บราซิลไม่รับเงินช่วยเหลือ "ดับไฟป่าแอมะซอน" จากกลุ่มประเทศ G7
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า บราซิลได้ปฏิเสธความช่วยเหลือจากประเทศสมาชิกกลุ่ม 7 (G7) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก ที่ต้องการมอบเงินทุนช่วยเหลือการต่อสู้กับไฟป่าที่กำลังลุกไหม้ทำลายป่าดิบชื้นแอมะซอนอยู่ในขณะนี้
ประเทศสมาชิก G7 เสนอเงินช่วยเหลือ 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 611 ล้านบาท) ในที่ประชุมสุดยอด G7 ซึ่งประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพที่เมืองเบียร์ริตซ์ (Biarritz) ซึ่งมาครงเสนอว่าประเทศสมาชิกควรจะมีส่วนร่วมในการดับไฟป่าครั้งนี้
เว็บไซต์ G1 ของบราซิลรายงานคำกล่าวของโอนิกซ์ โลเรนโซนี หัวหน้าสำนักงานของฌาอีร์ โบลโซนารู ประธานาธิบดีบราซิล ซึ่งกล่าวว่า “เราซาบซึ้ง (ต่อความช่วยเหลือ) แต่ทรัพย์สินเหล่านั้นน่าจะนำไปฟื้นคืนผืนป่าในยุโรปมากกว่า”
“มาครงทำไม่ได้แม้แต่จะป้องกันเหตุเพลิงไหม้ที่คาดการณ์ล่วงหน้าได้ซึ่งเกิดขึ้นกับโบสถ์ที่เป็นแหล่งมรดกโลก” เขาเสริม โดยหมายถึงเหตุการณ์เพลิงไหม้มหาวิหารนอเทรอดามเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา “เขาเจตนาจะสอนอะไรประเทศของเรากันแน่”
แม้ว่าบราซิลจะครองพื้นที่ราวร้อยละ 60 ของป่าดิบชื้นแอมะซอน แต่ป่าดิบชื้นแอมะซอนยังมีพื้นที่อยู่ในประเทศและภูมิภาคอื่นๆ อีก 8 แห่ง ซึ่งรวมถึงเฟรนช์เกียนา จังหวัดโพ้นทะเลของฝรั่งเศสที่ตั้งอยู่ชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาใต้
ทั้งนี้ กระทรวงกลาโหมของบราซิลระบุว่าได้ส่งเครื่องบินรบบรรทุกน้ำไปเทเหนือพื้นที่ที่เกิดเพลิงไหม้ของป่าแอมะซอนแล้ว พร้อมทั้งโพสต์วิดีโอปฏิบัติการดังกล่าวผ่านทวิตเตอร์เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (25 ส.ค.)
ด้านประธานาธิบดีโบลโซนารูบอกกับสื่อมวลชนเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (24 ส.ค.) ว่าขณะนี้ป่าแอมะซอน “ไม่ได้มีเพลิงไหม้รุนแรงอย่างที่เป็นข่าว” โดยพยายามจะบรรเทาความกังวลของทั่วโลกที่พุ่งความสนใจมายังเหตุการณ์ไฟป่าแอมะซอน
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (23 ส.ค.) ประธานาธิบดีบราซิลได้สั่งการให้กองทัพเข้าปฏิบัติการดับไฟป่า โดยส่งกองกำลังทหาร 40,000 นายไปยังภูมิภาคที่เกิดเพลิงไหม้
นอกจากนี้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมายังเกิดความขัดแย้งระหว่างประธานาธิบดีฝรั่งเศสและประธานาธิบดีบราซิลเนื่องด้วยเหตุไฟป่าแอมะซอนนี้เช่นกัน
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (22 ส.ค.) มาครงระบุว่าไฟป่าแอมะซอนเป็นเหตุการณ์วิกฤตสากล และแสดงจุดยืนว่าเขาคัดค้านต่อข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรปกับกลุ่มประเทศอเมริกาใต้
โบลโซนารูจึงตอบโต้โดยระบุว่ามาครงเอ่ยถึงประเด็นไฟป่าแอมะซอนในการประชุมสุดยอด G7 เพียงเพื่อจะกล่าวโทษบราซิลเท่านั้น
อย่างไรก็ดี สถาบันวิจัยหลายแห่งและรายงานจากสื่อต่างๆ ระบุว่าสาเหตุหลักของไฟป่ารุนแรงเป็นประวัติการณ์ครั้งนี้สืบเนื่องจากฤดูแล้งและกิจกรรมของมนุษย์
อนึ่ง ข้อมูลจากสถาบันวิจัยอวกาศแห่งชาติของบราซิลระบุว่าในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาของปี 2019 มีไฟป่าเกิดขึ้นภายในประเทศบราซิล 71,497 ครั้ง สูงขึ้นจากตัวเลข 39,194 ครั้งของปีที่ผ่านมา