โวย มาร์ค ซุ่มไฟเขียวให้โรงแรมขายน้ำเมาวันพระใหญ่
เครือข่ายองค์กรต้านเหล้าออกโรงโวย มาร์ค ลงนามในประกาศสำนักนายกฯให้โรงแรมขายน้ำเมาวันพระใหญ่ เรียกร้องออกมาอธิบายเหตุผล พร้อมจี้ เสธ.หนั่น ลาออกเหตุมีธุรกิจเกี่ยวพันเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์
เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นำคณะเจ้าหน้าที่จากกรมควบคุมโรค ออกรณรงค์และประชาสัมพันธ์การห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2552 ในวันพระใหญ่ คือ วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา ที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล รัตนาธิเบศร์ จ.นนทบุรี และห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน จ.นนทบุรี จากนั้นให้สัมภาษณ์ว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี กำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2552 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2552 แต่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2552 ซึ่งตามประกาศดังกล่าว กำหนดห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันพระใหญ่ 4 วัน คือ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา โดยยกเว้นให้ขายในโรงแรม ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรงแรมที่มีการจดทะเบียนที่ถูกต้องเท่านั้น โดยมีผลบังคับใช้ถัดจากวันประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา คือ ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2552 เป็นต้นไป
นายมานิต กล่าวว่า การจำหน่ายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันพระใหญ่ นอกจากจะขัดต่อหลักศีลธรรมในพุทธศาสนาแล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ในการออกตรวจในห้างสรรสินค้าในครั้งนี้ เพื่อประชาสัมพันธ์ผู้ประกอบการร้านค้าให้รับรู้กฎหมายและปฏิบัติตาม หากยังพบมีการจำหน่าย ในครั้งแรกจะตักเตือนก่อน และหากพบกระทำผิดครั้งที่ 2 จะดำเนินการตามกฎหมายทันที โดยไม่มีการยกเว้นใดๆ ทั้งสิ้น มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
"การดำเนินการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2 เรื่องแรกที่จะต้องดำเนินการอย่างเฉียบขาดตามกฎหมาย คือ การห้ามขายเหล้าที่ใต้ถุนหอพักนักศึกษา และการควบคุมการขายเหล้าปั่น" นายมานิตกล่าว
นายมานิต กล่าวอีกว่า ผลกระทบการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากอวัยวะภายในถูกทำลายแล้ว ยังมีปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ครอบครัวขาดความอบอุ่น ปัญหาอาชญากรรม และปัญหาสังคมด้วย โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่ก้าวสู่การเป็นนักดื่มเพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าในช่วงปี 2539-2550 มีเยาวชนอายุ 15-19 ปี ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 70 นำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย และที่น่าเป็นห่วงคือ มีเด็กต่ำกว่าอายุ 18 ปี ในสถานพินิจฯที่กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย/ชีวิต และเรื่องเพศ เกี่ยวข้องกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึงประมาณร้อยละ 50
นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า เมื่อมีประกาศให้ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันพระใหญ่ ยกเว้นในโรงแรม สธ.คงทำได้เพียงรณรงค์ขอความร่วมมือผู้ประกอบการโรงแรม ให้งดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันสำคัญทางศาสนา เพราะแต่ละปีมีเพียง 4 วัน เท่านั้น ในทางกลับกันหากโรงแรมใดออกมาประกาศตัวว่าจะไม่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันพระใหญ่ คิดว่าจะเป็นโอกาสในการสร้างภาพลักษณที่ดีในการดึงแขกทั้งต่างชาติ และคนไทย
นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการ สธ. กล่าวว่า การยกเว้นให้โรงแรมขายเหล้าในวันพระใหญ่ ไม่ใช่มติของ สธ. แต่เป็นมติของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ซึ่งมีคณะกรรมการจากหลากหลายหน่วยงาน เรื่องนี้จึงไม่ใช่ข้อเสนอที่ สธ.จะต้องรับผิดชอบ เพราะโดยปกติ สธ.มีการรณรงค์ไม่ให้จำหน่ายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันสำคัญทางศาสนาอยู่แล้ว รวมทั้งวันอื่นๆ สธ.ก็ไม่เคยสนับสนุน เพราะเป็นที่ทราบว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
นายสงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า เห็นได้ชัดว่าการกระทำของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มี พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เรียกประชุมเพื่อพิจารณาข้อร้องเรียนของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ขอให้ผ่อนผันการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโรงแรม เนื่องในโอกาสวันสำคัญทางศาสนา เพราะเกรงจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา และมีการเสนอให้นายกรัฐมนตรีลงนามทันทีในค่ำวันเดียวกัน ทั้งๆ ที่เป็นช่วงวันหยุดยาว ถือมีความผิดปกติ เนื่องจากก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ได้ลงนามในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี กำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในทุกกรณี แต่กลับมีการลงนามปรับปรุงแก้ไขวันที่ 4 กรกฎาคมอีกครั้ง เพื่อยกเว้นให้ขายในโรงแรมได้
"เรื่องนี้นายกรัฐมนตรีต้องออกมาอธิบายให้สังคมทราบว่าการกระทำดังกล่าวมีเหตุผลอะไร และการยกเว้นให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโรงแรมมีประโยชน์ต่อประเทศชาติหรือต่อธุรกิจใดกันแน่ ที่สำคัญ พล.ต.สนั่น ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายฯ ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อเรื่องนี้โดยการลาออกจากตำแหน่ง เพราะอย่าลืมว่าก่อนหน้านี้ก็ทำพลาดไปครั้งหนึ่งเกี่ยวกับนโยบายอนุญาตให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่งผลให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น และครั้งนี้ พล.ต.สนั่นยังไม่เข็ด พยายามทำเรื่องซ้ำๆ ที่ไม่ส่งผลดีต่อคนไทย"
นายสงกรานต์ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่รู้ว่ามีประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ เนื่องจากเครือข่ายคัดค้านมาโดยตลอดว่า พล.ต.สนั่นไม่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งดังกล่าว เพราะมีธุรกิจที่เกี่ยวพันกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งองค์การอนามัยโลกเคยระบุว่า การจะดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสังคม ไม่ควรมีธุรกิจใดๆ ที่ส่อผลประโยชน์เกิดขึ้น ถือเป็นความผิดพลาดของรัฐบาลไทยที่แต่งตั้ง พล.ต.สนั่นดำรงตำแหน่งนี้ ขอเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์พิจารณาว่าเหมาะสมแล้วหรือไม่ที่จะให้ พล.ต.สนั่นดำรงตำแหน่งอยู่ เพราะมิฉะนั้นรัฐบาลจะเสียภาพลักษณ์ทันที