หน่วยข่าวปูดโจรใต้เล็งลอบสังหารผู้พากษา-อัยการ! บีอาร์เอ็นทวงสัญญา
หน่วยข่าวมหาดไทยแฉโจรใต้วางแผนสังหาร 2 ผู้พิพากษาสงขลาตัดสินคดีตากใบ ถ้าพลาดเป้าจัดการผู้พิพากษา-อัยการ 3 จังหวัดชายแดนใต้ต่อ รวมทั้งครู นักเรียน เด็กลูกจ้าง กว่า4พัน มาเลย์เสนอเส้นทางสันติภาพให้โอไอซีไกล่เกลี่ย "บิ๊กจิ๋ว"เปิดจม.บีอาร์เอ็นทวงสัญญามาร์คแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรม
ฝ่ายข่าวเตือน2 ตุลาการเป้าลอบฆ่า
รายงานข่าวแจ้งว่าผู้พิพากษาในศาลจังหวัดสงขลา ได้รับหนังสือลับแจ้งเตือนจาก ฝ่ายการข่าวกิจการพิเศษสังกัดกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า โจรใต้ มีแผนปองร้ายผู้พิพากษาศาลจังหวัดสงขลา 2 คน ที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินคดีตากใบ จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นผู้พิจารณาคดีชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิตเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้าโรงพักตากใบ ซึ่งเป็นคดีความแพ่งหมายเลขแดง ช.8/2552 และหากดำเนินการตามเป้าหมายไม่ได้ก็ให้ปฏิบัติการต่อผู้พิพากษาและพนักงานอัยการใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งกลุ่มผู้วางแผนปองร้าย คิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรมไทย และมีมติให้ตอบโต้โดยเพิ่มการก่อเหตุรุนแรงด้วยอาวุธจะกระทำซ้ำต่อเป้าหมายอ่อนคือ ครู นักเรียน เด็กๆ ลูกจ้าง 4,500 คน
รายงานข่าวว่าฝ่ายการข่าวกิจการพิเศษกระทรวงมหาดไทยสรุปด้วยว่า กรณียิงถล่มมัสยิดอัลฟูรกอน อ.เจาะไอร้อง และ นายแวดอเลาะ อูแวกามา โต๊ะอิหม่าม ถูกฆ่าตายขณะปฏิบัติศาสนกิจ ทราบว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุน่าจะเป็นกลุ่มบุคคลสังกัดองค์กรอื่นอาศัยช่องว่างของเหตุการณ์ก่อความรุนแรงหวังผลบางประการซึ่งเชื่อมโยงกับมติที่ให้ก่อเหตุรุนแรงข้างต้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 26 มิถุนายน คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ซึ่งมีนายวิรัช ลิ้มวิชัย ประธานศาลฎีกามีกำหนดประชุมโดยมีรายงานว่า ก.ต.ศาลชั้นต้น เตรียมหยิบยกกรณีผู้พิพากษาถูกปองร้ายขึ้นพิจารณาเพื่อหาทางป้องกัน เนื่องจากผู้พิพากษาศาลจังหวัดสงขลาทั้ง 2 คนยื่นคำร้องขอให้ประธานศาลฎีกาพิจารณาย้ายออกจากจังหวัดสงขลาแต่ยังไม่ได้รับอนุมัติ จึงเกรงจะเกิดเหตุร้ายขึ้น
ด้าน นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า ก.ต.จะพิจารณาและหลังหารือจนมีความชัดเจนแล้วจะเปิดเผยผลการพิจารณาให้ทราบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเหตุการณ์สลายการชุมนุมบริเวณหน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 หลังมีรวมตัวกันของชาวบ้านในพื้นที่เพื่อเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) 6 คน ที่ถูกจับกุมในคดีความไม่สงบในพื้นที่ ก่อนเหตุการณ์ลุกลามจนต้องใช้กำลังทหารเกณฑ์และทหารพรานเข้าสลายการชุมนุมด้วยวิธีที่การที่ไม่เป็นไปตามหลักสากล โดยมีการเคลื่อนย้ายผู้ถูกควบคุมตัว กว่า 1,300 คน ด้วยรถบรรทุกเพียง 26 -28 คัน ขึ้นรถไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี เป็นเหตุให้มีผู้ขาดอากาศหายใจเสียชีวิตถึง 78 ศพ ศาลจังหวัดสงขลาพิพากษาเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม สรุปตามพยานหลักฐานว่าเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย 78 คน คือ ขาดอากาศหายใจระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่
