“ฮอร์โมน” สิทธิมนุษยชนของคนข้ามเพศ

“ฮอร์โมน” สิทธิมนุษยชนของคนข้ามเพศ

“ฮอร์โมน” สิทธิมนุษยชนของคนข้ามเพศ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อมุมมองเรื่องเพศในโลกยุคใหม่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ 2 เพศ แต่กลับมีความหลากหลายมากขึ้นกว่าในอดีต ความละเอียดอ่อนและซับซ้อนทั้งด้านกายภาพ จิตใจ และวิถีชีวิต ผลักให้กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ เดินหน้าบุกเบิกพื้นที่ในสังคม ผ่านการเรียกร้องสิทธิต่างๆ และไม่นานนี้ การเรียกร้องสิทธิของ LGBTQ+ โดยเฉพาะกลุ่มคนข้ามเพศ (Transgender) ก็เกิดขึ้นอีกครั้ง จากการที่คุณศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักกิจกรรมอิสระเรื่องสิทธิมนุษยชน เพื่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศและพนักงานบริการ ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ประสานงานกับกรมราชทัณฑ์ เพื่อดำเนินการให้ผู้ต้องขังที่เป็นคนข้ามเพศได้รับสิทธิในการเข้าถึงฮอร์โมน

อย่างไรก็ตาม กระแสตอบรับจากสังคมกลับไม่ดีนัก โดยส่วนใหญ่ยังมองว่าผู้ต้องขังที่เคยกระทำความผิดไม่สมควรได้รับสิทธิประโยชน์ และยังมองว่าฮอร์โมนเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น แต่ที่จริงแล้ว เรื่องที่ดูจุกจิกเช่นนี้ สามารถส่งผลกระทบในระดับสังคมได้เลยทีเดียว

ฮอร์โมน = บริการสุขภาพเพื่อการข้ามเพศ

ในขณะที่สังคมส่วนใหญ่เข้าใจว่าการใช้ฮอร์โมนเป็นเรื่องของการเสริมความงามของกลุ่มคนข้ามเพศ เปลี่ยนรูปลักษณ์จากผู้ชายให้กลายเป็นผู้หญิง หรือจากผู้หญิงกลายเป็นผู้ชาย แต่ที่จริงแล้ว ฮอร์โมนถือว่าเป็นหนึ่งในบริการสุขภาพเพื่อการข้ามเพศ ที่ผู้เข้ารับฮอร์โมนจะต้องได้รับการดูแลโดยแพทย์ ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่ง พญ.นิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์ หัวหน้าหน่วยพรีเวนชั่น ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย อธิบายว่า

“สมมติมีเด็กผู้ชายคนหนึ่ง อายุ 18 ปี ต้องการที่จะข้ามเพศเป็นผู้หญิง วิธีการให้คำปรึกษาเรื่องการข้ามเพศก็คือว่า เขามองว่าตัวเขาเองอยากจะเป็นประมาณไหน เราก็พิจารณาว่าแบบนั้นต้องใช้ฮอร์โมนหรือเปล่า ถ้าเด็กคนนั้นต้องการที่จะมีหน้าอก ลดขนที่ขึ้นตามตัว ก็คงต้องมีการใช้ฮอร์โมนร่วมด้วย แต่ไม่ได้แปลว่าทุกคนต้องได้ตัวนี้ ขนาดเท่านี้ มันก็ขึ้นอยู่กับว่าคนคนนั้นมีการตอบสนองต่อฮอร์โมนที่ได้มากน้อยแค่ไหน หรือบางคนแค่ต้องการผิวที่เนียนขึ้น ผิวมันน้อยลง แต่ไม่ต้องการมีหน้าอก ก็หยุดแค่นั้น ไม่จำเป็นว่าทุกคนที่ข้ามเพศแล้วจะกลายเป็นผู้หญิงที่เป็นบล็อกเดียวกันเสมอไป"

นอกจากการพิจารณาการตอบสนองของร่างกายต่อฮอร์โมนแล้ว สิ่งที่ยืนยันว่าการ “เทคฮอร์โมน” เป็นส่วนหนึ่งของบริการด้านสุขภาพ คือผลข้างเคียงจากการรับฮอร์โมน ที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลโดยแพทย์

