ดีเอสไอ ผงะคดีเสี่ยรถหรูSECC พบยักยอกทรัพย์มานาน ลุยสอบย้อนหลัง 2 ปี /ก.ค.ออกหมายจับ''สมพงษ์''

ดีเอสไอ ผงะคดีเสี่ยรถหรูSECC พบยักยอกทรัพย์มานาน ลุยสอบย้อนหลัง 2 ปี /ก.ค.ออกหมายจับ''สมพงษ์''

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ดีเอสไอ ขยายผลสอบย้อนหลัง 2 ปี คดียักยอกทรัพย์บริษัทรถหรูSECC ผงะปี 2550 ตกแต่งบัญชีจ่ายเงินค่ารถยนต์ที่ไม่มีอยู่จริงอีก 100 คัน ลุยสอบปี 2549 ต่อ เผยพฤติกรรมสุดแสบ แตกเช็คละเอียดยิบกระจายมากถึง 10 ธนาคาร คาดก.ค.นี้ออกหมายจับสมพงษ์ วิทยารักษ์สรรค์

หลังจากวันที่ 26 ธันวาคม 2551 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ได้กล่าวโทษนายสมพงษ์ วิทยารักษ์สรรค์ อดีตประธานกรรมการ บริษัท เอส.อี.ซี.ออโต้เซลล์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ SECC และพวกอีก 4 ราย ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งประกอบด้วย นางสาวนิภาพร คมกล้า นายกฤช เอกมงคลการ บริษัทแอปเปิล กรุ๊ป จำกัด และบริษัทคิว อาร์ ออโต้ คาร์ จำกัด ในข้อหายักยอกทรัพย์นั้น

ความคืบหน้าของคดีล่าสุด แหล่งข่าวจากดีเอสไอ เปิดเผยฐานเศรษฐกิจว่า ดีเอสไอ ได้ขยายผลสอบพฤติกรรมผู้ต้องหาย้อนหลัง 2 ปี คือ พ.ศ. 2550 และพ.ศ. 2549 หลังพบพฤติกรรมการกระทำความผิด(ยักยอกทรัพย์) ไม่ได้เกิดเพียงปีเดียวคือ พ.ศ. 2551 ซึ่งมีการจ่ายเงินเป็นค่ารถยนต์ที่ไม่มีอยู่จริง 200 กว่าคัน

ระยะเวลาที่เกิดการกระทำความผิดในข้อหายักยอกทรัพย์ของผู้ต้องหาไม่ใช่กระทำเพียงปีเดียวเท่านั้น โดยดีเอสไอได้ตรวจสอบย้อนหลังไปถึงปี 2549 ก็พบความผิดแล้วเช่นกัน โดยพบว่ามีการจ่ายเงินเป็นค่ารถยนต์ที่ไม่มีอยู่จริง ในปี 2550 จำนวน 100 กว่าคัน (ราคารถยนต์เฉลี่ย 2 ล้านบาทต่อคัน)ส่วนปี 2549 ยังไม่สรุป

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ขณะนี้ ดีเอสไอ อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังมีการสอบปากคำผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งได้ตรวจสอบไปแล้ว 30-40 ปากแต่ยังไม่ครบ โดยมีทั้งพนักงานSECC และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯและ ก.ล.ต.จึงทำให้มีความล่าช้าในการรวบรวมข้อมูล

นอกจากนี้หลังชุดสอบสวนได้ประชุมช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อสรุปและรวบรวมหลักฐาน โดยเบื้องต้นทางอัยการที่เข้าร่วมประชุมยืนยันว่ามีหลักฐานเพียงพอที่จะส่งให้ศาลออกหมายจับ 2 ผู้ต้องหาแล้ว คือ นายสมพงษ์ และนายกฤช (ทั้ง 2 คนหนีออกนอกประเทศไปแล้วตั้งแต่ปลายเดือนพ.ย.51 ) จึงคาดว่าจะสามารถส่งเรื่องให้ศาลออกหมายจับได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้

