"หมอล็อต" ตอบข้อสงสัย เสือวัดหลวงตาบัวตาย 86 ตัว ป่วยเพราะผสมพันธุ์เลือดชิด

"หมอล็อต" ตอบข้อสงสัย เสือวัดหลวงตาบัวตาย 86 ตัว ป่วยเพราะผสมพันธุ์เลือดชิด

"หมอล็อต" ตอบข้อสงสัย เสือวัดหลวงตาบัวตาย 86 ตัว ป่วยเพราะผสมพันธุ์เลือดชิด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายประกิต วงศ์ศรีวัฒนกุล รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวชี้แจงกรณีที่มีข่าวว่าเสือโคร่งของกลางที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชได้ตรวจยึดจากวัดป่าหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน จ.กาญจนบุรี จำนวน 147 ตัว ได้ป่วยตาย ว่า กรณีดังกล่าวมีความเป็นมาจากการที่เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจยึดเสือโคร่งภายในสำนักสงฆ์ (หลวงตาบัว) จำนวน 7 ตัว เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 44 (คงเหลือ 6 ตัวเนื่องจากตายระหว่างการขนย้าย) ในบริเวณสำนักสงฆ์หลวงตาบัวทั้งหมด เพราะไม่มีบุคคลใดมาแสดงตนเป็นเจ้าของ แต่ช่วง 15 ปีจำนวนเสือโคร่งเพิ่มขึ้นเป็น 147 ตัว ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติฯ พยายามที่จะจัดการกับสัตว์ป่าของกลาง โดยเคลื่อนย้ายไปเก็บรักษาไว้ที่ สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง 85 ตัว และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน 62 ตัว

>> สังคมสะเทือนใจ เสือโคร่งของกลาง วัดป่าหลวงตาบัว ป่วยล้มตายกว่า 80 ตัว

>> เปิดใจหลวงตาจันทร์ สมเพชเสือโคร่งของกลางตาย 80 กว่าตัว ถามเขี้ยวเสือยังอยู่ไหม?

สำหรับปัญหาการเจ็บป่วยตาย ของเสือโคร่ง ที่รับมาจากวัดหลวงตาบัว ญาณสัมปันโน พบว่าการเคลื่อนย้ายเสือโคร่งของกลางเป็นการดำเนินการที่ไม่ปกติ ทำให้เสือส่วนใหญ่มีภาวะเครียด ซึ่งต่อมาพบปัญหาการเจ็บป่วย คือ 1.พบว่ามีปัญหาระบบทางเดินหายใจมีอาการหายใจเสียงดังเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นอาการอัมพาตลิ้นกล่องเสียง ทำให้การหายใจเข้าออกลำบากเมื่ออาการหนักมากขึ้นจะไม่กินอาหาร มีอาการชักเกร็ง และตายในที่สุด 2.พบการติดเชื้อไวรัสไข้หัดสุนัข ซึ่งปัจจุบันยังไม่มียารักษา โดยการติดเชื้อทำให้เกิดอาการผิดปกติ ในระบบประสาท ระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินอาหาร

 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชรองอธิบดีกรมอุทยานฯ และ หมอล็อต ภัทรพล มณีอ่อน

สำหรับการดูแลเสือโคร่ง ที่ผ่านมา นายสัตวแพทย์ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กล่าวว่า ภายหลังจากที่ตรวจพบอาการระบบทางเดินหายใจอันเนื่องมาจากลิ้นกล่องเสียงมีอาการบวมไม่สามารถขยับเปิดปิดระหว่างหลอดลมกับหลอดอาหารได้สนิท ทำให้หายใจลำบาก มีเสียงดังและมีอาการหอบ หากมีปัจจัยของอุณหภูมิที่สูงขึ้น จะส่งผลต่ออาการเครียดและตายเฉียบพลัน ซึ่งการรักษาสัตวแพทย์จะให้การรักษาตามอาการ เบื้องต้นยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดอาการของโรคที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าเป็นผลกระทบจากการผสมพันธุ์แบบเลือดชิด เพราะเสือดังกล่าวมีการเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว จาก 6 ตัว เป็น 147 ตัว ส่งผลให้เกิดความบกพร่องในพันธุกรรม และระบบภูมิคุ้มกันต่ำ

ทั้งนี้จากการสรุปข้อมูลจำนวนเสือโคร่งในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาประทับช้าง และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเขาสน พบข้อมูลว่าปัจจุบันคงเหลือ เสือโคร่งรวมกัน 61 ตัว ตาย 86 ตัว

ด้านมาตรการดูแลสุขภาพเสือโคร่ง จากนี้เจ้าหน้าที่จะมีการคัดแยกเสือโคร่งตามกลุ่มอาการเพื่อให้ง่ายต่อการตรวจติดตามอาการและประเมินการรักษา โดยจะมีการใช้วัคซีนป้องกันโรคไข้หัดสุนัข และติดตามผลเป็นระยะ ส่วนการดูแลรักษาเสือโคร่งที่มีอาการป่วย สัตวแพทย์รักษาและให้ยาตามอาการ

นอกจากนี้ จะมีการควบคุมระบบความปลอดภัยทางชีวอนามัยภายในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า ทั้ง 2 แห่ง อย่างเข้มงวด พร้อมการปรับกรงคอกให้มีอากาศถ่ายเทสะดวกและเพิ่มพื้นที่กรงคอก (สนาม) เพื่อลดความเครียดของเสือโคร่ง โดยจะมีสัตวแพทย์ปฏิบัติงานประจำสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า ทั้ง 2 แห่ง โดยจะมีการประชุมเพื่อประเมินผลการดูแลรักษาต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook