“Victim Blaming” ความรุนแรงที่ทุกคนร่วมสร้าง
ข่าวข่มขืนปรากฏให้เห็นในสื่อไม่เว้นแต่ละวัน อย่างในกรณีล่าสุดที่เด็กนักเรียนหญิง อายุ 14 ปี ถูกคุณครูในโรงเรียน 5 คน รุมข่มขืนนานนับปี หรือย้อนกลับไปกรณีที่วัยรุ่นชาย 4 คนรุมข่มขืนหญิงสาวที่เมามายไม่ได้สติ หรือในกรณีก่อนหน้า เช่น ข่าวการเสียชีวิตของพริตตี้สาว “ลันลาเบล” และคดีคนขับรถจากแอปพลิเคชั่นดังข่มขืนเด็กนักเรียน ม.5 ซึ่งข่าวลักษณะนี้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสังคม สิ่งที่เห็นเป็นปกติเมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศไม่ว่าจะในกรณีที่ยกตัวอย่างขึ้นมาหรือในกรณีอื่น ๆ ที่ไม่ได้รับการกล่าวถึง คือการกล่าวโจมตีผู้ถูกกระทำ หรือที่เรียกว่า Victim Blaming เช่น คำพูดอย่าง “ก็เลือกงานที่มีความเสี่ยงแบบนี้เอง” หรือ “ดื่มเหล้าให้เมาเองนี่นา” เป็นเสมือนเงาที่ติดตามมาทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศ ปฏิกิริยาการตอบสนองของผู้คนในลักษณะนี้สะท้อนให้เห็นความเป็นไปบางอย่างของสังคม วันนี้ Sanook จึงขอทำหน้าที่เปิดโลกสำรวจวัฒนธรรมที่อยู่เบื้องหลังการกล่าวโทษเหยื่อที่มีมาอย่างยาวนาน
ปารีณา ออกโรง! จ่อแจ้งความ หญิงสาวชูป้ายในม็อบ "นักเรียนเลว"
สาวชูป้ายในม็อบนักเรียนเลว ร้องทนายช่วย หลัง "ปารีณา" เตรียมแจ้งความ
ครูแนะแนวขอแจง แค่อยากโพสต์ให้กำลังใจครอบครัวแก๊ง 5 ครู ทั้งหมดมีภรรยาและลูกเล็ก
ผู้หญิงคืออัตลักษณ์ชายขอบ
อัตลักษณ์ชายขอบ หมายถึง คนที่มีอำนาจต่อรองกับสังคมน้อย ส่งผลให้คนเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะตกเป็นเหยื่อในทุก ๆ เหตุการณ์ไม่ว่าจะเป็นอาชญากรรมหรือปัญหาที่ถูกกระทำจากรัฐโดยตรง ซึ่งอัตลักษณ์ชายขอบนั้นมีทั้งเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจ ระดับการศึกษา ชาติกำเนิด ศาสนา เชื้อชาติ อาชีพ เพศ รวมถึงความเป็นเพศหญิงซึ่งถูกจัดเป็นหนึ่งในอัตลักษณ์ชายขอบเช่นกัน
“[การกล่าวโทษเหยื่อ] จะมีความรุนแรงมากน้อยก็มีความซับซ้อน ขึ้นอยู่กับว่าผู้หญิงคนนั้นมีแหล่งอำนาจอื่นมาสนับสนุนหรือเปล่า เช่น หากผู้หญิงคนนั้นเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย จะมีอำนาจมากกว่าผู้หญิงที่เป็นพริตตี้เพราะมีทั้งอัตลักษณ์ชายขอบและอัตลักษณ์กระแสหลัก ดังนั้น เมื่อมีความเป็นหญิงอยู่ในตัวจะถูกตีตรา แต่ถ้ามีอัตลักษณ์กระแสหลักอื่น ๆ รวมอยู่ในตัวด้วย การถูกลงโทษอาจจะเบาบางลงในความเป็นหญิง” อาจารย์ ดร. ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ อธิบาย
ถึงแม้จะเป็นผู้หญิงที่มีอัตลักษณ์กระแสหลักมารองรับ ก็ไม่ได้ทำให้พวกเธอเหล่านั้นน่าสงสารน้อยกว่าหรือไม่ควรได้รับความช่วยเหลือ เพราะตราบใดที่สังคมยังมองว่าความเป็นหญิงมีอำนาจน้อยกว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศ จึงมีความเป็นไปได้ที่ผู้หญิงจะตกเป็นเหยื่อของการถูกลงโทษซ้ำซ้อนที่ไม่ใช่แค่การถูกทำร้ายจากผู้กระทำความรุนแรง แต่ยังถูกสังคมลงโทษผ่านการกล่าวโทษเหยื่อ
อย่างไรก็ตาม การกล่าวโทษเหยื่อก็สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ชายและกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยในกรณีของผู้ชาย แม้ความเป็นชายจะเป็นแหล่งอำนาจที่สำคัญ แต่ปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ เช่น การศึกษา ชนชั้น หรือฐานะ ก็เข้ามามีบทบาทในการตัดสินตีตราผู้ชายไม่ต่างกัน เช่นกรณีเด็กแว้น เมื่อโดนทำร้ายก็จะโดนกล่าวโทษด้วยเหตุผล “ก็อยากออกมาแว้นเอง” เช่นเดียวกันกับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ การอยู่ในสังคมที่ให้คุณค่ากับรักต่างเพศทำให้คนกลุ่มนี้มีสถานะทางสังคมที่ด้อยกว่าคนทั่วไป อัตลักษณ์ทางเพศที่ถูกให้คุณค่าว่าเป็นรองเพศอื่น ๆ ส่งผลให้คนที่มีความหลากหลายทางเพศตกเป็นผู้ถูกกระทำอยู่เสมอไม่แตกต่างไปจากผู้หญิง หรืออาจเลวร้ายกว่าในบางกรณี ทำให้มองเห็นว่าการกล่าวโทษเหยื่อที่เกิดขึ้นมีความสอดคล้องกับสถานะทางสังคมของแต่ละคนที่เข้ามาช่วยส่งเสริมและสร้างอำนาจ เป็นผลทำให้คุณค่าในชีวิตของแต่ละคนถูกจัดวาง และเกิดการถูกลงโทษมากน้อยแตกต่างกันไป
วาทกรรมหญิงดี-หญิงเลว
คุณธารารัตน์ ปัญญา นักกิจกรรมและทูตของ UN Women มองว่า สังคมไทยมีกรอบความคิดที่ตีกรอบการแสดงออกและวิถีชีวิตของผู้หญิง ซึ่งกรอบดังกล่าวคือวาทกรรมหญิงดีหญิงเลวที่เป็นผลผลิตของระบบความคิดแบบชายเป็นใหญ่ และทำหน้าที่ในการจัดกรอบให้ผู้หญิงมาอย่างยาวนาน
ระบบชายเป็นใหญ่อยู่เบื้องหลังทุกความรุนแรงที่มีมิติทางเรื่องเพศ ทำหน้าที่ผลิตความเป็นหญิงดีหญิงเลว โดยวนเวียนอยู่ในสังคมและแวดล้อมผู้คนไปด้วยข้อมูลที่ถูกทำให้เชื่อว่าเป็นความจริง หล่อหลอมให้คนในสังคมเชื่อว่าความเป็นหญิงดีคือสิ่งที่ดีงาม ผู้หญิงต้องทำตัวให้อยู่ในกรอบนี้ ซึ่งวิธีคิดลักษณะนี้มีความรุนแรงมาก เพราะคนจะมองไม่เห็นว่าตัวเองกำลังจัดกรอบผู้หญิงลงกล่องหญิงดีหญิงเลวเพื่อให้ผู้หญิงอยู่ในการควบคุม อยู่ในระเบียบวินัย อยู่ภายใต้บงการ
