“พระพุทธรูปอุลตร้าแมน” ดราม่าที่มากกว่าศาสนาเสื่อม

“พระพุทธรูปอุลตร้าแมน” ดราม่าที่มากกว่าศาสนาเสื่อม

“พระพุทธรูปอุลตร้าแมน” ดราม่าที่มากกว่าศาสนาเสื่อม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วิวาทะระหว่างศิลปะกับศาสนาเกิดขึ้นอีกครั้ง จากกรณีที่มีการแชร์ภาพวาด “พระพุทธรูปอุลตร้าแมน” ของนักศึกษา ที่นำไปจัดแสดงในนิทรรศการศิลปะในจังหวัดนครราชสีมา ส่งผลให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ชาวพุทธ โดยมองว่าผลงานดังกล่าวมีลักษณะลบหลู่ศาสนา ขณะเดียวกัน ก็มีกลุ่มผู้ที่ชื่นชมภาพวาดออกมาโต้เถียง กลายเป็นดราม่าในโลกออนไลน์ และเมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดและรองอธิการบดีนำนักศึกษาเจ้าของผลงานเข้ากราบขอขมาเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา พร้อม “กลุ่มชาวพุทธพลังแผ่นดิน” ที่เข้าร้องเรียนต่อกองปราบ ให้เอาผิดนักศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งทางสถาบันการศึกษาและผู้ว่าราชการจังหวัดยังพยายาม “ควบคุม” การเผยแพร่ผลงานดังกล่าว ก็ยิ่งทำให้ดราม่าครั้งนี้ร้อนแรงยิ่งขึ้นไปอีก

>> นศ.สาวขอขมาทั้งน้ำตา ดราม่า "ภาพพระอุลตร้าแมน" ยันไม่มีเจตนาลบหลู่
>> กลุ่มชาวพุทธฯ ออกโรง! ร้องเอาผิดนักศึกษา-อ.เฉลิมชัย ปมพระพุทธรูปอุลตร้าแมน
>> พระอุลตร้าแมน ยอดประมูลรวม 2.6 ล้าน ตั้งใจแบ่งเงินให้คนวาด แต่ติดต่อไม่ได้

แม้จะดูเหมือนเป็นเพียงความขัดแย้งทางความคิดระหว่างคนสองกลุ่ม แต่เมื่อพิจารณาดีๆ ดราม่าครั้งนี้กลับเป็นมากกว่าการทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมเสีย เพราะมันสะท้อนถึงสถานการณ์ศิลปะและสังคมไทยได้อย่างน่าสนใจทีเดียว

อุลตร้าแมน = พระพุทธเจ้า?

จากกรณีดราม่าดังกล่าว ผศ.วิรัญญา ดวงรัตน์ หัวหน้าภาควิชาศิลปะไทย คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร อธิบายความเชื่อมโยงระหว่างอุลตร้าแมนและพระพุทธเจ้าไว้ว่า อุลตร้าแมนเป็นยอดมนุษย์ของญี่ปุ่นที่ได้รับอิทธิพลมาจากพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ซึ่งพระพุทธรูปนั้นประกอบขึ้นจากลักษณะของมหาบุรุษ ที่มีความเหนือมนุษย์ สะท้อนสภาวะของคนดี คนเก่ง ที่มีความพิเศษเหนือกว่าปุถุชนทั่วไป ดังนั้น แนวคิดตั้งต้นของผลงาน “พระพุทธรูปอุลตร้าแมน” จึงถือว่ามีที่มาที่ไป และไม่ได้มีความผิดแต่อย่างใด

“เรามองว่าอุลตร้าแมนและพระพุทธเจ้ามีความเชื่อมโยงในรูปแบบของอุดมคติ ความดีงามสูงสุดเหมือนกัน ยอดมนุษย์ช่วยเหลือคนให้พ้นทุกข์ ให้ปลอดภัย ให้อยู่รอด พระพุทธเจ้าเองก็เป็นสัญญะแบบนั้น” ผศ.วิรัญญากล่าว

จุดเริ่มต้นของทุกดราม่า

แม้จะมีการระบุว่า ในสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์ก็ไม่ได้มีดำริให้สร้างรูปเคารพอย่างพระพุทธรูป แต่สังคมไทยก็มีการสร้างพระพุทธรูปอย่างแพร่หลาย เพื่อแสดงความระลึกถึงพระพุทธเจ้า และผสมผสานเข้ากับความเชื่ออื่นๆ จนกลายเป็นรูปแบบที่คุ้นเคยกันในทุกวันนี้ ซึ่งรูปแบบดังกล่าวก็ “ปรุงแต่ง” ความรู้สึกนึกคิดของชาวพุทธ เกิดเป็นความหวงแหน และไม่พอใจทุกครั้งที่มีผู้สร้างภาพพระพุทธรูปผิดไปจากรูปแบบที่ตนคุ้นเคย ซึ่งความรู้สึกไม่พอใจดังกล่าวก็เป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดดราม่านั่นเอง

“คนไทยเราคิดว่า ก็เราคิดถึงครูบาอาจารย์ เรารัก เราอยากอยู่ใกล้ ก็เลยสร้างพระพุทธรูปนี้ แล้วก็อ้างว่ามันสืบทอดมาจากอินเดีย จากลังกา โดยยึดเอารูปแบบที่เราเชื่อว่าเขาทำกันมาตั้งแต่อดีต แล้วก็ปรุงไปกันใหญ่ว่านี่คือพระพุทธรูปของเรา ใครแตะต้องไม่ได้ และไทยเป็นประเทศที่มีการปลูกฝังเรื่องการเคารพในศาสนามากจนกลายเป็นเหนือชีวิต เพราะฉะนั้น รูปเคารพจึงถูกยกไว้ในฐานที่เข้าใจว่าแทบจะแตะต้องไม่ได้ ถ้าจะสร้าง ต้องมีความรู้ มีความเชี่ยวชาญ ต้องถือศีล ปฏิบัติธรรม จึงจะสืบทอดความงามของพุทธลักษณะนี้ได้ ดังนั้น พระพุทธรูปสมัยโบราณจึงศักดิ์สิทธิ์เสมอ” ผศ.วิรัญญาอธิบาย

นอกจากนี้ โลกทุนนิยมในปัจจุบันก็ทำให้ขนบการสร้างผลงานศิลปะที่เกี่ยวกับศาสนาเปลี่ยนไป และส่งผลต่อความรู้สึกเป็นเจ้าของศิลปะทางพระพุทธศาสนาเช่นกัน โดย ผศ.วิรัญญาระบุว่า ปัจจุบันนี้ ผู้ที่มีกำลังทรัพย์ก็สามารถสร้างวัดหรือพระพุทธรูปได้ตามค่านิยมของตัวเอง โดยที่ผู้สร้างไม่จำเป็นต้องถือศีลหรือมีความเชี่ยวชาญอีกต่อไป ทำให้ตอกย้ำมุมมองเรื่องความเป็นเจ้าของวัด เจ้าของพระพุทธรูป กลายเป็นความยึดติดไปในที่สุด

“ความรู้เปลี่ยน ความเชื่อเปลี่ยน กลายเป็นสุดท้ายแล้ว เรายึดในวัตถุที่เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสร้างไปทำไม รู้แต่ว่าสร้างแล้วมันดี เป็นสิริมงคลกับชีวิต สร้างแล้วเชื่อว่าจะพ้นทุกข์ได้ แต่ทุกคนลืมไปหมดแล้วว่าแก่นแท้ของศาสนาคืออะไร นั่นคือตั้งจิตให้ละเว้นความชั่ว ทำความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส เนื้อในของพระพุทธศาสนา ไม่มีใครรู้เลย ยึดแต่รูปลักษณ์ภายนอกว่าต้องสวยอย่างนั้น ต้องงามอย่างนี้ คนจับแต่วัตถุจนหลงลืมแก่นสารสำคัญของศิลปวัตถุ” ผศ.วิรัญญากล่าว

นอกจากมุมมองด้านความเชื่อทางศาสนาแล้ว สถานะของศิลปะในประเทศไทยก็ดูจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดวิวาทะทุกครั้งที่มีกรณีขัดแย้งระหว่างศาสนากับศิลปะ ซึ่ง อ.ดร.ถนอม ชาภักดี นักวิจารณ์และอาจารย์สอนศิลปะ มองว่าสาเหตุหนึ่งมาจากการที่ศิลปะไม่เคยเป็นเรื่องสาธารณะในสังคมไทย

เราไม่ได้ทำให้ศิลปะเป็นเรื่องสาธารณะเลย เพราะศิลปะมันอยู่ในพื้นที่ของความเคารพ ตั้งแต่ทศวรรษ 2480 เป็นต้นมา ศิลปะมันอยู่ในฐานะรูปเคารพ ไม่ว่าจะเป็นประติมากรรมวีรบุรุษ วีรสตรีทั้งหลาย จนกระทั่งมาเป็นประติมากรรมพระพุทธรูป มันไม่ได้ถูกอธิบายในมุมมองของศิลปะ แต่มันถูกอธิบายเป็นเรื่องของความเชื่อ ความศรัทธา ทั้งๆ ที่เรารู้และก็สอนกันมาตลอดว่างานพวกนี้คือภาพแทนที่มันห่างไกลจากความจริงมาก แต่ปัญหาว่าทำไมเรามายึดติดหรือเชื่อในภาพแทนที่มีระยะห่างของความจริง แล้วยิ่งถ้าเราไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมจากความจริงได้ มันก็ยิ่งไม่สามารถอธิบายความคิดของแต่ละคนได้” อ.ดร.ถนอมกล่าว

ไม่มีศิลปะ = ไม่มีเสรีภาพ

จากการที่ดราม่าบานปลายไปจนกระทั่งมีความพยายามควบคุมการสร้างผลงานศิลปะ รวมทั้งนำกฎหมายเข้ามาบังคับใช้ ก็สะท้อนให้เห็นสถานะของศิลปะในประเทศไทย ที่ถูกทำให้เป็นเครื่องมือของรัฐมากกว่าจะเป็นเครื่องมือในการตั้งคำถาม ทั้งๆ ที่โดยทั่วไปแล้ว ศิลปะจะทำหน้าที่กระตุ้นให้คนตั้งคำถามและหาคำตอบด้วยวิธีอื่น ซึ่งจะนำไปสู่การถกเถียงอย่างมีเหตุผลในที่สุด

“ศิลปะมันรับใช้ศาสนามาตลอด และยิ่งมาในยุคนี้ ศิลปะกับพระพุทธศาสนา กับรัฐและวิธีคิดของรัฐ มันไปในแนวทางเดียวกันหมด คนก็ยิ่งแตะไม่ได้เลย ทั้งที่มันควรจะแยกกัน เพราะความดีมันเป็นวิธีคิดทางศาสนา เราเอานิยามของความดีกับความงามมาผสมผสานกันระหว่างวิธีคิดทางศาสนากับกลไกของรัฐ มันเลยแยกกันไม่ได้ พอพ่วงด้วยประเด็นนี้ ก็พูดอะไรไม่ได้เลย ความดีกลายเป็นสิ่งที่ปกป้องคนที่เข้ามาในพื้นที่ของรัฐ ที่เราบอกว่าสแกนคนดีมาไว้แล้ว แต่คนที่อยู่นอกเหนือจากนั้น เป็นคนเลว แม้แต่การทำงานทางศิลปะ ถ้าคุณทำงานแบบนี้ อยู่ในกรอบที่ผมให้ไว้ คุณก็เป็นคนทำงานที่ดี เมื่อศิลปะมันถูกตัดสินด้วยความดีกับความงาม คุณไม่ต้องมาพูดถึงเรื่องรสนิยมกับสุนทรียศาสตร์ของปัจเจกเลย เพราะคุณไม่ได้ตัดสินด้วยรสนิยมส่วนตัว คุณไม่ได้ตัดสินเรื่องอารมณ์ ความรับรู้ ความรู้สึกที่คุณคิด แต่คุณเข้ามาในดินแดนต้องห้ามที่ถูกวางกรอบไว้แล้ว” อ.ดร.ถนอมอธิบาย

