ย้อนรอยพิษ ต้มยำกุ้ง ถึง วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ กับความโลภของมนุษย์ !

ย้อนรอยพิษ ต้มยำกุ้ง ถึง วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ กับความโลภของมนุษย์ !

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
จากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 หรือวิกฤต ต้มยำกุ้ง ถึงวิกฤต แฮมเบอร์เกอร์ ปี 2550 เพียงแค่ทศวรรษก็มีวิกฤตเศรษฐกิจเกิดขึ้นถึง 2 ครั้ง ฉะนั้นการเรียนรู้วิกฤตที่เกิดขึ้นเพื่อเป็นบทเรียนจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อจะได้เตรียมการป้องกันไม่ให้วิกฤตเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ดังนั้นในโอกาสครบรอบ 12 ปี วิกฤตต้มยำกุ้ง ประเทศไทยซึ่งเคยเป็นประเทศศูนย์กลางของวิกฤตในปี 2540 กลายมาเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตในปี 2552 เราได้รับบทเรียนอะไรบ้าง และมีการเตรียมการเพื่อรองรับวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอย่างไร เป็นประเด็นที่พูดกันมาตลอด เพราะไม่มีใครอยากให้ประวัติศาสตร์เกิดขึ้นซ้ำรอย

ประชาชาติธุรกิจ สัมภาษณ์พิเศษ นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผู้ซึ่งมีประสบการณ์ด้านสายตลาดการเงินมาตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งจนถึงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ได้ชี้ให้เห็นถึงบทเรียนและการเตรียมพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจการเงินโลก ซึ่งมีความผันผวนมาก เพื่อทำให้มั่นใจว่าทางการมีการเตรียมการป้องไม่ให้วิกฤตเกิดขึ้นอีก

นางสุชาดาระบุว่า วิกฤตแต่ละครั้งจะไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการเงินหรือวิกฤตสถาบันการเงิน แต่จากปีฒ40 อย่างน้อยเราจะต้องเรียนจากบทเรียน และทุกๆ วิกฤตจะมีตัว บ่งชี้ เป็นสัญญาณก่อนเกิดวิกฤต แต่เราอาจไม่สังเกตหรืออาจละเลยไป

อย่างกรณีวิกฤตปีฒ40 ถ้าถามกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) หรือใครๆ ก็จะบอกว่าตัวบ่งชี้มีสัญญาณบอกแล้วว่าจะเกิดวิกฤต แต่เราไม่สังเกตหรือมีเหตุผลต่างๆ อธิบายว่า มันไม่ใช่หรอก เช่น ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 7-8% ของ GDP ประเทศจะอยู่ได้ไหม แต่เราก็บอกว่า GDP ที่ขยายตัวตั้ง 2 หลัก น่าจะสามารถรองรับได้ หรือหนี้ต่างประเทศที่มีสูง เราก็มองว่าเป็นปกติ เพราะดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลสูงก็ต้องมีเงินต่างประเทศเข้ามาไฟแนนซ์ แต่ส่วนใหญ่เป็นหนี้ต่างประเทศจำนวนมากและเป็นหนี้ระยะสั้น และนี่คือสัญญาณเตือนตัวหนึ่ง

แต่จุดหนึ่งที่เราคิดว่า จริงๆ เราก็พลาดคือ เงินทุนนำเข้าภาคเอกชน ที่คิดว่าเขาจะดูแลตัวเขาเอง เพราะเป็นเงินของเขา เราเลยไม่เข้มงวดตรงนั้นมาก จึงเป็นปัญหาเกิดขึ้น

เรื่องข้อมูลก็สำคัญ เพราะสมัยก่อนพอ ธปท.เปิดเสรีการเงินแล้ว ข้อมูลที่เคยได้ก็ไม่ได้ เพราะเอกชนไม่มาจดทะเบียนหรือรายงานข้อมูลให้ ธปท.ทราบ หรือบางอย่างเกิดการกู้ยืมนอกประเทศ ซึ่งเราไม่รู้เลยว่านี่ คือ หนี้ประเทศเรา ซึ่งตอนนั้นเราไม่รู้เลยว่าเยอะขนาดไหน แต่นี่คือความเสี่ยงที่เอกชนต้องเอาเงินไปชำระคืนหนี้ต่างประเทศ

เครื่องชี้อีกตัวคือ สินเชื่อขยายตัวสูง แต่เราคิดว่าเป็นเพราะเศรษฐกิจดี ตลาดหุ้นดี ราคาอสังหาริมทรัพย์ดี ทุกตัวดูดีหมด ซึ่งจริงๆ แล้วควรจะระมัดระวัง แต่สิ่งทั้งหมดเป็นสัญลักษณ์ของความ รุ่งเรือง ทำให้ไม่มีใครคิดว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นจะมาเป็น วิกฤต ได้

นางสุชาดาระบุว่า สิ่งที่กล่าวมานั้น คือ อาการ เมื่อเทียบกับวิกฤตสหรัฐรอบนี้ก็คล้ายๆ กัน แต่ไม่เหมือนกัน ของสหรัฐเริ่มมาจากดอกเบี้ยที่ต่ำมาก ทำให้อสังหาฯขยายตัวสูง ตลาดหุ้นดี และราคาอสังหาฯขึ้นไป เหมือนของไทยช่วงหนึ่งที่ราคามีแต่ขึ้นไม่มีลง เลยทำให้แม้จะมีอาการ หุ้นดี ราคาอสังหาฯสูง แต่มีประเด็นของคนที่มีคุณสมบัติที่จะกู้ไม่ได้ก็ยังกู้ได้ ยิ่งทำให้การขยายตัวตรงนั้นมันเร็วและใหญ่ ทำให้คนรู้สึกมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นจึงกล้าใช้จ่าย และคิดว่าเดี๋ยวก็มีรายได้เข้ามาจากขายบ้านแล้วซื้อบ้านใหม่ ซึ่งก็เป็นสัญญาณอย่างหนึ่งของวิกฤต

แต่ตอนนั้นใครๆ ก็บอกไม่ใช่หรอก แต่มันเป็นสถานการณ์ที่ดีมาก เหมือนกับว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่คนไม่เฉลียวว่าจะเป็นที่มาของวิกฤต เพราะมันไม่ใช่หนี้ต่างประเทศ เขาไม่ได้กู้หนี้ต่างประเทศ ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดเขาก็ขาดดุลมานานในระดับสูง แล้วจะปรับตัวอย่างไร จริงๆ พูดเรื่องนี้กันมานาน แต่ทั้งหมดนี้คือ สัญญาณบ่งชี้วิกฤต

นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในอดีต ซึ่งนางสุชาดายอมรับว่า เราได้บทเรียนค่อนข้างมาก ทั้งจากการเข้าโปรแกรม IMF และทำอะไรต่างๆ มากมาย ทั้งภาครัฐและเอกชนปรับตัวกันมากคือ ทำอย่างไรให้เข้มแข็งมากขึ้น ทำอย่างไรให้มันยืดหยุ่นมากขึ้น และต้องมีสัญญาณเตือนภัย และการบริหารความเสี่ยง ซึ่งเป็นเรื่องที่แต่ก่อนเราไม่ค่อยได้พูดกัน หรือแม้กระทั่งเรื่องธรรมาภิบาล เพราะมาสรุปแล้วไม่ว่าจะเกิดวิกฤตที่ไหนก็มาจาก ความโลภ

ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตที่ประเทศไทยและวิกฤตของโลก ล้วนมาจากความโลภของมนุษย์ที่ไม่รู้จักพอ ฉะนั้นต้องมีการกำกับที่เรียกว่า ธรรมาภบาล เข้ามาด้วย จากปีฒ40 ที่ผ่านมาเราต้องปรับตัวค่อนข้างมากในหลายๆ ด้าน และในที่สุดสิ่งที่เรามีทุกวันนี้ คิดว่าช่วยทั้งในเรื่องรองรับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้ายได้

โดยสิ่งเปลี่ยนแปลงไปจนทำให้ ธปท. มั่นใจว่าทำให้สามารถรองรับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้าย ได้แก่ 1.ระบบอัตราแลกเปลี่ยน การใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการจัดการ (แมเนจโฟลส) ทำให้เราบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนได้โดยไม่ต้องไปปกป้องค่าเงินให้อยู่ ณ จุดใดจุดหนึ่ง หรือระดับใดระดับหนึ่ง แต่เราจะทำเมื่อเห็นว่าความผันผวน ณ จุดนั้นรุนแรงเกินไป เราก็จะเข้าไปดูแล แทรกแซงด้านซื้อหรือด้านขาย หรือแทรกแซงทางอ้อม หรือหลายๆ อย่าง ก็คือการเข้าไปดูแล ซึ่งมีความยืดหยุ่นมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การทำตรงนี้ต้องดูว่าทำอย่างไรให้สมดุลกันระหว่างคนได้กับคนเสีย แต่ถ้าผันผวนมากแล้วจะมีผลด้านจิตวิทยา อันนี้ ธปท.ก็พร้อมเข้าไปดูแล อย่างไรก็ตาม หากดูดัชนีค่าเงินบาท (NEER) กับดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) จะเห็นว่าขีดความสามารถการแข่งขันของเงินบาทเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับก่อนวิกฤตปีฒ40 และค่าเงินบาทปีนี้ก็อ่อนค่ากว่าค่าเงินบาทเมื่อปีที่ผ่านมา จึงไม่น่าเป็นอุปสรรคต่อการส่งออก ซึ่งเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น ขณะที่ปัจจัยต่อการส่งออกมีอีกหลายปัจจัย โดยเฉพาะกำลังซื้อของประเทศคู่ค้า เป็นต้น

2.ระบบสถาบันการเงิน หลังจากสถาบันการเงินล้มไปเยอะ ธปท.ก็พยายามทำให้สถาบันการเงินที่เหลืออยู่มีความมั่นคง รวมถึงการนำหลักเกณฑ์ใหม่การดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงหรือบาเซิล 2 มาใช้ แม้สถาบันการเงินไทยไม่ถึงกับจำเป็นต้องทำ และประเทศไทยไม่ถูกบังคับให้ทำ แต่คิดว่าเราควรจะทำ เพราะอย่างน้อยให้เข้ากับมาตรฐานสากล

3.ภาคเอกชน หลังจากได้บทเรียนไปก่อหนี้ต่างประเทศมากๆ ระยะหลังเขาจะกลัวมากๆ บริษัทใหญ่ๆ ตอนนี้จะกลัวมากๆ โดยระมัดระวังการกู้ต่างประเทศ และมีการบริหารความเสี่ยงดี โดยเฉพาะถ้าบริษัทไม่มีรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศจะมีอันตราย ระบบตรงนี้เอกชนเขาดูแลตัวเอง รวมถึงระบบธรรมาภิบาล เพราะที่ผ่านมาผู้บริหารต้องรับผิดชอบ การตัดสินใจออกไปกู้เงิน คณะกรรมการและผู้บริหารมีบทบาทมาก

4.ภาคทางการเอง มีแนวคิดต้องเปิดเสรีให้มีเงินออกไป คือต้องมี two way flow แต่ความที่ ธปท.มีแต่ให้เงินเข้าเสรีมานาน และขาออกก็กลัวเงินสำรองมีน้อย กลัวเก็งกำไร ถึงเปิดก็ทยอยออก แต่ไม่มาก เลยทำให้เงินไหลออกมีค่อนข้างน้อย แต่หลังจากเรายกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% เราก็เปิดเสรีให้เงินทุนไหลออกค่อนข้างมาก เพราะเราคิดว่ามันต้องมีเงินไหลเข้าออกทั้ง 2 ทาง คือมีเงินไหลเข้ามาจากดุลบัญชีเดินสะพัด ก็ต้องไหลออกในบัญชีทุนบ้าง

ขณะที่เรื่องเก็งกำไร เมื่อก่อนเป็นอะไรที่เรากลัวมาก แต่ถ้าไม่มีการเก็งกำไรเลย ค่าเงินก็จะเคลื่อนไหวนิ่งมาก คือถ้าไม่มีเหตุการณ์อะไรก็จะเคลื่อนไหวในช่วงแคบๆ แต่เมื่อมีอะไรก็จะสะวิงไปแรงข้างใดข้างหนึ่ง เพราะตลาดมีขนาดเล็ก หากทุ่มนิดเดียวตลาดก็เอียงได้ เราจึงอยากให้มีการเก็งกำไรบ้าง แต่ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมที่เราดูแลได้

5.ระบบข้อมูล เป็นเรื่องหนึ่งที่ดีขึ้นกว่าปีฒ40 คือมีข้อมูลดีขึ้นมากกว่าสมัยก่อน เช่น ข้อมูลทุนสำรองทางการ ข้อมูลหนี้เสีย ข้อมูลรายเดือนก็มากขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านการเงิน ข้อมูลเรื่องหนี้ต่างประเทศ ข้อมูลการถือสินทรัพย์ต่างประเทศ (IIP) ทั้งหมดนี้เมื่อก่อนเป็นข้อมูลลับมาก แต่ตอนนี้ความโปร่งใสในข้อมูลมีมากขึ้น และเปิดให้สาธารณชนรับรู้มากขึ้น เพื่อใช้ให้ภาครัฐและเอกชนมาใช้วิเคราะห์ และทำให้เอกชนตัดสินใจดีขึ้นด้วย

มากกว่านั้น คือ ธปท.มีข้อมูล foreign exchange (FOX) ซึ่งเป็นธุรกรรมเกี่ยวกับเงินตราต่างประเทศที่สถาบันการเงิน ไม่ว่าจะทำธุรกรรมกันเอง หรือทำกับลูกค้าที่เป็นในประเทศและต่างประเทศ เมื่อทำแล้วต้องรายงานให้ ธปท.ทราบ 3 ครั้งต่อวัน ทำให้เราเห็นว่าเป็นใครซื้อ ใครขาย ปริมาณเท่าไร และ 5 อันดับแรกใครซื้อใครขาย มีวัตถุประสงค์อะไร

6.ฐานะเงินสำรองทางการ ปัจจุบันมีอยู่ 120 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จะว่าไปก็เยอะมาก แต่เงินสำรองที่เพิ่มขึ้น เกิดจากเราเข้าไปดูแลซื้อดอลลาร์เข้า จึงมีต้นทุนจากการดูดสภาพคล่องกลับ ซึ่งระบบมันอยู่นิ่ง แต่ค่าเงินเปลี่ยนไป เราไปซื้อดอลลาร์เข้ามา และปล่อยเงินบาทเข้าไป ทำให้ปริมาณเงินบาทเพิ่มขึ้น ก็จะไปกดดันดอกเบี้ย และสถาบันการเงินอาจนำเงินไปปล่อยแบบไม่ระมัดระวัง ดังนั้นธนาคารกลางทุกประเทศก็ทำเหมือนกันหมดคือ เข้าไปดูดสภาพคล่อง คือเมื่อซื้อดอลลาร์ปล่อยบาท ก็ต้องดูดกลับ เราจะเห็นยอดหนี้จากพันธบัตร ธปท. และยอดสวอปที่เพิ่มขึ้น และดอกเบี้ยทั้งหลายที่มาจากการดูแลค่าเงินก็คือต้นทุน

โดยระบบมันเอื้อให้เราบริหารจัดการเงินทุนสำรองที่มีอยู่ ถ้าเกิดถึงเวลาเอาไปใช้ ต้องนึกถึง 1.มีต้นทุน 2. ในอนาคตมันอาจเกิดความผันผวนได้ และถ้าวันหนึ่งเสถียรภาพด้านการเมืองนิ่งขึ้น การลงทุนเริ่มขยับ ความต้องการเงินตราต่างประเทศเพื่อใช้ซื้อสินค้านำเข้าก็ต้องมากขึ้น นั่นคือเงินสำรองที่มีอยู่ก็ออกไปได้ แต่ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามกลไก คือ เอกชนบริหารเงินตราต่างประเทศได้เองอย่างนิวซีแลนด์ ก็ไม่จำเป็นต้องมีเงินสำรองสูง และไม่สนใจค่าเงินเป็นอย่างไร นิวซีแลนด์จะถือทุนสำรองน้อยมากแค่ 2 พันล้านดอลลาร์

ส่วนระดับทุนสำรองที่เหมาะสมควรอยู่เท่าไรนั้น นางสุชาดาระบุว่ามีหลายแบบขึ้นอยู่กับสมมติฐานหรือแบบจำลองที่ใช้ เช่น อาจวัดจากสัดส่วนของการนำเข้า สัดส่วนของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น หรือต้องมีสัดส่วนเพียงพอการเติบโตของพันธบัตรหมุนเวียน และอีกแบบหนึ่งวิเคราะห์จากเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งดูจากเงินลงทุนโดยตรง เงินลงทุนในหุ้น แล้วคิดว่าโอกาสที่จะมีเงินไหลออกออกไปรุนแรงมากที่สุดเท่าไร เพื่อดูว่าควรมีเงินสำรองฯรองรับเท่าไรถึงจะพอ

ทั้งนี้มุมมองจากคนภายนอก ธปท.มีการประเมินคร่าวๆ กันว่า เงินสำรองที่เหมาะสมน่าจะอยู่ประมาณ 70-80 พันล้านดอลาร์สหรัฐ ซึ่งนางสุชาดาไม่ได้ปฏิเสธตัวเลขดังกล่าวแต่ให้ข้อสังเกตไว้ว่า เงินสำรองที่มี 120 พันล้านดอลลาร์ เป็นของบัญชีทุนสำรองเงินตราประมาณครึ่งหนึ่ง แล้วที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งก็ยังไม่ถึงกับระดับที่มีการคาดการณ์ว่าเหมาะสม พร้อมย้ำว่าการจะนำเงินสำรองไปใช้ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ที่สำคัญต้องนึกถึงต้นทุนและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

7.นโยบายพัฒนาตลาดตราสารหนี้ ให้เอกชนโดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ลดการพึ่งพาการกู้ยืมต่างประเทศและการกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะช่วงนี้บรรยากาศหลายๆ อย่างเอื้อให้ออกตราสารหนี้ เพราะดอกเบี้ยต่ำ และประชาชนรู้จักตราสารหนี้มากขึ้น ซึ่งไตรมาสแรกที่ผ่านมาบริษัทขนาดใหญ่ออกตราสารหนี้ 100,000 กว่าล้านบาท และไตรมาสที่สองก็เกือบ 100,000 ล้านบาท ฉะนั้นการหันมาพึ่งพาสภาพคล่องในประเทศจะช่วยลดปัญหาลดแรงกดดันต่างประเทศมาก เมื่อเกิดวิกฤตที่สหรัฐจึงไม่เดือดร้อนมาก

8.การเตรียมหาสภาพคล่องที่เป็นเงินตราต่างประเทศ มีการเตรียมความพร้อมเงินตราต่างประเทศกับประเทศสมาชิกด้วยกัน และกับองค์กรระหว่างประเทศ อันนี้ก็เป็นกลไกอันหนึ่งที่ช่วยรองรับหากจะเกิดวิกฤตอะไรขึ้น เพราะพอเกิดวิกฤตหากวิ่งหา IMF อย่างเดียว กว่าจะกู้ได้หรือได้เงินมาอาจไม่ทันกาล

ขณะนี้รวมๆ กันทั้งหมด เรามีสภาพคล่องเงินตราต่างประเทศที่เตรียมไว้ 20 พันล้านดอลลาร์ มีทั้งสวอปและเงินกู้ แต่บางตัวก็ยังระบุไม่ได้ เช่น เครดิตไลน์กับ IMF ซึ่งไม่คิดว่าต้องใช้ แต่ก็ได้ศึกษาวิธีการไว้เพื่อเตรียม

สุดท้ายเรื่องข้อมูลสัญญาณเตือนภัย นางสุชาดาบอกว่า ธปท.ทำมาโดยต่อเนื่อง นับตั้งแต่หลังวิกฤตปีฒ40 โดยสัญญาณเตือนภัยที่ ธปท.ติดตามคือ ราคาหุ้น อัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย และเรื่องเกี่ยวกับราคาทั้งหลาย โดย ธปท.สร้างตัวพวกนี้อยู่ในระบบติดตามข้อมูลภายในของ ธปท. เช่นตัวใดตัวหนึ่งในนี้ผันผวน ธปท.ก็ต้องจับตาดู ถ้ามีความผันผวนมากเกินระดับหนึ่งก็ต้องดูว่ามีอะไรผิดปกติ เป็นต้น

ตอนนี้คิดว่าเพียงพอ แต่วิกฤตแต่ละครั้งที่เกิดรูปแบบเปลี่ยนไปเรื่อย แต่เราพยายามทำอะไรที่ป้องกันได้เราก็ป้องกันไว้ และตอนนี้ข้อมูลมีแล้ว ก็เหลือแต่ต้องใช้ข้อมูลให้เป็นด้วย นางสุชาดากล่าวปิดท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook