15 ปีผ่านไป เกิดอะไรขึ้นบ้างใน “3 จังหวัดชายแดนภาคใต้”
นับตั้งแต่ พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา คำว่า “3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” ได้ปรากฏบนหน้าสื่อ ด้วยเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเหตุระเบิด การฆาตกรรม หรือการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับขบวนการที่ต่อต้านรัฐ รวมทั้งการจับกุมตัวคนในพื้นที่ อย่างกรณีล่าสุดคือกรณีของนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนในการสนับสนุนการก่อความไม่สงบในพื้นที่ และถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร จนกระทั่งเสียชีวิต นอกจากนี้ ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ยังเกิดเหตุลอบวางระเบิดหลายจุดในกรุงเทพมหานคร โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมตัวผู้ต้องสงสัยเป็นชายมุสลิม เชื้อสายมลายูอีก 2 คน ซึ่งเป็นชาวบ้านจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
>> "อับดุลเลาะ อีซอมูซอ" เสียชีวิตแล้วอย่างสงบ หลังช็อกหมดสติในค่ายทหาร
>> ญาติ "อับดุลเลาะ" ลั่น ติดตามคดีถึงที่สุด ด้าน "กอ.รมน." ยัน ผู้ตายไม่ได้ถูกทำร้าย
>> ระเบิดกรุงเทพฯ: ไล่เหตุการณ์บึ้ม-พบวัตถุต้องสงสัย 8 จุดทั่วเมืองหลวง
แม้จะมีการระดมสรรพกำลังและงบประมาณในการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ดูเหมือนปัญหานี้ก็ยังไม่หมดไปง่ายๆ ทั้งยังก่อให้เกิดรอยร้าวในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน และระหว่างประชาชนด้วยกันเอง ดังนั้น Sanook! News จึงขอทบทวนเรื่องราวเกี่ยวกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าตลอดระยะเวลา 15 ปีนี้ ความรุนแรงส่งผลอย่างไรในพื้นที่ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ของผู้คน และเราควรจะหาทางออกอย่างไรในเรื่องนี้
“ความขัดแย้ง” ที่ไม่เคยคลี่คลาย
ในงานเสวนาโต๊ะกลมเรื่อง “สันติภาพ จชต.: โอกาสการขยายตัวของความรุนแรงและบทบาทคนนอก” ซึ่งจัดโดยศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล Deep South Watch และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 มีการกล่าวถึงสาเหตุที่ไม่สามารถแก้ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้สำเร็จ เนื่องจากที่ผ่านมามีเพียงการใช้ความรุนแรงจากทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายตรงข้ามกับรัฐ โดยอ้างว่าวิธีการที่รุนแรงจะนำไปสู่ความสงบสุข
อย่างไรก็ตาม แม้ในระยะหลัง ตัวเลขความรุนแรงจากฐานข้อมูลของภาครัฐและ Deep South Watch จะมีแนวโน้มที่ลดลง แต่สิ่งที่คนทำงานในพื้นที่กังวลก็คือ “ความขัดแย้ง” ที่ไม่เคยได้รับการแก้ไข และยังถูกปกปิดโดยการเลี่ยงไปใช้คำอื่นๆ แทน ซึ่งกรณีนี้ คุณรอมฎอน ปันจอร์ ตัวแทนจาก Deep South Watch กล่าวว่า
“คำสำคัญที่มักจะถูกทำให้มองไม่เห็น คือคำว่า “ความขัดแย้ง” จากงานวิจัยของผมเมื่อ 2 – 3 ปีก่อน พบว่ามีคำสั่งของราชการใน พ.ศ. 2552 ให้เปลี่ยนคำสำคัญหลายคำ เช่น คำว่าการก่อความไม่สงบ เป็นการก่อความรุนแรง ผู้ก่อความไม่สงบ ให้เปลี่ยนเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรง ความซีเรียสเรื่องถ้อยคำพวกนี้จะทำให้เรามองไม่เห็นความขัดแย้ง เราจะเห็นแต่ความรุนแรง ผมรู้สึกว่าสิ่งที่คนนอกหรือคนในสังคมควรเข้าใจอย่างยิ่งก็คือ ความรุนแรงที่เห็นตอนนี้มันลดลง แต่ความขัดแย้งไม่ได้ถูกจัดการ ไม่ถูกคลี่คลาย ดังนั้น โอกาสในการขยายตัวของความขัดแย้งและความรุนแรงในมิติอื่นๆ ก็อาจจะมี แต่สิ่งที่รัฐบาลทำในหลายๆ ปีที่ผ่านมาคือ ปิดบังไม่ให้เห็นความขัดแย้งนี้ ซึ่งเรื่องนี้มีผลกระทบต่อการรับรู้หรือทัศนะทั้งของคนไทยและคนต่างชาติที่มองปัญหาที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้”
คุณรอมฎอนอธิบายว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานี้ นโยบายของรัฐเริ่มหวนกลับไปสู่แนวทาง “การป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบ” มากขึ้น โดยเน้นที่การพัฒนา การลดความรุนแรง การทำลายโครงสร้างขององค์กรปฏิวัติ BRN และสิ่งที่รัฐบาลไทยกังวลในช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมา และไม่สามารถบรรลุผลสำเร็จได้ คือการทำลายสายพานการผลิตนักรบรุ่นใหม่ หรือคนที่มีใจสนับสนุนองค์กรปฏิวัติ ทำให้รัฐพุ่งความสนใจไปที่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนา เนื่องจากโรงเรียนเหล่านี้ถูกตีตราว่าเป็นแหล่งบ่มเพาะขบวนการปฏิวัติ
นอกจากนี้ คุณรอมฎอนยังระบุว่า หากรัฐยังคงใช้วิธีการปราบปรามเพื่อลดความรุนแรง แต่ไม่จัดการความขัดแย้ง ซึ่งเป็นศูนย์กลางของปัญหาทั้งหมด ก็มีความเป็นไปได้สูงมากที่เหตุการณ์จะบานปลาย และยกระดับไปสู่ความสุดโต่งสุดขั้วทางความคิด ดังที่เคยเกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ
รอยร้าวในความสัมพันธ์
จากการติดตามสถานการณ์ตลอดระยะเวลา 15 ปี Deep South Watch พบว่า มีพลเรือนเสียชีวิตจากเหตุรุนแรงเป็นจำนวนมากกว่าทหาร ในขณะที่ทหารที่เสียชีวิตส่วนใหญ่จะเป็นคนจากนอกพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มที่มาจากภาคใต้ตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามด้วยภาคเหนือและภาคกลาง อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันเราจะเห็นว่าสถิติความรุนแรงลดน้อยลง แต่ที่จริงแล้ว ความรุนแรงยังมีอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบไปเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนแบบอื่น
คุณอัญชนา หีมมีหน๊ะ จากกลุ่มด้วยใจ ตัวแทนภาคประชาสังคมด้านเด็กและสตรีระบุว่า แม้ว่าในแถลงการณ์ของเจ้าหน้าที่ทหารจะบอกว่า จะเคารพในหลักสิทธิมนุษยชน ส่วนขบวนการต่อต้านรัฐก็บอกว่าจะเคารพในหลักมนุษยธรรมระหว่างประเทศ แต่ในทางปฏิบัติกลับตรงกันข้าม เพราะที่ผ่านมาก็ยังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่างๆ อยู่ โดยเฉพาะการละเมิดสิทธิเด็ก
“แม้ว่าเด็กที่บาดเจ็บล้มตายจะมีตัวเลขที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่มันมีการสะท้อนภาพของการใช้ความรุนแรงในรูปแบบอื่น มีเด็กที่ถูกเก็บดีเอ็นเอ มีการถ่ายภาพ มีการจับกุม ตรวจสอบโรงเรียน เป็นความรุนแรงที่เด็กมองเห็นอยู่ นอกจากการระเบิดหรือการยิงกัน นอกจากเด็กจะเห็นภาพความรุนแรงแล้ว ก็มีเด็กถูกควบคุมตัวและดำเนินคดีอย่างต่อเนื่องด้วย นอกจากนี้ การควบคุมตัวเริ่มจะเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง เด็ก ผู้นำศาสนา โต๊ะอิหม่าม อุสตาซ หรือผู้ที่เคยถูกควบคุมตัวแล้ว ก็จะถูกควบคุมตัวซ้ำแล้วซ้ำเล่า บางคนถูกจับไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง บางคนถูกจับทุกปีที่มีสถานการณ์เกิดขึ้นในบ้านของตัวเอง” คุณอัญชนาระบุ
การเติบโตมากับความรุนแรงอย่างต่อเนื่องและเรื้อรัง ส่งผลให้เด็กในพื้นที่เกิดความคับข้องใจ และมีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรงตอบโต้รัฐ โดยคุณอัญชนาอธิบายถึง การใช้ “คนหน้าขาว” หรือเด็กและเยาวชนที่ไม่เคยมีประวัติดีเอ็นเอ ประวัติการถูกควบคุมตัว หรือประวัติทางการทหาร มาปฏิบัติการต่อต้านรัฐว่า
“คนที่ถูกควบคุมตัวหรือจับกุมใน พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา เริ่มมีอายุตั้งแต่ 20 – 30 ปี มันบอกว่า เด็กที่อายุ 5 ปี หรือ 15 ปี เมื่อ พ.ศ. 2547 เขาเติบโตมากับการที่พ่อแม่พี่น้องถูกควบคุมตัว ถูกปิดล้อมตรวจค้น ถูกปฏิบัติการต่อหน้า ถูกปืนจี้ข้างหลังเวลามีปฏิบัติการตรวจค้น ไม่ว่าเป็นเด็ก ผู้หญิง หรือผู้ชาย และถูกบอกเล่าเรื่องซ้อมทรมาน จึงทำให้เขายอมรับความรุนแรงต่อผู้อื่นได้ มันเป็นความสะเทือนใจของตัวเองในฐานะคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนด้วยว่า เราไม่สามารถปกป้องเด็กให้ยุติการใช้ความรุนแรงในพื้นที่ได้” คุณอัญชนากล่าว
นอกจากเด็กในครอบครัวทั่วไปแล้ว ยังมีเด็กในครอบครัวของผู้ต้องสงสัย ที่ถูกกระทำซ้ำจากเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งคุณอัญชนามองว่าเป็นกลุ่มเปราะบางที่น่ากังวลไม่แพ้เด็กกลุ่มแรก
“มีครอบครัวหนึ่ง คนในครอบครัวถูกจับกุมซ้ำ 3 ครั้ง จนสุดท้ายเขาก็ต้องหนี เพราะไม่สามารถทนรับการถูกควบคุมตัวได้ และสุดท้ายก็ถูกวิสามัญฆาตกรรม ในขณะที่คนอื่นๆ ก็ถูกทำให้สูญหายไป และยังมีครอบครัวที่พ่อถูกจับกุม มีครอบครัวที่ลุงถูกตรวจค้นทุกอาทิตย์หรือทุกเดือน อันนี้เป็นสิ่งที่เด็กโตมา ทำให้เราเห็นว่าความรุนแรงที่มันขยายตัวก็มาจากการที่เราถูกปิดกั้นด้วยหมอกของมายาคติเรื่องการใช้ความรุนแรงของฝั่งใดฝั่งหนึ่ง” คุณอัญชนากล่าว
ด้านคุณลม้าย มานะการ ตัวแทนของชาวไทยพุทธที่ทำงานใกล้ชิดกับเครือข่ายคณะทำงานวาระผู้หญิงชายแดนใต้ ก็กล่าวว่า จากการทำงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ พ.ศ. 2535 พบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับผู้คนในพื้นที่มีช่องว่าง โดยเฉพาะกับชาวมุสลิม เนื่องจากข้อจำกัดด้านภาษา ในขณะที่ชาวพุทธสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ที่มีอยู่ได้มากกว่า ประกอบกับการที่ข้าราชการก็เป็นคนไทยพุทธจากนอกพื้นที่ ก็ทำให้มีระยะห่างกับประชาชนเช่นกัน
คุณลม้ายเล่าว่าก่อนเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2547 สถานการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังไม่เป็นที่รับรู้มากนัก และการทำงานของภาคประชาสังคมก็เป็นไปในลักษณะการพัฒนาชุมชน จนกระทั่งหลังเกิดเหตุรุนแรง ภาคประชาสังคมก็เริ่มหันมาทำงานด้านการเยียวยามากขึ้น
“ตอนปี 2548 เราผลักดันให้มีหลักเกณฑ์การเยียวยา และรัฐต้องรับผิดชอบ แต่รัฐก็ตั้งคำถามกับกลุ่มเยียวยาว่าทำไมไม่เรียกร้องให้ขบวนการรับผิดชอบ เราบอกว่าเราไม่รู้จักขบวนการ และเราคิดว่ารัฐมีหน้าที่ทำให้ทุกคนปลอดภัยและรอดชีวิต แต่รัฐไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้ หลายคนก็บอกว่าเราเป็นแนวร่วมมุมกลับ ที่ด่าทหาร ด่ารัฐ ไม่เคยตั้งคำถามว่าขบวนการต้องรับผิดชอบอะไร แล้วก็เริ่มแยกให้เห็นว่าประชาชนกลุ่มนี้ องค์กรภาคประชาสังคมกลุ่มนี้เป็นพวกรัฐ หรือเป็นพวกทหาร หรือเป็นพวกใคร”
นอกจากความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานระหว่างรัฐกับประชาชน สิ่งที่คุณลม้ายได้พบจากการทำงาน คือความไม่ไว้วางใจระหว่างประชาชนชาวพุทธและมุสลิม โดยเธอเล่าว่า หากชาวพุทธถูกทำร้าย ก็จะบอกว่า ผู้ที่ก่อเหตุคือคนมุสลิม และหากไปเยี่ยมคนมุสลิมที่ได้รับผลกระทบ คนมุสลิมก็จะบอกว่าคนที่ทำเขาคือทหาร
“เราเริ่มแยกกันกิน แยกกันอยู่ แยกกันใช้ชีวิต แยกพวก เราก็ใจหายเหมือนกันนะ เราทำงานกับมุสลิมมาตลอด แล้ววันหนึ่งเราถูกแยกพวก เราก็ถูกมองว่าเป็นฝ่ายของขบวนการ กรณีของกฎหมายฮาลาลก็เป็นเรื่องใหญ่มาก มีโรงพยาบาลเรียกร้องให้มีครัวอีกครัวหนึ่ง เป็นครัวพุทธ ตอนนี้ถึงขนาดมีเรื่องไม่ให้เอาอาหารฮาลาลเข้าไปอยู่ในวัด หรือไปถวายพระ เราคิดว่าเรื่องไม่เป็นเรื่อง แต่พอมันกระแทกกับอัตลักษณ์ แล้วก็สถานการณ์บางอย่าง คนทำงานเรื่องสันติภาพและสันติวิธีก็รู้สึกว่านี่คือความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ที่เกิดจากความรุนแรงทางกายภาพที่มันกระทำต่อที่นี่มาถึง 15 ปี” คุณลม้ายเล่า
ไม่เพียงแต่ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนเท่านั้น องค์กรภาคประชาสังคมเองก็ยังได้รับผลกระทบจากความไม่ไว้วางใจในพื้นที่ด้วย โดยเฉพาะการแบ่งแยก “สังกัด” ขององค์กร
“บางทีกองทัพก็ไปก่อตั้งองค์กรประชาสังคมไว้หลายองค์กร กลุ่มที่ทำงานเป็นอิสระที่ทำงานมาก่อน ก็จะไม่พอใจกลุ่มที่ทหารจัดตั้ง ก็ยิ่งทำให้เกิดการแบ่งเขาแบ่งเรามากขึ้น คนที่ทำงานประสานด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ก็ถูกมองว่าเป็นคนของขบวนการ เราก็ถูกแยกโดยสายตาของคนในสังคมนั้นและสายตาของคนข้างนอก อย่างเราทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อมกับชาวมุสลิม เราก็ถูกมองว่าไม่ใช่พุทธแท้แล้ว องค์กรเล็กๆ ที่ตั้งขึ้นมาของชาวพุทธเอง ภายหลังก็เริ่มตั้งคำถามเรื่องพวกเธอพวกฉัน คือการแบ่งแยกมันไม่ใช่แค่ระหว่างพี่น้องมุสลิมและชาวพุทธเท่านั้น คนพุทธเองก็แบ่งแยกกันค่อนข้างสูงในช่วงหลัง” คุณลม้ายกล่าว
ด้านพระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท หัวหน้าพระวิทยากรฯ วัดสระเกศ ที่เคยลงพื้นที่ทำงานกับชาวมุสลิมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มองว่าทุกวันนี้ พื้นที่ 3 จังหวัด เปลี่ยนไปจากที่ท่านเคยเดินทางไปเมื่อหลายปีก่อน
“ความเป็นมิตรมันหายไปเมื่อเทียบกับตอนที่อาตมาลงไปครั้งแรกเมื่อปี 2543 ที่แย่กว่านั้นคือช่วงหลังๆ ไม่ใช่เฉพาะคนนอกแล้ว แม้แต่คนในชุมชนเดียวกัน เจ้าอาวาสบางวัดโตมากับอิหม่าม เป็นเพื่อนเรียนโรงเรียนเดียวกัน ณ วันนี้ไม่กล้าสบตา ไม่กล้าคุยกันแล้ว เพราะเวลาจะคุยกันก็กลัวว่าฝ่ายรัฐหรือฝ่ายตรงข้ามจะระแวง ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่ความรู้สึกที่ท่านเล่า ก็คือท่านกังวล ท่านระแวงว่าเดี๋ยวเขาจะคิดอะไรแล้วอาจจะเป็นภัยกับตัวเอง สุดท้าย คนพื้นที่ก็ไม่สามารถสื่อสารกันด้วยดีได้อีกแล้ว” พระมหานภันต์กล่าว
สันติวิธีคือทางออก
เวลาผ่านไปย่างเข้าปีที่ 16 จะเห็นว่าความรุนแรงไม่สามารถแก้ไขปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ ดังนั้น “สันติวิธี” จึงน่าจะเป็นทางเลือกใหม่ที่น่าจะเป็นไปได้ในการยุติปัญหาความรุนแรง ซึ่งนอกจากการเจรจาสันติภาพอย่างจริงจังและรวดเร็วแล้ว การเปิดเสรีภาพในการลดความขัดแย้ง ก็เป็นแนวทางที่น่าสนใจ
“เรากำลังเคลื่อนตัวมาสู่สถานการณ์ที่รัฐบาลเน้นการควบคุม ทั้งการควบคุมพื้นที่ ความคิด กิจกรรมต่างๆ การควบคุมองค์กรภาคประชาสังคมหรือองค์กรระหว่างประเทศให้อยู่ในทิศทางที่ไม่เป็นอันตราย แต่ยิ่งมีการควบคุม ยิ่งต้องเปิดพื้นที่ ยิ่งต้องเปิดเสรีภาพในการทำความเข้าใจความขัดแย้ง ในการเข้าใจทางเลือกต่างๆ ในการเรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยกันด้วยวิธีการแบบอื่น ไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่ภายใต้ความกดดันหรือการควบคุมของรัฐบาลและฝ่ายของ BRN” คุณรอมฎอนเสนอ
ด้านคุณลม้ายและคุณอัญชนาก็เห็นตรงกันว่า ประชาชนควรมีส่วนร่วมในการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ โดยรัฐต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ออกแบบ เลือก และสร้างตัวชี้วัดด้วยตัวเอง ในการแสดงจุดยืนว่าพื้นที่ของตัวเองจำเป็นต้องมีการใช้กฎหมายพิเศษหรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่
“ควรให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม แล้วก็ทำงานไปด้วยกัน บางอย่างที่ต้องทบทวนก็ทบทวนด้วยกัน อย่างไหนที่ต้องเดินไปข้างหน้าก็เดินไปด้วยกัน คิดด้วยกัน ให้เขาเติบโตจากสิ่งที่เขาอยากจะทำเพื่อบ้านเมือง แล้วคนภายนอกก็มาช่วยคิด เป็นความหวัง เป็นกำลังใจได้” คุณลม้ายกล่าว
สำหรับหน้าที่ในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของคนนอกพื้นที่ พระมหานภันต์มองว่า การที่รัฐพยายามปิดกั้นการรับรู้สถานการณ์ในพื้นที่ ก็จะยิ่งทำให้ฝ่ายตรงข้ามรู้สึกว่าเสียงของตนไม่ถูกได้ยิน จึงต้องพยายามสร้างความรุนแรงมากขึ้น เพื่อให้คนนอกพื้นที่รับรู้ ทำให้เกิดการผลิตซ้ำความรุนแรง และเป็นปัญหาที่ไม่จบสิ้น ดังนั้น สังคมภายนอกจึงควรเปิดพื้นที่รับรู้เรื่องราวใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มากขึ้น โดยไม่ไปเป็นส่วนหนึ่งของการทวีความรุนแรง
“เราทุกคนสามารถมีส่วนเกี่ยวข้องได้ แต่ขอให้เกี่ยวข้องแบบมีปัญญา ใช้เหตุผล ในขณะเดียวกันก็เข้าใจอารมณ์ด้วย เข้าใจอารมณ์ของคนที่ก่อเหตุ คนที่เดือดร้อน คนที่อยู่ในพื้นที่ ทุกคนมีอารมณ์ความรู้สึก ต้องเข้าใจและใช้เหตุผลด้วย เพราะสุดท้าย สันติจะเกิดขึ้นได้ มันต้องเริ่มจากใจเรา แต่เราต้องช่วยกันออกแบบกลไกที่มันเอื้อต่อการนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนด้วย” พระมหานภันต์กล่าว
“ไม่ขอให้รัฐเป็นผู้สร้างสันติภาพเพียงอย่างเดียว แต่ขอให้ทุกคนได้ฟัง ได้ติดตามปัญหาการละเมิดสิทธิ โดยเฉพาะเรื่องของคุณอับดุลเลาะ อีซอมูซอ นั่นคือปัญหาหนึ่งที่เกิดจากการใช้กฎหมายพิเศษ การติดตาม สอบถาม และการมีแอ็กชันเรื่องการละเมิดสิทธิของทุกคนจะช่วยให้มีการควบคุมการใช้อำนาจเกินขอบเขตได้” คุณอัญชนากล่าวทิ้งท้าย