“ฉันอยากเห็นลูกเติบโตอย่างมีความสุข” ความในใจจากแม่ผู้ลี้ภัยชาวโซมาเลีย
เดือนสิงหาคมถือเป็นเดือนแห่งการระลึกถึงพระคุณแม่ เรื่องราวมากมายเกี่ยวกับแม่ถูกหยิบยกมานำเสนอในแง่มุมต่างๆ อย่างไรก็ตาม ยังมีเรื่องราวของแม่อีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงมากนัก นั่นคือแม่ที่เป็น “ผู้ลี้ภัย” ซึ่งถูกมองข้ามไปเนื่องด้วยประเด็นทางสังคมและการเมือง โดยไม่มีใครสนใจเจาะลึกถึงความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะ “สัญชาตญาณความเป็นแม่” ที่ไม่ต่างจากคนทั่วไป ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายแค่ไหนก็ตาม
เพราะว่า “แม่ก็คือแม่” ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด Sanook! News จึงอยากนำเสนอเรื่องราวของ A. แม่เลี้ยงเดี่ยว ผู้ลี้ภัยจากประเทศโซมาเลีย วัย 43 ปี ที่พาลูก 6 คน หนีอันตรายจากบ้านเกิดเมืองนอน เพื่อแสวงหาชีวิตที่มั่นคงและเป็นอิสระ
“สิ่งที่จะเกิดขึ้นในประเทศที่ไม่มีรัฐบาลคือ คุณอาจจะถูกฆ่า แต่คุณจะไม่สามารถร้องเรียนหรือแจ้งความ เพราะไม่มีกฎหมาย หลายครั้งก็มีคนถูกข่มขืน แต่ไม่สามารถแจ้งความได้ ดังนั้น ปัญหาหลักๆ ที่เราเจอคือ การถูกละเมิดสิทธิและถูกคุมขังอยู่ในประเทศโดยไม่มีอนาคต แต่ก็นั่นแหละ เวลาที่คุณมีความทุกข์ คุณไม่มานั่งถามตัวเองหรอกว่าจะอยู่อย่างไร คุณก็แค่อดทนและพยายามเอาตัวรอดไป ประเทศนี้เป็นประเทศที่เต็มไปด้วยปัญหาที่คุณเองก็แก้ไขไม่ได้ พูดก็ไม่ได้ นี่แหละชีวิตในโซมาเลีย” A. เริ่มบทสนทนาผ่านล่าม ด้วยปัญหาทางการเมืองของประเทศ ที่เกิดจากปัจจัยหลักคือความขัดแย้งระหว่างเผ่า (Clan) และนำไปสู่สงครามกลางเมือง การล่มสลายของรัฐบาลกลาง และความรุนแรงที่ยืดเยื้อมานานกว่า 30 ปี
A. เล่าให้เราฟังว่า เธอเกิดและเติบโตในหมู่บ้านที่ห่างไกลในประเทศโซมาเลีย มีเพียงยายที่เลี้ยงดูเธอ และยายก็จากเธอไปอย่างไม่มีวันกลับในปีเดียวกับที่สงครามกลางเมืองเริ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชีวิตเธอ ก็ทำให้เธอได้พบกับสามี
“มีคนจากเผ่าอื่นมาฆ่าคุณยายของฉัน แต่เป็นเพราะฉันยังเด็ก คนพวกนั้นเลยพาตัวฉันไปยังที่พักของพวกเขา ฉันอยู่ที่นั่นประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจากนั้น เขาก็พาฉันไปอยู่ที่บ้านป้าของสามี ฉันกับสามีเจอกันตอนนั้น และเมื่อฉันโตขึ้น ก็ไปทำงานเป็นคนรับใช้ให้คนในเผ่านั้นเป็นเวลา 4 ปี”
เรื่องราวระหว่าง A. และสามีดูราวกับพล็อตนิยายโศกนาฏกรรม เมื่อความรักของเขาและเธอถูกกีดกันโดยครอบครัวของสามี เนื่องจาก A. เป็นเพียงคนรับใช้ ไม่มีหัวนอนปลายเท้า และยังเป็นคนต่างเผ่า ทั้งคู่จึงตัดสินใจหนีตามกันไป และเธอก็ตั้งท้องลูกคนแรก
“แต่สุดท้าย ครอบครัวของสามีก็รู้เรื่องของพวกเรา แล้วก็ตามมาก่อกวน จนฉันเสียลูกคนแรกไป จากนั้น ฉันกับสามีก็หนีไปอยู่ที่ซาอุดีอาระเบีย เราทำงานที่นั่น แล้วก็มีลูกอีก 6 คน เป็นลูกชาย 1 คน และลูกสาวอีก 5 คน ชีวิตของเราดีมากๆ จนกระทั่งรัฐบาลซาอุดีอาระเบียส่งตัวพวกเรากลับโซมาเลีย และนั่นคือจุดเริ่มต้นของฝันร้าย”
A. เล่าว่า เมื่อกลับมายังโซมาเลีย ครอบครัวของสามีก็ยังคงตามมาราวี และถึงขั้นทำร้ายร่างกายกัน สามีของ A. ถูกพี่ชายแท้ๆ ยิง กระสุนพุ่งเข้าที่กระดูกสันหลัง ส่งผลให้เขากลายเป็นอัมพาต ไม่สามารถขยับแขนขาได้
“สามีของฉันเรียกร้องสิทธิในมรดกของพ่อของเขา แต่พี่น้องของเขาไม่ยอมยกให้ โดยให้เหตุผลว่า เขาแต่งงานกับคนนอกเผ่า ซึ่งเผ่าของฉันเป็นศัตรูกับเผ่าของสามีโดยตรง ดังนั้น ครอบครัวของเขาจึงไม่ยอมให้ส่วนแบ่งมรดกใดๆ แก่เขา เพราะถือว่าฉันเป็นคนที่ทำลายศักดิ์ศรีของเผ่าสามี และยังให้กำเนิดลูกสาวถึง 5 คน ฉันจึงเป็นตัวต้นเหตุของปัญหาทั้งหมด รวมทั้งอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้สามีตายด้วย” A. กล่าวด้วยน้ำเสียงคับแค้นใจ และอธิบายว่า
“ชาวโซมาเลียเชื่อกันว่า เด็กผู้หญิงจะนำความอับอายมาสู่ครอบครัว ทำให้ครอบครัวเสื่อมเสียชื่อเสียง เช่น การหนีตามผู้ชาย ทำให้คนติฉินนินทา ดังนั้น ชาวโซมาเลียจึงชอบเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง แต่ฉันก็ยังรักลูกสาวมาก สามีของฉันก็รักลูกสาวเช่นกัน” A. กล่าว พร้อมเสริมว่า ในโซมาเลียมีเด็กผู้หญิงที่ถูกละเมิดสิทธิเป็นจำนวนมาก ทั้งถูกขังไว้ในบ้าน ไม่มีอิสระในการทำสิ่งต่างๆ เพราะจะทำให้ชื่อเสียงของครอบครัวเสียหาย ในขณะที่เด็กผู้ชายสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ตามใจ
“แต่สำหรับฉัน เด็กผู้ชายกับเด็กผู้หญิงเท่าเทียมกัน” A. พูดอย่างมั่นใจ
หลังจากที่สามีถูกทำร้าย A. และลูกๆ ต้องทนแบกรับความทุกข์จากการถูกข่มขู่ รังควาน และคำดูถูกของครอบครัวสามีนาน 4 เดือน จนในที่สุด เธอจึงตัดสินใจพาลูกหนีออกจากประเทศ อย่างไรก็ตาม เธอไม่สามารถพาสามีออกมาด้วยกันได้ และจนกระทั่งตอนนี้ เธอก็ไม่รู้เลยว่าเขาเป็นตายร้ายดีอย่างไร
“ถ้าพูดกับคนในโซมาเลียได้หนึ่งคน คนคนนั้นก็ต้องเป็นพ่อของลูกๆ ฉันค่ะ ฉันจะเล่าให้เขาฟังว่าพวกเราเจออะไรมาบ้างเมื่ออยู่ที่ประเทศไทย แม้ว่าตอนนี้เราไม่สามารถติดต่อเขาได้ แต่เขาก็เป็นเพียงคนเดียวที่ฉันอยากคุยด้วยมากที่สุด” A. กล่าวเสียงสั่น
A. เลือกเดินทางมาที่ประเทศไทยเพราะมีคนแนะนำว่าเป็นประเทศที่ปลอดภัย ซึ่งเมื่อถามถึงความยากลำบากในการเดินทาง A. ยอมรับว่าลำบาก แต่ก็เทียบไม่ได้กับสิ่งที่เธอประสบมาในประเทศบ้านเกิด แต่สิ่งที่เธอหวาดกลัวที่สุดในขณะที่เดินทางมาถึงชายแดน คือการที่ต้องนั่งรถคนละคันกับลูกๆ เธอกลัวว่าจะพลัดหลงกับลูกแล้วจะไม่ได้เจอกันอีก อย่างไรก็ตาม A. และลูกๆ อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลาถึง 5 ปีแล้ว ลูกชายวัย 19 ปี ของเธอทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟ ส่วนลูกสาวอายุ 15, 14, 13, 12 และ 11 ปี ได้เรียนในโรงเรียนไทย และพูดภาษาไทยได้ชัด จนสามารถเป็นล่ามให้แม่ได้เลย
“แม่บอกว่าอยากมีลูกอีก 6 คน แต่พ่อไม่เห็นด้วย พ่อบอกว่าปวดหัว” ลูกสาวคนหนึ่งเล่าให้เราฟังพลางหัวเราะเสียงใส
แม้ชีวิตในประเทศไทยจะปลอดภัยกว่าที่โซมาเลีย แต่ A. ยอมรับว่าครอบครัวของเธอยังไม่มั่นคงและสะดวกสบายเท่าที่ควร เพราะต้องอาศัยอยู่อย่างแออัดถึง 7 คน ในห้องห้องเดียว และรายได้ที่ไม่เพียงพอ โดยได้รับเงินสนับสนุนจาก UN เป็นเงินค่าเช่าบ้านและเบี้ยเลี้ยงรายเดือน และได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเพิ่มเติม
“ตอนแรกที่มาอยู่เมืองไทย ลูกก็รู้สึกอึดอัด เพราะพวกเขาต้องอยู่กับแม่คนเดียว ไม่รู้ว่าพ่ออยู่ที่ไหน แล้วก็กังวลว่าตำรวจจะมาที่บ้านเมื่อไร เหมือนอย่างสมัยที่เราอยู่ที่ซาอุดีอาระเบีย ที่ตำรวจมาที่บ้านแล้วส่งตัวเรากลับไปที่โซมาเลีย ที่นี่ก็เหมือนกัน ตำรวจสามารถบุกค้นบ้านเราได้ทุกเมื่อและจับตัวเรา ลูกๆ ก็เลยกลัวและกังวลว่าเหตุการณ์แบบนั้นจะเกิดขึ้นอีก” A. กล่าว
อย่างไรก็ตาม พายุฝนในชีวิตของ A. ก็กำลังจะผ่านพ้นไป เมื่อเธอและลูกได้รับสถานะผู้ลี้ภัย รอการส่งตัวไปยังประเทศที่สาม ซึ่งเธอกล่าวว่า เธอสามารถไปที่ไหนก็ได้ ขอเพียงเธอและลูกได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีอิสระในการทำสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องเรียนของลูกสาวทั้ง 5 คน ที่ออกตัวอย่างแข็งขันว่าอยากเป็นวิศวกรและหมอ โดยลูกสาว 3 คน ที่อยากเป็นหมอให้เหตุผลว่าอยากช่วยเหลือคนอื่น และไม่อยากให้คนอื่นเจอเหตุการณ์ร้ายแรงเหมือนที่พ่อเจอ เหตุผลนี้ทำให้ A. ถึงกับน้ำตาไหลด้วยความภูมิใจ
“ครอบครัวของเราผ่านความทุกข์ยากมามากมาย ฉันคงเสียใจมากถ้าลูกไม่สนใจอนาคต ไม่ยอมไปโรงเรียน เพราะเราเป็นผู้ลี้ภัย เรายังมีอุปสรรคที่ต้องฝ่าฟันอีกเยอะ ถ้าพวกเขาไม่สนใจเรียนก็จะทำให้ยิ่งลำบาก และฉันคงหัวใจสลาย พอเห็นว่าลูกๆ มีความฝัน มีความหวังในชีวิต ก็ทำให้ฉันมีความสุขมาก” A. กล่าว
เมื่อถามถึงอนาคต A. บอกว่า เธออยากจะเป็น “แม่ที่ประสบความสำเร็จ” ที่มีการศึกษา สามารถทำให้ลูกได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีการศึกษาสูงๆ
“แม่ที่ประสบความสำเร็จคือแม่ที่ทำงาน มีการศึกษา และอยู่เคียงข้างลูกๆ เลี้ยงลูกให้ดี ฉันอยากเห็นลูกเติบโตอย่างมีความสุข มีการศึกษา มีชีวิตที่ดี และมีชีวิตครอบครัวที่ดี ชีวิตที่ประสบความสำเร็จของลูกๆ เป็นสิ่งเดียวที่ฉันอยากจะเห็น” A. กล่าวทิ้งท้าย