“การจัดกรอบผู้หญิงทำให้การทำงานของระบบชายเป็นใหญ่เป็นไปได้ง่าย เพราะเชื่อกันว่าจะทำให้ผู้หญิงเชื่อง อ่อนน้อม อยู่ในโอวาท เป็นผู้รับฟัง เป็นพลเมืองที่มีลักษณะตั้งรับ แนวคิดนี้เข้าไปฝังในระบบความเชื่อของทุกคนในสังคม ไม่ใช่แค่ผู้ชาย แต่อยู่ในมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าเขาจะมีเพศสภาพหรือเพศวิถีแบบใด เมื่อเข้าไปฝังแล้ว ก็จะทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติกับผู้หญิง จับผู้หญิงลงกล่องภายใต้ความเป็นผู้หญิงดี” อาจารย์ ดร.ชเนตตีอธิบาย
ผู้หญิงถูกคาดหวังให้ทำหน้าที่ของความเป็นหญิงตามวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ ผู้หญิงต้องขาวสะอาด เรียบร้อย ทำหน้าที่เป็นแม่และเป็นเมีย คุณธารารัตน์ยกตัวอย่างกรณีของคุณลันลาเบลโดยใช้กรอบวาทกรรมหญิงดีหญิงเลวมามอง ซึ่งทำให้เรามองเห็นลักษณะของความเป็นหญิงที่ถูกตีตราว่าเลวร้ายและไม่ถูกให้คุณค่า
“ผู้หญิงที่ดีต้องไม่ทำงานพริตตี้ คือถ้าเป็นพริตตี้ก็จะถูกมองว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี ไม่มีคุณค่าในตัวเอง คือกรอบของสังคมมองว่าผู้หญิงที่ดีต้องมีลักษณะเดียวเท่านั้น ดังนั้นพอเกิดเหตุการณ์ขึ้นมา เมื่อผู้ถูกกระทำไม่ได้อยู่ในกรอบผู้หญิงดีที่คนในสังคมกำหนดเอาไว้ คนก็เลยพุ่งเป้ามาที่ผู้หญิงที่ถูกกระทำก่อน ซึ่งกรอบวาทกรรมที่ว่าผู้หญิงไม่ดีทำงานแบบนี้ เป็นผู้หญิงที่ไม่มีคุณค่าในตัวเอง เกิดเหตุอะไรก็สมควรได้รับแต่คำด่า คำประณาม เป็นการตัดสินเอาจากพฤติกรรมเรื่องงาน ทั้ง ๆ ที่งานนั้นไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน” คุณธารารัตน์กล่าว
อย่างไรก็ตาม การเป็นหญิงดีไม่ได้สร้างอำนาจให้ผู้หญิง แต่เป็นการสยบยอมและรับใช้ระบบ ผู้หญิงเดินตามบรรทัดฐานหญิงดีเพื่อให้สังคมมองว่าตัวเองเป็นคนดี ซึ่งในประเด็นนี้คุณวิภาพรรณ วงษ์สว่าง ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Thaiconsent.org ย้ำชัดว่า การเป็นผู้หญิงที่ดีนั้นมีปัญหา เพราะความดีไม่ได้มีแบบเดียว และการที่ผู้หญิงยอมรับว่าความดีมีแบบเดียวและพยายามทำตัวให้สังคมยอมรับว่าตัวเองเป็นคนดี นั่นแปลว่าผู้หญิงไม่สามารถผลิตความดีและคุณค่าของตัวเองด้วยตัวเองได้ แต่ต้องได้รับการยอมรับจากสังคม เช่นเดียวกับอาจารย์ ดร.ชเนตตี ที่มองว่าการเป็นหญิงดีไม่ได้ทำให้ผู้หญิงมีอิสระ แต่เป็นการปฏิบัติตามความคาดหวังของสังคม ซึ่งผู้หญิงต้องตระหนักรู้และต้องปลดพันธนาการจากแหล่งอำนาจที่เข้ามาครอบงำและบงการให้ผู้หญิงต้องอยู่ภายใต้วาทกรรม
“ต้องถามว่าหญิงดีนั้น ทำให้คุณทลายกรอบและเป็นอิสระแล้วหรือยัง ซึ่งความเป็นอิสระตรงนั้นคือสิ่งที่สำคัญในความเป็นมนุษย์ แต่ส่วนใหญ่คนจะไม่ค่อยรู้ว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะเราถูกบงการและตั้งเป้าหมายไว้แล้ว เราเหมือนหุ่นเชิดที่ถูกกำหนดให้ไปสู่เป้าหมายอะไรบางอย่าง แต่เป้าหมายนั้นไม่ได้เกิดจากเสียงข้างในของเราเอง แต่เราทำเพราะสังคมคาดหวัง กดดัน และอยากให้เราเป็น” อาจารย์ ดร. ชเนตตีชี้แจง
หญิงดีหญิงเลวกับ Victim Blaming
การกล่าวโทษเหยื่อ (Victim blaming) เป็นผลมาจากการจัดกรอบหญิงดีหญิงเลวในสังคม ซึ่งมีรากฐานมาจากวัฒนธรรมอำนาจนิยม ซึ่งคุณวิภาพรรณได้แสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้ได้อย่างน่าสนใจ ว่าการกล่าวโทษเหยื่อนั้นเป็นเรื่องที่ไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิง เพราะไม่ได้ทำให้ความรุนแรงทางเพศลดน้อยลง แต่การได้พูดหรือแสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์นั้นเป็นการแสดงออกว่าตัวเองมีอำนาจเหนือกว่าซึ่งการแสดงออกลักษณะนี้เป็นลักษณะของสังคมที่เก็บกดจากการถูกกดขี่มาเป็นเวลานาน
“เขารู้ว่าช่วยเหยื่อไม่ได้ แก้ปัญหาสังคมก็ไม่ได้ แต่ด้วยความที่เติบโตมากับความเชื่อว่าผู้หญิงดีมีแบบเดียว จึงทำให้เกิดการแสดงออกหรือซ้ำเติมเหยื่อเพื่อบอกว่า ‘ฉันช่วยไม่ได้หรอก แต่ฉันก็ทำดีที่สุดในการเป็นผู้หญิงดีแล้ว’ เพื่อให้สังคมยอมรับว่าความผิดของเหยื่อไม่เกี่ยวกับการเลี้ยงดูของตัวเอง” คุณวิภาพรรณกล่าว
คุณวิภาพรรณยังเสริมอีกว่า เมื่อเกิดความรุนแรงทางเพศขึ้น สังคมไทยไม่ได้พิจารณาว่า “เกิดอะไรขึ้น” แต่จะดูก่อนว่า ”เป็นใคร” ซึ่ง “ใคร” ในที่นี้จะส่งผลกับความคิดและความรู้สึกของคนในสังคม ซึ่งสิ่งนี้คือ อคติ และไม่มีทางนำไปสู่ความเป็นธรรมทางสังคมได้ พ้องกับความคิดเห็นของคุณธารารัตน์ ที่กล่าวว่า เมื่อผู้หญิงมีสถานะต่ำกว่าผู้ชาย ผู้หญิงจะถูกให้คุณค่าด้วยลักษณะที่สังคมกำหนดไว้ หากผู้หญิงไม่ทำตามกฎเกณฑ์นั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้น จึงมีแนวโน้มที่คนทั่วไปจะกล่าวโทษผู้หญิงมากกว่า
Victim Blaming ผลลัพธ์การกระทำของเราทุกคน
แม้ในปัจจุบันนี้ การกล่าวโทษเหยื่อจะลดลงแล้ว แต่การกล่าวโทษเหยื่อไม่ควรเกิดขึ้นเลยตั้งแต่ต้น เพราะการกระทำในลักษณะดังกล่าวเป็นการตอกย้ำบาดแผลของผู้ถูกกระทำความรุนแรงและเป็นการส่งเสริมให้คนกล้าลงมือกระทำความรุนแรงทางเพศมากขึ้น ซึ่งคุณวิภาพรรณอธิบายว่า
“คิดภาพว่าวันหนึ่ง มีคนที่จ้างพริตตี้มา แล้วเขาก็เมามาก เขาเกิดความคิดไม่ดีหรือพยายามจะใช้ความรุนแรงทางเพศกับพริตตี้ แต่เมื่อเขาประเมินความเสี่ยงแล้ว เขาก็อาจจะคิดว่า ไม่เป็นไรหรอก ถ้าเรื่องบานปลาย ผู้หญิงที่ทำอาชีพพริตตี้ก็สมควรโดนอยู่แล้ว อันนี้คือวิธีคิดง่าย ๆ ว่า คนในสังคมกำลังส่งเสริมให้คนกล้าลงมือทำมากขึ้น ซึ่งการกล่าวโทษเหยื่อก็คือการที่สังคมโอ๋คนทำผิด หรืออย่างประเด็นข่มขืนผู้โดยสาร แล้ววันถัดมาก็โทรไปขอร้องว่าอย่าเอาเรื่อง แม่ก็บอกว่าลูกชายเป็นคนดี ซึ่งมันคือการที่เราโอ๋คนทำผิด เราขอโอกาสให้คนทำผิด โดยที่เราไม่มีอะไรเข้าข้างเหยื่อเลย”
การแสดงออกดังกล่าวแสดงให้เห็นความเป็นไปที่เกิดขึ้นในสังคม เมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงกับผู้หญิง เราสังเกตได้ว่าความเห็นใจของคนในสังคมนั้นแตกต่างกันมาก นั่นเป็นเพราะ สังคมไทยเลือกสงสารเหยื่อโดยตัดสินจากลักษณะความเป็นหญิงดีหญิงเลวที่สังคมจัดกรอบให้ผู้หญิงแต่ละคน ต้องเป็นผู้หญิงที่ไม่มีรอยด่างหรือเป็นเด็ก
“ถ้าเราเล่าว่าผู้หญิงคนหนึ่งถูกมอมแล้วตาย หรือถูกละเมิดแล้วตาย คนจะสงสารผู้หญิงคนนั้นถ้าเขาไม่เคยทำผิด ไม่เคยทำบาป แต่ถ้าได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าผู้หญิงคนนี้นิสัยแบบนี้ เป็นคนทำงานบริการหรือมีข้อมูลว่าผู้หญิงคนนี้เป็นคนที่ดีบ้างเลวบ้าง คุณเริ่มเห็นความเป็นคนของเขา คุณก็จะรู้สึกไม่อยากเข้าข้างเขาแล้ว” คุณวิภาพรรณกล่าว
อย่างไรก็ตาม การกล่าวโทษเหยื่อที่มีผลจากระบบชายเป็นใหญ่ ก็ไม่ได้ทำร้ายและกดทับผู้หญิงที่มีอำนาจเป็นรองอย่างเดียวเท่านั้น แต่กลไกและการทำงานของระบบดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อตัวผู้ชายหรือผู้กระทำอีกด้วย
“เรารู้สึกว่าความคิดแบบชายเป็นใหญ่ มันไม่มีใครได้ผลดีจากแนวคิดแบบนี้ แม้กระทั่งตัวผู้ชายเอง คือคนก็บอกว่าตัวผู้ชายเองอยู่ในสถานะที่สูงกว่า แต่ในสถานะที่สูงกว่าตรงนี้มันก็ทำให้เกิดภาวะความเป็นชายเป็นพิษ (Toxic masculine) ได้เหมือนกัน อย่างเช่นในกรณีนี้ เราก็คิดสภาพผู้ชายที่แบบเป็นชายมาก แล้วอยู่ด้วยกันกับเพื่อน แสดงความห่าม ความดิบ คือต้องรายงานว่าไปมีเพศสัมพันธ์กับใครบ้าง มีการเก็บแต้ม ล่าแต้ม” คุณธารารัตน์แสดงความคิด