นอกจากนี้ อ.ดร.ถนอมยังมองว่า สังคมไทยในปัจจุบันยังขาด “พื้นที่สาธารณะ” และ “บรรยากาศสาธารณะ” ที่เอื้อให้เกิดการแสดงความคิดเห็นและถกเถียงกันอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งส่งผลทั้งต่อตัวบุคคล ความคิดสร้างสรรค์ และเสรีภาพในการแสดงออก

“เรามีหอศิลป์ก็จริง แต่หอศิลป์ไม่ใช่พื้นที่สาธารณะ ไม่ได้มีบรรยากาศสาธารณะ ผมคิดว่าแต่ไหนแต่ไรมา บ้านเรามันมีช่องโหว่ตรงนี้ สถาบันการศึกษาศิลปะก็ไม่ได้เปิดพื้นที่สำหรับการถกเถียง ดังนั้นก็ไม่แปลกที่จะมีบรรยากาศการข่มขู่ การใช้อำนาจทางกฎหมายหรือกลไกของรัฐเข้ามากัดจิกสิ่งที่อยู่นอกเหนือขนบของตัวเองที่ถูกปลูกฝังมา อันนี้ผมว่าน่ากลัวมาก บรรยากาศแบบนี้ไม่ได้เปิดให้ความคิดสร้างสรรค์ ไม่มีเสรีภาพในการแสดงออกเลย ซึ่งเสรีภาพมันมาพร้อมกับรสนิยม เสรีภาพมันมาพร้อมกับสุนทรียศาสตร์ เสรีภาพมันมาพร้อมกับความเป็นปัจเจก” อ.ดร.ถนอมกล่าว พร้อมอธิบายว่า สถานการณ์เช่นนี้จะทำให้ความเป็นปัจเจกของคนหายไป

“เราแสดงตัวเป็นปัจเจกไม่ได้ เพราะถ้าเป็นปัจเจกเมื่อไร คุณจะถูกกระทืบทันที คิดดูว่ากรณีนี้ นักศึกษาไม่มีสิทธิแม้แต่จะปริปากพูด เพราะเขาเป็นเด็ก แต่งานของเขากลับไม่ใช่ งานของเขากลับมีเชิงที่เหนือกว่า แล้วมันยังไง คุณก็กดเขาด้วยกลไกของรัฐ ว่าคุณเป็นเด็ก คุณเป็นนักศึกษา พร้อมที่จะยอมศิโรราบ พร้อมที่จะรับผิด ระบบการศึกษาทำให้เกิดตราบาปในวิธีคิดและการสร้างสรรค์อย่างหนัก ถ้าจะว่าไปแล้ว” อ.ดร.ถนอมแสดงความเห็น

เมื่อไม่มีทั้งพื้นที่สาธารณะและบรรยากาศสาธารณะสำหรับแสดงความคิดเห็นหรือถกเถียงกันด้วยเหตุผล สิ่งที่ตามมาก็คือการแบ่งแยกทางความคิดอย่างชัดเจนระหว่างผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในประเด็นปัญหานั้นๆ ซึ่งทำให้ทั้งสองฝ่ายไม่อาจสื่อสารกัน และหาทางออกร่วมกันได้อย่างมีอารยะ และการแบ่งแยกเช่นนี้ก็เขม็งเกลียวขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ ความน่ากลัวของการถูกจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก คือการมองไม่เห็นอนาคตที่เป็นของตัวเองจริงๆ นอกจากอนาคตที่เบื้องบนชี้นำให้เราเดินไป

“อย่าไปแปลกใจเลยว่าทำไมมีการฆ่าตัวตาย เมื่อคุณเกิดเป็นมนุษย์แล้วคุณไม่สามารถที่จะทำอะไรได้ในฐานะความเป็นตัวของตัวเอง พูดง่ายๆ คือ ศิลปะคือตัวระบาย คือตัวแทนที่เราสามารถระบายได้ เราอยากจะด่าใครแต่ด่าไม่ได้ เราสามารถวนจนกระดาษขาดได้ แต่นี่เราทำไม่ได้ พอเราทำแบบนี้ เราอยากแสดงให้คนอื่นดู แต่เราทำไม่ได้ นี่มันบั่นทอนความเป็นปัจเจกอย่างหนักเลย”

นอกจากนี้ การถูกจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก โดยเฉพาะการแสดงออกของศิลปิน ยังผลักให้ศิลปะอยู่ไกลออกไปจากความรับรู้ของคนไทยยิ่งกว่าเดิม เนื่องจากศิลปินที่สร้างผลงานเชิงวิพากษ์ หรือศิลปินหัวก้าวหน้า มักจะไม่สามารถแสดงผลงานในประเทศไทย และเลือกที่จะไปแสดงผลงานในต่างประเทศมากกว่า นั่นทำให้คนไทยเสียโอกาสในการหาความรู้จากผลงานศิลปะ

“ผลงานที่เป็นเชิงวิพากษ์มักจะไปแสดงที่อื่น เราก็ไม่สามารถศึกษายุคสมัยจากกระบวนการวิธีนี้ได้ในประเทศไทย ก็ต้องไปศึกษาที่อื่น ไปอยู่ที่อื่น เราก็จะไม่ได้เห็นอะไรที่เป็นความก้าวหน้า ที่สะท้อนยุคสมัยของเราผ่านกระบวนการสร้างสรรค์ศิลปะอีกต่อไป เราก็จะเห็นภาพความดีความงามเต็มไปหมด มันก็ยิ่งทำให้พื้นที่ทางศิลปะมันห่างไกลออกไปเรื่อยๆ ก็จะเหลือแต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้เราดู ฉะนั้น คน 60 - 70 ล้านคนก็จะเข้าใจว่าศิลปะคือความศักดิ์สิทธิ์ จากที่มันไกลตัวอยู่แล้วก็จะยิ่งไกล แล้วก็จะมาทะเลาะกันด้วยเรื่องแบบนี้” อ.ดร.ถนอมอธิบาย

>> ผู้ว่าฯ โคราช สั่งคุมเข้มงานแสดงศิลปะ หลังมีภาพ "พระพุทธรูปอุลตร้าแมน"
>> สถาบันสั่งห้ามขายภาพ "พระพุทธรูปอุลตร้าแมน" หวั่นกระแสรุนแรง
>> เจ้าของภาพ "พระอุลตร้าแมน" แฉรูปถูกเรียกคืนไปเผา เปิดประมูลยอดพุ่ง 3.9 แสน

ศิลปินอยู่เพื่ออะไร

จากภาพข่าวที่ศิลปินเจ้าของผลงานพระพุทธรูปอุลตร้าแมนถือพานเข้าขอขมาพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ของจังหวัด เนื่องจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ นำไปสู่คำถามที่ว่า ที่จริงแล้วศิลปินควรจะขอโทษ หรือยืนยันในความคิดของตัวเองกันแน่ ประเด็นนี้ ผศ.วิรัญญา ในฐานะนักวิชาการด้านศิลปะไทยมองว่า การวิพากษ์วิจารณ์งานศิลปะที่เป็นขนบโบราณ หรือการต่อยอดผลงานประเภทนี้ ต้องมีความระมัดระวัง เนื่องจากเป็นงานศิลปะที่หลายคนเคารพบูชา โดยศิลปินควรใช้ทักษะทางศิลปะมาจัดการรูปทรงให้ผสานกลมกลืน และนำเสนอแนวคิดของตัวเองออกมาอย่างแยบยล มีกาลเทศะ ขณะเดียวกันก็ควรจะให้ความสำคัญกับทัศนคติของสังคมด้วย

“ศิลปินส่วนใหญ่ก็เป็นปุถุชน เราก็ถูกฝึกมาให้เข้าถึง เข้าใจตัวเองเป็นที่ตั้ง แล้วเราถึงจะส่งผ่านความคิด ความเข้าใจ หรือแรงบันดาลใจส่วนตัวออกมาให้คนรู้ผ่านผลงาน เราไม่ได้สร้างผลงานแล้วแขวนไว้ในบ้าน เราเขียนรูปให้คนดู แล้วก็อยากให้คนได้เข้าถึงสุนทรียะบางอย่าง ซึ่งเป็นกระบวนการหนึ่งของศิลปะที่มีต่อสังคมอยู่แล้ว การทำความเข้าใจสังคมหรือจารีต หรือวิถีบางอย่าง คิดว่าศิลปินจำเป็นต้องทำ ต้องรู้กาลเทศะในการนำเสนอและแสดงออกความคิด ยุคนี้ไม่ใช่ยุคที่ศิลปินจะสำแดงความรู้สึกโดยตรงฝ่ายเดียว ใครจะรับรู้หรือไม่ก็ช่าง คุณต้องมีการทวนสอบหรือคิดย้อน ถามตัวเองอีกระดับว่าทำเพื่ออะไร มากกว่าแค่สำแดงอารมณ์ความรู้สึก ศิลปินต้องมีความรู้ความเข้าใจในบริบทของพื้นที่ที่จะนำเสนอ หรือคนที่เราเชื่อว่ากำลังจะมาเสพงานเราในระดับหนึ่ง และก็ต้องรับผิดชอบ ถ้าสิ่งที่เราสร้างมันทำให้คนเสียใจ ไม่สบายใจ หรือทำให้เกิดความเข้าใจผิด” ผศ.วิรัญญาอธิบาย

ด้าน อ.ดร.ถนอมมองว่า ศิลปินไม่ควรประนีประนอมในการแสดงความคิดเห็นของตัวเอง และระบุว่าการประนีประนอมก็เท่ากับการยอมอยู่ใต้อำนาจหรือระเบียบที่เข้ามากำกับ ทำให้ไม่สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ใดๆ ได้เลย

“การสร้างสรรค์จะเกิดไม่ได้ ถ้าเราไม่ไปต่อรองกับฐานเดิม ฉะนั้น ผมคิดว่าศิลปินต้องมีเสรีภาพในการตั้งคำถาม ไม่อย่างนั้นคุณก็ทำศิลปะแบบสำเร็จรูปมาตลอด แล้วก็อยู่ภายใต้กรอบวิธีคิดของสุนทรียศาสตร์สำเร็จรูปมาตลอด คือความดี ความงาม แต่เราไม่เคยตั้งคำถามว่าจริงๆ แล้วดีของใคร งามของใคร ไม่อย่างนั้น ศิลปะของเราก็จะไม่ต่างจากโรงเรียนช่างฝีมือ เราไม่มีแนวคิดในการพัฒนาเชิงความคิด ไม่ต้องไปพูดถึงความก้าวหน้า”

นอกจากนี้ อ.ดร.ถนอมยังมองว่า ศิลปินรุ่นใหม่จะไม่สามารถเติบโตได้ในบรรยากาศที่ศิลปะถูกปิดกั้น มีเพียงองค์กรศาสนาและกลไกของรัฐกระหน่ำเข้ามาควบคุม ในขณะที่ไม่มีองค์กรทางศิลปะลุกขึ้นมาต่อสู้หรือแสดงจุดยืนในการเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงออก ดังนั้น ทางเดียวที่ศิลปินจะไปต่อได้ คือสร้างผลงานตามที่เวทีประกวดต่างๆ กำหนดแนวความคิดมาให้เท่านั้น

“ถ้าเราย้อนกลับไปเห็นความเฟื่องฟูของศิลปะในช่วงปลายปี 2520 – 2540 เราจะเห็นว่าบรรยากาศของประเทศมันไม่ได้เป็นแบบนี้ ศิลปะมันเล่นกันเอง ดีเบตกันเอง เซ็นเซอร์กันเอง มันถึงเห็นความงอกงามก้าวไกล เราบอกว่าศิลปินรุ่นเก่าดังไปในระดับโลก ก็แหงล่ะ ทุกอย่างมันสามารถที่จะแสดงออกได้ เพราะเขามีพื้นที่ในการทดลอง แต่ตอนนี้มันไม่ได้เป็นแบบนั้น” อ.ดร.ถนอมสรุป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook