รัฐกลืนน้ำลายเปิดรับจำนำข้าว
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เตรียมเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ในเร็ว ๆ นี้ เพื่อพิจารณานโยบายการแทรกแซงราคาข้าวนาปี ประจำปีการผลิต 52/53 โดยนายกฯ ได้ตัดสินใจที่จะให้มีการรับจำนำข้าวนาปีเช่นเดิม แต่การรับจำนำครั้งนี้จะแตกต่างจากที่ผ่านมา โดยเฉพาะราคารับจำนำที่จะกำหนดไว้ต่ำกว่าราคาตลาด เพราะไม่ต้องการแบกรับภาระงบประมาณเหมือนในอดีต ขณะเดียวกันการรับจำนำไม่ได้ทำให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวได้รับประโยชน์ อย่างทั่วถึง
นอกจากนี้นายกฯ ยังต้องการให้มีการแทรกแซงราคาด้วยระบบการรับประกัน เช่นเดียวกับที่ดำเนินการในสินค้ามันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เตรียมเสนอให้ ครม.พิจารณาในรายละเอียดอีกครั้งภายในกลางเดือน ก.ค. นี้ โดยนายกฯได้ชี้แจงให้ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ ได้รับทราบแล้วว่าผลของการรับจำนำสินค้าเกษตรโดยใช้เงินกว่า 1.26 แสนล้านบาท ไม่ได้มีผลทั้งด้านปริมาณและราคาที่ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรดีขึ้น ดังนั้นรัฐบาลต้องปรับเปลี่ยนการดูแลสินค้าเกษตรใหม่โดยใช้ระบบประกันสินค้า เกษตรเข้ามาแทน
ส่วนปัญหาเรื่องสัญญาขายข้าวของผู้ส่งออกทั้ง 17 สัญญา นายกรัฐมนตรี ได้ยืนยันชัดเจนแล้วว่าต้องเป็นไปตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 6 และ 13 พ.ค. 52 เท่านั้น โดยทั้งหมดเป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ในฐานะผู้ปฏิบัติต้องไปดำเนินการให้ เป็นไปตามมติ ครม.
ก่อนหน้านี้ นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ ได้สั่งการให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) ในฐานะคู่สัญญาซื้อขายข้าวกับเอกชน 17 ราย ที่ชนะการประมูลข้าวสต๊อกรัฐบาลจำนวน 1.9 ล้านตัน ให้คืนเงินวางค้ำประกัน 5% ของมูลค่าข้าวที่แต่ละรายวางเงินค้ำประกันไว้ทั้งหมด รวมถึงเงินค่าข้าวที่เอกชนได้ชำระบางส่วนจำนวน 9.6 หมื่นตันด้วย ส่วนข้าวที่เอกชนมีการขนย้ายออกจากโกดังไปแล้ว ให้ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน ไม่ต้องนำมาคืน เพราะมีการชำระเงินอย่างถูกต้อง
สำหรับการระบายสต๊อกข้าวรัฐบาลที่เหลือ จะต้องรอหลักเกณฑ์จากกรมการค้าต่างประเทศ จัดทำแผนยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรก่อนว่า มีความเห็นอย่างไร และต้องผ่านความเห็น ชอบจาก กขช.ที่คาดว่าจะพิจารณาในเร็ว ๆ นี้
สำหรับการจำหน่ายข้าวสารในสต๊อกรัฐบาล ได้มีการเซ็นอนุมัติขายข้าวเมื่อวันที่ 12 พ.ค. โดย อคส.ได้เรียกผู้ชนะประมูลเข้ามาทำสัญญาระหว่างวันที่ 13-22 พ.ค. มีจำนวน 14 ราย รวมปริมาณข้าว 1.94 ล้านตัน มีการวางเงินค้ำประกัน 5% ของมูลค่าสินค้า (แบงก์การันตี) วงเงิน 2.76 หมื่นล้านบาท และได้มีการชำระเงินค่าข้าวแล้วบางส่วน 6 ราย รวมเป็นปริมาณ 9.65 หมื่นตัน มูลค่า 1,223 ล้านบาท
รายงานข่าวจากวงการค้าข้าวแจ้งว่า รัฐบาลควรใช้วิธีเปิดรับจำนำสินค้าในเกษตรฤดูกาลปี 52 ไปก่อน แม้นายอภิสิทธิ์ ต้องการยกเครื่องระบบแทรกแซงราคาสินค้าใหม่ก็ตาม เพราะมองว่าขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีความพร้อมด้านบุคลากร หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบในการประกันราคา ขณะที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ยังไม่มีความชำนาญด้านนี้โดยตรง ดังนั้นหากรัฐบาลรีบร้อนใช้วิธีประกันราคาทันที อาจทำให้เกิดความเสียหายมากกว่าการรับจำนำ เพราะมีจุดอ่อนทั้งวิธีการจัดเก็บข้อมูล รวมถึงการตรวจสอบราคาซื้อขายที่แท้จริงระหว่างเกษตรกร กับพ่อค้าที่อาจเกิดการรั่วไหลงบประมาณได้ง่าย นอกจากนี้ตั้งข้อสังเกตว่าหากรัฐตั้งราคารับจำนำข้าวต่ำกว่าตลาดจริง จะเป็นการฉุดราคาตลาดให้ลดลงและเกษตรกรเสียประโยชน์