าเขาด่าเราก่อน เราจะด่าเขากลับไม่ได้เลยหรือ จะให้นั่งเป็นแม่ชีเทเรซาก็ไม่ใช่ป้ะ

ดังนั้น ไอ้การกล่าวโจมตีกันไปมาอย่างถึงพริกถึงขิงในสภา มันก็เลยเกิดขึ้นมาให้เราเห็นกันนี่แหละค่ะ เพราะว่าในสภา เป็นสถานที่ที่ให้คนได้เข้ามาถกเถียง ทะเลาะ ขัดแย้ง และต่อรองผลประโยชน์กันอยู่แล้ว ยิ่งความขัดแย้งทางผลประโยชน์พุ่งสูง อารมณ์ยิ่งคุกรุ่น การด่าทอเสียดสี ก็ยิ่งเกิดขึ้นได้มากเท่านั้น

MCOT

แต่แน่นอน หากทุกคนจะลุกขึ้นมาด่ากันตามความรู้สึกก้นบึ้งในจิตใจแล้วล่ะก็ สังคมก็มิวายจะลุกเป็นไฟเป็นแน่แท้

ในยุคสมัยใหม่ จึงมีสิ่งที่เรียกว่า Political Correctness หรือ ความถูกต้องทางการเมือง ที่เราเรียกมันย่อๆ กันว่า PC ซึ่งมันไม่ได้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลแต่อย่างใด แต่มันคือสูตรสำเร็จของการไม่พูดหรือกระทำสิ่งใดๆ ที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง เช่น เราจะไม่เรียกคนอื่นว่า "แกเป็นคนพิการ" แต่ให้เรียกว่า "ทุพพลภาพ" ซึ่งเป็นคำพื้นฐานที่เราคงเคยได้ยินกันมาบ้าง ใครพูดจาให้เกิดการผิดทางการเมืองขึ้นมา ท่านประธานคะ ดิฉันขอเสนอให้เขาถอนคำพูดเดี๋ยวนี้ค่ะ!!!!

พอโลกมันหมุนไปข้างหน้า เจ้า PC ก็ไปไกลเสียจนเราจะไม่เรียกคนอื่นว่า "แกมันอ้วน" แต่ให้เรียกว่า "ผู้มีน้ำหนักเกินกว่ามาตรฐาน" แทน บิดคำกันไป แต่ความหมายยังแอบชวนให้ขมวดคิ้วเหมือนเดิม เอ๊ะ ตะกี้เขาด่าฉันหรือไม่ได้ด่านะ แต่มันก็ยังดีกว่าคำด่าที่เทยได้กล่าวมาข้างต้น ขึ้นไอ้ขึ้นอีเหล่านั้น ไม่ต้องพูดถึงเลยค่ะ ผิดไปมากแน่นอน

ฟังดูดีจัง หลังจากนี้ เราจะได้มีแต่คำที่สุภาพ ไม่ทำร้ายจิตใจกันได้แน่เป็นแช่แป้ง มันจะจบลงอย่างนั้นได้จริงหรือไม่ เทยก็คงต้องฝากให้ไปครุ่นคิดกันเจ้าค่ะ

แต่ก่อนที่เราจะไปถึงการผิดความถูกของ PC สิ่งหนึ่งที่ไม่ว่าใครก็ตามที่กำลังจะกระโจนไปสู่สนามการด่ากัน ต้องพึงระลึกไว้ ก็คือแน่นอน มันผิดกฎหมายอาญามาตรา 326 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท” ดังนั้นหากเราไปด่าใคร และมันกระจายออกสู่สาธารณะและเขาฟ้องร้องเมื่อไหร่ ก็ระวังหมายศาลจะมาเคาะประตูเป็นเบื้องต้นเลยค่ะคุณ

แหม เหยี่ยวเทยเองก็ต้องสอดส่อง ระวังปากตัวเองไว้ด้วยเหมือนกัน

ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมา เทยไม่ได้สนับสนุนให้ใครไปด่าใคร แต่ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้ขอให้ใครต้องนั่งทิพย์เป็นแม่ชีตลอดเวลา ในทางการเมืองนั้น การด่าเพื่อเสียดสีสั่นคลอนอำนาจก็จำเป็นต้องทำบ้างอย่างที่เทยได้กล่าวไป แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องรู้สำนึก รู้ตัวเสมอว่า เราด่าไปด้วยความเกลียดไปซะทั้งหมดหรือเปล่า เพราะสุดท้ายแล้ว เราก็ต้องรู้ว่าปลายทางของการด่าของเรามันจะไปจบตรงไหน เช่น ด่าเพื่อล้มอำนาจรัฐที่ไม่ชอบธรรมเท่านั้น หากอำนาจนั้นหมดลง เราจบ เราถอย อย่างนี้เป็นต้นค่ะ สติต้องมีค่ะลูก

ถ้าเกลียดใคร ด่าให้พอกรุบแล้วก็ถอยออกมา แต่ถ้าเป็นคนมีอำนาจที่เขากดขี่เราไว้ ชี้หน้ามันเข้าไปเถอะค่ะ ระบายมันออกมา อีแพงเค้ก!!!!

เหยี่ยวเทย รายงาน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook