โจมตีโรงกลั่นน้ำมันซาอุฯ ฉายภาพชัดแบ่งขั้วขัดแย้ง สหรัฐ-อิหร่าน
ประเทศซาอุดีอาระเบียจัดเป็นพันธมิตรที่มีความผูกพันเป็นพิเศษกับสหรัฐอเมริกา ถึงขนาดว่าหากมีการรุกรานประเทศซาอุดีอาระเบียระดับสงครามแล้ว สหรัฐอเมริกาจะต้องเข้าร่วมรบเพื่อปกป้องซาอุดีอาระเบียทันที กล่าวคือซาอุดีอาระเบียมีความสำคัญต่อสหรัฐอเมริกาในฐานะพันธมิตรระดับเดียวกับกลุ่มประเทศนาโต และญี่ปุ่นเลยทีเดียว
เนื่องจากซาอุดีอาระเบียทำความตกลงกับสหรัฐอเมริกาที่จะขายน้ำมันออกไปทั่วโลกโดยใช้เงินดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น เป็นการอุ้มระบบเงินสกุลดอลลาร์ไว้เป็นเงินตราของโลกทั้งๆ ที่เงินดอลลาร์สหรัฐออกจากระบบมาตรฐานทองคำตั้งแต่ พ.ศ. 2514 แล้ว
หากซาอุดีอาระเบียยกเลิกการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐจากการขายน้ำมันทั่วโลกเมื่อใด สหรัฐอเมริกาก็จะตกอยู่ในสภาวะลำบากเหลือแสนเพราะปัจจุบันสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศลูกหนี้ที่ติดหนี้สินกับประเทศทั่วโลกเป็นอันดับหนึ่ง เนื่องจากการพิมพ์เงินดอลลาร์สหรัฐออกมาใช้จ่ายอย่างไม่บันยะบันยังนั่นเอง
เมื่อวันเสาร์ที่ 14 ก.ย. ที่ผ่านมานี้ มีฝูงโดรนโจมตีแหล่งผลิตน้ำมัน 2 แห่งของซาอุดีอาระเบีย คือ โรงกลั่นน้ำมันอับไคก์ ซึ่งเป็นโรงกลั่นใหญ่ที่สุดของบริษัทซาอุดีอาระเบีย ส่วนอีกแห่งเป็นการโจมตีบ่อน้ำมันในเมืองคูไรส์ ซึ่งเป็นบ่อขุดเจาะน้ำมันใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ
เหตุโจมตีทั้งสองจุดทำให้เกิดเพลิงไหม้รุนแรงและต้องหยุดการผลิตน้ำมันลงชั่วคราว หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล รายงานว่า การโจมตีดังกล่าวทำให้ซาอุดีอาระเบียต้องหยุดการผลิตน้ำมันลงครึ่งหนึ่งของปริมาณการผลิตตามปกติ คาดว่าจะต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าที่โรงกลั่นจะกลับมาผลิตน้ำมันส่งออกไปทั่วโลกอีกครั้ง
ทางกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมน ซึ่งมีทางการอิหร่านหนุนหลัง ออกมาประกาศอ้างความรับผิดชอบในการโจมตีด้วยโดรน 10 ลำในครั้งนี้ เพื่อตอบโต้ที่ซาอุดีอาระเบีย โจมตีใส่กลุ่มฮูตีในเยเมนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พร้อมชี้ว่าเป็นหนึ่งในปฏิบัติการโจมตีครั้งใหญ่ที่สุดในซาอุดีอาระเบียของกลุ่มกบฎฮูตีในเยเมน
แต่นายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวหาว่า รัฐบาลอิหร่านอยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีนี้โดยอ้างว่า กลุ่มกบฎฮูตีไม่มีศักยภาพเพียงพอในการโจมตีระดับนี้ เพราะกลุมกบฎฮูตีไม่พยายามส่งโดรนเช้าโจมตีแหล่งน้ำมันของซาอุดีอาระเบียหลายครั้งหลายคราแล้ว แต่ถูกทางซาอุดีอาระเบียป้องกันได้หมดอย่างมีประสิทธิภาพ
รายงานของรอยเตอร์สที่อ้างข้อมูลของเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา หลายคน ระบุว่าการโจมตีแหล่งน้ำมันของรัฐบาลซาอุดิอาระเบีย มาจากจรวดนำวิถีและอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) มาจากทางตะวันตกเฉียงใต้ของอิหร่าน ซึ่งเป็นรูปแบบการโจมตีที่ซับซ้อนกว่าที่ประเมินในตอนแรก
แต่ทางอิหร่านออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว เจ้าหน้าที่สหรัฐอเมริกาที่ขอสงวนนามหลายคน ให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนว่า การโจมตีและความเสียหายที่รุนแรงระดับนี้ไม่น่าจะเป็นฝีมือของกลุ่มกบฏฮูธี พร้อมกล่าวหาว่าสหรัฐอเมริกาปรักปรำอิหร่านและอิหร่านก็พร้อมที่จะทำสงครามเต็มรูปแบบหากถูกโจมตี
ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ทวีตข้อความว่า สหรัฐอเมริกาทราบดีว่าใครคือตัวการก่อเหตุและ เตรียมพร้อม จัดการเรื่องนี้ แต่กำลังรอฟังทางการซาอุดีอาระเบียว่าจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร