คนกรุงเฮ! คมนาคมดัน “แกร็บ” ถูกกฎหมาย คาดเริ่มได้ในปี 63

คนกรุงเฮ! คมนาคมดัน “แกร็บ” ถูกกฎหมาย คาดเริ่มได้ในปี 63

คนกรุงเฮ! คมนาคมดัน “แกร็บ” ถูกกฎหมาย คาดเริ่มได้ในปี 63
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กระทรวงคมนาคมผลักดันเปิดเสรี Grab Taxi คาดเริ่มบริการ มี.ค. 63 จากนั้นจะหาแนวทางแก้กฎหมาย เพื่อเปิดทางให้รถจักรยานยนต์ หรือ Grab Bike สามารถใช้บริการได้จริง แบบไม่ส่งผลกระทบกับวินมอเตอร์ไซด์ที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะทำงานพิจารณาแนวทางการกำหนดรถส่วนบุคคลที่ให้บริการผ่านแอพพลิเคชั่นให้เป็นรถสาธารณะที่ถูกต้องตามกฎหมาย เปิดเผยถึงความคืบหน้านโยบายเปิดเสรีบริการรถส่วนบุคคลร่วมเดินทาง (Ride Hailing Service) ตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมว่า กระทรวงคมนาคมได้ประชุมหารือกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว ได้ข้อสรุปว่าสามารถทำได้จริง โดยจะเริ่มจากบริการแท็กซี่ก่อน (Grab Taxi) จากนั้นจะหาแนวทางแก้กฎหมายพระราชบัญญัติขนส่ง เพื่อเปิดทางให้รถจักรยายยนต์ร่วมเดินทาง หรือ Grab Bike สามารถใช้บริการได้จริง แบบไม่ส่งผลกระทบกับวินมอเตอร์ไซด์ที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามกระทรวงคมนาคมจะเร่งสรุปข้อมูลรายละเอียดทั้งหมดภายในเดือน ก.ย.นี้

สำหรับแนวทางการผลักดัน Grab Taxi นั้น จะผ่านการแก้กฎกระทรวงคมนาคม เพื่อให้รถส่วนบุคคลสามารถวิ่งรับส่งผู้โดยสารได้ โดยมีการกำหนดเงื่อนไขว่า ต้องเป็นการเรียกบริการผ่านแอพพลิเคชั่นเท่านั้น ห้ามวิ่งรับผู้โดยสารตามท้องถนน หรือห้ามจอดรอรับผู้โดยสารตามจุดจอดของรถแท็กซี่ เพื่อป้องกันปัญหาการทะเลาะวิวาท และจะมีการติดป้ายสัญลักษณ์บนรถยนต์ส่วนบุคคล เพื่อแสดงว่ารถคันนี้เป็นผู้ให้บริการ Ride Hailing Service โดยจะมีการใช้เงื่อนไขดังกล่าวในต่างจังหวัดด้วย

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเรื่องการชำระเงินนั้น จะต้องชำระผ่านแอพพลิเคชั่นในมือถือ หรือระบบสแกน QR Code เท่านั้น ควบคู่กับการชำระแบบการโอนผ่านบัญชีหรือการตัดบัตรเครดิต เพื่อการันตีว่าเงินทั้งหมดจะเข้าสู่ระบบและมีการเสียภาษีอย่างถูกต้องในประเทศไทย จึงได้มอบหมายให้เอกชนไปพัฒนาระบบชำระเงินดังกล่าวมาด้วย อย่างไรก็ตามหลังจากนี้จะรวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือน พ.ย. นี้ หากได้รับความเห็นชอบจะส่งต่อให้กฤษฎีกาทบทวนร่างกฎกระทรวงคมนาคมดังกล่าว ดังนั้น จึงคาดว่าน่าจะเริ่มบังคับใช้ได้ในเดือน มี.ค. 2563

ทั้งนี้ ผู้ให้บริการจะต้องมีการลงทะเบียนอย่างถูกต้องกับบริษัทเจ้าของแอพพลิเคชั่น มีการยืนยันอัตลักษณ์บุคคล มีการตรวจสภาพรถตามระเบียบกรมการขนส่งทางบก สอบใบขับขี่สาธารณะ ตลอดจนมีประกันภัยครอบคลุมดูแลค่าเสียหายให้ผู้โดยสาร ทั้งในกรณีบาดเจ็บและเสียชีวิต ขณะที่ผู้ให้บริการแท็กซี่ปกตินั้นสามารถเข้าร่วมกับแอพพลิเคชั่นได้และยังมีสิทธิ์ตามปกติ คือสามารถรับผู้โดยสารตามท้องถนนก็ได้

“การพัฒนาบริการเรียกรถผ่านแอพพลิเคชั่นครั้งนี้ เป็นการส่งเสริมบริการขนส่งสาธารณะให้ตอบโจทย์ผู้ใช้มากขึ้น ประชาชนมีสิทธิ์เลือกรูปแบบบริการที่ต้องการว่า จะโบกเรียกแท็กซี่หรือเรียกรถผ่านแอพพลิเคชั่น โดยการเปิดเสรีครั้งนี้ จะเป็นช่วงทดลองระยะ 6 เดือน- 1 ปี เพื่อดูความเหมาะสมและเสียงตอบรับ หากระยะเวลาในช่วงดังกล่าวเอกชนไม่มีการพัฒนาให้ดีขึ้นหรือมีเหตุอาชญากรรมรุนแรงหรือสิ่งใดที่กระทบต่อคุณภาพบริการสาธารณะ กระทรวงคมนาคมมีสิทธิ์ยกเลิกเรื่องนี้ได้ทันที” นายจิรุตม์กล่าว

นายจิรุตม์ กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนด้านบริการเรียกรถจักรยานยนต์เพื่อรับส่งบุคคล หรือ Grab Bike นั้น เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลามากกว่ารถยนต์เนื่องจากมีข้อผูกพันเรื่องกฎหมายกับหลายหน่วยงาน จึงต้องหาแนวทางที่เหมาะสมที่สุด เพื่อนำไปสู่การแก้กฎหมายปลดล็อคกติกาที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันหลายเรื่อง เบื้องต้นมีแนวทางการยกเลิกเงื่อนไขการห้ามวิ่งรับผู้โดยสารข้ามเขตของวินมอเตอร์ไซด์ ยกเลิกการกำหนดว่าวินจุดนี้ ห้ามไปรับผู้โดยสารจุดอื่น โดยจะมีการจัดพื้นที่ของผู้ให้บริการ (Zoning)

“ผู้ขับขี่ทั้งในปัจจุบันและผู้ขับขี่ที่ลงทะเบียนกับแอพพลิเคชั่น จะถูกจัดโซนนิ่งให้บริการ เช่น ผู้โดยสารเรียกบริการจักรยานยนต์ผ่านแอพพลิเคชั่น ระบบจะจัดผู้ขับขี่ที่ใกล้โซนที่ผู้โดยสารอยู่มากที่สุดให้ แต่ถ้าไม่มีก็จะจัดผู้ขับขี่ที่อยู่โซนใกล้เคียงกันให้มารับได้ โดยมีเงื่อนไขเหมือนรถยนต์ คือ Grab Bike ห้ามโบกเรียกตามท้องถนน ต้องเรียกผ่านแอพพลิเคชั่นเท่านั้น ทั้งนี้จะเริ่มใช้ได้เมื่อไหร่นั้นยังไม่สามารถบอกได้ตอนนี้” นายจิรุตม์ กล่าว

นอกจากนี้ จะต้องมีการกำหนดมาตรฐานของรถที่จะมาให้บริการทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล และ รถมอเตอร์รับจ้าง รวมถึงกำหนดลักษณะ สัญลักษณ์ ที่จะทำให้ผู้ใช้บริการรับทราบว่า รถดังกล่าวเป็นรถที่ให้บริการผ่านแอพพลิเคชั่น และรถดังกล่าวจะต้องไม่วิ่งรอ-รับ ผู้โดยสารตามท้องถนน จะต้องรอเรียกผู้โดยสารผ่านแอพพลิเคชั่นเท่านั้น

“จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายรถยนต์ส่วนบุคคล ส่วนรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ต้องไปแก้ไข พ.ร.บ.ก่อน อาจจะมีทั้งการแก้ไข หรือ ออกเป็นกฎหมายลูกร เพื่อให้เกิดการควบคุมมาตรฐานคนขับ และ รถ โดยตรงเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้บริการ”นายจิรุตม์ กล่าวในท้ายสุด

อัลบั้มภาพ 1 ภาพ

อัลบั้มภาพ 1 ภาพ ของ คนกรุงเฮ! คมนาคมดัน “แกร็บ” ถูกกฎหมาย คาดเริ่มได้ในปี 63

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook