"ความเป็นชาย" ที่ผู้ชายแบกรับและกดทับทุกคน
Highlight
- คำว่า “ผู้ชาย” และ “ความเป็นชาย” นั้นแตกต่างกัน “ผู้ชาย” คือลักษณะทางกายภาพ ตัดสินจากอวัยวะเพศชาย ในขณะที่ “ความเป็นชาย” คือการแสดงออก ซึ่งเป็นการปลูกฝังบ่มเพาะลักษณะความเป็นชายในสังคม เช่น ผู้ชายต้องเข้มแข็ง เป็นผู้นำ ห้ามร้องไห้ เป็นต้น
- สื่อมวลชนก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ผลิตซ้ำและสร้างภาพจำของความเป็นเพศ ซึ่งการสร้างความเข้าใจผิดที่รุนแรงในสื่อ เช่นเดียวกับระบบการเมือง กฎหมาย ประเพณีและวัฒนธรรมก็เป็นปัจจัยที่สร้างมายาคติความเป็นเพศ ปลูกฝังความเชื่อเรื่องเพศและบทบาทหน้าที่ของผู้หญิงและผู้ชาย
- เมื่อความเป็นชายในสังคมไทยเชื่อมโยงอยู่กับคำว่า “ศักดิ์ศรีลูกผู้ชาย” ตั้งแต่เด็กจนโต ผู้ชายต้องพิสูจน์ความ “แมน” ของตัวเองโดยการแสดงท่าทีที่แข็งกร้าวและเข้มแข็งอยู่เสมอ จึงนำไปสู่ภาวะความเป็นชายเป็นพิษ (Toxic masculinity) ที่ได้ผลิตผู้ชายที่ก้าวร้าว กดทับผู้ชายที่ไม่แสดงออกเหมือนกับตัวเอง และส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างและสังคมในที่สุด
-
การถอนพิษความเป็นชายยังต้องพึ่งพากระบวนการทางสังคมที่จะให้ความช่วยเหลือ ให้โอกาสและการสนับสนุนผู้ชายที่เคยผ่านการกระทำความรุนแรงมาก่อน ผู้ชายกลุ่มนี้ไม่ควรถูกทอดทิ้ง เพราะพวกเขาก็เป็นเหยื่อของระบบโครงสร้างเช่นกัน ดังนั้นเมื่อผู้ชายทำผิด กระบวนการทางกฎหมายจะเข้ามาจัดการและลงโทษ แต่ทั้งนี้กระบวนการทางสังคมก็ต้องเข้ามามีบทบาทด้วย
(บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566)
ข่าวสามีทำร้ายร่างกายหรือฆ่าภรรยาวนเวียนให้เราเห็นในข่าวอยู่ทุกวี่ทุกวันไม่ว่าจะผ่านไปแล้วกี่ปี แม้จะมีการรณรงค์และออกกฎหมายเพื่อยุติความรุนแรงในครอบครัว แต่ข่าวลักษณะนี้ก็ยังมีให้เห็นเหมือนเดิม และมีแนวโน้มจะมากกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม ปัญหาไม่ใช่แค่เรื่องของการกระทำความรุนแรงเท่านั้น แต่คำพูดที่หลายคนคุ้นเคยอย่าง “ลูกผู้ชายต้องไม่รู้จักคำว่าแพ้” หรือ “ลูกผู้ชายห้ามร้องไห้” ก็ดูเหมือนจะมีบางอย่างแฝงอยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้ชายเช่นกัน
- วิวาห์เลือด 5 ศพ เจ้าบ่าวกราดยิงเจ้าสาวในวันแต่งงาน แม่เมีย น้องเมีย คนงานโดนด้วย
- สุดอำมหิต! พบแล้ว สาว อบต. หายตัว ที่แท้ถูกสามีอุ้มฆ่าโบกปูน ชาวเน็ตย้อนดูคำสัมภาษณ์ พบพิรุธหลายจุด
- เปิดปมวิวาห์เลือด ดับ 5 ชีวิต จากงานแต่งเป็นงานศพ ญาติรับร่างแยกทำพิธี 3 วัด
ในขณะที่ความรุนแรงที่กระทำโดยเพศชายเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง แต่กลับไม่มีใครตั้งคำถามถึงสาเหตุที่แท้จริงของความรุนแรง และบรรทัดฐานของสังคมที่ผู้ชายต้องแบกรับไว้ ดังนั้น Sanook จึงอยากสำรวจโลกของผู้ชาย ที่แท้จริงแล้วก็ไม่ง่ายอย่างที่คิดเลย
ผู้ชาย VS ความเป็นชาย
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า “ผู้ชาย” และ “ความเป็นชาย” นั้นแตกต่างกัน “ผู้ชาย” คือลักษณะทางกายภาพ ตัดสินจากอวัยวะเพศชาย ในขณะที่ “ความเป็นชาย” คือการแสดงออก ซึ่งเป็นการปลูกฝังบ่มเพาะลักษณะความเป็นชายในสังคม เช่น ผู้ชายต้องเข้มแข็ง เป็นผู้นำ ห้ามร้องไห้ เป็นต้น ในสังคมแบบชายเป็นใหญ่ อย่างในสังคมไทย มีกระบวนการบ่มเพาะและขัดเกลา “ความเป็นชาย” ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ครอบครัว ซึ่งคุณจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล อธิบายว่า ครอบครัวปลูกฝังและคาดหวังให้เด็กแสดงออกตามเพศกำเนิดของตัวเอง และหากมีพฤติกรรมที่ตรงข้ามกับเพศกำเนิดของตัวเอง ก็อาจจะถูกลงโทษ
“ถ้าลูกผู้ชายไปเล่นตุ๊กตา จะมีปัญหาทันที พ่อแม่จะกลัวว่าคุณจะกลายไปเป็นอีกเพศหนึ่ง หรือถ้าลูกผู้หญิงมาเล่นอะไรก้าวร้าวรุนแรง ก็จะถูกมองว่าเป็นผู้หญิงที่มีปัญหา จากการสอนแบบนี้ ผู้ชายเลยต้องมีความรู้สึกเรื่องเพศและรู้สึกมากกว่าผู้หญิง เพราะคุณถูกฝึกว่าคุณต้องมีความเชี่ยวชาญเรื่องนี้ ส่วนผู้หญิงเป็นแบบนี้ไม่ได้อยู่แล้ว เพราะต้องควบคุมอารมณ์ความรู้สึก” คุณจะเด็จอธิบาย
ไม่เพียงแค่สถาบันครอบครัวเท่านั้นที่ปลูกฝังเรื่องความเป็นเพศ เมื่อเข้าสู่ระบบสถาบันการศึกษา เราพบว่าการสอนในห้องเรียนก็ผลิตซ้ำความเป็นเพศแบบเดิม หนังสือที่ใช้เรียนยังพูดถึงเรื่องการแบ่งเพศและหน้าที่ของเพศอย่างชัดเจน เช่น ในหนังสือเรียนบางเล่ม แยกหน้าที่ของพ่อว่าเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว เป็นผู้นำครอบครัว ขณะที่แม่เป็นคนทำความสะอาดบ้านและทำกับข้าว เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าความเท่าเทียมของหญิงชายในระบบการศึกษายังไม่เกิดขึ้น และก่อให้เกิดการผลิตซ้ำความเชื่อเดิม ๆ และไม่ตั้งคำถามกับสถานะทางเพศของตัวเองอีกต่อไป
“ในแง่ของสรีระ มนุษย์ผู้หญิงกับผู้ชายต่างกันแน่นอน แต่ในเรื่องบทบาทมันไม่ได้ต่างกัน แต่หนังสือยังพูดถึงเรื่องแบบนั้น เราจึงไม่เห็นอะไรที่บอกว่าผู้หญิงผู้ชายเท่าเทียมกันในระบบการศึกษา ตั้งแต่เรียนอนุบาล ประถม มัธยม คุณก็มีหลักสูตรแบบนี้ คุณมีความเชื่อว่าพ่อแม่สอนมาแบบนี้ พอเข้าโรงเรียนครูก็สอนแบบนี้ งั้นแน่นอนว่ามันทำให้ทุกคนเคยชินและคิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา” คุณจะเด็จชี้
สื่อมวลชนก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ผลิตซ้ำและสร้างภาพจำของความเป็นเพศ ซึ่งการสร้างความเข้าใจผิดที่รุนแรงในสื่อ โดยเฉพาะภาพการข่มขืนที่ปรากฏในละครซึ่งผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง ละครสร้างภาพพระเอกข่มขืนนางเอก แม้นางเอกจะขัดขืนแต่สุดท้ายก็ได้รักกัน ซึ่งเป็นภาพมายาคติที่สนับสนุนให้คนทำผิดกฎหมาย รวมทั้งทำให้ผู้ชายเข้าใจว่าหากผู้หญิงไม่ยอมหรือไม่มีใจ เขาสามารถข่มขืนเธอได้และผู้หญิงก็จะรักเขาในที่สุด แต่ในความเป็นจริง ไม่มีผู้หญิงคนไหนจะรักผู้ชายที่กระทำความรุนแรงกับตัวเอง แม้จะมีการรณรงค์ให้เลิกสร้างละครลักษณะนี้หรือตัดฉากข่มขืนออกไป แต่ก็ยังไม่มีการแก้ไขและผลิตซ้ำภาพจำของการข่มขืนอยู่
ระบบการเมือง กฎหมาย ประเพณีและวัฒนธรรมก็เป็นปัจจัยที่สร้างมายาคติความเป็นเพศ ปลูกฝังความเชื่อเรื่องเพศและบทบาทหน้าที่ของผู้หญิงและผู้ชาย อาจารย์ ดร.โกสุม โอมพรนุวัฒน์ ผู้อำนวยการหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาสตรี เพศสถานะและเพศวิถีศึกษา วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่า ถึงแม้ความเป็นชายจะมีหลากหลายรูปแบบ แต่ความเป็นชายที่สังคมให้การยอมรับและยกย่องกลับมีเพียงรูปแบบเดียว นั่นคือ ผู้ชายที่แข็งแกร่ง เป็นผู้นำ และประสบความสำเร็จ จึงมีการปลูกฝังและส่งต่อความเป็นชายดังกล่าวจากรุ่นสู่รุ่น จนเกิดเป็นปัญหาเพราะคนทั่วไปไม่คิดว่าความเป็นเพศที่เป็นอยู่นั้นคือปัญหา
ภาวะความเป็นชายเป็นพิษ (Toxic Masculinity)
เมื่อความเป็นชายในสังคมไทยเชื่อมโยงอยู่กับคำว่า “ศักดิ์ศรีลูกผู้ชาย” ตั้งแต่เด็กจนโต ผู้ชายต้องพิสูจน์ความ “แมน” ของตัวเองโดยการแสดงท่าทีที่แข็งกร้าวและเข้มแข็งอยู่เสมอ เช่น ชกต่อยกับคนอื่น อำนาจและความแข็งแกร่งของผู้ชายถูกตัดสินผ่านการใช้กำลัง หรือแม้กระทั่งการดื่มเหล้าเพื่อพิสูจน์ความแมนของตัวเอง ซึ่งนำไปสู่ภาวะความเป็นชายเป็นพิษ (Toxic masculinity) ที่ได้ผลิตผู้ชายที่ก้าวร้าว กดทับผู้ชายที่ไม่แสดงออกเหมือนกับตัวเอง และส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างและสังคมในที่สุด
“สิ่งที่เป็นปัญหาก็คือเขาจะมีความเสี่ยงในการทะเลาะวิวาท ถ้าไม่แสดงออกถึงความเป็นชาย คุณก็จะถูกมองว่าเป็นพวกขี้แย คุณต้องดื่มเหล้า ถ้าไม่ดื่มเหล้าก็ถูกมองว่าไม่ดี แล้วลามไปถึงสูบบุหรี่ บางคนถึงขั้นยาเสพติด และติดการพนันด้วยเพราะการพนันก็คือความเป็นชายอย่างหนึ่ง”
ความคาดหวังจากสังคมที่ผู้ชายต้องแบกรับจึงเปรียบเสมือนโซ่ตรวนที่มัดตรึงผู้ชายเอาไว้ ดังที่คุณทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนา ได้อธิบายว่า
“ผู้ชายถูกคาดหวังว่าเขาร้องไห้ไม่ได้ แพ้ไม่เป็น เขาก็จะแบกความคาดหวังนี้ไว้มากเกินไป ซึ่งมันฝืนความเป็นมนุษย์มาก อาจต้องใช้ความโหดเหี้ยม ความรุนแรง เพื่อคว้าชัย ดังนั้นต้องสร้างเกราะ สร้างกำแพง เพื่อไปเอาสิ่งนั้นมาตามที่สังคมคาดหวังกับเพศของเขา อีกด้านหนึ่งก็คือไปคว้าก็ไม่ไหว ก็ถอยอย่างผู้แพ้ดีกว่า แต่การถอยอย่างผู้แพ้ก็รู้สึกอัปยศอดสูเข้าไปอีก เพราะฉากแพ้มันไม่มี มันไม่เคยถูกบอกว่าให้มี”
นอกจากนี้ ระบบความคิดชายเป็นใหญ่ยังบ่มเพาะเรื่องอำนาจ ดังนั้นการแสดงออกของผู้ชายก็เพื่อคงเอาไว้ซึ่งความเป็นผู้นำหรือผู้มีอำนาจ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ การกุมอำนาจในความสัมพันธ์ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นในสถานะความสัมพันธ์แบบไหน ผู้ชายมีแนวโน้มที่จะวางตัวเองให้อยู่เหนือกว่าผู้หญิง และการมีสถานะที่เหนือกว่าก็นำไปสู่ปัญหาความสัมพันธ์ ซึ่งคุณจะเด็จและอาจารย์ ดร.โกสุม เห็นตรงกันว่าการที่ผู้ชายถูกปลูกฝังว่าเขาต้องเป็นเจ้าของผู้หญิงสามารถนำไปสู่ความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิง เช่น การบังคับขืนใจคู่รักหรือภรรยาของตัวเอง ต่อเนื่องไปถึงความรุนแรงในครอบครัวที่กระทำต่อทั้งร่างกายและจิตใจของผู้หญิง อันเกิดจากความขัดแย้งและลงเอยด้วยการลงไม้ลงมือ
“การใช้อำนาจมันสูงมากในครอบครัวไทย มันมาจากความคิดแบบชายเป็นใหญ่แน่นอน และปัจจัยจากเรื่องความเป็นชาย การดื่มเหล้าก็มีผล มันทำให้ลุกลามมากขึ้น เรื่องการข่มขืนก็มาจากความเป็นชายที่ไม่ถูกปลูกฝังว่าคุณจะต้องยับยั้งชั่งใจ” คุณจะเด็จกล่าว
ทั้งนี้ปัญหาเรื่องอำนาจยังลามไปสู่ประเด็นเรื่องความหึงหวงที่ส่งผลให้เกิดความรุนแรงกับตัวผู้หญิง ถึงแม้ในบางกรณี สิทธิความชอบธรรมทางกฎหมายได้หมดไปแล้ว แต่ในแง่วัฒนธรรมและอำนาจ ผู้ชายยังรู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของผู้หญิงคนนั้นอยู่ ดังนั้น เราจึงเห็นข่าวการทำร้ายและฆาตกรรมผู้หญิงเพราะเกิดจากความหึงหวงอยู่บ่อยครั้ง
ถอนพิษความเป็นชาย
อาจารย์ ดร. โกสุม ชี้ให้เห็นว่า ในขณะที่สังคมมองว่าปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีสาเหตุจากผู้ชาย แต่ถ้าหากเรามองปัญหาให้รอบด้าน เราจะพบว่าไม่ใช่แค่ผู้หญิงเท่านั้นที่ตกเป็นเหยื่อ แต่ผู้ชายเองก็เป็นเหยื่อเช่นกัน เนื่องจากถูกครอบครัว ระบบการศึกษา สื่อมวลชน ค่านิยม ศาสนาและปัจจัยอื่นอีกมากมายปลูกฝังให้แสดงออกถึงความก้าวร้าวรุนแรง ดังนั้นจึงต้องมองไปที่ประเด็นการปลูกฝังเรื่องเพศของสังคม ที่แบ่งแยกเพศและคาดหวังให้ทุกคนต้องทำตาม การให้คุณค่ากับความเป็นชายเพียงรูปแบบเดียวอาจจะเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขมากที่สุด และอาจกล่าวได้ว่าระบบโครงสร้างทางสังคมสามารถนำไปสู่ภาวะความเป็นพิษต่อทุกคนในสังคม ไม่ว่าเพศชาย เพศหญิง หรือกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศก็ตาม
เมื่อระบบโครงสร้างทางสังคมเป็นตัวปัญหา ดังนั้นก็ต้องแก้ไขที่ตัวระบบ คุณจะเด็จ อธิบายว่า ต้องเริ่มบ่มเพาะจากสถาบันครอบครัวซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดในสังคม ควบคู่กับการปรับบทบาทของผู้ชายในเรื่องการทำงานบ้าน การดูแลครอบครัว ซึ่งในส่วนนี้ภาครัฐสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการออกกฎหมายที่เอื้อให้ผู้ชายสามารถอยู่บ้านดูแลลูกได้
“ในเมื่อมันมาจากระบบโครงสร้างแบบนี้ เราจะเปลี่ยนได้ไหม เราเชื่อว่าเปลี่ยนได้ ผมเชื่อว่าการบ่มเพาะในครอบครัวเป็นต้นแบบให้เราได้ สิ่งที่สังคมควรต้องตระหนัก คือเราต้องสอนให้เกิดการบาลานซ์ระหว่างสองเพศในครอบครัวให้ได้ ต้องอย่าลืมว่าสอนแบบเดิม คุณก็จะผลิตลูกชายไปทำร้ายคนอื่น และยังต้องมีการปรับบทบาทผู้ชาย นั่นคือให้ผู้ชายมีกฎหมายในการสนับสนุนดูแลลูก การเลี้ยงลูกเป็นเรื่องสำคัญ สังคมเรียกร้องให้ผู้หญิงดูแลลูก ในแง่สรีระก็คือต้องให้นม แต่สังคมไม่เรียกร้องให้ผู้ชายใกล้ชิดลูก” คุณจะเด็จแนะ
อย่างไรก็ตามการถอนพิษความเป็นชายยังต้องพึ่งพากระบวนการทางสังคมที่จะให้ความช่วยเหลือ ให้โอกาสและการสนับสนุนผู้ชายที่เคยผ่านการกระทำความรุนแรงมาก่อน ผู้ชายกลุ่มนี้ไม่ควรถูกทอดทิ้ง เพราะพวกเขาก็เป็นเหยื่อของระบบโครงสร้างเช่นกัน ดังนั้นเมื่อผู้ชายทำผิด กระบวนการทางกฎหมายจะเข้ามาจัดการและลงโทษ แต่ทั้งนี้กระบวนการทางสังคมก็ต้องเข้ามามีบทบาทด้วย
นอกจากนี้ ผู้ชายอีกกลุ่มที่สังคมไม่ควรทอดทิ้ง คือกลุ่มที่มีความทุกข์แต่ไม่กล้าเล่าให้ผู้อื่นฟัง หรือไม่รู้จะปรึกษาใคร ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มจะพึ่งพาเหล้า และกลายเป็นปัญหาที่เป็นวัฏจักรไม่รู้จบ การทำความเข้าใจ ร่วมมือกันเป็นเครือข่าย และเข้าไปช่วยเหลือผู้ชายกลุ่มนี้ก็เป็นอีกวิธีที่จะช่วยถอนพิษความเป็นชายได้
“ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้ถ้าเราสร้างเงื่อนไข เขายังเป็นมนุษย์เหมือนกับเรา แต่ถูกโครงสร้างทำร้าย ดังนั้นจะบอกว่าผู้ชายเป็นคนเลวก็คงไม่ใช่ มันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทำให้ผู้หญิงและผู้ชายเป็นแบบนี้” คุณจะเด็จกล่าว
หญิงชายก้าวไปพร้อมกัน
คุณทิชาชี้ว่า กระบวนการที่ทำให้ผู้ชายก้าวข้ามภาพลักษณ์ที่สังคมเคยวาดให้กับพวกเขาคือการใช้ความเข้าใจ โดยยึดหลักความเป็นมนุษย์ และความเป็นเพศเอาไว้เป็นเรื่องรอง ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง ทุกคนคือมนุษย์และมีความรู้สึก
“เราจะไม่หัวเราะกับเสียงร้องไห้ของใคร ถึงแม้จะเป็นผู้ชาย แต่ในความเป็นผู้ชาย ก็มีความเป็นมนุษย์อยู่ด้วย” คุณทิชากล่าว
ทางด้านคุณจะเด็จก็เชื่อว่าในการทำงานแก้ไขปัญหานั้น ผู้ชายและผู้หญิงต้องเข้ามาร่วมขับเคลื่อนและทำงาน เราสามารถสอนให้ผู้หญิงรู้จักป้องกันและเยียวยาตัวเองได้ แต่ปัญหาความรุนแรงจะไม่หมดไปถ้าผู้ชายไม่เข้าใจและเข้ามามีส่วนร่วม เราต้องไม่ลืมว่าในระบบชายเป็นใหญ่ ไม่เพียงแต่ผู้หญิงและกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้นที่โดนระบบทำร้าย ผู้ชายก็โดนทำร้ายไม่ต่างกัน ดังนั้นการต่อสู้เพื่อหยุดยั้งการผลิตซ้ำความเชื่อแบบเดิมจึงเป็นของทุกคน เพื่อให้สังคมไทยก้าวไปสู่ความเท่าเทียมทางเพศอย่างแท้จริง