“พริตตี้เอ็นเตอร์เทน” ชีวิตบนเส้นด้ายที่ไม่มีใครมองเห็น

“พริตตี้เอ็นเตอร์เทน” ชีวิตบนเส้นด้ายที่ไม่มีใครมองเห็น

“พริตตี้เอ็นเตอร์เทน” ชีวิตบนเส้นด้ายที่ไม่มีใครมองเห็น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม้คดีการเสียชีวิตของพริตตี้สาว “ลันลาเบล” จะคลี่คลายลงด้วยการจับกุมตัวนายรัชเดช หรือน้ำอุ่น พริตตี้บอย แต่เชื่อว่านาทีนี้ คำว่า “พริตตี้เอ็นเตอร์เทน” น่าจะได้รับความสนใจจากสังคมไทยมากทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องรายได้งามๆ และรายละเอียดการทำงานที่มีหลายระดับ ซึ่งปรากฏว่าในบางครั้ง งานพริตตี้ก็ไม่ใช่การขายบริการทางเพศเสมอไป แต่ภายใต้ภาพของงานสบาย รายได้ดี สิ่งที่สังคมกลับมองข้ามไป คือความเสี่ยงอันตรายในการทำงาน ซึ่งอาจส่งผลต่อชีวิตของพวกเธอในระยะยาว โดยที่ไม่มีกฎหมายหรือมาตรการใดๆ มาคุ้มครอง

>> "อัจฉริยะ" หอบหลักฐานเด็ดคดี "ลันลาเบล" ให้ตำรวจ ลั่น "น้ำอุ่น" ไม่ได้ทำคนเดียว
>> "ตี๋" งดสัมภาษณ์ แย้มมีไม้เด็ด ปัดตอบคลิปพริตตี้คร่อมร่าง บอก "ให้ภาพมันเล่าเรื่อง"
>> จ่อสอบ “พริตตี้เดียร์” ข้อหาลักทรัพย์ หลังเจ้าของบ้านปาร์ตี้แจ้งความโดนฉกผ้าเช็ดตัว
>> น้ำอุ่น นอนคุก คดีลันลาเบล! ศาลไม่ให้ประกันตัว หวั่นหลบหนี-ยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน

พริตตี้เอ็นเตอร์เทน = พนักงานบริการ

“พริตตี้เอ็นเตอร์เทน” คืองานสร้างความบันเทิงให้แก่ผู้จ้างงาน มีตั้งแต่การเป็นคู่ควงไปรับประทานอาหาร ไปจนถึงการสร้างสีสันในงานเลี้ยงฉลองต่างๆ ซึ่งมักจะมีการดื่มแอลกอฮอล์ เสพยาเสพติด ไปจนถึงการขายบริการทางเพศ อย่างไรก็ตาม การเลือกรับงานจะขึ้นอยู่กับความสมัครใจของตัวพริตตี้เอง ซึ่งนั่นหมายความว่า ไม่ใช่พริตตี้ทุกคนที่ขายบริการทางเพศด้วย ดังนั้น หากจะนิยามงานลักษณะนี้ ก็จะเรียกว่าเป็น “พนักงานบริการ” (service worker) ไม่ใช่ผู้ขายบริการทางเพศ (sex worker)

“ถ้าเป็นคำว่าพนักงานบริการมันจะครอบคลุมได้ทั้งหมด หลายคนก็จะสบายใจที่จะเรียกตัวเองแบบนี้ และการช่วยเหลือก็จะเข้าถึงเขาได้ เพราะมันไม่มีการตีตรา ไม่ว่าจะเป็นทำงานพาร์ทไทม์ ทำงานอยู่ในบาร์ ทำงานออนไลน์ ถ้าเราให้บริการโดยการเป็นเพื่อนคุย ชงเครื่องดื่ม บริการต่างๆ เราคิดว่ามันอยู่ในขอบข่ายของการเป็นพนักงานบริการได้” คุณสุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการสวิง (SWING: Service Workers in Group Foundation) อธิบาย

งานสบาย รายได้ดี

ในขณะที่สังคมส่วนใหญ่ยังมีทัศนคติแง่ลบต่องานพริตตี้เอ็นเตอร์เทน แต่สาวๆ หลายคนกลับเลือกเดินทางนี้ ด้วยเหตุผลสั้นๆ คือเป็นงานสบายและค่าตอบแทนสูง ซึ่งคุณ A อดีตพริตตี้เอ็นเตอร์เทน เล่าว่า นอกจากจะต้องทำงานเพื่อหาเงินเลี้ยงครอบครัวแล้ว การเป็นพริตตี้ยังมีต้นทุนที่สูงมาก โดยเฉพาะการเสริมภาพลักษณ์ให้ดูดีอยู่เสมอ ซึ่งพริตตี้หลายคนเลือกทำศัลยกรรมความงาม จึงจำเป็นต้องมีรายได้จำนวนมาก และงานเอ็นเตอร์เทน ก็เป็นงานที่ตอบโจทย์เลยทีเดียว

“ในหนึ่งปี เราจะมีงานแค่ 2 งานใหญ่ๆ คืองานมอเตอร์เอ็กซ์โปและงานมอเตอร์โชว์ รายได้ที่รับแต่ละครั้งจะอยู่ที่ประมาณ 40,000 – 50,000 บาทต่อครั้ง ซึ่งมันไม่พอแน่นอนสำหรับพริตตี้ เราต้องการทำงาน หาเงินเยอะๆ ก็เลยรับงานเอ็นเตอร์เทน เดือนหนึ่งๆ ได้หลายแสนค่ะ ทั้งงานทานข้าว 4,000 – 5,000 บาท ถ้าลูกค้าถูกใจ เห็นว่าเรามารยาทดี คุยดี ก็อาจจะให้ 10,000 บาท ทำงานแค่ 3 – 4 ชม. ลูกค้าบางคนถูกใจก็รับเลี้ยงดู แล้วก็รับงานมอเตอร์โชว์ไปด้วย” คุณ A เล่า พร้อมระบุว่า ส่วนตัวเธอมองว่านอกจากค่าตอบแทนที่สูงแล้ว ยังทำให้เธอได้แต่งตัวสวยๆ และพบปะกับผู้คนในสังคมดีๆ ด้วย

ด้านคุณ B พริตตี้เอ็นเตอร์เทนอีกคนกล่าวว่า ข้อดีของงานลักษณะนี้คือ ระยะเวลาการทำงานสั้นเพียงไม่กี่ชั่วโมง และได้รับเงินทันทีที่จบงาน

“ถ้าเป็นพริตตี้ทั่วไปตามงานก็ต้องรอเงินค่าจ้าง แล้วก็ต้องทำงานหนัก ยืนนาน ตากแดดร้อน แต่ถ้าพริตตี้เอ็นเตอร์เทนจะไม่ต้องไปตากแดด อยู่ในห้อง ปาร์ตี้ ดื่มเหล้า ทำงาน 3 ชั่วโมง 5 ชั่วโมง ก็ได้เงินเลย เราเป็นพริตตี้เอ็นเตอร์เทนมาปีกว่าๆ เกือบ 2 ปี มันเป็นงานที่หนัก เหนื่อยมาก แต่ว่าได้เงินดี ให้พ่อแม่ได้มากขึ้นเยอะ วันเดียวทำได้ 2 - 3 งานเลยค่ะ ได้เป็นหมื่น ไม่รวมทิป เมื่อก่อนเศรษฐกิจดี คนมีเงิน ให้ดื่มเหล้าช็อตละพันก็มี ก็ได้เงินเยอะ ซึ่งถ้าประจำอยู่ตามร้าน ตามผับ วันหนึ่งได้ไม่กี่พันบาท” คุณ B กล่าว

สินค้าเสริมบารมี

กลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้จ้างงานหรือลูกค้าของพริตตี้เอ็นเตอร์เทนนั้นมีหลากหลายกลุ่ม คุณ B เล่าว่า โดยทั่วไป หากเป็นกลุ่มพนักงานออฟฟิศ จะเป็นการจ้างไปเอ็นเตอร์เทนในงานเลี้ยงบริษัท ถ้าเป็นงานกลางวัน ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นวัยกลางคน รวมถึงกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้จากธุรกิจสีเทา ที่มักจะจ้างแบบ “เอ็น-อัพ” คือมีการเสพยาเสพติด และลูกค้าชาวต่างชาติ ที่มักจะจ้างพริตตี้ไปเที่ยวต่างจังหวัด

“ผู้ชายบางคนไปไหนก็ต้องมีผู้หญิง บางคนก็เรียกผู้หญิงไม่ซ้ำหน้าเลย ใครเป็นพริตตี้จากไหน ก็ต้องเอาพริตตี้จากที่นั่นให้ครบเลย แต่ก็ต้องมีรายได้ ถึงจะเรียกพริตตี้บ่อยๆ ได้ ถ้าไม่ทำอาชีพผิดกฎหมายก็ต้องทำงานดีหน่อย ลูกค้าวัยรุ่น เด็ก ผู้ใหญ่ ชาวต่างชาติ ชอบไม่เหมือนกันเลย ถ้าวัยรุ่นก็จะชอบสไตล์เปรี้ยว แรงๆ ถ้าผู้ใหญ่ก็จะชอบแบบธรรมดา ต่างชาติจะชอบแบบขาว ตัวเล็ก ไม่ทำศัลยกรรมมาก หน้าตาไทยๆ งานนี้มีอะไรแปลกๆ เยอะค่ะ ไปเอ็นเตอร์เทนเลสเบียน ทอมก็มี บางทีก็ไปเอ็นเตอร์เทนบาร์โฮสต์” คุณ B เล่า

เมื่อพิจารณารูปแบบการทำงานที่ผู้ว่าจ้างส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย และจ้างพริตตี้ผู้หญิงหน้าตารูปร่างดี เพื่อเป็นคู่ควงหรือสร้างความบันเทิงในโอกาสต่างๆ จึงอาจเรียกได้ว่า พริตตี้เอ็นเตอร์เทนมีสถานะเป็นเครื่องเสริมภาพลักษณ์ของผู้ชาย ซึ่งคุณสุรางค์อธิบายว่าเป็นค่านิยมที่เกิดจากแนวคิดชายเป็นใหญ่นั่นเอง

“ผู้ชายส่วนหนึ่งเห็นผู้หญิงเป็นของเล่น เป็นเครื่องประดับ การมีพริตตี้มาเป็นการเสริมบารมี ทำให้คนอื่นเห็นว่าเรามีของเล่น เราเจ๋ง ยิ่งได้พริตตี้ที่มีชื่อเสียง หน้าตาดี ยิ่งเป็นการเสริมบารมีว่าฉันนี่เจ๋งมาก สามารถที่จะพาผู้หญิงเหล่านี้ที่คนอื่นหมายปองมาได้ เป็นการเสริมพลังอำนาจความเป็นชายที่กดทับผู้หญิง” คุณสุรางค์กล่าว

โดยทั่วไป พริตตี้เอ็นเตอร์เทนจะรับงานผ่านโมเดลลิ่ง และติดต่อกันทางออนไลน์เป็นหลัก เริ่มจากการที่ลูกค้า “บอร์ดงาน” หรือแจ้งสเปคของพริตตี้ที่ต้องการกับโมเดลลิ่ง จากนั้น โมเดลลิ่งจะมาประกาศในห้องแชท ให้สาวๆ ส่งโปรไฟล์ไปให้ลูกค้าเลือก คุณ B เล่าว่า เมื่อรับหน้าที่มาเอ็นเตอร์เทน พริตตี้จะต้องยอมตามใจลูกค้าทุกอย่าง ไม่ทิ้งลูกค้าอยู่คนเดียวนานๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพราะความพึงพอใจของลูกค้าเท่านั้น แต่ยังหมายถึงโอกาสในการทำงานครั้งต่อๆ ไปของเธอด้วย

“เราก็ต้องคุยเก่ง เอาอกเอาใจ ทำทุกอย่าง เวลาไปตามผับเราจะห่างจากเขาไม่ได้เลย เดินตามเหมือนเขาเป็นพระเจ้า แบบนั้นเลย ถ้าเกิดเราทิ้งลูกค้า หรือหายไปเข้าห้องน้ำนานๆ ลูกค้าจะฟ้องโมเดลลิ่งเรา แล้วเราก็จะโดนด่า บางงานก็หักเงิน และโอกาสที่เราจะได้รับงานก็จะน้อยลง บางทีอยู่เฉยๆ ลูกค้ายังว่าเลยค่ะ สมมติว่าเราทำจมูกโด่งหรือว่าคางเรายาว เขาก็ว่าเรา ทั้งๆ ที่เขาเลือกเรามา แต่เราก็ทำหน้าให้ถูกใจใครทั้งหมดไม่ได้ เราก็ต้องยอมไป ถ้าไม่ยอมเดี๋ยวมีปัญหา” คุณ B กล่าว

ด้านคุณ A ก็มองว่า แม้ว่าเธอจะรู้สึกภาคภูมิใจที่สามารถทำงานหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ แต่พริตตี้เอ็นเตอร์เทนก็อยู่ในสถานะเหมือนเป็นสินค้าชิ้นหนึ่ง ที่ลูกค้าเลือกได้จากแคตตาล็อก

“ถ้าเราวิเคราะห์นะ ตั้งแต่การส่งโปรไฟล์ ให้เขาเลือกหน้าตา อยากได้สเปคแบบไหน แต่งตัวแบบไหน เขาเลือกได้เหมือนเราเป็นสินค้าชิ้นหนึ่ง ฉะนั้น เขาก็เลยมองเราไม่มีค่า ถึงแม้ส่วนใหญ่เราจะเจอลูกค้าสุภาพมากกว่า แต่เราเชื่อว่าสุดท้ายแล้วเราก็ยังไม่มีเกียรติ เราก็ยังเป็นเหมือนวัตถุชิ้นหนึ่งที่สนองความต้องการของเขามากกว่า” คุณ A ระบุ

นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้จ้างงานกับพริตตี้ยังแสดงถึงอำนาจที่ไม่เท่ากันอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งในประเด็นนี้ คุณสุรางค์แสดงความเห็นว่า

การเป็นคนซื้อกับคนถูกซื้อ อำนาจไม่เท่ากัน คนถูกซื้อ ต่อให้เรารู้ทางหนีทีไล่ขนาดไหน เมื่อไปอยู่ตรงนั้น การที่เรารู้ว่าจะเอาตัวรอดอย่างไร บางทีมันก็ลดลงไป เพราะคนที่ซื้อเราสามารถทำได้ทุกอย่าง ถ้าเรารู้สึกว่าไม่ยอม เราก็ต้องยอม เพราะเรารู้สึกว่าเขาจ่ายเงินเรา ฉะนั้น อำนาจมันเลยไม่เท่ากัน อย่างเรื่องเพศสภาพ เพศหญิงมีกำลังน้อยกว่าเพศชายอยู่แล้ว พออีกฝ่ายหนึ่งมีอำนาจในฐานะผู้ซื้อ เป็นผู้จ่ายเงิน เราเป็นผู้ถูกซื้อ อำนาจของเรามันก็หายไปส่วนหนึ่ง”

ชีวิตบนเส้นด้าย

แม้จะดูเป็นงานที่ทำได้ไม่ยาก ใช้เพียงรูปร่างหน้าตาและความสามารถในการสร้างความสนุกสนาน ไปจนถึงการเอาอกเอาใจลูกค้า แต่งานพริตตี้เอ็นเตอร์เทนมีราคาที่ต้องจ่ายไม่น้อย นั่นคือความเสี่ยงในการทำงาน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และทรัพย์สิน ซึ่งคุณสุรางค์กล่าวว่า ทุกวันนี้ การซื้อบริการต้องติดต่อผ่านนายหน้าทางออนไลน์ พริตตี้ไม่เคยพบเห็นลูกค้ามาก่อน จึงมีแนวโน้มว่าลูกค้าที่พริตตี้คนนั้นกำลังจะไปหา อาจจะเป็นมิจฉาชีพก็ได้

“การออกไปนอกพื้นที่หมายความว่าเรากำลังไปเจอคนแปลกหน้า ที่สำคัญ คนแปลกหน้าเหล่านั้นมองเราเป็นสินค้า ไม่ได้มองเราเป็นคน ฉะนั้น เขาจะทำอะไรกับเราก็ได้ ถามว่ามันมีอันตรายอะไรบ้าง มันบอกยาก เพราะต่างคนต่างก็เห็นเราเป็นเป้าหมายที่เป็นสินค้าที่แตกต่างกัน พริตตี้บางคนเจอเรื่องคุกคามทางเพศ บางคนเจอคนที่จ้องจะเอาทรัพย์สิน ก็เข้ามาฉกชิงวิ่งราวทรัพย์สินของเขา หรือเห็นเขาเป็นเครื่องมือที่จะทำอะไรก็ได้ จะทุบจะตีอย่างไรก็ได้” คุณสุรางค์กล่าว

ส่วนคุณ B ก็เล่าประสบการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นขณะรับงานเอ็นเตอร์เทนให้กับลูกค้าชาวต่างชาติกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเธอเกือบเอาชีวิตไม่รอดว่า

“ตอนนั้นเขาจ้างไปเอ็นเตอร์เทนที่หัวหิน 3 วัน 2 คืน ก็ดื่มเหล้ากันในเรือ แล้วก็ขึ้นไปชั้นบนของเรือ ทุกคนเมามาก แล้วอยู่ๆ เขาก็จับเราโยนลงน้ำทั้งที่เราเมาค่ะ พอโยนปุ๊บ เราจะต้องจมลงไปก่อนแล้วโผล่ขึ้นมา แต่เราเมาด้วย ตกใจด้วย เพราะไม่ทันตั้งตัว เลยไม่ค่อยมีแรงตะกายขึ้นมา ถ้าไม่มีเสื้อชูชีพวันนั้นเราคงตาย แต่ผู้ชายเขาคิดว่ามันเป็นการเล่นสนุกสนาน เขาไม่คิดว่ามันอันตรายถึงชีวิต ถ้าบอกโมเดลลิ่ง โมเดลลิ่งส่วนใหญ่จะเข้าข้างลูกค้า เพราะกลัวว่าถ้าว่าลูกค้าไป ลูกค้าจะไม่มาใช้บริการเขาอีก เขาไม่กล้าว่าลูกค้า” คุณ B เล่า

นอกจากความรุนแรงทางร่างกายแล้ว สิ่งที่มักจะมาพร้อมกับงานเอ็นเตอร์เทน คือยาเสพติด ซึ่งลูกค้ามักจะว่าจ้างในลักษณะที่เรียกว่า “เอ็น-อัพ” คือทั้งเอ็นเตอร์เทนและอัพยา กรณีนี้พริตตี้หลายคนต้องป้องกันตัวด้วยเทคนิคต่างๆ เพื่อให้ไม่ต้องเสพยา ขณะเดียวกันก็มีพริตตี้อีกเป็นจำนวนมากที่ถลำตัว และไม่สามารถออกจากวังวนยาเสพติดได้

“มันจะมีการบอร์ดงานที่ขอเด็กเอ็น-อัพที่ฟีลแฟน หมายถึงร่วมเพศได้ ลูกค้าไม่ต้องเล่นยาด้วยก็ได้ แค่อยากเห็นเด็กเมายา มันจะเป็นอีกบุคลิกหนึ่ง และอาจจะได้มีอะไรกันด้วย และประเภทที่ลูกค้าชอบปาร์ตี้อยู่แล้ว แต่มีผู้ชายอย่างเดียวไม่มัน ต้องขอมีพริตตี้ด้วย พริตตี้บางคนอายุ 20 กว่า พอทำแบบนี้ก็ติด ลูกค้าบางคนเลี้ยงเด็กด้วยยาก็มี เราเคยถามคนที่เคยรับงานวีไอพี (งานเอ็นเตอร์เทนและขายบริการทางเพศ) บางคนก็ต้องเล่นยาให้เมาก่อน ถึงจะขึ้นงานได้ เพราะเขาไม่รู้ว่าลูกค้าคือใคร หรือเมาๆ ไป ก็จำไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วทำไมถึงทำ... ก็เงินไง” คุณ A เล่า

ด้านคุณสุรางค์ระบุว่า นอกจากการชักชวนให้เสพยาแล้ว ลูกค้ายังเป็นผู้ชักนำให้พริตตี้เข้าสู่วงจรยาเสพติด จากผู้เสพกลายเป็นผู้ขายในที่สุด

“เราเข้าไปทำงานในเรือนจำ เจอพริตตี้ที่เรารู้จักเข้าไปอยู่ในนั้นมากมาย มันมาจากลูกค้าเอามาให้ แล้วตอนหลังก็ใช้พริตตี้เป็นนกต่อขายยา แล้วเวลาโดนจับ พริตตี้เหล่านี้เป็นคนโดน เพราะคนเหล่านี้ไม่ได้มีอำนาจในตัวเอง แล้วยิ่งเป็นคนขายบริการ ยิ่งไม่มีอำนาจ ทุกคนก็ใช้คนเหล่านี้เป็นเครื่องมือระบายทางเพศ เป็นเครื่องมือที่จะนำพาให้ตัวเองมีรายได้ เป็นเครื่องมือในการขายยาเสพติดให้เขา” คุณสุรางค์กล่าว

เมื่อความยุติธรรมทอดทิ้งเธอ

ที่ผ่านมามีกรณีพริตตี้เอ็นเตอร์เทนถูกทำร้ายร่างกายไม่น้อย ทว่าไม่เกิดคดีความ เนื่องจากผู้เสียหายเลือกที่จะไม่ดำเนินคดี เพราะทัศนคติของเจ้าหน้าที่ที่มีต่อพนักงานบริการ รวมทั้งข้อกฎหมายที่นอกจากจะไม่คุ้มครองพนักงานบริการแล้ว ยังควบคุมและทำให้พนักงานบริการกลายเป็นผู้ทำผิดกฎหมายเสียเอง

“เราเคยเจอเคสหนึ่งถูกฝรั่งทำร้ายร่างกายจนเลือดเต็มไปหมดเลย พอพาไปแจ้งความ สิ่งที่พนักงานสอบสวนถามคือ ไปรู้จักฝรั่งคนนี้ได้อย่างไร ถามไปถามมากลายเป็นว่าน้องคนนั้นขายบริการ มีความผิดข้อหาค้าประเวณี สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเหตุให้คนไม่ไปแจ้งความ เพราะเมื่อไปแจ้งความแล้ว แทนที่จะได้รับการช่วยเหลือ กลับได้รับโทษ ก็เลยไม่ไปแจ้งความดีกว่า ปล่อยให้เรื่องเงียบไป คนกระทำก็ยิ่งฮึกเหิม ก็ยิ่งกระทำซ้ำ มันยิ่งตอกย้ำว่าพริตตี้เป็นแค่วัตถุ เพราะว่าพริตตี้ไม่มีปากเสียง เพราะว่ากฎหมายไม่ได้คุ้มครองเรา แต่มีอยู่เพื่อที่จะควบคุมเรา” คุณสุรางค์กล่าว

คุณ A เป็นคนหนึ่งที่ผ่านประสบการณ์การถูกลูกค้าทำร้ายร่างกาย และพยายามดำเนินคดีจนสามารถเอาผิดผู้กระทำได้ ซึ่งกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้นั้น เธอต้องฝ่าฟันหลายด่านเลยทีเดียว เธอเล่าเหตุการณ์หลังจากถูกชกต่อยในร้านอาหารของคู่กรณีว่า

“เราเอาหลักฐานทุกอย่างไปแจ้งความกับตำรวจ เราพูดเสมอว่าจะดำเนินคดี แต่ตำรวจไม่เคยออกเลขคดีให้ วันที่เอาใบรับรองแพทย์ไปให้ ตำรวจบอกว่าคนที่รับเรื่องลาพักร้อน เราบอกว่าให้คนอื่นรับเรื่องแทน เขาบอกว่าลาพักร้อนกันหมดเลย ผ่านมา 6 - 7 เดือน คดีไม่คืบเลย เพราะเขาเป็นคนมีชื่อเสียง และเกิดเหตุการณ์แบบนี้หลายครั้ง แต่ไม่มีใครเอาเรื่องได้ เพราะแต่ละปีเขาจะมีเงินบริจาคให้กับสถานีตำรวจ”

เนื่องจากคดีไม่มีความคืบหน้า คุณ A จึงพยายามยื่นคำร้องต่อองค์กรต่างๆ มีการเปลี่ยนชุดสืบสวนถึง 3 ชุด ก่อนที่เรื่องจะถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน จนสามารถดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุ โดยศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้มีความผิดในข้อหาทำให้เสียทรัพย์และกักขังหน่วงเหนี่ยว

“เชื่อไหมว่าตำรวจไม่ทำอะไรเลยจริงๆ แม้กระทั่งการเรียกค่าเสียหายจากรัฐ ตำรวจต้องเป็นคนยื่นหลักฐานทุกอย่าง เขาก็ไม่ทำ จนวันสุดท้าย เราไปทำเองถึงจะได้ เคสข่มขืนได้ค่าเสียหาย 30,000 บาท แต่เคสความรุนแรงที่ยังไม่ถึงข่มขืน อย่างเคสเรา จะได้ตามการพิจารณา ตอนนั้นเราเลยนึกในใจว่า ต้องให้โดนข่มขืนก่อนเหรอ ถึงจะเป็นคดีได้ หรืออย่างคดีของลันลาเบล ต้องให้ถึงชีวิตก่อนเหรอ ถึงจะเป็นคดีความ เราก็รู้สึกว่าทำไมมันแย่จัง” คุณ A กล่าว

นอกจากความยุติธรรมที่ล่าช้า สิ่งที่คุณ A ต้องประสบจากเหตุรุนแรง คือผลกระทบทางด้านจิตใจ ซึ่งส่งผลให้เธอต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตเลยทีเดียว

“ผลกระทบจากเหตุการณ์นี้มันแรงมาก เราหมกตัวอยู่ในคอนโดคนเดียว 8 เดือน เพราะเราจิตตกกับสิ่งที่เกิดขึ้น คิดฆ่าตัวตาย ไม่มีงานเลยเพราะว่าสภาพจิตใจเราไม่พร้อม เงินเก็บที่เรามีมันหมดไปกับเรื่องคดีหมดเลย เราใช้เวลาฟื้นฟูสภาพจิตใจเป็นปี กว่าจะใช้ชีวิตได้เป็นปกติ เพราะว่าเรามองตัวเองว่าเราไร้ค่า คิดว่าหรือว่าที่เราทำไปมันคือการขายตัวจริงๆ จิตตกถึงขั้นฟังอะไรเป็นเรื่องของตัวเองหมดเลย คิดว่าคนอื่นนินทาเรา และทุกคนโทษเราว่าเที่ยวกลางคืน เป็นผู้หญิง เป็นพริตตี้ แต่งตัวโป๊ สมควรแล้วที่โดนแบบนี้ คอมเมนต์แบบนี้เยอะมาก” คุณ A กล่าว

เพราะพริตตี้คือมนุษย์คนหนึ่ง

เมื่อพริตตี้ไม่ใช่วัตถุหรือสินค้า แต่เป็นมนุษย์คนหนึ่งในสังคม ที่ควรได้รับความเคารพ ให้เกียรติ และได้รับการปกป้องจากรัฐ เช่นเดียวกับคนในอาชีพอื่นๆ ดังนั้น คุณสุรางค์จึงเห็นว่า นอกจากพริตตี้จะต้องดูแลตัวเอง โดยการบอกคนรอบข้างว่าจะไปรับงานที่ไหนแล้ว ยังต้องมีกลไกการช่วยเหลือเมื่อเกิดภาวะวิกฤตจากการถูกกระทำ เช่น แอปพลิเคชันที่สามารถกดขอความช่วยเหลือได้ทันที แทนที่จะโทรแจ้งสายด่วน ซึ่งล่าช้าและล้าสมัย รวมทั้งตัวลูกค้าเองก็ต้องมีความเคารพตัวเองที่จะไม่ไปคุกคามคนอื่น และเคารพคนอื่นว่าเป็นคนเหมือนกับตนเอง อย่าถือโอกาสไปคุกคามหรือหาประโยชน์จากพริตตี้

นอกจากนี้ คุณสุรางค์ยังมองว่า ควรมีการพิจารณายกเลิกกฎหมายที่เหมารวมพนักงานบริการให้กลายเป็นผู้บริการทางเพศ และหันมาใช้กฎหมายอาญาและกฎหมายแพ่ง ที่ครอบคลุมคนทุกกลุ่มแทน

“ใครทำผิดทางอาญาก็ว่ากันด้วยกฎหมายอาญา ใครทำผิดทางแพ่ง ก็ใช้กฎหมายแพ่งให้เหมือนกันทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนซื้อหรือคนขาย แล้วมันก็จะไม่ทำให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีตราบาป เพราะกฎหมายฉบับหนึ่งคุมเขาอยู่ ทำให้เขาไม่สามารถก้าวออกไปรับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายอาญาหรือกฎหมายแพ่งได้ กฎหมายนี้ควรเอาออกไปซะ มันไม่มีประโยชน์ มันมีมากี่สิบปีแล้ว ก็ไม่ได้ทำให้ปัญหาลดลงเลย แต่ยังทำให้คนกลุ่มหนึ่งต้องอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้แล้วชีวิตมันแย่ เหมือนเป็นหุ่นยนต์เข้าไปทุกที” คุณสุรางค์กล่าว

แต่ไม่ว่าจะมีมาตรการป้องกันอย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือทัศนคติของสังคมที่กำหนดการออกกฎหมายและนโยบาย กรณีนี้ คุณสุรางค์ระบุว่า

“กฎหมายและนโยบายมันเป็นแค่ตัวหนังสือและกระดาษ แต่สิ่งที่คุมกฎหมายและนโยบายอยู่คือทัศนคติของคน เราไม่ได้ต้องการความสงสาร แต่สิ่งที่เราอยากเห็นจากสังคมคือความเข้าใจ ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของคนคนหนึ่งที่จำเป็นต้องมีชีวิต ต้องมีรายได้ และถ้าเราเป็นผู้ซื้อ เราก็จะซื้ออย่างที่เราเคารพซึ่งกันและกัน มันก็จะไม่เกิดปัญหา ฉะนั้น ทัศนคติเป็นเรื่องใหญ่ ทุกเรื่อง จุดเริ่มต้นมันอยู่ที่ทัศนคติ ถ้าคนในสังคมนี้ยังเห็นชีวิตคนอื่นเป็นสินค้าที่จะทำอะไรก็ได้ ปัญหามันก็จะไม่หายไปไหน บทเรียนจากกรณีลันลาเบลก็คือว่า เราต้องหันหน้ามาแก้ไข หามาตรการ แล้วก็มีการปฏิบัติอย่างต่อเนื่องจริงจังในเรื่องการช่วยเหลือคน ไม่ใช่เฉพาะพริตตี้หรือคนขายบริการ แต่ต้องมีระบบที่ให้การช่วยเหลือทุกคน ได้อย่างทันท่วงทีอย่างจริงจัง” คุณสุรางค์สรุป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook