"Climate Strike Thailand" แคมเปญขอบคุณธรรมชาติ โดย "นันทิชา โอเจริญชัย"
เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2561 เกรตา ธันเบิร์ก เด็กสาวชาวสวีเดน วัย 16 ปี โดดเรียนและไปนั่งถือป้ายประท้วงโลกร้อนด้านหน้ารัฐสภาสวีเดน กลายเป็นการจุดกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ เพราะไม่กี่สัปดาห์ต่อมา มีเด็กนักเรียนโดดเรียนออกมาร่วมประท้วงกับเธอเป็นจำนวนมาก เกรตากลายเป็นนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่โลกจับตามอง โดยในปีต่อมา สุนทรพจน์ของเธอในการประชุมระดับผู้นำโลกเรื่องสภาวะอากาศ (UN Climate Action Summit) ที่สำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติ ได้ปลุกให้เยาวชนทั่วโลกลุกขึ้นมาทวงคืนอนาคต ผ่านการโดดเรียนมาชุมนุมประท้วงในชื่อ “Climate Strike” เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2562 โดยมีเยาวชนเข้าร่วมกว่า 4 ล้านคน จาก 170 ประเทศ และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในเสียงเล็กๆ ที่ดังขึ้นเพื่ออนาคตเช่นกัน
“ที่จริงไม่ได้สนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมาก แต่สนใจต้นไม้ เพราะต้นไม้มันมีชีวิตและมันน่าสนใจ ความรู้สึกนี้มันก็เก็บสะสมมาเรื่อยๆ จากการที่เราอ่านเรื่องวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับต้นไม้ เหมือนกับว่าที่เราเห็นว่าต้นไม้ไม่ได้ขยับ มันมีมากกว่านั้น” คุณนันทิชา โอเจริญชัย หรือ “หลิง” นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Climate Strike Thailand เล่าถึงความสนใจเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้เธอก้าวเข้าสู่การเรียกร้องสภาพแวดล้อมที่ดี เพื่ออนาคตของคนรุ่นใหม่
คุณหลิงเล่าว่าความสนใจเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของเธอ เกิดจากประสบการณ์การเดินป่าในที่ต่างๆ รวมทั้งการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมตั้งแต่สมัยมัธยมปลาย ข้อมูลเชิงลึกว่าด้วยความมหัศจรรย์ของต้นไม้ ทำให้เธอตั้งใจที่จะเป็นผู้สื่อข่าวด้านสิ่งแวดล้อม และเข้าฝึกงานกับองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมอย่างกรีนพีซ และที่นี่ก็เป็นโอกาสอันดี ที่ทำให้เธอได้ศึกษาเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์
“การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมันเกิดขึ้นแล้ว ก็คือว่า ตอนนี้เราเจอทั้งหน้าแล้ง น้ำท่วมหนัก ฝนตกหนัก แล้วกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบที่สุดคือกลุ่มที่เปราะบางที่สุด เขาไม่มีการปกป้อง ไม่มีเงินพอที่จะมารับมือกับมันได้ ส่วนคนที่ยังไม่ต้องเผชิญกับเรื่องพวกนี้ก็ยังมองไม่เห็น แล้วบังเอิญว่าคนที่ยังไม่ได้รับผลกระทบก็กลายเป็นคนที่สร้างมลพิษเยอะที่สุดด้วย”
Climate Strike Thailand
คุณหลิงมองว่า สาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ คือการที่มนุษย์ขาดความเชื่อมโยงกับธรรมชาติ มองเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องไกลตัว ขณะเดียวกัน ระบบการศึกษาทุกวันนี้ก็ไม่ได้มีการสอนเรื่องนี้อย่างจริงจัง ส่งผลให้เกิดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างขาดความรับผิดชอบ
“เราคิดว่าเรื่องใหญ่ที่สุดคือคนมักจะคิดว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมก็เป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม แต่ว่ามนุษย์ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม เหมือนเราอยู่ในเมือง แต่ธรรมชาติก็เหมือนการไปเที่ยวตามป่าเขา แต่ที่จริงมันเชื่อมโยงกันหมด แค่ตอนนี้เรายังไม่เห็น น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ทำให้น้ำทะเลสูงขึ้น มันก็มาถึงเราอยู่ดี มันไม่ได้ไกลจากเรา แต่คนเราจะรู้ได้ยาก ถ้าไม่เข้าใจวิทยาศาสตร์ของมัน ดังนั้น เราก็จะไม่รัก ถ้าเราไม่รัก เราก็ไม่สนใจที่จะเรียนรู้เพื่อที่จะรักมัน”
เมื่อเห็นว่าธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ส่วนหนึ่งของชีวิต ทรัพยากรธรรมชาติจึงถูกหยิบฉวยออกมาใช้เพื่อความสุขของมนุษย์ จนในที่สุดเราก็ลืมไปว่าเรากำลังบริโภคสิ่งต่างๆ อย่างเกินความจำเป็น ขณะเดียวกัน รัฐและภาคเอกชนต่างก็กอบโกยผลประโยชน์มหาศาลจากการบริโภคของประชาชน โดยละเลยความจริงที่ว่า การกระทำของเรานั้นส่งผลต่อธรรมชาติอย่างใหญ่หลวง
“ตอนนี้ปัญหาที่หนักที่สุดของภาวะโลกร้อนก็คือพลังงานฟอสซิล เช่น ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน ที่ขุดขึ้นมาแล้วเอาไปเผา มันเป็นการปล่อยคาร์บอนจำนวนมาก ในขณะที่ตอนนี้มันมีเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนไปใช้ระบบพลังงานหมุนเวียนแล้ว ซึ่งประชาชนเองเปลี่ยนไม่ได้ ต้องให้รัฐบาลออกกฎหมายหรือสร้างโครงสร้างพื้นฐานมารองรับ แต่ตอนนี้มันมีคนลงทุนกับพลังงานถ่านหินเยอะ ผู้ลงทุนก็จะเป็นผู้มีอำนาจที่คุมกฎหมาย คุมระบบอยู่ มันก็เลยเปลี่ยนยาก เพราะถ้าเปลี่ยนระบบ ผู้ลงทุนพวกนี้ก็จะสูญเสียผลกำไร เสียผลประโยชน์”
อย่างไรก็ตาม คุณหลิงมองว่าไม่ใช่แค่รัฐบาลหรือภาคเอกชนเท่านั้น แต่ประชาชนทั่วไปเองก็มีบทบาทสำคัญในการสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเธอยกตัวอย่างกรณีไฟป่าแอมะซอน ที่เกิดจากการบริโภคที่เกินความจำเป็น
“กรณีไฟป่าแอมะซอน จะโทษรัฐบาลบราซิลอย่างเดียวไม่ได้ คุณไปตัดไม้ทำลายป่าเพื่อที่จะเลี้ยงวัวมาผลิตเนื้อตามความต้องการที่สูงขึ้นของประชากร ก็เลยเป็นวงจรของอุปสงค์อุปทาน แต่มันจะมีกรณีที่บริษัทหรือรัฐบาลจะเอาทรัพยากรธรรมชาติมาผลิตสิ่งต่างๆ ให้เยอะๆ แล้วค่อยมาสร้างความต้องการซื้อทีหลัง โฆษณาให้คนอยากซื้อโน่นซื้อนี่ มันจะได้สร้าง GDP มันคือระบบทุนนิยม ที่ให้ความสำคัญกับผลกำไร พอผลกำไรมาจากการบริโภค ก็ต้องผลิตมากขึ้น เอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้มากขึ้น มันก็ไม่จบอยู่อย่างนี้” คุณหลิงอธิบาย
คุณหลิงเฝ้ามองปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นอย่างโดดเดี่ยว ด้วยในขณะนั้นยังไม่มีใครที่พูดถึงปัญหานี้อย่างจริงจัง จนกระทั่งกระแส Climate Strike ที่นำโดยเกรตา ธันเบิร์ก แผ่ขยายออกไปทั่วโลก โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ในประเทศต่างๆ มองว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมทุกวันนี้เป็นวาระฉุกเฉินที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ก่อนที่จะไม่มีคุณภาพชีวิตที่ดีเหลือให้คนรุ่นหลัง ซึ่งแต่ละประเทศก็จะเน้นประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างออกไปตามบริบทของตัวเอง แต่ที่สำคัญคือ ผู้เข้าร่วมชุมนุมจะต้อง “สไตรก์” คือโดดเรียนหรือโดดงานมาประท้วง
“จริงๆ มันเป็นเรื่องที่ไม่มีใครควรต้องโดดเรียนหรือโดดงานมาทำ มันเป็นการเรียกร้องสิทธิมนุษยชน เป็นการเรียกร้องสิทธิในอนาคตของตัวเอง ซึ่งทุกคนควรได้รับอยู่แล้ว แต่ว่าตอนนี้มันเป็นเรื่องที่สำคัญมาก สำหรับเด็กก็ไม่รู้จะเรียนไปทำไม ในเมื่ออนาคตมันไม่มีแล้ว” คุณหลิงกล่าว
สำหรับจุดเริ่มต้นของ Climate Strike Thailand คุณหลิงเล่าว่าเธอได้รับแรงบันดาลใจมาจากเกรตา ธันเบิร์ก ที่พยายามรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมมาอย่างโดดเดี่ยว เช่นเดียวกับเธอ ที่ผลักดันเรื่องนี้คนเดียวมาตลอด 4 ปี โดยที่มีผู้สนใจจำกัดอยู่ในวงแคบๆ เท่านั้น ดังนั้น เธอจึงสร้าง Facebook Event ชวนคนโดดเรียนและโดดงานมาชุมนุมประท้วง ซึ่งก็มีคนสนใจเข้ามาพูดคุยเกี่ยวกับกิจกรรมนี้พอสมควร ทำให้เธอตัดสินใจเดินหน้าต่อ
“เราคิดว่าถ้าคนสนใจขนาดนี้ เราไม่ควรหยุดน่ะ แล้วเพื่อนก็บอกว่ามันไม่ใช่ไม่มีคนสนใจ แค่สนใจแต่ไม่มีใครทำอะไร แล้วมันก็ต้องการคนที่เริ่มทำคนแรก แล้วสุดท้ายทุกคนก็จะ Me too เต็มไปหมด มันก็เลยเริ่มขึ้นมา” คุณหลิงกล่าว
การประท้วงครั้งแรกของ Climate Strike Thailand เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 - 16 มีนาคม 2562 พร้อมผู้ชุมนุมราว 50 คน ซึ่งคุณหลิงยอมรับว่าในวันแรกของการประท้วงนั้นเหมือนเป็นการระบายความโกรธ มีเพียงการบ่น และไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนใดๆ อย่างไรก็ตาม วันที่สองก็เริ่มมีประเด็นมากขึ้น ทั้งการเรียกร้องพื้นที่สีเขียวมากขึ้น และระบบขนส่งสาธารณะที่ดีขึ้น ทว่าก็ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายเรื่องการเรียกร้องความช่วยเหลือจากรัฐบาลแต่อย่างใด
ส่วนการประท้วงครั้งที่สอง ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2562 คุณหลิงวางเป้าหมายที่ชัดเจนและเป็นทางการมากขึ้น โดยการยื่นหนังสือถึงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงพลังงาน เรียกร้องให้ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก (climate emergency) และหยุดใช้พลังงานถ่านหิน และใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานทดแทน 50 เปอร์เซ็นต์ ของ Renewable Energy Share ภายในปี 2025 และเพิ่มเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2040
อย่างไรก็ตาม แม้การประท้วงครั้งล่าสุดจะมีผู้เข้าร่วมมากขึ้น ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ แต่คุณหลิงก็ยังรู้สึกว่าการประท้วงอาจไม่ได้มีประสิทธิภาพมากในการผลักดันนโยบาย แต่เป็นเพียงการสร้างชุมชนของคนที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมให้มาทำงานร่วมกันเท่านั้น นอกจากนี้ พลังของการหยุดงานและหยุดเรียนมาประท้วงของชาวไทยยังน้อยกว่าในต่างประเทศอย่างเห็นได้ชัด
“การสไตรก์คือการให้หยุดเรียนหรือขาดงานจนทำให้เสียผลิตภาพของโรงเรียนหรือบริษัทนั้นๆ ซึ่งเราคิดว่าที่การสไตรก์ในต่างประเทศมันได้ผล เพราะว่าเวลาเขาออกมากันทีเป็นแสนคน มันไปขัดขวางการทำงานของบริษัทหรือโรงเรียนจริงๆ แต่ของไทย จะขาดเรียนก็ขาดไปสิ แค่ไม่ได้เกรด ไม่ได้มีผลอะไร นอกจากนี้ คนไทยมักจะมองว่าการชุมนุมเป็นเรื่องรุนแรง พอประท้วง ทุกคนก็จะกลัวตำรวจจับ จะประท้วงก็ต้องขออนุญาต ‘ประท้วงได้ไหมคะ’ มันก็ไม่ถือว่าเป็นประท้วงเท่าไร อีกอย่างคือคนอาจจะไม่เชื่อว่ามันจะได้ผล เหมือนเป็นการเอาปัญหามาตั้ง แล้วคุยเรื่องปัญหากัน แต่ว่าเราไม่ได้มีทางแก้อยู่ในมือ”
นอกจากนี้ อุปสรรคอีกอย่างที่คุณหลิงเห็นจากการประท้วงคือ คนไทยยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม เนื่องจากยังไม่มีการปลูกฝังเรื่องนี้ในระบบการศึกษาอย่างจริงจัง รวมทั้งค่านิยมของสังคมที่ไม่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้ลุกขึ้นมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ
“เด็กไทยถูกสอนว่าไม่ควรเถียงผู้ใหญ่ ไม่ควรลุกขึ้นมาพูดหรือมาทำอะไรแบบนี้ แล้ววัฒนธรรมของเราเป็นแบบ รวมหมู่ ที่ทุกคนต้องทำอะไรคล้ายๆ กัน ถ้ามาก็ต้องมากับเพื่อนหลายๆ คน คงจะไม่มาคนเดียว ในขณะที่ฝรั่งจะมีความตระหนักทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมและการเคลื่อนไหวลักษณะนี้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม การประท้วงของเราก็เป็นพื้นที่สำหรับคนที่แคร์เรื่องสิ่งแวดล้อมจริงๆ อย่างน้อยประเทศไทยก็มีตัวแทนเข้าร่วมสไตรก์กับหลายร้อยประเทศ และถ้าไม่มีคนเรียกร้องจากรัฐบาล รัฐบาลก็ไม่ต้องมีหน้าที่ที่จะต้องฟังอะไร เพราะไม่มีใครขออะไร แต่ถ้ามีคนคนหนึ่งขอ ก็ถือว่าคุณก็มีหน้าที่ที่ต้องฟังแล้ว” คุณหลิงกล่าว
Amnesty International Thailand
เมื่อถามถึงแนวทางในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม คุณหลิงยืนยันว่าทั้งรัฐบาลและประชาชนจะต้องร่วมมือกัน ไม่ใช่แค่หน้าที่ใครคนใดคนหนึ่ง
“จริงๆ แล้วมันเป็นทั้งระบบของเรา ระบบการจัดการเมือง การจัดการน้ำ อาหารต่างๆ ที่มันส่งผลกระทบไปถึงโลกร้อน มันจำเป็นต้องให้ผู้ประกอบการหรือรัฐบาลมาเปลี่ยน ถ้าให้ประชาชนทำอย่างเดียวมันมีผลน้อยมาก คือทุกอย่างที่ประชาชนใช้ มันโยงกลับไปที่ผู้ผลิต แล้วผู้ผลิตก็เป็นคนจัดการทั้งระบบ แล้วรัฐบาลก็มีหน้าที่ออกกฎหมายบังคับใช้กับผู้ผลิตเหล่านั้น” คุณหลิงอธิบาย
สำหรับการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในฝั่งของประชาชน คุณหลิงกล่าวว่า นอกจากวิธีง่ายๆ อย่างการลดการใช้ถุงพลาสติก และไม่กินทิ้งกินขว้าง เพื่อลดขยะเศษอาหาร ที่มีส่วนในการก่อมลพิษเมื่อถูกฝังกลบแล้ว เราควรจะมีความตระหนักว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อรู้ว่าเราต้องพึ่งพาธรรมชาติ เราก็จะไม่อยากทำลายธรรมชาติอีกต่อไป
“เราคิดว่ามันต้องเริ่มจากการศึกษา เด็กทุกคนควรรู้ว่าอากาศที่เราหายใจมันมาจากไหน สัตว์แต่ละชนิดมีความสำคัญต่อระบบนิเวศอย่างไร และระบบนิเวศมีความสำคัญต่อเราอย่างไร มันเกี่ยวโยงกันหมด ฉะนั้น เวลาเราเห็นคุณค่าของอะไร เราจะไม่ทำให้สิ่งนั้นเสียหาย”
ด้วยบริบทที่แตกต่างจากประเทศในแถบตะวันตก คุณหลิงจึงคิดว่า แนวทางการสร้างความตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยไม่ควรจะลอกเลียนแบบประเทศอื่นมาโดยตรง แต่ต้องหาวิธีการสื่อสารที่ตรงจุด เรียบง่าย เน้นผลลัพธ์และประโยชน์ของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นหลัก
“สิ่งที่เราอยากได้อย่างแรกคือให้ทุกคนมีความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น ทุกคนสามารถโยงได้ว่า เก้าอี้ตัวหนึ่งทำมาจากไม้ ต้องไปตัดไม้จากป่าไหน ขนส่งมาไกลเท่าไร หรือใช้แรงงานแบบไหน คือต้องเข้าใจว่าทุกอย่างมันมีที่มาที่ไปของมัน หลังจากนั้นเราจึงจะเข้าใจว่าธรรมชาติมีความสำคัญต่อเราอย่างไรบ้าง ถ้าในทางกลับกัน ก็จะทำให้คนรักธรรมชาติก่อน เขาจึงจะสนใจแล้วค่อยมาศึกษาเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และหารูปแบบการสื่อสารที่น่าจะได้ผลที่สุด หรือว่าเป็นการสร้างเทรนด์ เช่น การใช้ของที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือใช้ของมือสอง ใช้ดาราหรือ influencer มา เราอยากสร้างทางแก้ไขให้มันง่ายที่สุด ถูกที่สุด อินเทรนด์ที่สุด ที่ทำให้เขาอยากมาอนุรักษ์ ไม่ใช่ต้องบังคับมา” คุณหลิงกล่าว
จากความพยายามในการสื่อสารเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมานาน 4 ปี คุณหลิงบอกว่า โลกที่เธออยากเห็นในอนาคต ไม่ใช่แค่โลกที่เต็มไปด้วยต้นไม้ แต่คือโลกที่ทุกคนเชื่อมโยงกับธรรมชาติ และเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ของทุกคน ซึ่งนั่นหมายความว่า คนทุกคนมีสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกัน
“ถ้าพูดตามความเป็นจริง ความเท่าเทียมมันไม่ใช่เรื่องธรรมชาติ แต่เราทำให้มันเป็นอย่างนั้นได้ อยากให้ทุกคนมีสิทธิ มีช่องทางที่จะเข้าถึงทรัพยากร มันก็คือการเห็นคุณค่าของทุกคน อีกอย่างก็อยากให้คนเข้าใจว่าคนกับธรรมชาติมันต้องอยู่ร่วมกัน เราต้องพึ่งพาธรรมชาติ ถ้าเข้าใจแบบนั้นแล้ว เราคิดว่าไม่ใช่แค่เราเคารพธรรมชาติอย่างเดียว เราจะเคารพทุกคนด้วย เราจะไม่อยากทำให้ใครเสียใจ เราจะไม่อยากเอาเปรียบใคร” คุณหลิงทิ้งท้าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
>> เด็กไทยร่วมปกป้องภูมิอากาศ เดินขบวน Climate Strike กระหึ่มติดเทรนด์โลก
>> "เกรตา ธันเบิร์ก" สาวออทิสติกนักเคลื่อนไหววัย 16 ถูก TIME ยกให้เป็นผู้นำของคนยุคใหม่