ฮ่องกงประท้วงเรื่องอะไร ทำไมกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้จีน ถึงลุกลามสู่ประท้วงใหญ่

ฮ่องกงประท้วงเรื่องอะไร ทำไมกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้จีน ถึงลุกลามสู่ประท้วงใหญ่

ฮ่องกงประท้วงเรื่องอะไร ทำไมกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้จีน ถึงลุกลามสู่ประท้วงใหญ่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากผู้อ่านเดินทางไปถึงฮ่องกงในขณะนี้ คงเห็นความวุ่นวายที่สนามบินพร้อมกับป้ายเป็นข้อความเป็นภาษาอังกฤษว่า "Free Hong Kong" หรือปล่อยฮ่องกงเป็นอิสระ(จากจีน) และคงเกิดคำถามว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับฮ่องกงกันแน่

พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน 2 คนเดินผ่านจออิเล็กทรอนิกส์ ที่มีป้ายประท้วงห้อยอยู่จำนวนมาก ในวันนี้ (13 ส.ค.) หลังจากมีการประท้วงใหญ่ในสนามบินวานนี้ (12 ส.ค.) จนต้องปิดสนามบินชั่วคราว ส่งผลให้ต้องยกเลิกหลายเที่ยวบิน

การชุมนุมของผู้คนหลายหมื่นหลายแสนคนครั้งนี้ เดิมทีเริ่มจากการประท้วงร่างกฎหมาย "ส่งผู้ร้ายข้ามแดน" ที่ชาวฮ่องกงจำนวนมาก ตั้งแต่นักกฎหมาย เรื่อยไปจนถึงคนรุ่นใหม่ ไม่เห็นด้วย

แต่การชุมนุมตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา ไม่ใช่แค่การประท้วงร่างกฎหมายนี้เท่านั้น แต่ที่จริงแล้วเป็นการแสดงจุดยืนต่อรัฐบาลจีน เป็นการประท้วงเพื่อรักษาเสรีภาพของชาวฮ่องกงภายใต้เงารัฐบาลคอมมิวนิสต์ และการประท้วงครั้งนี้มีที่มาจากคดี "ฆาตกรรม" คดีหนึ่ง

สบโอกาสเกิดคดีฆาตกรรมฉาว

เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2561 คู่รักวัยรุ่น นางสาวพุน หิว-หวิ่ง อายุ 20 ปี และนายฉัน ถง-ก้าย อายุ 19 ปี เดินทางจากฮ่องกงไปเที่ยวที่ไต้หวัน โดยพักที่โรงแรมเพอร์เพิล การ์เดน ในกรุงไทเป เป็นเวลา 9 วัน แต่พอถึงวันที่ 17 ก.พ. นายฉันกลับไปที่ฮ่องกงแค่คนเดียว และหนึ่งเดือนต่อมา นายฉันสารภาพว่าเขาฆ่านางสาวพุน หลังจากทราบว่าตั้งท้อง 

นายฉัน ถง-ก้าย ถ่ายรูปเซลฟี่กับนางสาวพุน หิว-หวิ่ง

แต่ปัญหาอยู่ตรงที่เจ้าหน้าที่ของฮ่องกงตั้งข้อหาฆาตกรรมต่อนายฉันไม่ได้ เพราะนายฉันลงมือในไต้หวัน แต่ครั้นจะส่งตัวไปไต้หวันก็ไม่ได้เช่นกัน เพราะทั้ง 2 ดินแดนนี้ ไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนต่อกัน

เหตุนี้ทำให้คณะผู้บริหารฮ่องกงเสนอร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนเข้าสู่สภานิติบัญญัติ เพื่อให้การส่งตัวผู้กระทำผิดไปยังไต้หวันทำได้ง่ายขึ้น แต่ร่างกฎหมายนี้เขียนเผื่อส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปยัง "จีน" ไว้ด้วย

ผวาระบบยุติธรรมจีน

ชาวฮ่องกงเกรงว่า จีนจะใช้ช่องของกฎหมายดังกล่าวยัดข้อหาให้กับชาวจีนที่หนีมาอยู่ฮ่องกง หรือคนฮ่องกง ที่วิจารณ์รัฐบาลจีน แล้วส่งตัวไปดำเนินคดีที่จีน เพราะหลายคนเชื่อว่าระบบยุติธรรมจีนไม่ได้ยุติธรรมจริงๆ ทั้งยังใช้ "อำนาจพิเศษ" มาแทรกแซงระบบยุติธรรมได้เสมอ

ไม่ใช่แค่นั้น ร่างกฎหมายนี้ยังทำให้จีนใช้อำนาจแทรกแซงระบบยุติธรรมของฮ่องกงได้อีกด้วย 

ฮ่องกงลุกฮือพิทักษ์อำนาจปกครองตนเอง

มาถึงจุดนี้หลายคนคงมีคำถามว่า ในเมื่อฮ่องกงเป็นเขตปกครองพิเศษของจีน ทำไมจีนถึงแทรกแซงฮ่องกงไม่ได้? คำตอบเรื่องนี้อยู่ในประวัติศาสตร์

ย้อนกลับไปเมื่อปลายศตวรรษที่ 19 เมื่อราชวงศ์ชิงแพ้สงครามหลายระลอกให้อังกฤษ และต้องแลกมาด้วยการเซ็นสัญญาให้อังกฤษเช่าฮ่องกงเป็นเวลา 99 ปี จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2540

AFPพิธีส่งมอบฮ่องกงให้จีน เมื่อคืนวันที่ 30 มิ.ย. 2540

เมื่ออังกฤษส่งคืนพื้นที่ให้กับจีน ก็ไม่ได้คืนให้มือเปล่า แต่คืนพร้อมกับข้อตกลงพิเศษกับจีนที่เรียกว่า "1 ประเทศ 2 ระบบ" ที่ทำให้ฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของจีน แต่ฮ่องกงยังมีสิทธิ์ปกครองตนเอง รวมถึงสิทธิ์ในการเลือกตั้ง และเสรีภาพสื่อ ต่างจากพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของจีน ที่ถูกปกครองจากกลุ่มผู้นำเผด็จการ ทั้งยังใช้ระบบกฎหมายเพื่อลงโทษหรือสร้างความกลัว ไม่ให้ประชาชนกล้าวิจารณ์รัฐบาล

ถึงอย่างนั้น ข้อตกลง 1 ประเทศ 2 ระบบ จะสิ้นอายุเมื่อปี 2590 แต่จีนไม่อยากรอให้ถึงเวลานั้น 

เมื่อปี 2560 มีการจับตัวนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในฮ่องกง และเมื่อปี 2561 การลักพาตัวเจ้าของร้านขายหนังสือในฮ่องกงเมื่อปี เพราะที่ร้านเหล่านี้มีหนังสือต่อต้านรัฐบาลจีน

อย่างไรก็ตาม คนฮ่องกงก็ไม่ได้ยอมจำนน และพยายามต่อสู้มาโดยตลอด

ย้อนอดีตฮ่องกงประท้วงจีน

เมื่อปี 2546 คนฮ่องกงหลายแสนคนประสบความสำเร็จในการประท้วง จนล้มร่างกฎหมายที่ห้ามวิจารณ์จีนสำเร็จ

AFPการประท้วงในฮ่องกงเมื่อปี 2546

ต่อมาเมื่อปี 2557 คนหลายหมื่นคนก็ปักหลักชุมนุมยืดเยื้อหลายสัปดาห์ เพื่อต่อต้านจีน ที่ใช้อิทธิพลต่อการเลือกตั้งของฮ่องกง ซึ่งประชาชนจำนวนมากใช้ร่มเพื่อกันฤทธิ์แก๊สน้ำตา จนถูกขนานนามว่า "การเคลื่อนไหวร่ม (Umbrella Movement)"

AFPผู้ชุมนุมรายหนึ่งนั่งอ่านเอกสารระหว่างการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง เมื่อปี 2557

การประท้วงต่อต้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้กับจีนครั้งนี้ก็เช่นกัน ชาวฮ่องกงไม่ได้แค่กลัวว่า คนของตัวเองจะถูกจีนยัดข้อหาและนำตัวไปดำเนินคดีเท่านั้น แต่กลัวว่าจีนอาจใช้อิทธิพลแทรกซึมฮ่องกงมากขึ้นเรื่อยๆ

ยกระดับการประท้วงหลังเกิดม็อบชนม็อบ

แม้นางแคร์รี หล่ำ หัวหน้าคณะผู้บริหารฮ่องกง กล่าวขอโทษและ "ระงับ" ร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนแล้ว แต่ชาวฮ่องกงต้องการให้นางหล่ำ "ถอน" ร่างกฎหมายนี้ออกไปจากสภานิติบัญญัติ แต่เมื่อไม่ได้ตามที่ต้องการ ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมาจึงมีการรวมตัวประท้วงทุกสุดสัปดาห์ แต่ก็จบด้วยการถูกสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตาทุกครั้ง

AFPนางแคร์รี หล่ำ หัวหน้าคณะผู้บริหารฮ่องกง ระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2562

จุดพลิกผันเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 ก.ค. ที่ผ่านมา มีการรวมตัวชุมนุมใกล้สถานีรถไฟฟ้าหยึนล้อง (Yuen Long) ใกล้ชายแดนจีน ขณะนั้นผู้ชุมนุมต่อต้านจีนกำลังเดินออกจากสถานีรถไฟฟ้าดังกล่าว แต่กลุ่มชายฉกรรจ์สวมเสื้อยืดสีขาวกลับปรากฎตัวขึ้น และบุกทำร้ายผู้ร่วมชุมนุมภายในสถานีและภายในขบวนรถไฟฟ้า

>> ฮ่องกงเดือด! ม็อบเสื้อขาวปะทะผู้ประท้วงเสื้อดำต้านรัฐบาลจีน กลางสถานีรถไฟฟ้า

เหตุการณ์นี้ สร้างเสียงวิจารณ์ต่อตำรวจฮ่องกงอย่างมาก ว่าปกป้องผู้ชุมนุมจากกลุ่มชายชุดขาวที่ใช้ความรุนแรงไม่ได้ หลายคนเชื่อว่า ตำรวจทำเป็นเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ จนมีการยกระดับการประท้วงต่อต้านตำรวจและผู้บริหารฮ่องกง ผู้ชุมนุมหลายคนจึงเข้าไปชุมนุมภายในสนามบิน เพื่อให้ชาวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ทราบเรื่อง

>> พนักงานสนามบินฮ่องกง ปักหลักประท้วงรัฐ-ตำรวจ! ปล่อยคนเสื้อขาวทำร้ายม็อบต้านจีน

ส่วนจีน ที่ดูเหมือนไม่มีท่าทีว่าจะแทรกแซงใดๆ ในตอนแรก กลับมีการปล่อยภาพการซ้อมปราบการจลาจลในเมืองเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง ที่อยู่ติดกับฮ่องกง เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ที่ผ่านมา แม้เคยปฏิเสธว่าจีนไม่แทรกแซงเรื่องภายในของฮ่องกง และจะไม่ใช้กำลังมาจัดการก็ตาม

ขณะเดียวกัน นายจาง เสี่ยวหมิง หัวหน้าสำนักงานกิจการฮ่องกงและมาเก๊า ของรัฐบาลจีน ก็ค่อยๆ ส่งสัญญาณว่า ฮ่องกงเผชิญกับวิกฤตครั้งรุนแรงที่สุดตั้งแต่เป็นส่วนหนึ่งของจีน ทั้งยังกล่าวเมื่อไม่นานมานี้ว่า การประท้วงในฮ่องกงกำลังจะกลายเป็นการ "ก่อการร้าย"

อย่างไรก็ตาม ผู้ประท้วงชาวฮ่องกงก็เดินหน้าต่อ ด้วยการประท้วงที่สนามบินเมื่อวานนี้ (12 ส.ค.) จนต้องปิดสนามบินชั่วคราว และยกเลิกเที่ยวบินทั้งหมด ซึ่งเพิ่งกลับมาให้บริการได้ในวันนี้ (13 ส.ค.)

>> สนามบินฮ่องกงประกาศยกเลิกทุกเที่ยวบิน จากเหตุชุมนุมประท้วง

การชุมนุมของชาวฮ่องกงระลอกล่าสุด ที่เริ่มจากการประท้วงร่างกฎหมายส่งผู้ข้ามแดนให้จีน ยังไม่มีใครทราบว่า ฮ่องกง จะเป็นอย่างไรหลังจากนี้ แต่ผู้ประท้วง ที่ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ กำลังต่อสู้กับเวลาที่เหลือไม่ถึง 28 ปี ให้ฮ่องกงยังคงเป็นฮ่องกงที่มีเสรีภาพต่อไป และการประท้วงครั้งนี้คงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook