ผู้พิพากษายะลายิงตัวเอง: เพจเฟซบุ๊กเปิดคำแถลง อ้างโดนผู้ใหญ่บีบเปลี่ยนคำตัดสิน
เพจ พระเจ้า นำเอกสารชุดหนึ่งมาโพสต์วันนี้ (4 ต.ค.) อ้างว่าเป็นคำแถลงการณ์ของนายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ซึ่งมีข้อความที่สรุปได้ว่า ตนถูกกดดันจากผู้บังคับบัญชา ให้เปลี่ยนคำตัดสินคดีสำคัญคดีหนึ่ง ก่อนตัดสินใจยิงตัวเองขณะพิจารณาคดี
>> ผู้พิพากษายะลา ชักปืนจ่อยิงตัวเอง ระหว่างพิจารณาคดี คาดเครียดส่วนตัว
เอกสารดังกล่าวระบุว่า ตน (นายคณากร) ส่งคำตัดสินคดีให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงกว่าคนหนึ่งพิจารณา ซึ่งตนยกฟ้องจำเลยทั้ง 5 คน แต่ภายหลังกลับมีบันทึกส่งมาให้ตนเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา แต่ถ้าหากไม่ทำ ก็ให้ทำหนังสือส่งไปอธิบายว่าทำไมถึงไม่ทำ
เผยเคยโดนขู่ย้าย-สอบสวน
นายคณากร ระบุต่อไปว่า ตนสงสัยและกลัวว่า ผู้บังคับบัญชาคนดังกล่าวจะทำอย่างไรกับตนต่อไปหากไม่ทำตาม เพราะที่ผ่านมาเคยขู่ว่าจะย้ายไปนอกพื้นที่ ไม่ก็ตั้งคณะกรรมาการมาสอบสวน แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ตนจะไม่ยอมเปลี่ยนคำตัดสินแน่นอน
"หรือว่านี่เป็นคำขู่ว่าหากไม่ยอมกระทำตามอาจถูกลงโทษฐานขัดคำสั่ง จะสั่งย้ายออกนอกพื้นที่หรือจะหาเรื่องตั้งกรรมการสอบตามที่เคยผมขู่ไว้ในคดีอื่น แต่ถึงอย่างไรผมก็ไม่ยอมทำตามบันทึกชี้แจง เพราะเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีกฎหมายให้อำนาจ____สั่งเช่นนั้น ผมจึงขอชี้แจงอธิบายมายังคนไทยที่รักความยุติธรรมทั้งประเทศเพื่อทราบความจริง"
ใช้อำนาจบิดคำตัดสินยกฟ้อง เป็นติดคุก-ประหาร
นายคณากร เขียนว่า หากตนยอมทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาระดับสูงกว่า แทนที่จำเลยทั้ง 5 คนจะพ้นจากความผิด จำเลยที่ 2 และ 5 จะถูกจำคุกตลอดชีวิต ส่วนจำเลยที่ 1, 3 และ 4 ก็จะมีจุดจบในแดนประหาร
"คดีนี้หากผมยอมกระทำตามคำสั่ง____ จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ต้องโทษประหารชีวิตสถานเดียว นี่เฉพาะความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 ส่วนจำเลยที่ 2 และ 5 จะต้องโทษจำคุกสองในสามส่วน ในฐานะผู้สนับสนุน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 ประกอบมาตรา 86 คือ ต้องถูกจำคุกตลอดชีวิต
ทั้งที่คดีนี้ ... พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะลงโทษจำเลยทั้งห้าได้ ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้เลยว่าจำเลยทั้งห้าร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง จึงพิพากษายกฟ้อง ต้องปล่อยตัวจำเลยทั้งห้าไป นอกจากนี้____ยังกำชับไว้ในหนังสือลับด้วยว่า หากผมยืนยันยกฟ้องก็ให้ขังจำเลยทั้งห้าไว้ระหว่างอุทธรณ์ ซึ่งผมไม่เห็นด้วย"
ตายดีกว่าอยู่อย่างไร้เกียรติ
ผู้พิพากษารายนี้ บอกอีกว่า สิ่งที่ตนทำลงไปในวันนี้ (4 ต.ค.) ก็เพื่อประเทศและเพื่อประชาชน ตามที่ตนเคยถวายสัตย์ต่อพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ดังนั้นหากตนยอมทำตามที่ผู้บังคับบัญชาคนดังกล่าวสั่ง ตนคงไม่ใช่ผู้พิพากษาที่ยึดมั่นในความยุติธรรม และจะทำให้ประชาชนไม่ได้รับความยุติธรรมเช่นกัน
"ในวันนี้หากผมทำตามคำสั่ง_____ ผมย่อมไม่ใช่ผู้พิพากษาที่ดี คือไม่ยึดมั่นในความยุติธรรม ประชาชนย่อมไม่ได้รับความเป็นธรรม ต่อไปประชาชนก็จะไม่ไว้วางใจ ทั้งไม่สามารถเป็นที่พึ่งในการให้ความยุติธรรมแก่งประชาชน เท่ากับผมไม่ทำตามคำถวายสัตย์ ซึ่งผมยอมตายเสียดีกว่าจะอยู่อย่างไร้เกียรติเช่นนั้น 'ตายเสียดีกว่าอยู่อย่างไร้เกียรติ'"
วอน ส.ส.-ส.ว. ออกกฎหมายห้ามแทรกแซงคำพิพากษา
นายคณากร ยังมีคำเรียกร้อง 2 ข้อฝากไปถึงฝ่ายนิติบัญญัติ คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และคณะรัฐมนตรี
ข้อแรกคือ ให้ออกกฎหมายห้ามแทรกแซงการพิพากษา และห้ามให้มีการตรวจคำพิพากษาก่อนอ่านให้คู่ความฟัง
ส่วนข้อ 2 คือ ให้ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ให้ความเป็นธรรมทางการเงินแก่ผู้พิพากษาทั่วประเทศ
ไม่มีใครรู้เห็น ลั่นคืนความยุติธรรมให้ประชาชน
ผู้พิพากษารายนี้ กล่าวอีกว่า การตัดสินใจของตนในวันนี้ไม่มีผู้พิพากษาหัวหน้าศาล องค์คณะผู้พิพากษา และผู้พิพากษา คนอื่นๆ รู้เห็นเลย และเป็นสิ่งที่ตนนึกทำขึ้นเอง ทั้งยังกล่าวทิ้งท้ายถึงประชาชนคนไทยที่รักความยุติธรรมทุกคนว่า
"คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน" นายคณากร ระบุ
"คำแถลงของผมอาจมีน้ำหนักเบาบางเหมือนขนนก แต่หัวใจผู้พิพากษาหนักแน่นปานขุนเขา จึงมอบหัวใจชั่งบนตราชู ยืนยันคำแถลง ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ทุกท่าน"