ส่วนการรวบรวมข้อมูลและพยานหลักฐานเพื่อส่งให้ศาลออกหมายจับผู้ต้องหาที่ต้องล่าช้าออกไปจากคาดการณ์เดิม คือ ต้นเดือนมิถุนายนนั้น เนื่องจากหลักฐานในส่วนของเช็คที่SECC สั่งจ่ายเป็นค่าซื้อรถยนต์ผ่านธนาคารพาณิชย์ พบว่ามีมากถึง 10 ธนาคาร ซึ่งธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งจะต้องใช้ระยะยาวเวลาในการค้นหาข้อมูล นอกจากนี้มีการแตกเช็คเพื่อจ่ายค่าซื้อรถยนต์แต่ละคันเป็นจำนวน 3-10 ใบ

แหล่งข่าวดีเอสไอ กล่าวอีกว่า หลังจากศาลออกหมายจับ 2 ผู้ต้องหาที่กล่าวข้างต้นแล้ว ดีเอสไอ จะขยายผลไปถึงผู้ต้องหารายอื่นๆที่ก.ล.ต.ได้กล่าวโทษไว้ คือ นางสาวนิภาพร คมกล้า อดีตผู้ช่วยกรรมการฝ่ายบัญชีและการเงิน SECC รวมถึงผู้ตรวจสอบบัญชี คือ นายสมชาย คุรุจิตโกสล ที่ก.ล.ต.ได้กล่าวโทษเพิ่มเติม

ส่วนกรณีที่ศาลสั่งขยายระยะเวลาอายัดทรัพย์สินนายสมพงษ์ และพวกออกไปอีก 180 วัน นั้นถือเป็นเรื่องที่ดีต่อผู้ถือหุ้นหากผู้ต้องหาแพ้คดีและไม่สามารถชดใช้ค่าเสียหายได้ ก็ยังสามารถนำทรัพย์สินที่ถูกอายัดมาเฉลี่ยคืนผู้ถือหุ้นได้

รายงานข่าวจากก.ล.ต.เปิดเผยว่า วันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ศาลอาญามีคำสั่งขยายระยะเวลาอายัดทรัพย์สินนายสมพงษ์ วิทยารักษ์สรรค์ และพวกอีก 4 คน ออกไปอีก 180 วัน จากเดิมจะครบกำหนดในวันที่ 7 กรกฎาคม 2552 ซึ่งประกอบด้วย นางสาวนิภาพร คมกล้า นายกฤช เอกมงคลการ บริษัท แอปเปิล กรุ๊ป จำกัด และบริษัท คิว อาร์ ออโต้ คาร์ จำกัด

ทั้งนี้ก.ล.ต. กล่าวโทษนายสมพงษ์และพวกอีก 4 ราย ต่อดีเอสไอ ในข้อหาทุจริต ยักยอกทรัพย์สินของSECC โดยการจัดทำเอกสารเท็จในการสั่งซื้อสินค้ารถยนต์ที่ไม่มีจริง เพื่อเป็นเหตุอำพรางให้ SECC ต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้ารถยนต์ที่ไม่มีจริงนั้นเพื่อแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือบุคคลอื่น ทำให้ SECC ได้รับความเสียหายจำนวนมาก ประมาณการในเบื้องต้นสำหรับปี 2551 มีการจ่ายเงินเป็นค่ารถยนต์ที่ไม่มีอยู่จริง จำนวน 196 คัน มูลค่าประมาณ 597.9 ล้านบาท

การกล่าวโทษของก.ล.ต.เกิดขึ้นหลังปรากฏข่าวรถยนต์ของSECCหายไปจากบัญชีจำนวนมาก ภายหลังจากที่นายสมพงษ์ ได้หลบหนีไปเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2551 ก.ล.ต.จึงได้เข้าตรวจสอบการดำเนินงาน รวมถึงสินค้าคงคลังปรากฏว่า ณ วันที่ 1 ธันวาคม 2551 มีรถยนต์คงเหลืออยู่ในบัญชีสินค้าคงเหลือจำนวน 501 คัน รวมมูลค่า 1,425.78 บาท แต่ปรากฏว่ารถยนต์จำนวน 493 คัน มูลค่าประมาณ 1,409 ล้านบาท ไม่สามารถระบุได้ว่าอยู่ที่ใด และน่าเชื่อว่าไม่มีอยู่จริง

บมจ.เอส.อี.ซี.ฯประกอบธุรกิจจำหน่ายรถยนต์นำเข้าจากต่างประเทศภายใต้เครื่องหมายการค้าS.E.C.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook