"คำนำหน้านาม" โชคชะตาที่เปลี่ยนแปลงได้

"คำนำหน้านาม" โชคชะตาที่เปลี่ยนแปลงได้

"คำนำหน้านาม" โชคชะตาที่เปลี่ยนแปลงได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“คำนำหน้านาม” คือคำที่บ่งบอกเพศ วัย และสถานะของคนในสังคม เช่น นาย, นาง และนางสาว โดยแบ่งตามเพศกำเนิด และกำหนดสิทธิหน้าที่และการเข้าถึงสวัสดิการต่าง ๆ ของพลเมือง หากมองง่าย ๆ คำนำหน้านามก็คล้ายกับ “โชคชะตา” ที่คอยกำหนดชีวิตและบทบาทของทุกคน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ สังคมไม่ได้มีเพียงเพศชายและเพศหญิงเท่านั้น แต่ยังมี “คนข้ามเพศ” เกิดขึ้นด้วย นั่นทำให้คำนำหน้านามที่กำหนดตามเพศกำเนิดไม่ครอบคลุมถึงคนข้ามเพศ และยังส่งผลต่อคนกลุ่มนี้ ในแง่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการถูกเลือกปฏิบัติและการไม่สามารถเข้าถึงสิทธิที่พวกเขาควรได้รับ

ด้วยเหตุนี้ การต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงโชคชะตาของกลุ่มคนข้ามเพศจึงเริ่มต้นขึ้น โดยมีการผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เปลี่ยนแปลงข้อมูลเพศในทะเบียนราษฎร เพื่อเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมให้คนข้ามเพศ

ทำไมต้องเปลี่ยนคำนำหน้านาม

“คำนำหน้านาม” สร้างปัญหาให้กับคนข้ามเพศทั้งในทางวัฒนธรรมและทางกฎหมาย ส่งผลให้เกิดการประทับตีตราและเลือกปฏิบัติกับคนกลุ่มนี้ ซึ่งคุณซารีน่า ไทย นางแบบข้ามเพศสาวชาวไทยเล่าประสบการณ์การถูกเลือกปฏิบัติเพราะคำนำหน้านามไม่ตรงกับเพศสภาพของเธอว่า ครั้งหนึ่งเธอเคยถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าผับดังย่าน RCA เพียงเพราะคำนำหน้านามในบัตรประจำตัวประชาชนของเธอเป็น “นาย”

“มันเป็นการเลือกปฏิบัติ ต้องบอกว่าคนที่ไม่เคยโดนเรื่องแบบนี้กับตัวเองก็จะไม่รู้ คนที่โดนจริง ๆ จะรู้แต่หลาย ๆ ครั้งที่โดนเลือกปฏิบัติ เราก็เลือกที่จะเก็บเงียบไว้กับตัวเอง ไม่ได้ทำอะไร แล้วก็ปล่อยไป ซึ่งการปล่อยไปหรือเก็บเงียบไว้กับตัวเอง มันทำให้เหตุการณ์แบบนี้มันเกิดขึ้นซ้ำอีก”

เช่นเดียวกับคุณณัฐนนท์ บุญสม หรือคุณนัท ยูทูบเบอร์ชายข้ามเพศที่ประสบปัญหาการถูกเลือกปฏิบัติ คุณนัทแบ่งปันประสบการณ์ให้ฟังว่าเคยถูกอาจารย์มหาวิทยาลัยทำให้อับอายต่อหน้าเพื่อนร่วมชั้น เพียงเพราะเขาสวมชุดนักศึกษาชาย แต่คำนำหน้านามในใบรายชื่อเป็น “นางสาว” โดยคุณนัทเล่าว่าเขารู้สึกอึดอัดที่อาจารย์มองเขาเหมือนเป็นตัวประหลาด

“แต่ต่อให้เราไม่ชอบ ไม่โอเคกับความคิดเขาแค่ไหน เราก็ต้องยอมเขาเพราะว่าเขาเป็นคนให้คะแนนเรา เขาเป็นคนให้เกรด” คุณนัทกล่าว

ไม่ใช่แค่การถูกเลือกปฏิบัติเท่านั้นที่คนข้ามเพศต้องประสบพบเจอ อีกหนึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการเรียกร้องในครั้งนี้ ก็คือการไม่สามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการอย่างเท่าเทียมกับคนอื่นในสังคม เช่น สิทธิในการเข้ารับการรักษาพยาบาล ดังเช่น กรณีหญิงข้ามเพศที่ต้องนอนรักษาตัวในวอร์ดผู้ชายของโรงพยาบาล เพราะคำนำหน้านามของเธอยังเป็นนาย แม้ร่างกายของเธอจะเป็นผู้หญิง รวมถึงสิทธิในการยกเว้นการเข้ารับราชการทหาร ซึ่งคนข้ามเพศยังถูกจัดอยู่ในกลุ่มผู้มีความผิดปกติทางจิต และสิทธิในการเข้าทำงานโดยไม่แบ่งเพศแยกตามสภาพ เป็นต้น

เปลี่ยนคำนำหน้านามแล้วได้อะไร

คุณเจษฎา แต้สมบัติ ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่เดินหน้าผลักดันร่าง พ.ร.บ. เปลี่ยนแปลงข้อมูลเพศในทะเบียนราษฎร อธิบายว่า เป้าหมายหลักของการผลักดันร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ก็เพื่อสร้างพื้นที่ทางกฎหมายให้กับกลุ่มคนข้ามเพศและเกิดความเท่าเทียมในสังคม ซึ่งการเปลี่ยนคำนำหน้านาม เป็นหมุดหมายที่จะปลดโซ่ตรวนให้กับคนข้ามเพศ ให้สามารถวิ่งได้ทันคนอื่น นอกจากนี้การแก้กฎหมายคำนำหน้านามจะช่วยปลดล็อกกฎหมายอีกหลายตัว เพราะกฎหมายของไทยได้พ่วงคำนำหน้านามกับสิทธิและสวัสดิการอื่น ๆ

ตัวกฎหมายที่พูดถึงคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เราต้องมองว่าไม่ใช่สิทธิพิเศษ ไม่ใช่กฎหมายพิเศษ แต่เป็นสิทธิพื้นฐานของคนทุกคน ที่สามารถเลือก กำหนดเจตจำนงค์ความเป็นเพศของเราได้ เพราะเราถูกบอก ถูกสอน ถูกเลือกมาให้แต่เกิด ซึ่งตรงนี้แหละที่เป็นการลิดรอนสิทธิ์ของมนุษย์” คุณเจษฎาอธิบาย

ขณะที่คุณซารีน่าและคุณนัทเห็นตรงกันว่าประโยชน์สูงสุดของกฎหมายฉบับนี้ คือทำให้คนข้ามเพศสามารถเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ในทางกฎหมายได้มากขึ้น แต่จะเกิดความเท่าเทียมเทียบเท่ากับชายหญิงหรือไม่ ก็อาจต้องใช้เวลามากกว่า แต่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมาก

“ผมมองว่าเป็นเรื่องของการเข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ในกฎหมาย แต่ถ้าพูดถึงความเท่าเทียมก็ยังไม่ถึงกับเท่าเทียมนะ เพราะสังคมไทยยังไม่เปิดกว้างขนาดนั้น” คุณนัทกล่าว

เช่นกัน คุณเจษฎาก็มองว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเมื่อมี พ.ร.บ. เปลี่ยนแปลงคำนำหน้านาม ไม่ใช่เพียงด้านกฎหมายเท่านั้น แต่ทัศนคติของคนในสังคมก็จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ซึ่งจะเป็นคุณูปการให้กับสถาบันทางสังคมอื่น ๆ

อย่างไรก็ตาม การผลักดันร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวยังถือว่าเป็นเรื่องยากในประเทศไทย แม้เมืองไทยจะได้ชื่อว่าเป็นสวรรค์ของกลุ่มคนข้ามเพศ แต่ก็ยังมีทัศนคติ มายาคติ และอคติต่อคนข้ามเพศ ก่อให้เกิดความกลัวและความกังวลใจ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีเหตุผลจากความรู้สึกไม่มั่นคงของสังคมนั่นเอง

“เขาจะรู้สึกว่าคนข้ามเพศ สาวประเภทสอง กะเทยก็มีพื้นที่ในสังคมอยู่แล้ว ทำไมต้องมาแบ่งชิ้นเค้กของผู้หญิงไปอีก แล้วคนก็จะมีคำถามที่เกิดจากความไม่รู้ ไม่เข้าใจว่าถ้าเป็นอาชญากรแล้วมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลเพศ จะพ้นผิดหรือเปล่า หรือการจะหนีการเกณฑ์ทหารแล้วเปลี่ยนคำนำหน้านาม หรือผู้ชายก็บอกว่าจะรู้ได้ยังไงว่าผู้หญิงที่แต่งงานด้วยจะสามารถตั้งครรภ์ได้” คุณเจษฎายกตัวอย่าง

ด้านคุณซารีน่าก็มองว่าการเปลี่ยนแปลงคำนำหน้านามเป็นเรื่องยาก เพราะสังคมไทยในตอนนี้ยังไม่ได้ยอมรับกลุ่มคนข้ามเพศอย่างแท้จริง

“ฉันยอมรับเธอ แต่ก็อยู่แค่ตรงนี้แหละ อย่ามาเรียกร้อง ซึ่งซารีน่าไม่ได้คิดว่าเรามาเรียกร้อง แต่เราต้องเติมเต็มสิทธิ์ที่เราถูกลิดรอนไป คือสภาพสังคมจะมองว่าก็โอเคนะ เปิดกว้าง แต่พอมาถึงเรื่องที่จะให้สนับสนุนในภาคที่เป็นด้านกฎหมายหรือสิทธิหน้าที่โดยตรง ก็จะเซย์โน” คุณซารีน่ากล่าว

หลายร่าง ปลายทางเดียวกัน

การต่อสู้ขับเคลื่อนเพื่อสร้างความเท่าเทียมให้กับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย ไม่ได้พยายามยกร่างกฎหมายเปลี่ยนแปลงคำนำหน้านามเพียงร่างเดียวเท่านั้น ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่าขณะนี้ยังมีความพยายามในการยกร่าง พ.ร.บ. รับรองเพศ ซึ่งแม้ว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้จะถูกระงับการพิจารณา แต่ก็มีความพยายามที่จะช่วยให้กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศมีสิทธิและหน้าที่เทียบเท่ากับคนอื่น โดยตัวร่างจะระบุว่า บุคคลที่ประสงค์จะเปลี่ยนแปลงเพศในทางกฎหมาย เมื่อได้รับสิทธิตามเพศแล้ว ก็ต้องยอมรับหน้าที่ของเพศนั้น ๆ ด้วย เช่น หากชายข้ามเพศ ประสงค์จะเปลี่ยนแปลงเพศจากหญิงเป็นชาย ก็จำเป็นต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารเช่นเดียวกับผู้ชาย

การได้มาซึ่งสิทธิอันชอบธรรม ต้องไม่เป็นการละเมิดสิทธิของคนกลุ่มอื่นเช่นกัน” ดร.มาตาลักษณ์กล่าว

หากคำนำหน้านามเปรียบเสมือนโชคชะตาที่ลิขิตให้คนข้ามเพศต้องพบเจอกับความยากลำบากในการใช้ชีวิต การต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้คนข้ามเพศมีสิทธิ์เข้าถึงสิทธิและสวัสดิการที่พวกเขาควรได้ ก็อาจเป็นวิธีที่ดีสุดที่คนข้ามเพศจะได้เลือกใช้ชีวิตในแบบที่พวกเขาต้องการ นี่อาจเป็นโชคชะตาที่เปลี่ยนแปลงได้เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีกว่าของคนข้ามเพศในสังคมไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook