สื่อมาเลย์ตีข่าว "วินไทย" ผูกขาดรับ-ส่งคนข้ามแดน อู้ฟู่รายได้วันละ 3 พัน
สื่อมาเลเซียตีข่าวจี้รัฐบาลอนุญาตให้คนมาเลย์ขับวินจักรยานยนต์รับจ้างได้บ้าง หลังพบ "วินไทย" วิ่งฉิวรับส่งคนข้ามแดนระยะทางแค่ 10 กม.รับรายได้เกือบ 3,000 บาทต่อวัน
แฟนเพจเฟซบุ๊ค "โครงการจัดตั้งสมาคมเพื่อการศึกษาและการพัฒนา" ได้เผยแพร่เนื้อหาของการรายงานข่าวของสำนักข่าวประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย โดยระบุว่า ขณะนี้รถจักรยานยนต์รับจ้างจากฝั่งชายแดนไทยที่มีเขตแดนเชื่อมต่อกับมาเลเซียทางภาคใต้ กำลังผูกขาดในการรับส่งคนข้ามแดนระหว่างไทยและมาเลเซีย ระยะทาง 10 กิโลเมตร และมีรายได้เฉลี่ยต่อวันถึงคนละ 2,900 บาท อีกทั้งหากรัฐบาลมาเลเซียไม่สนับสนุนให้คนมาเลเซียทำกิจการนี้ได้ ก็จะเสียเปรียบไทยอย่างมากในการหารายได้
"มอเตอร์ไซค์ข้ามชายแดน มุมมองจากมาเลเซีย" สำนักข่าว Barita Harian พบว่าตอนนี้มอเตอร์ไซค์ของไทยผูกขาดการบริการโดยเข้าไปถึงตัวเมือง Changlun แล้ว ที่อยู่ห่างจากชายแดนไทยประมาณ 10 กิโลเมตร ค่าโดยสารขึ้นอยู่กับระยะทาง แต่จากด่านนอกฝั่งไทยมาที่คิวรถแท๊กซี่ฝั่งมาเลเซียจะอยู่ที่ 10 ริงกิต (1 ริงกิตเท่ากับ 7.25 บาท) แม้ระยะทางไม่ถึง 2 กม.
ภายใต้กฎหมายไทยมอเตอร์ไซค์รับจ้างจะถูกกฎหมาย โดยผู้ให้บริการจะต้องลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ก่อนที่จะได้รับเสื้อกั๊กหรือแจ็คเก็ต สีของเสื้อกั๊กที่แตกต่างกันหมายถึงโซนของผู้ให้บริการ โดยที่ไม่สามารถพาผู้โดยสารออกนอกโซนของตนได้ ผู้โดยสารที่ใช้บริการนี้ในกรณีเกิดอุบัติเหตุจะได้รับความคุ้มครองจากประกัน พ.ร.บ บุคคลที่สาม แต่คุ้มครองเฉพาะในเขตประเทศไทยเท่านั้น เมื่อข้ามมาฝั่งมาเลเซียจะไม่คุ้มครอง
ในขณะเดียวกันผู้ให้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างของมาเลเซียที่ชื่อ Wahab กล่าวว่า จะเป็นการสูญเสียหากรัฐบาลมาเลเซียไม่อนุญาตให้คนมาเลเซียเองเปิดบริการนี้ในประเทศ
"ตอนนี้คนไทยสามารถเข้ามารับส่งผู้โดยสารได้ถึงเขตร้านค้าปลอดภาษี ทั้งมอเตอร์ไซค์รับจ้างและแท๊กซี่เถื่อน และรัฐบาลมาเลเซียไม่ได้ดำเนินการอย่างเด็ดขาด ปล่อยให้รถจักรยานยนต์และรถยนต์ของไทย เข้ามารับผู้โดยสารในมาเลเซีย จะทำให้แท็กซี่ของเราลำบาก รัฐบาลควรให้โอกาสคนในประเทศได้รับประโยชน์มากกว่านี้"
"คนไทยสามารถมีรายได้ 400 ริงกิตต่อวันได้อย่างง่ายดาย จากการพาผู้โดยสารมายังมาเลเซีย ในขณะที่คนของเราเองไม่ได้รับอนุญาตให้ทำ"
เขาอ้างว่า ก่อนหน้านี้เขาได้จัดตั้งสมาคมรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง มีสมาชิกประมาณ 10 คนและมีการลงทะเบียนไว้ที่สถานีตำรวจใกล้เคียง
“เราจดรายละเอียดของแต่ละคน นอกเหนือจากการใส่เสื้อกั๊กและหมายเลข ซึ่งได้แจ้งกับทางตำรวจด้วย ดังนั้นหากมีสิ่งใดเกิดขึ้น ผู้โดยสารสามารถแจ้งตำรวจได้"
“ ทุกอย่างดำเนินไปอย่างราบรื่นเป็นเวลาหกปี แต่ต้องหยุดลงหลังจากที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง ศุลกากร ด่านกักกันสัตว์ และศูนย์รักษาความปลอดภัย (ICQS) ใหม่เปิด” เขากล่าว
นอกจากนี้เขายังอ้างว่าไม่ได้มีปัญหากับคนขับรถแท็กซี่ด้วย เพราะมอเตอร์ไซค์รับจ้างนั้นให้บริการในระยะทางสั้น ๆ เท่านั้น และจะนำผู้โดยสารไปส่งที่คนขับแท็กซี่ต่อ” เขากล่าว