เปิดชื่อ 5 คนดังสุดอันตราย ทำชาวเน็ตเสี่ยงภัยโดน "ไวรัสคอมพ์" ในรอบปี

เปิดชื่อ 5 คนดังสุดอันตราย ทำชาวเน็ตเสี่ยงภัยโดน "ไวรัสคอมพ์" ในรอบปี

เปิดชื่อ 5 คนดังสุดอันตราย ทำชาวเน็ตเสี่ยงภัยโดน "ไวรัสคอมพ์" ในรอบปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ป้องกันและกำจัดไวรัสคอมพิวเตอร์ เผยชื่อ 5 นักแสดงคนดังที่เป็นอันตรายต่อการสืบค้นข้อมูลออนไลน์มากที่สุดของปีนี้ โดยพบว่านักแสดงสาว "อเล็กซิส บลีเดล" รั้งที่ 1

บริษัท แม็คคาฟี ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์และผู้ผลิตซอฟต์แวร์กำจัดไวรัสคอมพิวเตอร์ เปิดเผยชื่อ "คนดังสุดอันตราย" ที่ส่งผลต่อความปลอดภัยของผู้สืบค้นข้อมูลออนไลน์ปี 2019 พบว่า "อเล็กซิส บลีเดล" นักแสดงหญิงชาวอเมริกัน ซึ่งมีผลงานล่าสุดจากซีรีส์เรื่อง The Handmaid's Tales เข้าข่ายบุคคลอันตรายอันดับ 1

แม็คคาฟีให้เหตุผลว่า การเสิร์ชข้อมูลโดยใช้ชื่อของบลีเดลมักจะนำไปสู่เว็บไซต์เถื่อน หรือเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์ที่เผยแพร่ไวรัสคอมพิวเตอร์และมัลแวร์อื่นๆ ที่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้สื่อออนไลน์ทั่วโลก

รายชื่อคนดังที่เป็นอันตรายต่อการสืบค้นข้อมูลออนไลน์คนอื่นๆ ได้แก่ เจมส์ คอร์เดน (อันดับ 2) นักแสดงตลกชาวอังกฤษ และพิธีกรรายการ The Late Late Show ทางช่องซีบีเอส

อันดับ 3 โซฟี เทอร์เนอร์ นักแสดงผู้รับบท "ซานซ่า สตาร์ค" จากซีรีส์ดัง Game of Thrones และรับบทเป็น "จีน เกรย์" ในภาพยนตร์ X-Men: Dark Phoenix

อันดับ 4 แอนนา เคนดริก นักแสดงหญิงชาวอเมริกัน ที่โด่งดังจากผลงานภาพยนตร์ภาคต่อ Pitch Perfect

อันดับ 5 ลูพิตา ญองโง นักแสดงหญิงเชื้อสายเคนยา-เม็กซิโก เจ้าของรางวัลออสการ์สาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมเมื่อปี 2014 จากภาพยนตร์เรื่อง 12 Years a Slave และร่วมแสดงในภาพยนตร์ดัง Black Panthers และผลงานเรื่องล่าสุด Us

แม็คคาฟีระบุด้วยว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้การสืบค้นชื่อของ อเล็กซิส บลีเดล และ โซฟี เทอร์เนอร์ นำไปสู่เว็บไซต์เสี่ยงภัยไวรัสมากเป็นอันดับต้นๆ เป็นเพราะผู้สืบค้นส่วนใหญ่จะพิมพ์คำว่า "Torrent" คู่กันไปด้วย และคำนี้ก็เกี่ยวพันกับการแบ่งปันวิดีโอออนไลน์ซึ่งเข้าข่าย "ละเมิดลิขสิทธิ์" และเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้การสืบค้นชื่อของนักแสดงหญิงทั้งสองราย "ไม่ปลอดภัย" ต่อผู้ใช้งานสื่อออนไลน์

ขณะที่การสืบค้นชื่อซีรีส์ The Handmaid's Tales และ Game of Thrones พร้อมคำว่า 'Torrent' นำไปสู่เว็บไซต์เสี่ยงภัยไวรัสคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นถึง 17 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน โดยเป็นการเปรียบเทียบกับการสืบค้นข้อมูลโดยใช้ชื่อซีรีส์เพียงอย่างเดียว เพราะซีรีส์ที่เป็นผลงานของนักแสดงทั้งสองราย ให้บริการในช่องทางที่ต้องเสียค่าบริการรายเดือน ผู้ที่พยายามค้นหาซีรีส์เหล่านี้ในเสิร์ชเอ็นจินส่วนใหญ่ก็คือผู้ที่ต้องการดูวิดีโอละเมิดลิขสิทธิ์นั่นเอง

แม็คคาฟี เตือนด้วยว่า ถ้าหากไวรัสหรือมัลแวร์ที่ผู้ไม่ประสงค์ดีพยายามใช้โจมตีกลุ่มเป้าหมายในสื่อออนไลน์สามารถล้วงถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนได้ จะทำให้บุคคลเหล่านี้เสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมออนไลน์โดยไม่รู้ตัว เพราะข้อมูลที่ไวรัสหรือมัลแวร์สามารถเข้าถึงได้จะรวมถึงชื่อ-นามสกุล หมายเลขบัตรเครดิต รวมถึงรหัสผ่านอีเมล ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อเจ้าของข้อมูลตัวจริงได้ในหลายๆ ด้าน

ส่วนการป้องกันไวรัสหรือมัลแวร์ที่ดีที่สุดก็คือการหลีกเลี่ยงเว็บไซต์ที่อ้างว่าเป็นแหล่งรวมหรือแหล่งเผยแพร่ข้อมูลละเมิดลิขสิทธิ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ เพลง หรือว่าซีรีส์ยอดนิยม และผู้ใช้งานสื่อออนไลน์ควรติดตั้งระบบตรวจสอบและป้องกันไวรัสคอมพิวเตอร์ที่มีการปรับปรุงแก้ไขให้ทันต่อเหตุการณ์อยู่เสมอด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook