“ไพบูลย์” คืนเงินอุดหนุนกว่า 8.8 แสน หลัง กกต. มีมติเลิก "พรรคประชาชนปฏิรูป"
นายไพบูลย์ นิติตะวัน หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูปและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ เดินทางมายังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อคืนเงินอุดหนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง จำนวน 882,909.67 บาท เพื่อคืนให้กับกองทุนฯ ไปใช้ดำเนินการเพื่อกิจการของกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองต่อไป
ทั้งนี้ ต้องการสร้างบรรทัดฐานใหม่ ที่เมื่อเลิกพรรคแล้ว การคืนเงินให้กับกองทุนเป็นเรื่องที่ต้องทำก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งหลังจากที่ กกต. ได้นำเรื่องของการสิ้นสภาพของพรรคฯ ไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็จะนำส่งบัญชีงบการเงินและเอกสารเกี่ยวกับบัญชีการเงินมาให้กับนายทะเบียนพรรคภายในไม่เกิน 30 วันเพื่อที่จะดำเนินการขั้นตอนต่อไป โดยนายทะเบียนพรรคจะแจ้งต่อไปยังสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. เพื่อให้พิจารณาตรวจสอบและชำระบัญชีภายใน 180 วัน ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง มาตรา 95 และในกฎหมายมาตรา 95 วรรค 5 ระบุไว้ว่าในระหว่างที่รับบัญชีนั้น ให้หัวหน้าพรรคการเมือง กรรมการบริหารพรรคการเมือง ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป แต่จะไม่สามารถดำเนินการใดๆ ในนามของพรรคการเมืองได้ โดยหลังจากการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเสร็จสิ้น ก็จะดำเนินการสมัครสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ภายใน 60 วัน
พร้อมกันนี้ นายไพบูลย์ กล่าวว่า ตนเองมั่นใจว่าคะแนนเสียงที่ตนได้รับนั้น ไม่ผิดเจตนารมณ์ของประชาชนที่เลือกแน่นอน เพราะตนประกาศไปตั้งแต่ต้นว่าสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
ขณะที่ นายไพบูลย์ ยังกล่าวถึงกรณีการออกมาแสดงความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คนหนึ่ง ในกรณีที่ตนพ้นสภาพจากพรรคประชาชนปฏิรูปไปแล้วยังต้องชำระบัญชีให้เสร็จก่อน จึงจะดำเนินการสมัครสมาชิกพรรคการเมืองอื่นได้นั้น เป็นการให้ข้อมูลในข้อกฎหมายที่ไม่เป็นข้อเท็จจริง จึงอยากเรียกร้องให้คณะกรรมการ กกต. พิจารณาตรวจสอบการให้ความเห็นทางกฎหมายของเจ้าหน้าที่ กกต. รายนี้ด้วย
นอกจากนี้ ตนเองยังเตรียมยื่นฟ้องร้องเอาผิดกับอดีตนักการเมือง และนักวิชาการที่เป็นอดีตที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ในข้อหาหมิ่นประมาท หลังจากให้ข้อมูลต่อสังคมในลักษณะที่บิดเบือนข้อเท็จจริง และใส่ความทำให้ตนเองถูกดูหมิ่นและเสียหายผ่านสื่อ โดยจะแจ้งความดำเนินคดีกับผู้หมิ่นประมาท 2 ราย
ส่วนประเด็นที่จะมีผู้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีการเลิกพรรคประชาชนปฏิรูปนั้น ตนเองมองว่า ขึ้นอยู่กับสิทธิของบุคคลนั้นๆ แต่ยังไม่ทราบว่าผู้เขียนคำร้องจะเขียนอย่างไร และมองว่าการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ง่าย แต่ยากหากจะเขียนคำร้องที่ครบถ้วนสมบูรณ์