"บิ๊กตู่" โว "ชิมช้อปใช้" ผลตอบรับดี ทำเงินหมุนในระบบ เผย ตนไม่ได้ลงทะเบียน เพราะไม่ได้ไปเที่ยว
วันนี้(4 ต.ค.) ในเฟซบุ๊ก "ไทยคู่ฟ้า" ได้เผยแพร่คลิปวิดีโอรายการ Government Weekly EP.8 เทปพิเศษ สัมภาษณ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงกลาโหม โดยประเดิมช่วงใหม่ของรายการ "PM Talk" เป็นการให้นายกรัฐมนตรี มานั่งคุยในบรรยากาศสบายๆ บริเวณสวนหน้าทำเนียบรัฐบาล โดยมี ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ดำเนินรายการ
โดยในเทปแรกนี้ นายกรัฐมนตรีพูดถึงปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 โดยระบุว่า การที่จะแก้ปัญหานี้ต้องแก้ด้วยความเข้าใจ ไม่ใช่แก้อย่างตื่นตระหนก ล่าสุด ครม. ก็ได้อนุมัติ แผนปฏิบัติการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 แบ่งเป็น 4 ระดับ ซึ่งประชาชนอาจจะได้รับผลกระทบเล็กน้อยจากการจราจร ที่เข้มงวดเรื่องการจำกัดควันดำต่างๆ ขอยืนยันว่า รัฐมีหน้าที่ในการดูแลทุกเรื่องให้ประชาชน แต่ก็อยากให้ทุกส่วนช่วยกัน ร่วมมือกัน เพื่อแก้ปัญหาต่างๆไปด้วยกัน
นอกจากนี้ยังพูดถึงประเด็นนโยบาย "ชิมช้อปใช้" ที่มีปัญหาผู้ลงทะเบียนไม่ผ่านมากกว่า 2 แสนราย โดยนายกฯระบุว่า นโยบายนี้ได้นำระบบดิจิทัลมาใช้ ซึ่งถึงแม้จะมีปัญหา แต่ก็ยังเปิดให้ลงทะเบียนใหม่ เพื่อให้ลงทะเบียนกันได้ครบถ้วน อยากให้ประชาชนนึกถึงว่าโครงการ "ชิมช้อปใช้" มีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร เป็นการเอาเงินจำนวนหนึ่ง มากระตุ้นระบบเศรษฐกิจโดยรวม ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เงิน 1,000 บาท ไม่ได้เป็นเงินจำนวนเยอะอะไร เพียงแต่เป็นการกระตุ้น สร้างแรงจูงใจ ให้ประชาชนออกมาจับจ่ายกันมากขึ้นเท่านั้น
โดยนายกฯระบุว่า โดยตนไม่ได้ลงทะเบียน G-Wallet กับโครงการชิมช้อปใช้ เพราะว่าตัวเองไม่ได้ไปเที่ยวไหน แต่ทราบจากรายงานก็พบว่า ผลตอบรับดี มีการเคลื่อนไหวในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งกระทรวงการคลังน่าจะมาชี้แจงได้ต่อไป
นายกฯยังบอกอีกว่า เป็นห่วงประชาชนทุกเรื่อง ช่วงนี้มีเรื่องอุบัติเหตุทางถนนเยอะ อยากให้ระมัดระวัง เคารพกฎหมายกันมากขึ้น วันนี้รัฐเข้มงวดเรื่องกฎหมายมากขึ้น และยังใส่ใจเรื่องพนักงานขับรถสาธารณะ เรือ ฯลฯ ให้กวดขันเรื่องใบอนุญาต ให้คัดกรองเอาคนขับที่มีคุณภาพมาทำงาน 4 ส่วนที่ต้องช่วยกัน ก็คือ รัฐ ผู้ประกอบการ คนขับ และประชาชน ที่ต้องช่วยกันสอดส่องดูแลความปลอดภัยและยังบอกว่า "อย่าให้ต้องบังคับกฎหมายกันมากนักเลย"
อีกประเด็นคือเรื่องการเกษตร ตนได้ไปพูดคุยกับสภาเกษตรกรแห่งชาติมา ก็เห็นว่าหลายภาคส่วนในวงการเกษตร ให้ความร่วมมือในเรื่องการพัฒนาวงการเกษตรกรรม โดยเฉพาะหน่วยงานในแต่ละมหาวิทยาลัย ได้ออกงานวิจัยและพัฒนา รวมทั้งนวัตกรรมต่างๆ ออกมาเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรมากขึ้น