แฉโจรป่วนใต้สร้างสถิติให้"โอไอซี"เห็น
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ถึงการแก้ไขสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนเป็นประธานประชุมสภากลาโหม ที่กระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ว่า ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4 ) ดำเนินการอยู่ เพื่อให้ยุติความรุนแรงให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ขณะนี้สถานการณ์เบาบางลงบ้าง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.)ลงพื้นที่ตลอดเพื่อดูแลประชาชนให้มีชีวิตปกติไม่ถูกทำร้าย เมื่อถามว่าสถานการณ์เบาลงเพราะส่งทหารรบพิเศษลงไปจำเป็นต้องเพิ่มกำลังหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เป็นเรื่องของ ผบ.ทบ.ต้องดูแล โดยพิจารณาตามขั้นตอน ส่วนเหตุที่เกิดความรุนแรงเพราะพยายามแสดงให้เห็นว่ามีอิทธิพลอยู่ อย่างไรก็ตามขอยืนยันว่ารัฐบาลยังต้องใช้นโยบายการเมืองนำการทหารอยู่
ด้าน พล.ต.จิตตสักก์ เจริญสมบัติ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ตามที่เจ้าหน้าที่ใช้มาตรการเชิงรุกแก้ไขสถานการณ์ในพื้นที่ภาคใต้ด้วยการปิดล้อมตรวจค้น ทำให้สามารถควบคุมตัวสมาชิกกลุ่มก่อความไม่สงบและแนวร่วมได้จำนวนมาก มีการเสียชีวิตของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่ แต่การก่อเหตุรายวันยังคงอยู่ ทาง พล.อ.ประวิตรขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามทำทุกวิธีทางหยุดยั้งเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ภายใต้กรอบกฎหมายที่ให้ความเป็นธรรมทุกฝ่ายตามนโยบายของรัฐบาล โดยเน้นการพัฒนาการเมืองนำการทหารอย่างแท้จริง ไม่ใช้ความรุนแรงและพยายามทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ขจัดความขัดแย้งนำความสงบสุขกลับคืนโดยเร็ว
เมื่อถามว่า ที่ประชุมสภากลาโหมประเมินผลหลังส่งกำลังรบพิเศษเข้าไปในพื้นที่มีความสำเร็จหรือไม่ พล.ต.จิตติสักก์ กล่าวว่า ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินผล เพราะเพิ่งลงไปปฏิบัติหน้าที่ แต่กำลังทหารรบพิเศษมีความหลากหลายไม่เฉพาะการใช้กำลัง ดูจากเหตุการณ์พบว่าสถานการณ์ในพื้นที่ดีขึ้น แม้ว่าจำนวนสถิติการก่อเหตุจะมีมาก แต่เป็นการพยายามสร้างเหตุเล็กน้อยมาเป็นสถิติ เพื่อให้องค์การที่ประชุมอิสลาม (โอไอซี) เห็นเป็นจำนวนครั้งที่มาก แต่ผลของเหตุไม่รุนแรงเป็นเพียงการก่อเหตุเล็กน้อยหวังสร้างสถิติ
ตั้งค่าหัว2แสนล่ามือยิงมัสยิด
ด้าน พล.ต.ท.พีระ พุ่มพิเชฎฐ์ ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้(ผบช.ศชต.) กล่าวถึงความคืบหน้าติดตามจับกุมคนร้ายยิงมัสยิดอัลฟุรกอน ที่ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส ผู้เสียชีวิต 11 คน และบาดเจ็บ 13 คน เมื่อ 8 มิถุนายนว่า ขอความร่วมมือประชาชนที่รู้เบาะแส คนร้ายยิงมัสยิดอัลฟุรกอน ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ได้ที่ ศชต. อ.เมือง จ.ยะลา โทร. (073) 220200 หรือ ตู้ ปณ.888 หลักเมือง จ.ยะลา หรือส่งจดหมายตรงถึง ศชต. ต.สะเตง อ.เมือง จ.ยะลา 95000 ตลอดจนเว็บไซท์www.sochoto.police.go.th โดยเจ้าหน้าที่ตั้งรางวัลแจ้งเบาะแสนำจับ 200,000 บาท
ด้าน พระเทพศีลวิสุทธิ์ เจ้าคณะจังหวัดนราธิวาส กล่าวถึงแนวทางแก้ปัญหาพระสงฆ์ขาดแคลนในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา ว่า ทางวัดประชุมชลธารา ต.สุไหงปาดี อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส ร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนา จ.นราธิวาส เปิดรับสมัครชาวบ้านอุปสมบทเป็นพระภิกษุตามโครงการพระสงฆ์นำชัยคุ้มภัยใต้ เพื่อแก้ปัญหาพระสงฆ์ขาดแคลนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อันเนื่องมาจากพระราชเสาวนีย์ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีกำหนดอุปสมบทในวันที่ 1 กรกฏาคม ขณะนี้มีชาวบ้านแสดงความจำนงเข้าร่วมอุปสมบทตามโครงการดังกล่าวแล้ว 22 คน
ขณะที่ความไม่สงบในพื้นที่ยังเกิดขึ้นต่อเนื่องเมื่อเวลา 21.30 น. คืนวันที่ 24 มิถุนายน นายนูบาฮัง ดอบา อายุ 37 ปี อยู่ที่ 116 ม.7 ต.ปูยุด อ.เมือง ปัตตานี อดีตลูกจ้างตำรวจชุมชนสัมพันธ์ สภ.เมือง ปัตตานี ปัจจุบันขายโรตีอยู่ที่บ้าน ถูกคนร้าย 2 คน ขับขี่รถจักรยานยนต์ประกบยิงเสียชีวิต ขณะที่นายนูบาฮังขับรถจักรยานยนต์มาบนถนนสายปัตตานี- ยะลา ม.1 บ้านแบรอสะนิง ต.บาราเฮาะ อ.เมือง ปัตตานี
"จิ๋ว"แฉจม."บีอาร์เอ็น"ทวงนายกฯแก้ปัญหา
วันเดียวกัน ที่ โรงแรมสวิสโฮเต็ล ปาร์คนายเลิศ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ชายแดนภาคใต้ ทหารบอกว่าการเมืองนำการทหารถึงจะถูก แล้วการเมืองคืออะไรและการดำเนินการเมืองต้องเป็นการเมือง ต้องแบ่งแยกให้ชัด ตนได้เสนอตั้งแต่ ปี 2547 ความจริงจะเกิดในปี 2544 เพราะเดือนพฤศจิกายน 2544 ได้ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ที่จ.นราธิวาส มีนายตำรวจรายงานนายกรัฐมนตรีขณะนั้นว่าทนไม่ไหวแล้วที่ตำรวจถูกทหารสกัดกั้นการติดตามผู้ต้องสงสัยก่อการร้ายในปักษ์ใต้ นายกฯสั่งเปลี่ยนตำรวจคนนั้น ตนเชื่อว่าชาวไทยมุสลิมอยู่ในไทยมานานไม่คิดที่แบ่งแยกดินแดน แต่คนที่ต้องการแยกดินแดนมีเพียงกลุ่มคนที่มีอำนาจเหนือปัตตานี คือกลุ่มพูโล เท่านั้น
ทั้งนี้ พล.อ.ชวลิต หยิบจดหมายฉบับหนึ่งและกล่าวว่า ตนขออ่านจดหมายของกลุ่มขบวนการบีอาร์เอ็นที่ทวงถามถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชวีะ นายกรัฐมนตรี หลังนายอภิสิทธิ์ เยือนประเทศมาเลเซีย และพบปะนายกฯมาเลเซียวซึ่งเป็นเรื่องเก่าแต่ได้ทวงถามถึงนายอภิสิทธิ์ในการแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า มีความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว เพราะจากการประเมินสถานการณ์แล้วเห็นว่ายังห่างไกลความสงบและสันติสุข คือ
1.ยังสร้างสถานการณ์โดยผู้มีอำนาจทำให้สถานการณ์รุนแรงอยู่
2. รัฐบาลสามารถควบคุมทหารได้จริงหรือไม่ เท่าที่เห็น ทหารไม่ได้ห่วงในเรื่องความไม่สงบในพื้นที่ แต่ห่วงเรื่องผลประโยชน์มากกว่า คือ ไม่อยากให้เกิดสันติภาพอย่างแท้จริง รัฐบาลอาจจะดำเนินการในลักษณะการเมืองนำการทหาร แต่กองทัพปฏิเสธมาตลอด
3. รัฐบาลพูดเสมอว่า จะทำทุกอย่างเพื่อให้เกิดความยุติธรรมในพื้นที่ให้ได้ แต่ความจริงไม่เป็นอย่างที่พูด เพราะยังมีผู้ถูกคุมขังจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ นายซามะแอ ท่าน้ำ ที่ถูกกุมขังมากว่า 20 ปีและไม่มีทีท่าปล่อยตัวแต่อย่างใด
4 .การเลิกการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลกับกระบวนการก่อความไม่สงบในสมัยรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ มีส่วนทำให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น และ
5.การใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้สถานการณ์รุนแรงมากขึ้น ห่างไกลสันติภาพมากขึ้น และถ้ารัฐบาลไทยโดยการนำของนายอภิสิทธิ์ มีความตั้งใจจริงที่จะทำงานให้เกิดสันติภาพนั้น ทางกลุ่มขอถามว่า จะให้ความยุติธรรมแก่ชาวมลายูอย่างไร จะนิรโทษกรรมแก่ผู้หลงผิดอย่างไร และการใช้กฎหมายท้องถิ่นเฉพาะ
และสิ่งสำคัญที่สุดในเนื้อหาจดหมายระบุว่า ขอแสวงหาสันติสุข และสันติภาพ ไม่ใช่ต้องการแบ่งแยกดินแดน และทางกลุ่มต้องการปกครองตัวเองภายใต้พระบรมโพธิสมภารและภายใต้กฎหมายไทย โดยไม่แบ่งแยกศาสนา"พล.อ.ชวลิตกล่าว
"มาเลย์"เสนอ"โอไอซี"ไกล่เกลี่ย
วันเดียวกันหนังสือพิมพ์เดอะสตาร์ของมาเลเซีย รายงานว่า ดาโต๊ะ วัน อาบู บาการ์ โอมาร์ ผู้อำนวยการหน่วยเฉพาะกิจ 2010 ของมาเลเซีย ให้ความเห็นว่า โอไอซี เป็นองค์กรที่ดีที่สุดสำหรับการทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยเพื่อให้เกิดสันติภาพในจังหวัดภาคใต้ของไทย เพราะชาวมุสลิมในจังหวัดภาคใต้ของไทย ให้ความเคารพนับถือองค์กรของอิสลามระดับโลกนี้มาก ซึ่งทำให้โอไอซีสามารถจะวางแนวทางเป็นขั้นตอนเพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูสันติภาพขึ้นในพื้นที่ได้ ในขณะเดียวกันมาเลเซียก็เต็มใจที่จะทำงานร่วมกับโอไอซีเช่นกัน
ดาโต๊ะ โอมาร์ กล่าวว่า เมื่อมีการจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจ 2010 ขึ้นในปี 2550 เพื่อทำงานร่วมกับหน่วยเฉพาะกิจ 960 ของฝ่ายไทยนั้น ทั้งสองฝ่ายร่วมกันสำรวจความคิดเห็นแล้วพบว่ามีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในพื้นที่ที่ระบุว่าต้องการสันติภาพ แต่เมื่อกลับไปสำรวจใหม่อีกครั้งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา สัดส่วนของคนที่ต้องการสันติในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มขึ้นเป็น 65 เปอร์เซ็นต์ ภารกิจอย่างหนึ่งของหน่วยเฉพาะกิจ 2010 และ 960 คือ พยายามเปลี่ยนกรอบความคิดของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ให้หันมาแสวงหาหนทางแก้ไขด้วยสันติวิธีแทนการใช้อาวุธซึ่งจะยิ่งทำให้สถานการณ์ร้ายแรงยิ่งขึ้น แม้ว่าจะไม่สามารถประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูสันติภาพใน 3 จังหวัดภายแดนภาคใต้ก็ตาม