ใครไม่รู้ "อิมพีชเมนต์" มากองกันตรงนี้! ฝั่งตรงข้ามจ้องถอดถอนทรัมป์ จะทำสำเร็จไหม

ใครไม่รู้ "อิมพีชเมนต์" มากองกันตรงนี้! ฝั่งตรงข้ามจ้องถอดถอนทรัมป์ จะทำสำเร็จไหม

ใครไม่รู้ "อิมพีชเมนต์" มากองกันตรงนี้! ฝั่งตรงข้ามจ้องถอดถอนทรัมป์ จะทำสำเร็จไหม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นางแนนซี เปโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐอเมริกา ประกาศเมื่อวันอังคารที่ 24 กันยายนที่ผ่านมาว่า ทางสภาผู้แทนราษฎรจะเปิดการสอบสวนของอิมพีชเมนต์ต่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ภายหลังจากที่มีผู้ร้องเรียนอย่างเป็นทางการที่เรียกว่า วิสเซิลโบลว์เออร์ (whistleblower แปลว่าผู้เป่านกหวีด หมายถึงบุคคลผู้นำข้อมูลภายในขององค์กร เกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมาย การใช้อำนาจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การทุจริต การใช้เงินอย่างไม่ถูกต้อง การทุจริต หรือการกระทำที่เป็นภัยต่อสุขภาพและความปลอดภัยของสังคม ออกมาเปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อให้มีการสอบสวนหาข้อเท็จจริง หรือนำมาใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง)

ว่าประธานาธิบดีทรัมป์ได้โทรศัพท์ไปกดดันประธานาธิบดีแห่งประเทศยูเครนให้ขุดคุ้ยเพื่อทำการสอบสวนกรณีที่ลูกชายของอดีตรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ที่จะสมัครเป็นประธานาธิบดีแข่งกับประธานาธิบดีทรัมป์ในปีหน้า มีส่วนในการฉ้อโกงรัฐบาลยูเครนอีกครั้งหลังจากที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐได้ทำการสอบสวนไปแล้วและไม่พบการทุจริต โดยการโทรศัพท์ครั้งนั้นเกิดขึ้นภายหลังจากที่มีการระงับเงินช่วยเหลือที่ทางสหรัฐอเมริกาจะมอบให้รัฐบาลยูเครนเป็นเงิน 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพื่อกดดันรัฐบาลยูเครน)

ต่อมาทางทำเนียบขาวได้นำบันทึกการพูดคุยโทรศัพท์ของประธานาธิบดีทรัมป์กับประธานาธิบดีแห่งยูเครนเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 ออกเผยแพร่ ซึ่งข้อความก็ตรงกับคำร้องเรียนของวิสเซิลโบลว์เออร์

AFP

มีการพูดถึงอิมพีชเมนต์กันมาก แต่ส่วนใหญ่มักไม่เข้าใจกระจ่างแจ้งว่า “อิมพีชเมนต์คืออะไรกันแน่” ความจริงอิมพีชเมนต์เป็นเพียงขั้นแรกของกระบวนการที่มี 2 ขั้น ซึ่งกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาคือ

1) การฟ้องร้องกล่าวหาว่าประธานาธิบดีมีความผิด สมควรที่จะถูกปลดออกจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร และ

2) การพิจารณาคดีที่จะปลดประธานาธิบดีออกจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นอำนาจของวุฒิสภา โดยมีประธานศาลฎีกาเป็นประธานในการพิจารณาการปลดประธานาธิบดี

ดังนั้น การที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรประกาศเปิดการสอบสวนของอิมพีชเมนต์ต่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์นั้น จึงยังไม่ใช่การอิมพีชเมนต์ แต่จะเป็นหนทางนำไปสู่การอิมพีชเมนต์ และก็ยังไม่แน่ชัดว่าสภาผู้แทนราษฎรจะลงคะแนนเสียงว่าจะอิมพีชเมนต์หรือไม่ เพราะฉะนั้นเราควรจะทราบว่า “การสอบสวนของอิมพีชเมนต์ต่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์” จริงๆ แล้วคืออะไร

การสอบสวนของอิมพีชเมนต์คือ การสอบสวนของคณะกรรมาธิการยุติธรรมของสภาผู้แทนราษฎร ทำการสอบสวนเพื่อหาหลักฐานและ/หรือพยานให้เพียงพอต่อการทำการอิมพีชเมนต์เต็มรูปแบบนั่นเอง โดยคณะกรรมาธิการจะตัดสินใจร่างรายงานการสอบสวนทั้งหมดเพื่อสภาผู้แทนราษฎรจะได้ลงคะแนนเสียงว่าจะทำการอิมพีชเมนต์ (ฟ้องร้องกล่าวโทษประธานาธิบดี) หรือไม่นั่นเอง

ซึ่งการอิมพีชเมนต์นี้มิใช่การพิจารณาโดยกฎหมาย หากแต่เป็นการพิจารณาคดีการเมืองซึ่งเป็นอาชญากรรมชนิดพิเศษที่ผู้ที่ใช้อำนาจรัฐเท่านั้นที่จะทำความผิดเช่นนี้ได้ เช่นการฉ้อราษฎร์บังหลวง เป็นต้น

ทั้งนี้ ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามีประธานาธิบดีเพียง 2 คนเท่านั้นที่ถูกอิมพีชเมนต์คือ นายแอนดรูว์ จอห์นสัน กับ นายบิล คลินตัน เท่านั้น แต่อดีตประธานาธิบดีทั้งสองคนก็มิได้ถูกปลดออกตำแหน่งจากการลงคะแนนเสียงของวุฒิสภา

การลงคะแนนเสียงของกระบวนการอิมพีชเมนต์ทั้ง 2 กระบวนการนั้นแตกต่างกัน โดยในสภาผู้แทนราษฎรใช้คะแนนเสียงเพียงเสียงข้างมากในสภาเท่านั้นก็สามารถผ่านการอิมพีชเมนต์ (ฟ้องร้องกล่าวโทษ) แต่กระบวนการปลดประธานาธิบดีออกจากตำแหน่งในวุฒิสภานั้นต้องใช้คะแนนเสียงสองในสามของวุฒิสภาคือ 67 เสียงจาก 100 เสียงนั่นเอง

ครับ! ต้องคอยดูแหละครับว่าดราม่าจะเปิดเผยออกมาอย่างไรเกี่ยวกับการอิมพีชเมนต์ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ในครั้งนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook