กระแสกำลังมา "อาม่าซุปตาร์" คลิปสั้นส่องแสงให้ "ผู้สูงวัย" เป็นคนดังในจีน

กระแสกำลังมา "อาม่าซุปตาร์" คลิปสั้นส่องแสงให้ "ผู้สูงวัย" เป็นคนดังในจีน

กระแสกำลังมา "อาม่าซุปตาร์" คลิปสั้นส่องแสงให้ "ผู้สูงวัย" เป็นคนดังในจีน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลินเหว่ย สุภาพสตรีชาวจีน มิเคยวาดฝันว่าตนเองจะกลายเป็น “คนดัง” ในวัย 64 ปี และมิเคยคาดคิดว่าสิ่งที่ช่วยสร้างชื่อเสียงให้เธอเป็นเพียงคลิปวิดีโอเดินแบบกลางถนนความยาวแค่ 15 วินาที

อดีตนางพยาบาลจากกรุงปักกิ่งเริ่มต้นเป็นนางแบบพาร์ทไทม์ในวัย 45 ปี โดยหลินมองว่าตัวเองเป็นแค่นางแบบธรรมดาคนหนึ่งจนกระทั่งพลังโลกออนไลน์เข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตวัยเกษียณเมื่อไม่นานนี้

คลิปวิดีโอหลินและเพื่อนร่วมอาชีพที่มีอายุเฉลี่ย 67 ปี ในชุดผ้าบาติกสไตล์ดั้งเดิม เดินแบบอย่างมาดมั่นบนถนนในกรุงปักกิ่ง มีคนดู 55 ล้านครั้งและกดไลก์ 2.7 ล้านครั้งบนแอปพลิเคชันแชร์คลิปวิดีโอติ๊กตอก (TikTok) ของจีน

“คลิปวิดีโอ 15 วินาที ทำให้เรามีแฟนคลับมากกว่าการเดินแบบที่ผ่านมาทั้งหมด ช่างทรงพลังจริงๆ” หลินกล่าว พร้อมเสริมว่ามีแฟนคลับเข้ามาทักทายพวกเธอหลายครั้ง หลังจากคลิปวิดีโอถูกโพสต์บนอินเทอร์เน็ตในเดือนมิถุนายน

ปัจจุบันหลินและเพื่อนร่วมอาชีพอีก 3 คน กลายเป็นทีมนางแบบ “แกลม-มาส์” (Glam-mas) หรือ “อาม่าซุปตาร์ทรงเสน่ห์” ที่มีผู้ติดตามกว่า 37,000 คน ทำให้การตอบคอมเมนต์และคำถามจากแฟนคลับเป็นงานประจำวันของหลิน

ทั้งนี้ แอปพลิเคชันแชร์คลิปวิดีโออย่างติ๊กตอกและไคว่โส่ว (Kuaishou) นั้นถือเป็นฐานวัฒนธรรมย่อยของวัยรุ่นชาวจีนมาสักพักแล้ว และหลินนับเป็นตัวแทนกองทัพผู้สูงอายุที่กระโดดร่วมวงการด้วยความสนุกสนาน

ข้อมูลสถิติจากพนักงานบริษัทที่ไม่ขอเปิดเผยนามแห่งหนึ่งกล่าวว่าแอปพลิเคชันติ๊กตอกมีผู้ใช้งานแต่ละวันสูงถึง 320 ล้านคน ซึ่งราว 40 ล้านคนของจำนวนดังกล่าวเป็นคุณลุงคุณป้าที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป

คลิปวิดีโอผู้สูงอายุออกมาโชว์ร้องเพลงแรปเลียนแบบวัยรุ่นหรือสำแดงฝีมือการปรุงอาหารที่บ่มเพาะมานานหลายสิบปี ได้ดึงดูดความสนใจและเสียงชื่นชมจากผู้ใช้งานแอปฯ ทั้งรุ่นอาวุโสและรุ่นลูกหลาน

รายงานการพัฒนาอินเทอร์เน็ตของจีน ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ระบุว่ามีประชากรออนไลน์จำนวนมหาศาลกว่า 829 ล้านคนในปี 2018 ซึ่งราวร้อยละ 12.5 ของตัวเลขดังกล่าวมีอายุ 50 ปีขึ้นไป

จำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตรุ่นผมสีดอกเลานั้นเพิ่มขึ้นตามประชากรจีนวัยชราที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งสถิติเมื่อสิ้นปีก่อนระบุว่าจีนมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปราว 249 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.9 ของประชากรทั้งหมด

“เรามิอาจมองข้ามข้อเท็จจริงว่าปัจจุบันผู้สูงอายุคือฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนยุคดิจิทัลของจีนเช่นกัน” กาวเจี๋ย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยผู้สูงอายุมณฑลจี๋หลิน (University for the Aged of Jilin Province) กล่าว

“ผู้สูงอายุจำนวนมากเข้าสู่โลกออนไลน์เพื่อใช้ชีวิตวัยปลดเกษียณให้สนุกสนานยิ่งขึ้น” กาวกล่าว “ตอนนี้ชาวจีนวัยชราเป็นผู้มีการศึกษาและมีใจเปิดกว้าง ยินดีจะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ด้วยความรวดเร็วขึ้นด้วย”

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าแอปฯ แชร์คลิปวิดีโอเป็นเวทีให้ผู้สูงอายุได้แสดงตัวตน ใกล้ชิดกับคนรุ่นลูกรุ่นหลาน และช่วยสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน แต่ก็ต้องระมัดระวังอาการเสพติดอินเทอร์เน็ตด้วยเช่นกัน

นอกจากนั้นกระแสนิยม “ติ๊กตอก” ยังพัดพาไปไกลถึงผู้สูงอายุที่ใช้ชีวิตอยู่ในเขตชนบทและหุบเขาของจีน เนื่องจากมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการสื่อสารโทรคมนาคมและการใช้สมาร์ตโฟนอย่างแพร่หลาย

ตัวอย่างเช่นอวี๋เยี่ยนเสีย วัย 58 ปี ชาวบ้านจากเขตหุบเขาในมณฑลจี๋หลินทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน มีสมาร์ตโฟนเป็นของตัวเองเมื่อ 3 เดือนก่อน และเป็นเจ้าของบัญชีผู้ใช้งานที่มีแฟนคลับเกือบ 5,000 คนในเดือนเดียว

“หมู่บ้านของเรามีสิ่งน่าสนใจมากมายอย่าง ‘ค่าง’ (炕) เตียงร้อนอันเป็นเอกลักษณ์ของภาคเหนือ การตัดกระดาษ และอื่นๆ ฉันเลยอยากโชว์ของพวกนี้” อวี๋กล่าว โดยเธอยังชักชวนเพื่อนร่วมวัยในหมู่บ้านมาสนุกด้วยกัน

อวี๋และเพื่อนร่วมแก๊งออนไลน์ไม่รู้ว่าการเป็นคนดังบนอินเทอร์เน็ตหมายถึงอะไรหรือส่งผลลัพธ์ต่อชีวิตอย่างไรบ้าง พวกเขาคิดเพียงว่าการสร้างสรรค์คลิปวิดีโอเหล่านั้นจะช่วยให้ไม่ตกยุคสมัย

“มันทำให้ฉันมีวันดีๆ เมื่อได้เห็นคำชมจากผู้ติดตาม ฉันรู้สึกมีชีวิตชีวาเหลือล้นเมื่อได้อยู่หน้ากล้อง” อวี๋ เจ้าของบัญชีผู้ใช้งาน “กลอเรียส ซันเซ็ต” (Glorious Sunset) หรือ “อาทิตย์อัสดงทอแสง” บอกเล่าความรู้สึก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook