“มุกเจ้าหน้าดำ” ต้นเหตุการเหยียดสีผิวที่ไม่รู้จบ

“มุกเจ้าหน้าดำ” ต้นเหตุการเหยียดสีผิวที่ไม่รู้จบ

“มุกเจ้าหน้าดำ” ต้นเหตุการเหยียดสีผิวที่ไม่รู้จบ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ข่าวการเหยียดสีผิวมีผ่านมาให้เห็นอยู่ตลอด อย่างล่าสุดกับกรณีของจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ที่ออกมาแถลงข่าวขอโทษที่เขาเคยทาหน้าเป็นสีดำ และไปร่วมงานปาร์ตี้เมื่อครั้งยังเป็นครูที่โรงเรียนมัธยม แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผู้นำผิดพลาดเรื่องประเด็นสีผิว เพราะก่อนหน้านี้ก็มีประเด็นเรื่องภาพถ่ายในหนังสือรุ่นนักเรียนแพทย์บนเว็บไซต์ส่วนตัวของ Ralph Northam ผู้ว่าการรัฐเวอร์จิเนีย ซึ่งเป็นภาพของชายคนหนึ่งทาหน้าดำและยืนอยู่ข้างเพื่อนที่แต่งตัวเป็นสมาชิกกลุ่ม Ku Klux Klan องค์กรเหยียดสีผิวและคลั่งคนขาวในสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตามผู้ว่าการรัฐผู้นี้ได้ออกมาขอโทษในกรณีดังกล่าว และให้สัมภาษณ์ว่าเขาไม่ใช่คนที่ปรากฏอยู่ในภาพถ่าย

ประเด็นการเหยียดสีผิวเป็นเรื่องที่อ่อนไหวและมีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน วันนี้ Sanook! News จึงขอหยิบเรื่องราวที่น่าสนใจของประเด็นนี้มาฝากเพื่อสร้างความเข้าใจให้มากขึ้น

มุกเจ้าหน้าดำ (Blackface) ไม่ใช่แค่การเอาสีดำมาทาหน้าและสวมใส่เสื้อผ้าเท่านั้น แต่มันได้สร้างปัญหาการเหยียดสีผิวและประวัติศาสตร์ที่แสนเจ็บปวดให้กับคนผิวสีมากมาย จุดเริ่มต้นของมุขตลกนี้ ต้องย้อนกลับไปที่การแสดง minstrel shows ในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ที่นักแสดงผิวขาวจะทาหน้าให้เป็นสีดำ สวมเสื้อผ้าขาดรุ่งริ่งและแสดงท่าทางที่เว่อร์เกินพอดีเพื่อให้ดูเป็น “คนดำ”

เนื้อหาของการแสดง minstrel shows แรก ๆ เป็นการล้อเลียนทาสผิวสีชาวแอฟริกันที่อยู่ในไร่ทางตอนใต้ของประเทศ โดยแสดงให้เห็นว่าทาสเหล่านั้นเป็นพวกขี้เกียจ ไม่สนใจสิ่งรอบข้าง ขี้ขลาดตาขาว และมีความต้องการทางเพศสูง ซึ่งการแสดงเช่นนี้ ตั้งใจที่จะทำให้ผู้ชมผิวขาวรู้สึกตลกและสนุกสนาน แต่สำหรับคนผิวสีแล้ว นี่เป็นสิ่งที่ทำร้ายจิตใจและลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของพวกเขาเสียเหลือเกิน

หนึ่งในตัวละครมุขเจ้าหน้าดำที่ได้รับความนิยมอย่างมากก็คือ Jim Crow ซึ่งเป็นตัวละครที่ Thomas Dartmouth Rice นักแสดงและนักเขียนบทชาวอเมริกันสร้างขึ้น ซึ่ง Rice จะทาหน้าตัวเองเป็นสีดำ สวมเสื้อผ้าขาดวิ่น พูดจาสำเนียงคนผิวสี และร้องเพลงเต้นระบำตามแบบที่เอาอ้างว่าเขาได้ร่ำเรียนมาจากพวกทาส

minstrel shows ได้รับความนิยมเป็นวงกว้าง และเกิดเป็นอุตสาหกรรมการแสดงขึ้นในปี ค.ศ. 1845 เรื่อยมาจนถึงช่วงศตวรรษที่ 20 ที่ Al Jolson ทำการแสดงมุกเจ้าหน้าดำใน “The Jazz Singer” ภาพยนตร์สุดฮิตในปี 1927 และนักแสดงชาวอเมริกันอย่าง Shirley Temple, Judy Garland และ Mickey Rooney ก็เริ่มทาหน้าดำในภาพยนตร์ของพวกเขาเช่นเดียวกัน

ตัวละครดังกล่าวแพร่กระจายเป็นวงกว้างถึงขนาดนักแสดงผิวดำบางคนก็ยังแสดงมุกเจ้าหน้าดำ เพราะนี่เป็นสิ่งเดียวที่กลุ่มนักแสดงผิวสีจะทำได้ เนื่องจากผู้ชมผิวขาวไม่สนใจที่จะชมอะไรมากไปกว่าให้คนผิวสีมาแสดงท่าทางเซ่อซ่าให้พวกเขาดูโดย William Henry Lane หรือที่รู้จักกันในนาม Master Juba เป็นหนึ่งในนักแสดงผิวสีคนแรก ๆ ที่แสดงมุขเจ้าหน้าดำ โชว์ของเขาได้รับความนิยมเป็นอย่างมากและเขายังได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้คิดค้นการเต้นแท็ปด้วย

อย่างไรก็ตาม ภาพจำที่ไม่ดีนักของกลุ่มคนผิวสียังหลงเหลือติดค้างอยู่ในวัฒนธรรมป็อป โดยเฉพาะในศิลปะและวงการบันเทิง การนำเสนอภาพของทาสผิวสีชาวแอฟริกันในฐานะของตัวตลกในละครทำให้ชาวอเมริกันผิวขาวไม่รู้สึกถึงความน่ากลัวของวงการค้าทาสในประเทศ และยังตอกย้ำภาพจำของคนผิวสีซึ่งช่วยทำให้คนผิวขาวรู้สึกว่าตัวเองมีอำนาจเหนือกว่า และเกิดเป็นปัญหาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

แม้นี่จะเป็นเรื่องราวของสหรัฐอเมริกา แต่ปัญหาการเหยียดสีผิวก็ปรากฏให้เห็นในทุกประเทศทั่วโลก ว่ากันว่าคนเราจะหวาดกลัวสิ่งที่แตกต่างกับตัวเองอยู่เสมอ แต่เมื่อพูดถึงความเป็นมนุษย์แล้ว เราก็ไม่ควรใช้สีผิวหรือเชื้อชาติที่แตกต่างกันมาแยกว่าใครอยู่สูงหรือต่ำกว่า หรือถูกเลือกปฏิบัติอย่างที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook