พ่อจอห์น วิญญู เผย "เทคนิคกฎหมาย หรือ Technicality" คือข้อห่วงใยที่มีต่อศาลรัฐธรรมนูญ
วันนี้ (13 ก.ย.) รศ.ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ชื่อดัง ทวีตข้อความผ่านบัญชีทวิตเตอร์ของตนเอง @kovitw1 ชี้แจงข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่ได้รับการเชิญจากสำนักงานเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญให้เข้าพบเมื่อวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยมีรายละเอียดดังนี้
"มีหลายท่านแสดงความห่วงใยถามมาถึงเรื่องที่สำนักเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญได้เชิญผมไปเข้าพบเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา ก่อนอื่นผมต้องกราบขอบพระคุณทุกท่านที่แสดงน้ำใจอย่างมากมายต่อผมและครอบครัว และต้องขอขอบพระคุณมิตรสหายที่เดินทางไปให้กำลังใจที่ สนง.ศาล
ผมต้องขออภัยเป็นอย่างยิ่งที่ไม่สามารถออกไปพบกับท่านได้ด้วยตนเอง แต่น้ำใจของท่านในวันนั้นจะตราตรึงในหัวใจของผมและครอบครัวตลอดไปครับ
ในส่วนของเนื้อหาการพูดคุยกับเลขาธิการศาลในวันดังกล่าวโดยสรุปก็คือ ทางศาลต้องการชี้แจงให้ผมเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างสิ่งที่เกิดขึ้นกับหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่และ 32 ส.ส. ซึ่งฝ่ายหนึ่งศาลมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ศาลเห็นว่าไม่เหมาะสมดังกล่าว
แต่ฝ่าย 32 ส.ส. ยังให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ซึ่งเป็นเหตุให้ผมทวีตข้อความที่ศาลเห็นว่าไม่เหมาะสมดังกล่าว
ท่านเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญได้นำเอกสารที่เกี่ยวข้องมาแสดงให้เห็นว่า การที่ศาลได้วินิจฉัยและมีคำสั่งดังกล่าวกับ หน.พรรคอนาคตใหม่นั้น เนื่องจากในกรณีนี้ทาง กกต.ได้ทำการสืบสวนมาพอสมควรแล้ว มีเอกสารจากกระทรวงพาณิชย์เกี่ยวกับบริษัทดังกล่าว ต่างจากกรณี 32 ส.ส.
ซึ่งพรรคอนาคตใหม่ผู้ร้องมีเพียงหนังสือบริคณธ์สนธิระบุจุดประสงค์ของบริษัทเหล่านั้น แต่เอกสารที่ว่ายังไม่เพียงพอที่ศาลจะสั่งให้ ส.ส.หยุดปฏิบัติหน้าที่ได้
อย่างไรก็ตาม ท่านเลขาธิการฯ ก็ได้เปิดโอกาสให้ผมได้ชี้แจงเช่นกัน ผมจึงอธิบายไปว่า ในกรณีนี้ และอีกหลายๆ กรณี การพิพากษาแพ้ชนะของศาลเป็นไปตามบางสิ่งบางอย่างที่เรียกว่า เทคนิแคลิตี้ (Technicality) ซึ่งก็คือเทคนิคทางกฎหมาย เช่น คดีหมดอายุความ ฟ้องผิดศาล ฟ้องผิดมาตรา หรือ เทคนิแคลิตี้ ที่โด่งดังที่สุดในทางประวัติศาสตร์กฎหมายก็คือ คดี มิแรนด้า v อริโซน่า ซึ่งศาลฎีกาสูงสุดของสหรัฐอเมริกาตัดสินยกฟ้องผู้ต้องหาคดีลักพาตัวและข่มขืน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าจับกุมไม่ได้แจ้งสิทธิผู้ต้องหาให้ผู้ต้องหาได้ทราบ
เรียกว่าไม่ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงของคดีเลยด้วยซ้ำ เพราะขั้นตอนการจับกุมไม่ถูกต้อง นี่คือตัวอย่างของเทคนิแคลิตี้ เราคงต้องยอมรับกันว่า เทคนิแคลิตี้ เป็นคนละอย่างกับการอำนวยความยุติธรรม
ถ้าคุณเป็นพ่อแม่ของหญิงสาวที่ถูกลักพาตัวไปข่มขืน การอธิบายผลการตัดสินว่าเป็นเทคนิแคลิตี้ จะทำให้พวกเขารู้สึกว่าความเป็นธรรมได้เกิดขึ้นหรือไม่? ในกรณีหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กับ 32 ส.ส. ก็เช่นเดียวกัน การใช้กฎหมายเป็นเรื่องของเทคนิแคลิตี้ล้วนๆ
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวันที่ เรื่องของการจดทะเบียน เรื่องของลำดับการแจ้งหรือส่งเอกสาร ไม่ใช่เรื่องของเจตนาที่จะทำผิดหรือถูกกฎหมายหรือไม่แต่อย่างไร?
เมื่อประชาชนรู้สึกว่าความยุติธรรมไม่เกิด ประชาชนอย่างตัวผมก็เกิดความคับข้องใจอย่างใหญ่หลวง และความคับข้องใจนี้คือสาเหตุแห่งการแสดงความคิดเห็นดังกล่าว ทั้งนี้ สิ่งที่ผมพูดไปมิได้มีเจตนาดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อศาลแต่อย่างใด และขออภัยต่อศาลมา ณ ที่นี้ด้วย
สุดท้าย ท่านเลขาธิการฯ จึงได้ขอความร่วมมือให้ผมชี้แจงกับประชาชนหรือ follower ของผมถึงเหตุผลในการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญตามที่ได้กล่าวมานี้ จึงเรียนมาเพื่อทราบด้วยความเคารพ"