“ในกรณีของผู้หญิงข้ามเพศ ที่ไม่ได้ผ่าตัดอัณฑะออกไป จะยังมีฮอร์โมนเพศชายอยู่ ก็จะใช้ฮอร์โมนที่ลดความเป็นชายและเพิ่มความเป็นหญิงให้มากขึ้น ผลที่จะเกิดขึ้นก็เช่น ต่อมลูกหมากอาจจะมีขนาดลดลง เนื้อของเต้านมอาจจะขยายใหญ่ขึ้น ตรงนี้จะต้องให้แพทย์เฉพาะทางมาดูแลในระยะยาว เพราะการที่เต้านมขยายใหญ่ขึ้นต้องมีการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในผู้ชาย ส่วนต่อมลูกหมาก แม้ว่าจะมีขนาดเล็กลง แต่ก็มีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากได้ ต้องพิจารณาว่าการคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากจะยังเหมือนผู้ชายทั่วไปหรือเปล่า หรือว่าต้องใช้วิธีการอื่น เช่น การอัลตราซาวด์หรือเอ็กซ์เรย์ บางคนผ่าตัดแปลงเพศด้วย กระดูกก็อาจจะบางลง ก็ต้องมีการดูแลเป็นพิเศษ เช่น การเช็คมวลกระดูก เป็นต้น”

“ส่วนผู้ชายข้ามเพศ จะมีปัญหาค่อนข้างมาก เพราะถึงแม้รูปลักษณ์ภายนอกจะมีหนวดเครา มีกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น เสียงเปลี่ยน แต่มดลูกและช่องคลอดจะยังคงอยู่เหมือนเดิม เพราะฉะนั้น โอกาสที่จะเกิดมะเร็งในอวัยวะสืบพันธุ์ของผู้หญิงก็ยังคงมีอยู่ ซึ่งบางคนละเลยตรงนี้ไป ก็ไม่ได้มีการตรวจคัดกรอง ไม่กล้าเดินเข้าไปในคลินิกสูตินรีเวชเพื่อไปขอตรวจแปปสเมียร์ เพราะรูปลักษณ์ภายนอกเป็นผู้ชาย” พญ.นิตยากล่าว

เนื่องจากสุขภาพทางเพศของกลุ่มคนข้ามเพศนั้นมีรายละเอียดที่ซับซ้อน การใช้บริการในสถานพยาบาลทั่วไปจึงค่อนข้างยากลำบาก โดยเฉพาะการปฏิบัติต่อคนข้ามเพศอย่างขาดความเข้าใจ ทั้งการเรียกคำนำหน้าชื่อตามบัตรประชาชน ที่ไม่ตรงกับเพศสภาวะ ไปจนถึงการตีตรา การเลือกปฏิบัติ หรือถูกถามคำถามที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น พญ.นิตยาจึงมองว่า การให้บริการสุขภาพแบบองค์รวมแก่คนข้ามเพศเป็นสิ่งจำเป็น โดยยกตัวอย่าง “แทนเจอรีนคลินิก” ที่ให้บริการแก่คนข้ามเพศ โดยแพทย์ที่สามารถให้การดูแลทั้งด้านร่างกาย จิตใจ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงการให้ฮอร์โมน โดยคำนึงถึงตัวคนไข้เป็นหลัก

“เราจะมีการประเมินเบื้องต้นว่าเคยใช้ฮอร์โมนอะไรมาบ้าง ใช้ฮอร์โมนอยู่หรือเปล่า อันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากฮอร์โมนที่เคยใช้หรือกำลังใช้อยู่ แล้วก็มีการเช็คสุขภาพเบื้องต้น ปรับการใช้ฮอร์โมนให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด บางคนเขามั่นใจในฮอร์โมนสูตรของเขามาก เราก็ให้ใช้ต่อและช่วยดูระดับฮอร์โมนในเลือดให้ว่าอยู่ในระดับที่โอเคหรือเปล่า พร้อมกันนั้นก็เช็คเรื่องตับ ไต ไขมันในเลือด แล้วก็ค่อยๆ ปรับกันไป ซึ่งในระยะยาวก็จะทำให้เกิดการใช้ฮอร์โมนที่ดีที่สุดสำหรับคนคนนั้น” พญ.นิตยาเล่า

อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทย คนข้ามเพศสามารถเข้าถึงฮอร์โมนได้อย่างเสรีตามร้านขายยาทั่วไป ประกอบกับบรรยากาศในสถานพยาบาลที่ไม่เป็นมิตรกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และสถานพยาบาลที่ให้บริการแก่คนข้ามเพศโดยเฉพาะยังมีจำนวนจำกัด ทำให้คนข้ามเพศส่วนใหญ่เลือกที่จะเข้าถึงฮอร์โมนด้วยตัวเอง หรือทำตามคำแนะนำของเพื่อนมากกว่าแพทย์ ซึ่งหลายครั้งก็มีการตรวจสอบพบว่าฮอร์โมนเหล่านั้น ไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนในประเทศไทย หรือแม้กระทั่งไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นยาคุมกำเนิด ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้ใช้ฮอร์โมนได้

“ที่เราต้องทำให้การให้ฮอร์โมนเพื่อการข้ามเพศ เป็นหนึ่งในบริการทางการแพทย์ เพราะการใช้ฮอร์โมนนอกระบบมีโอกาสเกิดอันตรายต่อตัวผู้ใช้ได้ เช่น โรคที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือด ไขมันในเลือดที่สูงขึ้น การทำงานของตับที่มากขึ้น การที่ทำให้เกิดเลือดข้น เส้นเลือดอุดตัน เป็นต้น ซึ่งหลายครั้งเราจะพบว่า การใช้ฮอร์โมนเองหรือใช้ตามคำบอกเล่าของคนอื่น มักจะเป็นการใช้ฮอร์โมนที่เกินขนาดกว่าระดับที่ร่างกายต้องการ เพียงเพราะว่าเราเห็นว่าคนนั้นใช้เท่านั้นแล้วเขาสวย เราก็ใช้เท่าเขา ทั้งที่จริงแล้ว แต่ละคนตอบสนองต่อฮอร์โมนไม่เหมือนกัน” พญ.นิตยากล่าว

ฮอร์โมนกับระบบประกันสุขภาพ

เมื่อทุกวันนี้ การรับฮอร์โมนและการผ่าตัดแปลงเพศยังถูกมองว่าเป็นเพียงศัลยกรรมเสริมความงาม ไม่ใช่บริการด้านสุขภาพ ทำให้กระบวนการข้ามเพศยังไม่ได้รับการบรรจุในระบบประกันสุขภาพแต่อย่างใด ซึ่งคุณศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักกิจกรรมอิสระเรื่องสิทธิมนุษยชน เพื่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศและพนักงานบริการ มองว่าสาเหตุน่าจะมาจากการที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรับรองเพศสภาพให้กับคนข้ามเพศ เพราะสิทธิต่างๆ จะยึดตามเพศกำเนิด ก็คือเพศชายกับเพศหญิงเท่านั้น ประกอบกับทัศนคติของรัฐและสังคม ที่มองว่าการข้ามเพศเป็นเรื่องความสวยความงาม ไม่ใช่เรื่องสุขภาพ ทำให้ไม่เกิดการผลักดันให้มีกฎหมายที่ครอบคลุมถึงสิทธิของคนข้ามเพศ

“อย่างการแปลงเพศมันคือการผ่าตัดใหญ่ มันส่งผลต่อสุขภาพ สิทธิที่คนข้ามเพศไม่ได้รับก็เช่น ถ้าเขามองว่ามันเป็นสิ่งที่เราตัดสินใจทำเอง ประกันก็จ่ายไม่ได้ สมมติว่าเราไปแปลงเพศมา แล้วอวัยวะเพศฉีกขาด ก็เบิกไม่ได้ เพราะเขาบอกว่ามันเป็นแผลเป็นจากการศัลยกรรม ไม่ใช่แผลผ่าตัดจริงๆ และถ้าจะลางานเพื่อไปผ่าตัดแปลงเพศที่ต้องใช้เวลาหลายเดือน ที่ทำงานก็จะบอกว่าเธอลาไปศัลยกรรมหลายเดือน ก็ต้องลาออกไปเลย หรือไม่ต้องลาออก แต่ไม่ได้เงินเดือน ทั้งที่จริงเราต้องอธิบายว่า การผ่าตัดประเภทนี้คือการผ่าตัดใหญ่ เหมือนผู้หญิงลาคลอด ที่ได้สิทธิในการลาคลอดโดยไม่ต้องออกจากงาน เราต้องมองให้เป็นเรื่องเดียวกัน คือเรื่องของชีวิตและสุขภาพ” คุณศิริศักดิ์กล่าว

ไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ประเด็นเรื่องสิทธิในการรับบริการด้านสุขภาพของคนข้ามเพศก็เป็นปัญหาในต่างประเทศเช่นกัน โดยเฉพาะการไม่สามารถให้คำนิยามเกี่ยวกับบริการสุขภาพของคนข้ามเพศ เพื่อเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพอย่างเป็นทางการได้ ซึ่ง พญ.นิตยา อธิบายว่า

“ในระบบสาธารณสุขของทุกประเทศ คุณจะเบิกอะไรได้ ต้องมีการใส่โค้ดเข้าไป จะใส่โค้ดอะไรเข้าไป คุณก็ต้องมีโค้ดของโรคนั้นๆ แต่วิธีนี้กำลังถูกสั่นคลอน เมื่อเราทำให้การข้ามเพศ ทั้งฮอร์โมนและผ่าตัดแปลงเพศ ไม่ใช่โรคอีกต่อไป ดังนั้นจึงเกิดคำถามว่า ถ้าอย่างนั้นจะใส่โค้ดว่าอะไรถึงจะทำให้การข้ามเพศกลายเป็นบริการสุขภาพได้ ซึ่งมันก็กระทบ และคิดว่าคงไม่มีใครพูดหรอกค่ะว่า ช่างมันเถอะนะ นับว่าเป็นโรคเถอะ ถ้าพูดแบบนั้นไปต้องมีคนตีกลับแน่นอน แต่ท้ายที่สุด เมื่อคนข้ามเพศสามารถเข้าถึงบริการและเบิกจ่ายในระบบประกันได้ พวกเขาก็จะมีสุขภาวะโดยรวมที่ดีขึ้น”

คุณศิริศักดิ์ ไชยเทศ (กลาง) ขณะยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เรื่องการเข้าถึงฮอร์โมนของคนข้ามเพศในเรือนจำSirisakPosh ChaitedSpiceคุณศิริศักดิ์ ไชยเทศ (กลาง) ขณะยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เรื่องการเข้าถึงฮอร์โมนของคนข้ามเพศในเรือนจำ

ฮอร์โมนกับคนคุกข้ามเพศ

ในขณะที่กลุ่มคนข้ามเพศทั่วไปยังไม่ได้รับสิทธิที่จะเข้าถึงฮอร์โมนตามระบบประกันสุขภาพ คนข้ามเพศอีกกลุ่มที่จำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนแต่ขาดโอกาสยิ่งกว่า คือคนข้ามเพศที่เป็นผู้ต้องขังในเรือนจำ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง หากขาดฮอร์โมนเป็นระยะเวลานาน ทั้งนี้ คุณศิริศักดิ์มองว่า การที่ผู้ต้องขังที่เป็นคนข้ามเพศไม่ได้รับสิทธินี้ เป็นเพราะเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ยังขาดความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ นำไปสู่การปฏิบัติอย่างไม่เข้าใจ ตั้งแต่การมองว่าการรับฮอร์โมนไม่ใช่เรื่องสุขภาพ ไปจนถึงการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังโดยยึดตามคำนำหน้าชื่อในบัตรประชาชน ดังนั้น หากคำนำหน้าชื่อเป็นนาย เท่ากับเป็นผู้ชาย และไม่จำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนเพศหญิง

นอกจากนี้ ทัศนคติของสังคมที่มองว่าผู้ต้องขังไม่สมควรได้รับความเป็นอยู่ที่ดี เนื่องจากเคยกระทำความผิดมาก่อน ก็ยิ่งตอกย้ำให้การรับฮอร์โมนในเรือนจำเป็นไปได้ยากขึ้น

“น้องที่อยู่ในเรือนจำบอกว่า แค่สหกรณ์มีแป้งมาขายกระปุกเดียวเขาก็ดีใจมากแล้วนะ คือกะเทยรีบไปซื้อเลย เพราะเขาก็อยากสวยเหมือนปกติ แต่ด้วยทัศนคติของสังคม คุณทำผิด คุณอยู่ในเรือนจำ จะมาสวยงามได้อย่างไร คุณต้องถูกจองจำ ต้องได้รับความทรมาน ทั้งที่มันต้องแยกกันระหว่างสิทธิในเรื่องของสุขภาพกับเรื่องของการกระทำผิด การกระทำความผิดเขาก็ได้รับโทษแล้ว คือถูกจำกัดอิสรภาพอยู่ในเรือนจำ แต่เขาก็ต้องมีชีวิตอยู่ต่อไป เพราะฉะนั้น เขาก็ต้องได้รับฮอร์โมน มันเป็นเรื่องสิทธิเกี่ยวกับสุขภาพที่เขาควรได้รับ แต่คนไม่เข้าใจเพราะคิดว่ามันเป็นเรื่องความงาม ก็เลยไม่สามารถเอาเข้าไปได้” คุณศิริศักดิ์เล่า

สำหรับผลกระทบจากการขาดฮอร์โมนเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากการถูกจองจำและไม่ได้รับฮอร์โมนอย่างต่อเนื่อง พญ.นิตยาและคุณศิริศักดิ์ระบุตรงกันว่า ร่างกายของคนข้ามเพศจะเปลี่ยนไป เช่น จากที่เคยได้รับฮอร์โมนเพศหญิงแล้วไม่มีขนขึ้นตามร่างกาย ไม่มีกล้าม สิ่งเหล่านี้จะกลับมา ซึ่งส่งผลต่อสภาพจิตใจอย่างรุนแรง

“เนื่องจากการแสดงออกทางเพศมีส่วนสำคัญมากต่ออัตลักษณ์ของคนข้ามเพศ ดังนั้นผลกระทบในด้านจิตใจอาจจะชัดเจนมากกว่าร่างกาย เพราะว่าอัตลักษณ์เป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุดในชีวิตของทุกคน เรารู้สึกว่าเราเป็นอะไร และทำให้คนรับรู้อัตลักษณ์ของเราแบบนั้นได้หรือเปล่า ถ้ามันถูกดึงกระชากออกจากตัวเรา ความเป็นตัวเรามันก็จะหายไป” พญ.นิตยาอธิบาย

ส่วนแนวทางการนำฮอร์โมนเข้าสู่เรือนจำเพื่อแจกจ่ายแก่นักโทษนั้น คุณศิริศักดิ์มองว่า ควรนำเข้าไปในฐานะบริการทางการแพทย์อย่างหนึ่ง และได้เล่าถึงวิธีคิดของผู้ต้องขังคนหนึ่ง ที่เสนอให้นำฮอร์โมนไปฝากไว้ที่แดนพยาบาล และนัดวันเวลาเพื่อรับฮอร์โมน เช่นเดียวกับวันตรวจเลือดฟรี

“เราคิดว่าทุกอย่างต้องอยู่ในกระบวนการทางการแพทย์ น้องบางคนก็เสนอดีนะ เช่น ฮอร์โมนไม่ต้องอยู่ในร้านขายของสหกรณ์ เอาไปอยู่แดนพยาบาลเลย แล้วนัดวันรับฮอร์โมน เหมือนวันตรวจเลือดฟรี สมมติว่าเป็นวันจันทร์ คนข้ามเพศก็จะได้เตรียมตัว เตรียมเงินไปจ่าย แล้วก็ได้ยาที่ถูกต้องทางการแพทย์ด้วย ไม่ใช่ยาที่เป็นของเถื่อน หรือนำเข้ามาโดยผิดกฎหมาย อันนี้คือทางออกที่ดีที่สุด” คุณศิริศักดิ์กล่าว

ฮอร์โมน = สิทธิมนุษยชน

ในการเรียกร้องให้กรมราชทัณฑ์อนุญาตให้นำฮอร์โมนเข้าสู่เรือนจำ เพื่อบริการแก่ผู้ต้องขังที่เป็นคนข้ามเพศ ข้อความหนึ่งที่คุณศิริศักดิ์มักจะเน้นย้ำอยู่เสมอ คือ “การเข้าถึงฮอร์โมนเป็นสิทธิมนุษยชน” โดยต้องทำให้การใช้ฮอร์โมนเป็นเรื่องสุขภาพทางเพศของคนข้ามเพศ และไม่ว่าผู้ชายข้ามเพศหรือผู้หญิงข้ามเพศ ก็ต้องได้รับสิทธินี้อย่างเท่าเทียมกัน

“การเข้าถึงฮอร์โมนคือสิทธิมนุษยชนที่พึงจะได้รับ เพราะว่ามันเป็นเรื่องสุขภาพ ร่างกายของเราต้องได้รับการส่งเสริมอะไร ทำให้เราหายป่วยหรือมีสุขภาพที่ดีขึ้น มันก็เป็นสิทธิมนุษยชนที่เราควรจะได้รับอยู่แล้ว ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด ไม่ว่าเราจะอยู่ในห้องขัง เรือนจำ ที่ทำงาน หรือแม้กระทั่งโรงเรียน เราก็มีสิทธิที่จะได้รับสิ่งเหล่านี้”

ด้าน พญ.นิตยามองว่า การเข้าถึงฮอร์โมนเป็นสิทธิพื้นฐาน ที่ทุกคนต้องสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ที่ทำให้อัตลักษณ์ทางเพศและการมองเห็นจากภายนอกตรงกับของตัวเองมากที่สุด แต่สำหรับกรณีของการเข้าถึงบริการฮอร์โมนในเรือนจำ ถือว่ายังมีปัญหาอยู่ เนื่องจากความหลากหลายทางเพศไม่ใช่โรคภัยไข้เจ็บ และฮอร์โมนก็ไม่ใช่ยารักษาโรค จึงจำเป็นต้องมีการให้คำจำกัดความเกี่ยวกับการรับฮอร์โมนใหม่

“ถ้าเป็นโรคเบาหวาน คุณต้องเอายาเบาหวานเข้าไปให้เขาในเรือนจำ ถ้าคุณเป็นคนข้ามเพศ เราต้องเอาฮอร์โมนข้ามเพศเข้าไปให้คุณในเรือนจำ ถ้าเกิดเราไม่มองว่าอันนี้คือโรค โอกาสที่จะทำให้นำฮอร์โมนเข้าไปในเรือนจำก็ยาก แต่ถ้ามองว่าเป็นโรค ก็จะเกิดความไม่พอใจว่าความหลากหลายทางเพศไม่ใช่โรค อันนี้คิดว่าเป็นประเด็นสำคัญที่หลายๆ ประเทศกำลังขัดแย้งกันอยู่ ดังนั้น หากเราพูดในเชิงของการให้บริการทางการแพทย์เพื่อสุขภาวะที่ดีของคน ก็คิดว่าน่าจะเป็นทางที่สามารถไปต่อได้”

ความเข้าใจคือทางออก

เมื่อฮอร์โมนไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย แต่เป็นสิ่งจำเป็นต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์คนหนึ่ง จุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาการเข้าถึงฮอร์โมนของคนข้ามเพศ น่าจะเริ่มที่ “ความเข้าใจของสังคม” ซึ่งทั้ง พญ.นิตยาและคุณศิริศักดิ์เห็นตรงกันว่าสังคมควรสร้างความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ และเมื่อเกิดความเข้าใจ ก็จะเกิดการยอมรับ และสิทธิต่างๆ จะตามมาในที่สุด รวมทั้งการเลือกปฏิบัติก็อาจจะลดลงด้วย

เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ต้องมีความรู้ ถ้าเขามีความรู้ เขาจะเข้าใจว่ามันสำคัญ พอเขาเห็นความสำคัญ เขาก็จะ เห็นใจเรา แล้วก็อาจจะปฏิบัติตัวกับคนข้ามเพศเหมือนมนุษย์ทั่วไป หรืออาจจะช่วยเหลือเรา เพราะว่าเรื่องนี้มันอาจจะรวมไปถึงเรื่องการข่มขืน การใช้ชีวิต การแยกห้องน้ำ การแยกห้องต่างๆ และจะจัดหาสิ่งที่คนข้ามเพศต้องการมาให้ ไม่ใช่คิดแต่ว่ามันเป็นคนผิด” คุณศิริศักดิ์กล่าวถึงบทบาทของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์

ด้าน พญ.นิตยา ก็เสริมมุมมองด้านการเรียนการสอนวิชาแพทย์ ที่ควรเสริมเรื่องของคนข้ามเพศลงไปในหลักสูตร เพื่อสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจ ที่จะนำไปสู่การให้บริการทางการแพทย์แก่คนข้ามเพศอย่างมีประสิทธิภาพ ถือว่าเป็นการลงทุนที่ยั่งยืน

“ถ้าไม่เข้าใจ ไม่มีทักษะ ก็ไม่สามารถให้บริการที่มีคุณภาพได้ แต่ถ้าเรามีกลุ่มผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจเข้ามาพัฒนาและเสริมศักยภาพให้กับบุคลากรทางการแพทย์ มันก็จะเป็นการลงทุนที่ยั่งยืน ดังนั้น จึงต้องมีการเติมองค์ความรู้เหล่านี้เสริมไปในหลักสูตรของนักศึกษาแพทย์ นักศึกษาพยาบาลในปัจจุบัน และตอนนี้ในโรงเรียนก็เริ่มมีการพูดถึงเรื่องนี้อย่างถูกต้องมากขึ้น มันก็น่าจะเป็นการสร้างพื้นฐานที่ดี แต่ต้องใช้เวลา เราคิดว่า ในสถานการณ์ของประเทศไทย เราอย่าไปทำอะไรให้มันถูกหรือผิด ใช่หรือไม่ใช่ อยู่อย่างกลมกลืนกันไป เราจะก้าวหน้าไปได้มากกว่าการเถียงกันว่าใครถูกใครผิด” พญ.นิตยากล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook