“Sexual Consent” เรื่องบนเตียงที่ต้องคุยกัน

“Sexual Consent” เรื่องบนเตียงที่ต้องคุยกัน

“Sexual Consent” เรื่องบนเตียงที่ต้องคุยกัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันวาเลนไทน์หรือเทศกาลแห่งความรักกลับมาอีกครั้ง สร้างความกังวลให้กับผู้ใหญ่ในบ้านเมืองมากมายต่อเรื่องเพศของเด็ก อย่างไรก็ตาม การร่วมเพศที่ยินยอมคือความรัก แต่หากไม่ยินยอม นั่นคือ "การข่มขืน" ดังนั้น ประเด็นเรื่อง Sexual Consent หรือความยินยอมในการมีเพศสัมพันธ์ จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องทำความเข้าใจ และจะสะท้อนให้เห็นว่าความเข้าใจเรื่อง Sexual Consent ของสังคมที่ยังไม่มากพออาจส่งผลต่อสังคมในระยะยาว

Sexual Consent คืออะไร และสังคมไทยมีความเข้าใจในประเด็นนี้มากน้อยแค่ไหน วันนี้ Sanook จะขอทำหน้าที่พาไปรู้จักกับประเด็นละเอียดอ่อนนี้

Sexual Consent คือ การยินยอมพร้อมใจ

Sexual Consent คือ การยินยอมและความต้องการที่จะมีเพศสัมพันธ์แบบมั่นใจ โดยปราศจากความกดดัน โดย คุณศรัทธารา หัตถีรัตน์ นักกิจกรรมเพื่อสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ อธิบายว่า Sexual Consent ต้องสามารถสื่อสารได้ ความต้องการของทั้งคู่ต้องอยู่ในจุดเดียวกัน และเมื่อใดก็ตามที่ไปถึงจุดที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดไม่มั่นใจ อีกฝ่ายต้องหยุดทันที หากไม่หยุด กรณีนั้นก็จะเป็นการข่มขืน

“มันคือความต้องการของทั้งคู่นั่นแหละ ถ้าทั้งคู่เข้าสู่การมีเพศสัมพันธ์แบบไม่มั่นใจ มันจะดีหรือไม่ เขาต้องสามารถสื่อสารสิ่งนี้กันได้ ไม่รู้ว่าจะดีไหม ลองอีกนิดดีไหม แล้วรออีกนิดหนึ่ง ถ้าไม่ดีแล้วเราก็หยุดได้ หยุดได้ทันที รู้ว่าจุดไหนควรหยุด อย่างนี้ทั้งคู่จะไม่มีปัญหาต่อกัน ไม่มั่นใจก็รู้ว่าไม่มั่นใจ แล้วก็ขยับอย่างระมัดระวัง” คุณศรัทธาราเปิดประเด็น

Sexual Consent กับกฎหมายไทย

Sexual Consent มักตกเป็นประเด็นถกเถียง ว่าการมีเพศสัมพันธ์ของคู่รักที่ไม่เต็มใจสามารถเอาผิดหรือดำเนินคดีทางกฎหมายได้หรือไม่ โดยหลายครั้ง ผู้ก่อเหตุมักยกเหตุผลขึ้นมาเพื่ออธิบายการกระทำของตัวเอง คือ ได้ทำการ “ตื๊อ” แฟนสาวหลายครั้ง และเธอก็ไม่ได้แสดงอาการปฏิเสธ แฟนหนุ่มจึงเข้าใจว่าเธอยินยอม อย่างไรก็ตาม หากฝ่ายหญิงตอบโต้ว่าถึงแม้เธอจะมีเพศสัมพันธ์ด้วย ก็ไม่ได้หมายความว่าเธอยินยอม ซึ่งกรณีนี้ คุณวุฒิชัย พุ่มสงวน อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด คดีเยาวชน 6 อธิบายคำว่า “ยินยอม” ในทางกฎหมายว่าเป็นการแสดงเจตนาโดยชัดแจ้งให้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งกับตัวเอง

“ความยินยอมไม่ก่อให้เกิดการกระทำความผิดทางอาญา ในเมื่อคุณยอมให้เขามีความสัมพันธ์กับตัวคุณ ซึ่งการยินยอมของคุณสมบูรณ์ แจ้งชัด คุณไม่ได้เมายา เมาเหล้า โดนปืนบังคับ คุณยินยอมโดยเจตจำนงอิสระของคุณ มันก็ไม่เป็นความผิดทางอาญา” คุณวุฒิชัยชี้

คุณวุฒิชัยอธิบายต่อว่า นักกฎหมายไม่มีทางรู้ใจของผู้กระทำหรือผู้ถูกกระทำว่าเจตนาหรือไม่ เมื่อเป็นดังนั้น นักกฎหมายจึงต้องใช้วิจารณญาณและการเป็นวิญญูชนปกติ ว่าการแสดงออกของผู้กระทำ สะท้อนความคิดของเขาอย่างไร ด้วยเหตุนี้ ทำให้นักกฎหมายทั่วทั้งโลกยึดหลัก “กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา” โดยจะตีความทางกฎหมายโดยมองจากการกระทำสุดท้าย

“เขาเรียกว่ากรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา ชี้สิ่งที่อยู่ในใจ ถ้าเกิดเขาร้องบอกว่าไม่ เอามือผลักออก แล้วลุกขึ้นวิ่ง อันนี้แสดงเจตนาชัดเจนว่าเขาไม่ประสงค์จะมีเพศสัมพันธ์ด้วย แต่ลำพังเขาบอกว่าไม่ แต่ไม่ได้ลุกหนี ลักษณะนี้ถึงจะพูดว่าไม่ แต่การกระทำคือยินยอม” คุณวุฒิชัยกล่าว

คุณวุฒิชัยให้ความเห็นว่า กรณี #จับโป๊ะโดมปฏิวัติ ในมุมมองทางกฎหมาย ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย เพราะไม่มีการปฏิเสธอย่างชัดเจน ถึงแม้ผู้หญิงจะไม่ได้ให้คำยินยอมโดยชัดแจ้ง แต่เธอก็มีโอกาสที่จะปฏิเสธ มีโอกาสที่จะขัดขืน แต่เธอเองกลับไม่ได้แสดงออกความถึงไม่ยินยอมของเธออย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม คุณศรัทธาราก็ได้แสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้ว่า สิ่งที่ควรทำคือการมองให้เห็นถึงปัจจัยที่กดดันผู้หญิงให้ยินยอมมีเพศสัมพันธ์ และทำไมผู้ชายจึงไม่สามารถขอการยินยอมจากผู้หญิงแบบดี ๆ ได้ และในกรณีที่เป็นการพิสูจน์ในขั้นตอนยุติธรรมนั้น การจะได้มาซึ่งความยุติธรรมที่แท้จริง ก็ควรพิจารณาความละเอียดอ่อนทางวัฒนธรรมเรื่องเพศที่ผู้หญิงเผชิญด้วย

เรื่องละเอียดอ่อนที่สังคมไม่เข้าใจ

ท่ามกลางดราม่าอันร้อนแรง สิ่งที่เห็นจากกรณีนี้ คือการขาดความเข้าใจเรื่อง Sexual Consent ของสังคมไทย ซึ่งสะท้อนออกมาผ่านการพูดคุยแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ คุณวิภาพรรณ วงษ์สว่าง ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Thaiconsent.org ชี้ว่า การที่สังคมขาดความเข้าใจในประเด็น Sexual Consent สาเหตุหนึ่งมาจากการที่ภาษาไทยไม่มีคำศัพท์ที่มีความหมายถึงการยินยอมทางเพศ แต่เราใช้คำทับศัพท์ภาษาอังกฤษ จึงส่งผลให้คนไทยส่วนใหญ่ไม่มีคอนเซ็ปต์ของ Sexual Consent และเมื่อไม่มีคอนเซ็ปต์เรื่องนี้ จึงก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้

ด้านคุณศรัทธารากล่าวว่า สังคมไทยสร้างความเชื่อผิด ๆ ให้กับผู้ชายว่า ผู้ชายต้องรุก ต้องตื๊อ จึงจะได้มาซึ่งสิ่งที่พวกเขาปรารถนา เช่น การจีบกัน โดยวิถีปฏิบัติที่คนในสังคมเข้าใจคือผู้ชายต้องใช้ความพยายามในการเข้าหาผู้หญิง ผู้ชายต้องเป็นผู้นำ เป็นผู้ริเริ่มการมีเพศสัมพันธ์ และเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ผู้ชายส่วนใหญ่ก็ไม่ทราบว่าเขาควรฟังเสียงของผู้หญิง เพราะผู้ชายถูกสอนให้เป็นผู้นำในการปฏิบัติการทางเพศ ด้วยเหตุนี้ผู้ชายจึงไม่รู้ว่าเขาต้องสังเกตอยู่ตลอดเวลาและต้องรอผู้หญิง ในขณะเดียวกัน ผู้ชายมักจะโฟกัสว่าตัวเองต้องมีเพศสัมพันธ์อย่างไรตามวิธีที่พวกเขาได้เรียนรู้มา และเข้าใจว่าเป็นเซ็กส์ที่ดี แต่ผู้ชายไม่ได้ถูกสอนว่าเซ็กส์ที่ดี คือ เซ็กส์ที่ต้องดูไปที่คู่ของพวกเขา และสิ่งที่ละเอียดอ่อนยิ่งไปกว่านั้น ก็คือ ผู้ชายไม่รับรู้ว่าการแสดงออกถึงความต้องการอย่างชัดเจนของผู้หญิงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะปัจจัยทางวัฒนธรรมที่ตีกรอบผู้หญิงอยู่

“ในแง่ของผู้หญิงก็คือ มันไม่ง่ายที่ผู้หญิงจะพูดว่าเอาหรือไม่เอาแค่ไหน เพราะมันไม่มีข้อมูลนี้อยู่ในตลาด ไม่มีการฝึกปฏิบัติกัน ไม่มีการให้กำลังใจว่าเธอทำถูกแล้ว หรือถึงเวลาบอก ต้องบอกแบบไหนจึงจะละเอียดอ่อนกับความรู้สึกของผู้ชายที่ถูกสอนให้รู้สึกอ่อนไหวกับการถูกปฏิเสธทางเพศ” คุณศรัทธารากล่าว

หากลองยกตัวอย่างกรณี #จับโป๊ะโดมปฏิวัติ เราจะเห็นว่าฝ่ายชายไม่ได้เข้าใจว่าการขอความยินยอมเรื่องเพศเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และไม่สามารถจะทำได้ในสถานการณ์ที่กดดันอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ยังสะท้อนให้เห็นว่าเรื่อง Sexual Consent ยังไม่ถูกสื่อสารหรือให้การศึกษาอย่างชัดเจนในสังคม

อิดออดตามแบบวิสัยหญิง

สิ่งที่เป็นปัญหาที่อยู่คู่สังคมไทยมาอย่างยาวนาน ก็คือ วัฒนธรรมเรื่องเพศที่ส่งผลให้ผู้หญิงเข้าใจเรื่องเพศและการมีความสัมพันธ์ทางเพศคลาดเคลื่อน นำไปสู่ผลเสียต่อผู้หญิงเอง ซึ่งเรื่องนี้รวมไปถึง Sexual Consent ที่ไม่ถูกให้ความสำคัญด้วย

คุณศรัทธาราชี้ว่า ผู้หญิงถูกสอนว่าถ้าแสดงความต้องการอย่างเปิดเผยชัดเจน สังคมจะลงโทษพวกเธอ เพราะสังคมไม่สนับสนุนให้ผู้หญิงมีความชัดเจนในเรื่องความต้องการทางเพศในเชิงบวก เช่น เวลาที่ผู้หญิงมีความต้องการทางเพศ จะต้องมากแค่ไหน แบบไหน และเมื่อไหร่ ขณะเดียวกัน สังคมก็ไม่สนับสนุนให้ผู้หญิงปฏิเสธอย่างรุนแรงหรือชัดเจน แต่กลับสนับสนุนให้ผู้หญิงนุ่มนวล ประนีประนอม อ่อนหวาน ดังนั้นผู้หญิงจึงถูกใส่ข้อมูลในสมองว่าพวกเธอต้องเป็นห่วงความรู้สึกของอีกคนหนึ่งและรักษาความสัมพันธ์เอาไว้ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็จึงนำไปสู่พฤติกรรมที่เสี่ยงต่อตัวผู้หญิงเอง เช่น ผู้หญิงมีความเสี่ยงที่จะโดนล่วงละเมิดทางเพศโดยคนใกล้ตัว เพราะพวกเธอไม่สามารถบอกปฏิเสธได้อย่างชัดเจน เป็นต้น

ทั้งนี้ คุณศรัทธารายังชี้อีกว่า ผู้ชายก็มีความเข้าใจแบบเดียวกับผู้หญิง นั่นคือ เมื่อจะมีความสัมพันธ์ทางเพศ ผู้หญิงจะต้องบอกปฏิเสธเล็กน้อยก่อน และถ้าผู้ชายรุกไปเรื่อย ๆ ผู้หญิงก็จะยอมตกลงเอง ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดไปจากความเป็นจริงมาก

นอกจากนี้ บรรทัดฐานของสังคมที่บีบให้ผู้หญิงต้องปิดปากเรื่องความต้องการทางเพศยังแผ่อิทธิพลเข้าไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ ในสังคม เช่น พื้นที่ทางกฎหมาย นั่นคือ การไม่ยินยอมของผู้หญิงในทางกฎหมายถูกมองว่าเป็น “การอิดออดตามวิสัยหญิง” ซึ่งเป็นแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาสมัยโบราณที่มักยกขึ้นมาอธิบายเหตุการณ์การล่วงละเมิดทางเพศที่ไม่มีการปฏิเสธอย่างชัดเจน

“การอิดออดตามแบบวิสัยหญิง หมายความว่า ผู้หญิงก็มีความอับอายที่จะไปมีเพศสัมพันธ์กับใคร เดี๋ยวจะกลายเป็นผู้หญิงร่าน เก่งกล้าในเรื่องเพศ สมัยโบราณก็เลยพูดว่าเป็นการอิดออดตามวิสัยหญิง ซึ่งแนวคำพิพากษาศาลฎีกาพูดมาโดยตลอดว่า ถ้าเพียงแต่ปัดป้องนิดหน่อยแล้วยินยอม ไม่ถือว่าเป็นการปฏิเสธ ต้องแสดงออกโดยแจ้งชัด เช่น คุณมีโอกาสที่จะหนี คุณไม่ยอมหนี คุณมีโอกาสที่จะขอความช่วยเหลือ คุณไม่ขอความช่วยเหลือ เพราะในใจจริง เราไม่มีทางรู้หรอกว่าผู้หญิงคนนี้ยอมหรือไม่ยอม ตอนแรกเขาอาจจะไม่ยอม แต่ตอนหลังลักษณะการกระทำของเขาก็อาจจะยอม” คุณวุฒิชัยอธิบาย

อย่างไรก็ตาม หากเป็นในกรณีที่ผู้หญิงยินยอมในตอนแรก และเกิดไม่ยอมตอนหลัง คุณวุฒิชัยชี้ว่า กรณีลักษณะนี้เป็นการข่มขืน แต่ก็ต้องแสดงออกว่าปฏิเสธอย่างชัดเจน เช่น ผลัก ต่อสู้ ดิ้น ถ้ามีแค่คำพูดก็จะมีน้ำหนักน้อย แม้จะพูดว่าไม่ แต่ไม่ได้ขัดขืน ก็เป็นไปได้ยากที่กรณีนี้จะถูกมองว่าเป็นการข่มขืน ดังนั้นตามกฎหมายไทย การข่มขืนจึงต้องมีลักษณะที่มีการแสดงออกอย่างชัดเจน หากคลุมเครือก็อาจจะถือว่ายินยอม

รูปแบบความรักที่มีจำกัด

ความสัมพันธ์ของคู่รักจากกรณีที่ยกมาข้างต้น สะท้อนให้เห็นการขาดหายไปของ Sexual Consent ระหว่างคู่รักสองคนนี้ คุณวิภาพรรณแสดงความคิดเห็นว่า มันเป็นผลมาจากรูปแบบความสัมพันธ์แบบคู่รักในวัฒนธรรมไทยที่มีอย่างจำกัด รวมทั้งการขาดแคลนนิยามความรักและความสัมพันธ์ที่หลากหลาย

ความรู้เรื่องความสัมพันธ์ของคนไทยมีจำกัด เพราะสังคมไทยมองว่าการมีความรักคือการแลกเปลี่ยน เราสูญเสียความเป็นตัวเองให้อีกคน และอีกคนก็สูญเสียความเป็นตัวเองให้เรา เรามองว่ารัก คือการที่ต้องมีอะไรมาแลกกัน แล้วมันก็เกิดเป็นความสัมพันธ์แบบต้องแลกกัน” คุณวิภาพรรณกล่าว

ซึ่งพ้องกับความคิดเห็นของคุณศรัทธาราที่มองว่า ในสังคมทุกวันนี้ ยิ่งการตีกรอบความสัมพันธ์แบบคนรักว่าต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งแข็งตัวมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเป็นอุปสรรคต่อการมี Sexual Consent ที่ดีมากเท่านั้น

“Sexual Consent ตั้งอยู่บนฐานของนาทีนั้นและความรู้สึกของคนสองคน ถ้าคนทั้งคู่ไม่สามารถเข้าถึงความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเองในนาทีนั้น เพราะติดแบบแผนปฏิบัติ ความคาดหวังของสังคม เขาก็จะไม่สามารถให้ consent อย่างเป็นอิสระทางความคิดได้” คุณศรัทธาราระบุ

ยิ่งไปกว่านั้น ความโรแมนติกยังเข้ามาโลดแล่นอยู่ในเรื่องของ Sexual Consent สื่อมวลชนสร้างและโปรโมตรูปแบบของการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่มีการพูดให้ชัดเจน แต่ “ให้บรรยากาศพาไป” และสื่อออกมาในบริบทที่โรแมนติก ขณะเดียวกัน ในสื่อละครก็สร้างภาพของคู่รักที่ไม่สื่อสารกัน แต่ต้องคาดเดาว่าเธอรักฉันหรือไม่ และเมื่อเกิดการสร้างบ่อย ๆ ก็ไม่มีทางเลือกของความโรแมนติกแบบอื่น นั่นจึงทำให้ความเข้าใจเรื่อง Sexual Consent คลาดเคลื่อนได้ด้วย

มันต้องคาดเดา แล้วไม่คุยกันตรง ๆ หรือทำให้การคุยกันตรง ๆ ไม่ใช่เรื่องในเชิงบวก ทั้งที่การสื่อสารกันคือแนวคิดของเรื่องทางเพศในเชิงบวก (Positive sex) ไม่ได้เป็นเรื่องในเชิงลบเลย ซึ่งมันมีส่วนมาจากวัฒนธรรมเรื่องเพศที่ให้ภาพเป็นแบบฉบับตายตัวว่าผู้ชายที่ดีคืออะไร ผู้หญิงที่ดีคืออะไร แล้วในขณะเดียวกันคือปิดปากผู้หญิง แล้วให้ค่าความเก่งทางเพศ คุณลักษณะทางเพศกับผู้ชายมากกว่า เลยทำให้มันยาก” คุณศรัทธารากล่าว

ยิ่งไปกว่านั้น สังคมไทยยังขาดจินตนาการต่อความสัมพันธ์รูปแบบอื่น นั่นจึงทำให้คนไม่เชื่อว่า คนเราจะสามารถยินยอมหรือต่อรองกันได้ เพราะคนในสังคมไม่เคยเห็นความสัมพันธ์ที่เคารพกันและกัน แต่ยังเป็นความรักได้ ซึ่งเรียกว่าเป็นความสัมพันธ์ที่แข็งแรง (Healthy relationship) ที่ต่างคนต่างเติบโต และหลีกเลี่ยงที่จะต้องให้คนรักแลกอะไรบางอย่างเพื่อตัวเอง แต่คนสองคนต่างคบกันเพื่อให้เติบโตในแบบของตัวเอง ขณะเดียวกันก็ใช้เวลาร่วมกัน ผูกพันและมีความสุข

Sexual Consent เป็นเรื่องสำคัญ

เมื่อถามถึงวิธีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่อง Sexual Consent ให้มากขึ้น คุณวิภาพรรณแสดงความคิดเห็นว่า การนิยามคำว่า Sexual Consent ของคนสองคนต้องตรงกัน

Sexual Consent คือ ได้กับได้เท่านั้น มันไม่มีทางเป็น Consent ได้เลย ถ้าผู้หญิงปฏิเสธว่าไม่ แต่คุณไปกดดันจนเขาปฏิเสธไม่สำเร็จ ทั้งที่หน้าที่ของคุณคือต้องหยุด แล้วค่อยทำตอนที่พร้อม” คุณวิภาพรรณชี้

เช่นเดียวกับคุณศรัทธาราที่มองว่าการสร้าง Sexual Consent ที่ง่ายที่สุดคือ การทำข้อตกลงว่าต้องมีการขอคำพูดว่าได้ เพื่อความปลอดภัยและไร้ปัญหา

“เอาง่าย ๆ ไม่ต้องเข้าใจเลยว่าทำไมต้องขอ หรือในบางสถานการณ์เราก็ไม่ได้อยากพูด ไม่โรแมนติกเลย ดูท่าทางเอาสิ แต่เพื่อความเซฟ ซึ่งความเข้าใจนี้ควรจะสามารถพูดอธิบายกับเด็กว่า ให้ถามให้ชัด อย่าเดา แม้มันจะโรแมนติกน้อยลงบ้าง แต่มันเซฟ ตราบใดที่เราไม่ได้อยู่ในสังคมที่มนุษย์สองเพศมีความรู้สึกเท่าเทียมกัน และเอื้อให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยในการพูดว่าได้หรือไม่ ก็ต้องทำให้มันเป็นวิธีปฏิบัติเลยว่า ถามให้ชัด แล้วคุณก็จะไม่มีปัญหา” คุณศรัทธาราอธิบาย

ความสัมพันธ์แบบคู่รักมักมองข้ามเรื่อง Sexual Consent เพราะคนส่วนใหญ่มองว่าความสัมพันธ์คือบทบาท เมื่อเป็นแฟนกันก็ต้องทำตามบทบาทและหน้าที่ของการเป็นแฟน ซึ่งส่งผลให้เกิดวัฒนธรรมข่มขืน (Rape Culture) ได้เช่นเดียวกัน เพราะวัฒนธรรมข่มขืนปฏิเสธ Sexual Consent ซึ่งจากกรณี #จับโป๊ะโดมปฏิวัติ ผู้ชายตีความลักษณะท่าทางการแสดงออกของผู้หญิงแตกต่างไปจากความต้องการจริง ๆ ของเธอ และในกรณีนี้ก็ไม่สามารถเอาผิดทางกฎหมายได้ เพราะในทางกฎหมาย ไม่มีการนิยามคำว่า “ข่มขืน” ที่นอกเหนือไปจากการต่อสู้และขัดขืนด้วยกำลัง เพราะฉะนั้น คุณวิภาพรรณจึงเสนอว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ สิ่งที่ต้องทำก็คือ เราต้องให้คำนิยามคำว่าข่มขืนเสียใหม่

“นิยามคำว่าข่มขืนต้องกว้างขึ้น หมายถึง เวลาเราพูดเรื่องข่มขืน เราต้องไม่คิดแค่ภาพจิกหัว ตบตี แล้วลากเข้าพงหญ้า แต่เราต้องคิดถึงการกดดันทางด้านจิตวิทยาด้วย เพราะมันไม่มีภาพนี้ให้เห็น ถ้าสมมุติว่าคบกับแฟน แล้วแฟนบอกว่า ‘ช่วงนี้ฉันเศร้ามากเลย มามีเซ็กส์กันเถอะ ไม่งั้นฉันคงแย่’ แล้วแบบนี้เป็น Sexual Consent หรือเปล่า ถ้ามันอยู่ในความกดดัน คือถ้าไม่ทำแล้วแฟนก็จะแย่ลง แล้วอย่างนี้ที่เราคุยกันมันเป็นการข่มขืนไหม” คุณวิภาพรรณตั้งคำถาม

อย่างไรก็ตาม Sexual Consent ก็เป็นปัญหาของผู้ชายด้วยเช่นกัน เช่น ในบางสถานการณ์ ผู้ชายก็ไม่ได้อยากมีเพศสัมพันธ์ แต่ความเชื่อในสังคมหล่อหลอมให้ผู้ชายเข้าใจว่า ความรู้สึกที่ไม่ต้องการมีเพศสัมพันธ์หรือเมื่อถูกยั่วยุอารมณ์แล้วไม่มีความรู้สึกทางเพศ คือลักษณะที่ผิดปกติ ซึ่งในลักษณะนี้ส่งผลกระทบต่อผู้ชายและทำให้เกิดการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ยินยอม

ดังนั้น เรื่องของ Sexual Consent จึงไม่ใช่การปกป้องผู้หญิงเพียงฝ่ายเดียว แต่ยังปกป้องผู้ชายและทุกเพศในสังคม เพราะ Sexual Consent คือการยินยอมพร้อมใจที่จะมีเพศสัมพันธ์โดยที่ตัวเองไม่มีความรู้สึกกดดันและสามารถมีความสุขกับการปฏิบัติการทางเพศนั้น ๆ ได้อย่างเต็มที่ และการได้มาซึ่งความยินยอมพร้อมใจก็ต้องสื่อสารและพูดคุยกันอย่างเปิดอกและเข้าใจ โดยตระหนักรู้อยู่ตลอดเวลาว่าผู้หญิงและผู้ชายแบกรับเงื่อนไขและความคาดหวังของสังคมที่แตกต่างกันอยู่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook