ฮ่องกงประท้วง ทำไมจีนกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ยึกยักสลายการชุมนุม ทั้งที่อำนาจเต็มมือ
ฮ่องกง หรือเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นเขตปกครองตนเองริมฝั่งทะเลจีนใต้ โดยฮ่องกงเป็นเกาะ และมีเกาลูนและเขตดินแดนใหม่เป็นดินแดนบนผืนแผ่นดินใหญ่ ที่ทอดตัวยาวจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือลงสู่ทิศใต้ มีพื้นที่รวม 1,096.63 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย เกาะฮ่องกง (80.30 ตารางกิโลเมตร) เกาลูน (46.71 ตารางกิโลเมตร) เขตดินแดนใหม่ (New Territories) และเกาะอื่นๆ (969.62ตารางกิโลเมตร) หรือขนาดประมาณ 1 ใน 6 ของพื้นที่นครเซี่ยงไฮ้
ฮ่องกงมีประชากรกว่า 7 ล้านคน เป็นเขตที่มีประชากรอยู่อาศัยหนาแน่นที่สุดเขตหนึ่งในโลก ประชากรฮ่องกง 93.6% มีเชื้อชาติจีน และ 6.4% มาจากกลุ่มอื่น ประชากรส่วนใหญ่ที่พูดภาษากวางตุ้งของฮ่องกงกำเนิดจากมณฑลกวางตุ้ง ประชากรจำนวนมากหนีสงครามและการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ในจีนแผ่นดินใหญ่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2430 เป็นต้นมา
อดีตเมืองขึ้นอังกฤษ สู่ศูนย์กลางการเงิน
สงครามฝิ่นครั้งที่ 1 เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2382 อังกฤษได้ยึดครองเกาะฮ่องกงเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2384 ต่อมาจีนพ่ายแพ้ในสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 ดินแดนตอนปลายคาบสมุทรเกาลูน จึงตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษในปี พ.ศ. 2385 และใน พ.ศ. 2441 อังกฤษก็บังคับเช่าเขตดินแดนใหม่ซึ่งมีเนื้อที่ใหญ่กว่าฮ่องกงและเกาลูนเกือบ 10 เท่าจากจีนอีกเป็นเวลา 99 ปี
อย่างไรก็ตาม อังกฤษได้วางรากฐานการศึกษา(ตั้งมหาวิทยาลัยฮ่องกงมาตั้ง 108 ปีมาแล้ว) การปกครองและเศรษฐกิจ โดยกำหนดให้ฮ่องกงเป็นเมืองท่าเสรีปลอดภาษีและจำลองระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมตามแบบของอังกฤษ รวมทั้งสถาปนาคณะกรรมาธิการปราบปรามคอร์รัปชัน พร้อมกับวางผังเมืองให้ฮ่องกงเป็นอย่างดีด้วยการสร้างการเคหะชุมชนขึ้นอย่างเป็นระเบียบ และสร้างระบบการขนส่งสาธารณะที่ทันสมัย
ทำให้ฮ่องกงกลายเป็นศูนย์กลางการเดินเรือ การพาณิชย์ และศูนย์กลางการเงิน พร้อมไปกับการเป็นประตูเปิดสู่ประเทศจีน นอกจากนี้ฮ่องกงยังเป็นศูนย์กลางการธนาคารและเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของบรรษัทข้ามชาติทั่วโลกอีกด้วย ซึ่งนับได้ว่าฮ่องกงเป็นเศรษฐกิจการบริการอย่างแท้จริง
ถึงวันกลับสู่อ้อมกอดจีน ภายใต้ระบบกึ่งปกครองตนเอง
อังกฤษเช่าเขตดินแดนใหม่ซึ่งเป็นดินแดนส่วนใหญ่ทั้งหมด เป็นเวลา 99 ปี โดยกำหนดวันหมดสัญญาไว้วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2540 โดยได้ทำพิธีส่งคืนเกาะฮ่องกงให้แก่จีนเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ไปเรียบร้อย ทั้งนี้ เคยมีการเจรจาระหว่างสหราชอาณาจักรกับสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อเจรจาขอเช่าเกาะฮ่องกงต่อ แต่ได้รับการปฏิเสธ และใน พ.ศ. 2527 มีการลงนามในสัญญาระหว่างสหราชอาณาจักรกับสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีสาระสำคัญว่า สหราชอาณาจักรจะยอมส่งมอบคืนเกาะฮ่องกงให้กับจีน และจีนได้ให้สัญญาว่าจะยอมให้ฮ่องกงเป็นเขตบริหารพิเศษที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลาง
โดยรัฐบาลจีนใช้นโยบาย "หนึ่งประเทศ สองระบบ" ปกครองฮ่องกง โดยกำหนดให้รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนรับผิดชอบด้านกิจการต่างประเทศ การทหาร และความมั่นคงเท่านั้น และให้สิทธิฮ่องกงในการปกครองตนเองอย่างอิสระ สามารถดำเนินนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การเงิน การพาณิชย์ ฯลฯ ได้ตามระบบเสรี
นอกจากนี้ รัฐบาลจีนกำหนดให้ฮ่องกงสามารถดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเสรีต่อไปได้อีกเป็นเวลา 50 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ไปจนถึง 30 มิถุนายน พ.ศ. 2590 ประกาศใช้เป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2533 หลังจากนั้นทางการจีนก็จะพิจารณาสถานภาพของฮ่องกงใหม่อีกครั้งหนึ่ง ส่วนการบริหารยังคงให้อิสระแก่ชาวฮ่องกงแต่ในทางปฏิบัติแล้วทางรัฐบาลจีนเป็นผู้กำหนดตัวผู้ว่าการฮ่องกงแบบว่าผู้บริหารต้องเป็นไปตามนโยบายของจีนอยู่ดี
ประตูจีนสู่โลก-โลกสู่จีน เพราะเศรษฐกิจเสรี
เนื่องจากฮ่องกงดำเนินนโยบายการค้าเสรีและเป็นเมืองท่าเสรีมาเป็นเวลานานตั้งแต่ยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ฮ่องกงจึงไม่มีการจัดเก็บภาษีศุลกากรในการนำเข้าและส่งออก แต่มีการเก็บภาษีสรรพสามิตของสินค้าเพียง 3 หมวด คือ สินค้าผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ใบยาสูบ และหมวดผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้ฮ่องกงมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศมากเป็นอันดับที่ 9 ของโลก รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการพาณิชย์และการเงินที่สำคัญแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
นอกจากนี้ ฮ่องกงยังเป็นส่วนหนึ่งของขุมพลังทางเศรษฐกิจที่สำคัญของจีนในเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำซูเจียง อันเปรียบเสมือนประตูการค้าเข้าสู่สาธารณรัฐประชาชนจีน ในปัจจุบันฮ่องกงเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) โดยใช้ชื่อในฐานะสมาชิกขององค์การการค้าโลกว่า "Hong Kong, China" ซึ่งเป็นสมาชิกแยกต่างหากจากจีน อันเนื่องมาจากการดำเนินนโยบายการค้าแบบเสรีและเป็นเมืองท่าเสรี
จะเห็นได้ว่าฮ่องกงมีความสำคัญยิ่งต่อประเทศจีนทั้งทางด้านเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ ดังตัวอย่างที่เด่นชัดคือ ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางของการแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลหยวนที่ใหญ่ที่สุดในโลกโดยในปีที่แล้ว (พ.ศ. 2561) ฮ่องกงได้จัดการ 79% ของการชำระเงินหยวนของจีนทั้งหมดเลยทีเดียว
ยิ่งไปกว่านั้น ฮ่องกงยังเป็นแหล่งการลงทุนโดยตรงของต่างประเทศถึง 54% ของจีน และเป็นแหล่งที่จัดการกับเงินลงทุนของจีนในต่างประเทศในสัดส่วนเดียวกันด้วย
และฮ่องกงยังเป็นแหล่งในการโชว์ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดในการโปรโมทนโยบาย "หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง" หรือ "Belt and Road (B&R) Initiatives" ซึ่งถือเป็นงานชิ้นสำคัญที่สุดของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง
ครับ! ความสำคัญและยิ่งใหญ่ของฮ่องกงที่กล่าวมานั้นมีรากฐานจากความมีกฎหมายที่รับมาจากอังกฤษ ซึ่งมีความเป็นธรรมาภิบาลสูงเนื่องจากมีการตรวจสอบจากประชาชน
คนฮ่องกงประท้วง หวั่นโดนจีนลิดรอนเสรีภาพ
ชาวฮ่องกงตระหนักดีถึงความสำคัญอย่างมากของฮ่องกงที่มีต่อสาธารณรัฐประชาชนจีนและกังวลต่ออนาคตของพวกตนที่เหลือเวลาอีกเพียง 28 ปีก็จะถึง พ.ศ. 2590 ซึ่งข้อตกลงระหว่างอังกฤษกับสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ตกลงให้การปกครองแบบ "หนึ่งประเทศ สองระบบ" จะสิ้นสุดลง
ดังนั้นการที่ชาวฮ่องกงออกมาเดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่เป็นจำนวนเรือนล้านนี้ เป็นการแสดงออกถึงความกังวลถึงอนาคตของชาวฮ่องกงแท้ๆ ที่กังวลว่าเมื่อระบบกฎหมายและระบบงานยุติธรรมอันเป็นที่ยอมรับของชาวโลกของฮ่องกงถูกทำลายไป ฮ่องกงก็จะไม่สามารถเป็นเมืองท่าเสรี เป็นศูนย์กลางการเดินเรือ การพาณิชย์ และศูนย์กลางการเงินอีกต่อไป แต่จะกลายเป็นเพียงเมืองชายทะเลเมืองหนึ่งของจีนเท่านั้น
ส่วนทางการจีนก็ไม่สามารถอ่อนข้อยอมตามคำเรียกร้องของเหล่าผู้ประท้วงฮ่องกงก็ไม่ได้ เพราะประชาชนบนผืนแผ่นดินใหญ่ของจีนก็จ้องดูฮ่องกงเป็นตัวอย่าง เนื่องจากบนผืนแผ่นดินใหญ่ก็มีเหตุการณ์เทียนอันเหมินมาแล้วเมื่อ 20 ปีก่อน แต่จะใช้กำลังทหารเข้าปราบปรามอย่างเด็ดขาดเหมือนกรณีเทียนอันเหมินก็ไม่ได้ เพราะจีนก็จะสูญเสียผลประโยชน์จากการที่ฮ่องกงเป็นเมืองท่าเสรี เป็นศูนย์กลางการเดินเรือ การพาณิชย์ และศูนย์กลางการเงินไปโดยทันที
ครับ! สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ถึงเป็นปัญหาที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกของจีนกับฮ่องกงตอนนี้ยังไงล่ะครับ