ภาวะความเป็นชายเป็นพิษ (Toxic masculinity) นั้น เป็นผลลัพธ์ของระบบชายเป็นใหญ่ที่กดทับผู้ชายในสังคม ซึ่ง อาจารย์ ดร. ชเนตตีชี้ว่า เด็กผู้ชายถูกสังคมสอนให้เห็นผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ (Sexual object) เพื่อความปรารถนาในเรื่องเพศของตัวเอง มีอิสระทางเพศ มีเสรีภาพในเรื่องเซ็กส์ และการใช้ความรุนแรงกับผู้หญิงเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ขณะเดียวกันผู้ชายไม่เคยถูกสอนเรื่องความยินยอมพร้อมใจ (Sexual consent) ที่จะแตะเนื้อต้องตัวผู้หญิง สังคมไทยยังไร้วัฒนธรรมและการปลูกฝังเช่นนี้ เพราะฉะนั้น ผู้ชายจึงรู้สึกว่าตัวเองจะทำอะไรก็ได้
“เพราะเราไม่เคยบอกผู้ชายว่า สิ่งที่เขาไม่ควรทำในเรื่องเพศมีอะไรบ้าง เราให้อิสระกับผู้ชายมาก แม้กระทั่งกฎหมายที่บอกว่าผู้ชายมีภรรยาได้คนเดียว แต่ในทางปฏิบัติเราก็ยังเห็นผู้ชายหลายเมีย สังคมก็ไม่เข้าไปจัดการอะไร นี่แหละคือความชั่วร้ายของระบบชายเป็นใหญ่ที่ยาวนาน” อาจารย์ ดร. ชเนตตีกล่าว
ปัญหาเริ่มต้นขึ้นจากระบบความคิดแบบชายเป็นใหญ่ที่หล่อหลอมให้คนในสังคมเชื่อและปฏิบัติตามอย่างไม่มีเงื่อนไข ประกอบสร้างให้สังคมมีระบบความคิดจัดกรอบผู้หญิง ขณะเดียวกันก็สร้างอาชญากรขึ้นมา ดังนั้น ทุกคนในสังคมจึงมีส่วนรับผิดชอบไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เพราะทุกคนอยู่ในระบบและมีการเอากลไกของระบบมาใช้ เพราะฉะนั้น ทุกคนมีส่วนในการผลิตอาชญากร ซึ่งอาจเกิดจากการเอารัดเอาเปรียบไม่วิถีใดก็วิถีหนึ่งในโลกใบนี้ ซึ่งเราอาจจะไม่รู้ตัว
ทำอย่างไรให้ Victim Blaming หายไป
เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ที่สังคมจะเลิกกล่าวโทษเหยื่อ ทั้งสามท่านเห็นตรงกันว่ามีความเป็นไปได้ แต่ก็ต้องใช้เวลาและความเข้าใจของคนในสังคม เพราะระบบแนวคิดชายเป็นใหญ่ หญิงดีหญิงเลว มีการส่งต่อกันมาหลายร้อยปี การเข้าไปเขย่าหรือทำลายให้หายไปในพริบตาก็อาจเป็นไปไม่ได้ คุณธารารัตน์อธิบายว่า สิ่งแรกที่ควรแก้ไข นั่นคือ คนในสังคมต้องฟังเสียงของผู้หญิงมากขึ้น ถึงแม้สังคมจะเปลี่ยนแปลงจากในอดีตมากแล้ว แต่นัยของความเท่าเทียม ผู้หญิงก็ยังมีสถานะต่ำกว่าผู้ชาย ส่งผลให้เสียงของผู้ชายถูกรับฟังมากกว่าเสมอ ดังนั้น การรับฟังเสียงของผู้หญิงจึงเป็นวิธีการสำคัญในการก้าวไปสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาต่อ ๆ ไป
การศึกษาคือกุญแจสู่การแก้ไขและเปลี่ยนแปลง อาจารย์ ดร. ชเนตตี ชี้ว่า การศึกษาของไทยไม่ได้เรียนรู้โดยใช้ฐานของอารมณ์ความรู้สึก แต่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนคิด วิเคราะห์ และตั้งคำถาม ซึ่งมุ่งเข้าถึงความรู้มากกว่าจะมุ่งให้เข้าใจความรู้สึกของคนอื่น ดังนั้นต้องมีหลักสูตรที่พัฒนาการเรียนรู้ผ่านหัวใจ พร้อม ๆ กับพัฒนาการให้ความรู้เรื่องความเป็นธรรมทางเพศ (Gender equality) ซึ่งต้องเริ่มเรียนตั้งแต่ในอนุบาล การเรียนการสอนที่กำหนดบทบาทหน้าที่ของชายหญิงต้องหมดไป เพราะบทเรียนกำหนดให้พ่อต้องไปทำงาน แม่ต้องทำงานบ้าน ซึ่งการสอนแบบนี้เป็นการปลูกฝังเด็กให้กลายเป็นคนที่มีฐานความคิดแบบชายเป็นใหญ่ แต่ความเป็นจริงบทบาททางเพศ (Gender role) ได้สลับกันหมดแล้ว
เช่นเดียวกัน สื่อก็มีบทบาทในการช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมได้ ละครต้องแก้ฉากข่มขืนและทำให้เห็นว่าความยินยอมพร้อมใจ (Sexual consent) เป็นเรื่องที่สำคัญ ในขณะเดียวกันการสร้างบทสนทนาใหม่ ๆ ให้เข้ามาในระบบก็มีบทบาทเป็นตัวเปลี่ยนประวัติศาสตร์ วิธีคิด และความเชื่อของคนในสังคม
“บทสนทนาเกิดขึ้นได้ในเวลาอันสั้น มันเกิดขึ้นเพราะคนในสังคมช่วยกัน สมมติพ่อแม่ดูข่าวแล้วพูดให้เด็กผู้หญิงฟังว่าคนทำแย่มากเลย เด็กผู้หญิงที่โตมากับคำพูดแบบนี้เขาจะเป็นคนละคนกับเด็กผู้หญิงที่โตมากับคำพูดที่ว่าอันนี้อันตรายมาก หนูอย่าไปทำอะไรแบบผู้หญิงคนนี้นะ” คุณวิภาพรรณอธิบาย
ท้ายที่สุด รัฐบาลเป็นส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลง เพราะรัฐเป็นกลไกโครงสร้าง เมื่อกำหนดนโยบาย รัฐต้องมีมุมมองเรื่องเพศ (Gender lens) ด้วย นั่นคือรัฐต้องตระหนักรู้ว่านโยบายนั้นเอื้อประโยชน์ให้คนกลุ่มไหน แล้วมีคนกลุ่มไหนเสียประโยชน์หรือถูกรังแก พร้อมออกมาปกป้องและออกกฎหมายที่เป็นธรรม หากไม่เกิดความยุติธรรม ก็ไม่มีประโยชน์ในการแก้ปัญหาสังคม ซึ่งรัฐต้องดูแลและจัดการไม่ให้กฎหมายมีช่องว่างและความไม่ยุติธรรมในเรื่องเพศ
Victim blaming สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศในสังคม แต่เนื่องจากแนวคิดแบบชายเป็นใหญ่ได้ทำการจัดกรอบผู้หญิงและตีตรากลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศมากกว่า จึงทำให้แนวโน้มที่คนกลุ่มนี้จะโดนกล่าวโทษเมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศ อย่างไรก็ตาม ระบบคิดดังกล่าวก็ส่งผลกระทบต่อผู้ชายด้วยเช่นกัน นั่นเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าระบบชายเป็นใหญ่ที่กดทับทุกคนอยู่ควรได้รับการเปลี่ยนแปลง โดยคนในสังคมต้องตระหนักรู้ถึงอำนาจที่ครอบงำความคิดเรื่องเพศของตัวเอง เพื่อสร้างสังคมที่ไร้การกล่าวโทษเหยื่อและสร้างความเท่าเทียมให้กับคนทุกเพศ พร้อมให้คุณค่ากับความเป็นมนุษย์ของทุกคนอย่างแท้จริง