ป่าไทยสมบูรณ์ "เสือโคร่ง" ห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร เพิ่มขึ้นเป็น 77 ตัว
กรมอุทยานแห่งชาติฯ เผย "เสือโคร่ง" ในป่ามรดกโลกห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร เพิ่มขึ้นกว่า 50% จาก 41 ตัว ในปี 2553 เป็น 77 ตัวในปี 2562
นายสมโภชน์ ดวงจันทราศิริ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้กล่าวถึงสถานการณ์ “เสือโคร่ง” ในประเทศไทย โดยระบุว่า ปัจจุบันประชากรเสือโคร่งของโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง คาดว่าทั่วโลกมีจำนวนประชากรเสือโคร่งในป่าไม่เกิน 4,000 ตัว โดยปัจจัยคุกคามหลักต่อการอยู่รอดของประชากรเสือโคร่งมีสาเหตุจากการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ การลักลอบล่าเสือโคร่งและสัตว์ป่าที่เป็นเหยื่อ
ประเทศไทยมีประชากรเสือโคร่งอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ประมาณ 150-200 ตัว โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในผืนป่าตะวันตกและผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ จากการติดตามตรวจวัดประชากรเสือโคร่งในพื้นที่มรดกโลกห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งเป็นใจกลางของผืนป่าตะวันตก
โดยการสำรวจด้วยกล้องดักถ่ายภาพอย่างเป็นระบบตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน พบว่า มีเสือโคร่งที่ถ่ายภาพได้ในผืนป่ามรดกโลกห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 41 ตัว ในปี 2553 เป็น 77 ตัวในปี 2562 ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 50% โดยมีประชากรเสือโคร่งที่ประเมินได้อยู่ที่ 80-100 ตัว ในผืนป่ามรดกโลกห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร
นอกจากนี้ ยังพบว่าเสือโคร่งในพื้นที่ มีการขยายพันธุ์ทุกปีและมีการกระจายพันธุ์ไปอาศัยอยู่ในพื้นที่คุ้มครองอื่นโดยรอบในป่าตะวันตก” นายสมโภชน์ กล่าว
ทั้งนี้ จากการปฏิญญาเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กด้านการอนุรักษ์เสือโคร่ง ในการประชุมสุดยอดผู้นำของประเทศที่เป็นแหล่งอาศัยของเสือโคร่ง 13 ประเทศ ได้แก่ รัสเซีย จีน อินเดีย เนปาล ภูฏาน บังกลาเทศ พม่า ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เมื่อปี 2553 ณ นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ประเทศรัสเซีย ได้มีการรับรองปฏิญญาเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กด้านการอนุรักษ์เสือโคร่ง เพื่อประกาศเจตนารมณ์ที่จะดำเนินงานกิจกรรมต่างๆ เพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่งของโลกโดยมีเป้าหมายจะเพิ่มจำนวนประชากรเสือโคร่งในโลกเป็นสองเท่าในปี 2565