"สืบ นาคะเสถียร" ผู้ปลุกเสียงอนุรักษ์ผืนป่าไทยให้ลุกโชนในหัวใจคนไทย

"สืบ นาคะเสถียร" ผู้ปลุกเสียงอนุรักษ์ผืนป่าไทยให้ลุกโชนในหัวใจคนไทย

"สืบ นาคะเสถียร"  ผู้ปลุกเสียงอนุรักษ์ผืนป่าไทยให้ลุกโชนในหัวใจคนไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"สืบ นาคะเสถียร" ซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในระดับต้นๆ ที่ผลักดันการอนุรักษ์ผืนป่าให้เป็นสมบัติของสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผืนป่าห้วยขาแข้ง ตลอดจนการออกตัวว่า “ผมขอพูดในนามของสัตว์ป่า” สืบใช้การตายของตนเองเป็นเสียงเรียกแทนสัตว์ป่าทั้งหลายให้คนไทยได้ตื่นและเริ่มเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ครั้งหนึ่ง ดร.อลัน ราบิโนวิทซ์ เพื่อนสนิทคนหนึ่งเคยบอกกับสืบ นาคะเสถียรว่า “คุณไม่จำเป็นต้องกังวลกับการที่มีใครตาย เพราะการตายไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของคุณ พวกเขาทำงานของเขา คุณไม่ต้องไปรับผิดชอบพวกเขาถึง 100 เปอร์เซ็นต์หรอก”

แต่สืบตอบกลับทันทีด้วยความเด็ดเดี่ยวว่า “จะไม่มีใครต้องตายในเขตฯ ห้วยขาแข้ง ถ้ามีก็ต้องเป็นผม”

สืบเริ่มเข้าใจแล้วว่า หนทางเดียวที่จะทำให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างดี คือการผลักดันให้ป่าแห่งนี้ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก สืบจึงรีบลงมือเก็บข้อมูลอย่างหนักเพื่อทำรายงานเสนอยูเนสโกจนสำเร็จในเวลาต่อมา

ต่อมาสืบพยายามผลักดันแนวความคิดเรื่องป่ากันชน คือบริเวณป่าสงวนรอบๆ ป่าห้วยขาแข้งในรัศมี 5 กิโลเมตร ให้เป็นป่าชุมชนของชาวบ้าน ชาวบ้านสามารถมาใช้ประโยชน์ ตัดไม้หาของป่าได้ ในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็นป่ากันชน ซึ่งจะทำให้ป่าห้วยขาแข้งปลอดภัยจากการบุกรุกด้วย

แต่เป็นเรื่องน่าเศร้าที่แนวความคิดนี้อยู่นอกเหนือพื้นที่ของห้วยขาแข้ง เป็นเรื่องของป่าไม้เขต ป่าไม้จังหวัด กระทรวงมหาดไทย ทหาร ตำรวจ และข้าราชการท้องถิ่นที่จะมีอำนาจในการจัดการดังกล่าว แต่สืบก็พยายามอย่างหนัก วิ่งหาผู้ใหญ่ วิ่งหาข้าราชการที่เกี่ยวข้องคนนั้นคนนี้ตลอดเวลา ชี้แจงให้ทุกคนเห็นความสำคัญของแนวความคิดนี้เพื่อรักษาป่าที่ดีที่สุดผืนนี้ให้ได้

แต่ดูเหมือนจะมีเพียงความนิ่งเงียบในระบบราชการไทย ต่อมาสืบได้ต่อสู้กับระบบราชการไทยในการที่จะให้เกิดการรักษาอนุรักษ์ป่ารวมถึงสัตว์ป่าต่างๆ แต่ก็เหมือนจะเป็นภาระที่หนักอึ้งใหญ่หลวง ไม่ได้รับการตอบสนองจากทั้งระบบราชการไทยและภาคส่วนทางการเมือง

ประมาณตีสี่ของวันที่ 1 กันยายน 2533 ยามในห้วยขาแข้งได้ยินเสียงปืนนัดหนึ่ง แต่ไม่ได้คิดอะไร ในป่าแห่งนี้เสียงปืนเป็นเรื่องธรรมดา จนประมาณสิบโมงเช้า เจ้าหน้าที่เริ่มแปลกใจว่าหัวหน้าสืบยังไม่ลงมากินข้าว หม่องจึงอาสาเดินไปตาม เมื่อไขกุญแจบ้านเข้าไป เขาพบร่างที่ไร้ลมหายใจของหัวหน้าสืบอยู่บนเตียง

28seubnakasatiaen-1

ข้อความสุดท้าย ในจดหมาย ของ “สืบ นาคะเสถียร”

เช้าวันที่ 1 กันยายน สืบ นาคะเสถียร ได้ชำระสะสางภาระหน้าที่รับผิดชอบและทรัพย์สินส่วนตัวที่คั่งค้างมอบหมายเครื่องใช้และอุปกรณ์ต่างๆให้กับคนสนิทใกล้ชิดเป็นผู้ดูแลและเป็นธุระส่งคืนเจ้าของบนกระดาษบันทึกข้อความของหน่วยงาน

กระดาษแผ่นหนึ่ง สืบ นาคะเสถียร ได้เขียนข้อความเอาไว้ว่า “ผมมีเจตนาที่จะฆ่าตัวเอง โดยไม่มีผู้ใดเกี่ยวข้องในกรณีนี้ทั้งสิ้น” ลงชื่อ สืบ นาคะเสถียร 31 ส.ค. 33

การตายของ สืบ นาคะเสถียร ได้ถูกเผยแพร่ออกสื่อต่างๆ อย่างกว้างขวาง และนับเป็นครั้งแรกที่สังคมไทยหันมาให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ป่าและสัตว์ป่าอย่างจริงจัง หลังจากนั้นมีการจัดตั้งมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ขึ้น มูลนิธิดังกล่าวได้เดินตามเจตนารมณ์ของสืบอย่างมั่นคง เวลาผ่านมาจะครบ 30 ปี สืบ นาคะเสถียรนับเป็นเมล็ดพันธุ์ที่สำคัญในการปลุกกระแสอนุรักษ์ป่าให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังในประเทศไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook