6ชาติอาหรับเดินหน้า ปลูกข้าว-ปศุสัตว์ในไทย สมาคมชาวนาค้านสุดตัว
กลุ่มประเทศอาหรับ 6 ชาติยังสนใจลงทุนปลูกข้าว-ปศุสัตว์ในไทย หวั่นเจอวิกฤตอาหารโลกขาดแคลน บัวแก้วทำหนังสือถามท่าที ก.พาณิชย์-ก.เกษตรฯ-บีโอไอ ด้านนายกสมาคมชาวนาไทย บอกหากยอมต่างชาติแย่งอาชีพ จะทำให้เกษตรกรไทยตายซากซ้ำรอยโชห่วย กลายเป็นลูกจ้าง ขู่เจอต่อต้านรุนแรงแน่ ชี้เท่ากับขายชาติ-ทำลายวิถีชีวิตคนไทย
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยเมื่อวันที่ 21 มิถุนายนว่า เมื่อวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา นายสุรศักดิ์ เจือสุคนธ์ทิพย์ รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ทำหนังสือถึงนายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ สอบถามกรณีกลุ่มประเทศคณะมนตรีความมั่นคงรัฐอ่าวอาหรับ (จีซีซี) 6 ประเทศ ประกอบด้วย กาตาร์, โอมาน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี), บาห์เรน, คูเวต และซาอุดีอาระเบีย แสดงความสนใจเข้ามาทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์และทำนาปลูกข้าวในไทย ว่า กระทรวงพาณิชย์มีท่าทีและนโยบายอย่างไรกับการเข้ามาลงทุนในประเภทธุรกิจทำการปศุสัตว์และทำการเกษตรในไทย เพื่อชี้แจงกลุ่มประเทศจีซีซี และอีกหลายประเทศที่แสดงความสนใจ
แหล่งข่าวกล่าวว่า ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และกาตาร์ แสดงความสนใจในการลงทุนปลูกข้าวและเลี้ยงสัตว์ในไทย เพราะกังวลเรื่องความมั่นคงทางอาหาร และอาจเกิดวิกฤตขาดแคลนอาหารจนทำให้ราคาสูงอย่างที่เคยเกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2551 โดยกระทรวงการต่างประเทศได้ทำหนังสือสอบถามประเด็นเดียวกันนี้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แล้วเช่นกัน
นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ความสนใจลงทุนของชาวต่างชาติถือเป็นเรื่องดี แต่ควรให้น้ำหนักส่งเสริมการลงทุนภาคอุตสาหกรรมมากกว่า เพราะขณะนี้มีหลายอุตสาหกรรมรอการลงทุนจากต่างชาติอยู่ ส่วนตัวแล้วเชื่อว่าเกษตรกรไทย และผู้ประกอบการไทยมีความสามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมดีอยู่แล้ว แม้ยังขาดองค์ความรู้ เทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องที่ต้องสนับสนุน และให้ความสำคัญกับการทำอาชีพของคนไทยเป็นอันดับแรก
นายประสิทธิ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยและคัดค้าน หากรัฐบาลไทยเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์และปลูกข้าวในไทย เท่ากับว่าขายชาติ และทำร้ายวิถีชีวิตบรรพบุรุษไทย เกษตรกรไทยกว่า 40 ล้านคนจะได้รับผลกระทบ และจะเกิดการประท้วงต่อต้านอย่างรุนแรง ทั้งนี้ ปัจจุบันเกษตรไทยก็เจอปัญหาหนี้สินล้นตัว รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย หากเปิดให้ต่างชาติลงทุน ซึ่งได้เปรียบในเรื่องเงินทุน เทคโนโลยี สุดท้ายเกษตรกรจะกลายเป็นเพียงลูกจ้างหรือทาสของนายทุนต่างชาติ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วกับธุรกิจค้าปลีกรายย่อย (โชห่วย)
ทางออกที่ดี รัฐควรสนับสนุนพัฒนาเกษตรกรรมไทย และจัดทำยุทธศาสตร์ เพื่อพัฒนาการเกษตรอย่างจริงจัง ในด้านเทคโนโลยีการเพาะปลูกและการตลาด โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาต่างชาติ เพราะการพึ่งทุนต่างชาติ ท้ายที่สุดกลุ่มนี้ก็ต้องนำเงินออกไปต่างประเทศอยู่ดี ตกถึงมือเกษตรกรไทยเพียงน้อยนิด และท้ายสุดคนไทยทั้งประเทศต้องกินข้าวราคาแพงขึ้น นายประสิทธิกล่าว
แหล่งข่าวจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ธุรกิจเกษตรและปศุสัตว์ควรเป็นธุรกิจของคนในชาติ ไม่เห็นด้วยที่รัฐจะอนุมัติให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน รวมถึงดูแลไม่ให้เกิดการถือหุ้นแทน (นอมินี) ในการซื้อที่ดินเพื่อการเกษตรและปศุสัตว์ โดยอาศัยช่องโหว่ของ พ.ร.บ.การประกอบการธุรกิจของคนต่างด้าว ซึ่งห้ามให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนเพาะปลูกในไทย ที่สำคัญในระยะยาวจะมีผลต่อการชี้นำตลาดและราคา รัฐควรพัฒนาด้านผลผลิตและเทคโนโลยีการผลิตในการทำนารูปแบบใหม่เพื่อพัฒนาให้แข่งขันกับคู่แข่ง และรักษาการเป็นผู้นำส่งออกข้าวจะดีกว่าการลงทุนเพื่อป้อนตลาดจีซีซี หรือส่งออก ต้องทำแบบเกษตรอุตสาหกรรม ต้องพัฒนาที่ดินหลายหมื่นไร่ ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะรวบรวมพื้นที่ได้มากขนาดนั้น
อนึ่ง ประเด็นการเสนอลงทุนทำนาในไทย เคยเกิดขึ้นและถูกคัดค้านมาแล้วเมื่อกลางปี 2551 ในสมัยที่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ชักชวนนักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย นายวาลิด อาเหม็ด จัฟฟาลี รองประธานบริษัท ซาอุดีซีเมนต์ (เอสซีซี) ซึ่งเป็นบริษัทซีเมนต์รายใหญ่ที่สุดในซาอุดีอาระเบีย เข้ามาลงทุนทำนาหรือเช่าที่ดินทำนา และการส่งข้าวออกขายต่างประเทศ พร้อมทั้งจัดตั้งบริษัทรวมใจชาวนาขึ้นเพื่อรองรับการลงทุนของนักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย แต่เรื่องนี้ถูกกระแสต่อต้าน ทั้งจากนักการเมืองบางกลุ่ม องค์กรภาคประชาชน กลุ่มเกษตรกร เนื่องจากเป็นการนำต่างชาติเข้ามาแย่งชิงการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และการเกษตร ซึ่งควรจะถูกสงวนไว้สำหรับคนไทยเท่านั้น