“ช้างศึก” ฟุตบอลทีมชาติไทยที่เป็นมากกว่าศักดิ์ศรีและความบันเทิง
“ช้างศึก” หรือทีมฟุตบอลทีมชาติไทยกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความสุขของคนไทยทั้งชาติ ฝีมือและผลงานที่ยอดเยี่ยมของพวกเขาได้สร้างความภาคภูมิใจ ความสามัคคีและความเป็นหนึ่งเดียวให้กับคนไทยทั้งประเทศ ถึงขนาดได้รับการขนานนามว่าเป็น “คสช.ตัวจริง” ในระยะเวลาหนึ่ง ด้วยคุณสมบัติ “คืนความสุข” ให้กับคนในชาติ อย่างไรก็ตาม ในความสำเร็จของทีมฟุตบอลทีมชาติไทย ก็อัดแน่นไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งยังซ่อนภาพของสถานการณ์บ้านเมืองและสถานการณ์ของโลกที่แฟนบอลอาจไม่ทันได้สังเกตเห็น ดังนั้น Sanook จึงขอพาแฟนบอลทีมชาติไทยทุกคนไปเรียนรู้เรื่องราวมากมายเบื้องหลังทีมช้างศึกของชาติที่ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือสร้างความบันเทิงและความภาคภูมิใจ แต่ยังหมายถึงทิศทางของประเทศในเวทีโลกเลยทีเดียว
เปิดสนามฟุตบอลไทย
“ฟุตบอล” เป็นหนึ่งในกีฬาที่ได้รับความนิยมสูงสุดในประเทศไทย โดยเฉพาะ “ไทยลีก” ที่สร้างความสนุกสนานและสามัคคีให้กับแฟนบอลจำนวนมาก ทั้งยังได้สร้างนักฟุตบอลฝีเท้าเยี่ยมมากมาย เพื่อเข้าไปรับใช้ชาติ ในฐานะ “ช้างศึก” ของประเทศ จนสามารถสร้างความภาคภูมิใจและปรากฏการณ์รักชาติในหมู่แฟนบอลได้อย่างน่าทึ่ง อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ฟุตบอลไทยจะประสบความสำเร็จดังเช่นทุกวันนี้ วงการฟุตบอลบ้านเราก็ผ่านช่วงซบเซาอย่างถึงที่สุดมาแล้วเช่นกัน
“ไทยลีก” เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2539 โดยใช้โมเดลแบบ “เจลีก” ของประเทศญี่ปุ่น ที่ถูกสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2535 ซึ่งมีการวางรากฐานและสร้างระบบเป็นอย่างดี ส่งผลให้ทีมฟุตบอลทีมชาติญี่ปุ่นเกิดการพัฒนาฝีมือขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงยึดเอาทีมชาติญี่ปุ่นเป็นต้นแบบ และสร้างไทยลีกขึ้นมา แต่ปัญหาก็คือ ประเทศไทยกลับหยิบเอาเฉพาะรูปแบบของญี่ปุ่นมา แต่ไม่ได้นำวิธีการจัดการมาใช้ด้วย ทำให้กีฬาฟุตบอลในประเทศยังคงไม่ได้รับความนิยมเช่นเดิม
อาจารย์ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ นักวิชาการและอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี กล่าวว่าหนึ่งในปัญหาใหญ่ของวงการฟุตบอลไทยในอดีต ก็คือสโมสรหลักในไทยลีกเป็นทีมฟุตบอลที่เป็นตัวแทนขององค์กรต่าง ๆ ทั้งในภาครัฐและเอกชน เช่น สโมสรธนาคารกสิกรไทย การท่าเรือ หรือทหารอากาศ ทำให้คนนอกองค์กรไม่มีความรู้สึกร่วมและขาดความเชื่อมโยงกับทีมหากพวกเขาไม่ได้เป็นพนักงานหรือผู้ติดตามทีมนั้น ๆ อย่างจริงจัง ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้มีผู้ติดตามฟุตบอลไทยน้อย และการแข่งขันฟุตบอลของไทยก็ซบเซามากถึงขนาดต้องจ้างคณะตลกมาเล่นในระหว่างการพักครึ่ง
“ถ้าเป็นสมัยก่อน เราทำงานธนาคารกรุงไทย เราก็ต้องเชียร์ทีมธนาคารกรุงไทย จบอยู่แค่นั้น คนที่เดินผ่านไปมาอย่างพี่จะไปเชียร์ใคร ธนาคารกรุงไทยก็ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่น้อง ไปนั่งดูฟุตบอลเฉย ๆ เพราะไม่มีทีมเชียร์ มันก็ไม่สนุก กองเชียร์หร็อมแหร็ม มีกันอยู่สิบคน ยี่สิบคน แล้วความเป็นมืออาชีพน้อย แต่ก่อนอยู่สโมสรธนาคารกรุงเทพ ตอนเช้าก็ทำงานธนาคาร ตอนเย็นก็มาซ้อมบอล เสาร์อาทิตย์ไปแข่ง แล้วฟุตบอลเตะกันแค่เจ้าบ้านกับทีมเยือน แต่ฟุตบอลลีกบ้านเราก่อนมีสนามกลาง เตะสองคู่ในหนึ่งวัน ช่วงพักครึ่งมีตลกอีก คือพยายามดึงคนให้เข้ามาในสนามซึ่งมันก็ทำไม่ได้ เลยไม่ประสบความสำเร็จ” คุณสราวุฒิ จิตชื่น แฟนบอลตัวยงของทีมฟุตบอลทีมชาติไทยเล่าย้อนกลับไปถึงยุคซบเซาของฟุตบอลไทย
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลานั้น ประเทศไทยไม่ได้มีเพียงไทยลีกเท่านั้น แต่ยังมี “โปรวินเชียลลีก” ซึ่งเป็นลีกของทีมฟุตบอลระดับจังหวัด ที่มีฐานแฟนบอลมากกว่าไทยลีก เพราะให้ความรู้สึกของการเป็นทีมบ้านเกิด มีความรู้สึกเชื่อมโยงกับทีมได้มากกว่าทีมสโมสรองค์กรต่าง ๆ แต่ก็ไม่ได้เรียกว่าประสบความสำเร็จเช่นกัน และในช่วงหลัง โปรวินเชียลลีกได้ถูกยุบรวมเข้ากับไทยลีก จนกระทั่งในช่วง พ.ศ. 2550 วงการฟุตบอลไทยเข้าสู่จุดเปลี่ยนที่สำคัญ จากการเกิดรูปแบบทีมฟุตบอลจังหวัดที่เข้มแข็งขึ้น มีการฝึกซ้อม การทำงานและการจัดการที่เป็นระบบ พร้อมกับการที่ภาคธุรกิจเข้ามาสนับสนุนทีมฟุตบอลต่าง ๆ ก็ทำให้วงการฟุตบอลไทยเกิดความตื่นตัว เกิดทีมฟุตบอลจังหวัดขึ้นมาอีกหลายทีม และสร้างความรู้สึกเชื่อมโยงให้กับผู้คนได้เป็นวงกว้าง ส่งผลให้เกิดฐานแฟนบอล รวมถึงการได้แชมป์ไทยลีกของทีมชลบุรี เอฟซี ซึ่งเป็นชัยชนะครั้งแรกของทีมระดับจังหวัด ก็ทำให้วงการฟุตบอลไทยเริ่มคึกคักมากขึ้นกว่าเดิม
เมื่อวงการฟุตบอลเริ่มตื่นตัว ส่งผลให้เกิดนักฟุตบอลอาชีพของทีมฟุตบอลต่าง ๆ เกิดเป็นการฝึกซ้อมและฝึกฝนอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้มีนักฟุตบอลฝีมือดีเกิดขึ้นหลายคนและเป็นผลดีกับฟุตบอลทีมชาติไทย เพราะสามารถรวบรวมนักฟุตบอลเก่ง ๆ เข้ามาอยู่ในทีมชาติ สร้างผลงานและคว้าแชมป์ให้กับประเทศได้มากมาย ก่อเกิดเป็นกระแสฟุตบอลไทยฟีเวอร์ได้ในที่สุด
นักเตะหมายเลข 12
ในโลกอุตสาหกรรมที่คนเป็นแรงงาน การทำงานคือการสะสมความเครียดในแต่ละวัน กีฬาหรือฟุตบอลจึงเป็นการผ่อนคลายอย่างหนึ่งเพื่อให้คนกลับไปทำงานต่อได้ ทั้งนี้ มนุษย์ยังสัมพันธ์กับกีฬาผ่านการดูมากกว่าการเล่น การดูกีฬาจึงเป็นภาวะที่คนดูสามารถตื่นเต้นกับความรุนแรงและการใช้พละกำลังจำลองได้ ยิ่งไปกว่านั้นยังเกิดความรู้สึกตื่นเต้นและความรู้สึกร่วมในทางอารมณ์กับการดูกีฬานั้น ๆ
“ฟุตบอลเป็นกีฬาที่ให้ความบันเทิง ไปนั่งเชียร์คนเดียว ไปนั่งดูคนเตะบอลมันไม่สนุก ต้องไปเชียร์กับเพื่อน ต้องไปเชียร์กับครอบครัว” คุณสราวุฒิกล่าว
อาจารย์อาจินต์ ทองอยู่คง อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่าลักษณะของกีฬาฟุตบอลนั้น เปิดโอกาสให้คนดูมีส่วนร่วมในสนามได้เยอะ ไม่มีจารีตปฏิบัติสำหรับผู้ชม หรือมีแบบแผนปฏิบัติที่เคร่งครัดหรือเข้มงวด ซึ่งแตกต่างจากกีฬาชนิดอื่น ๆ เช่น สนุกเกอร์ หรือเทนนิส แต่กีฬาฟุตบอลอนุญาตให้คนดูร้องเพลงดังเท่าไรก็ได้ ด้วยลักษณะแบบนี้จึงทำให้คนดูมีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขัน ได้มากกว่า
การมีส่วนร่วมและความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขัน ทำให้เกิดการนิยามตัวตนของแฟนบอลว่าเป็น “นักเตะหมายเลข 12” ที่เป็นคนสำคัญของเกมการแข่งขัน เพราะเป็นผู้สนับสนุนและสร้างพลังให้กับนักเตะในสนาม มีหน้าที่สำคัญคือการข่มขวัญคู่ต่อสู้ ทำเสียงกดดันคู่ต่อสู้ ร้องเพลงปลุกใจ สร้างจังหวะการเชียร์ และสนุกสนานไปกับเกมในสนามและการเชียร์บนอัฒจันทร์
“พลังกองเชียร์เป็นที่มาของคำว่า นักเตะหมายเลข 12 คือนักเตะในสนามมี 11 คน แล้วหมายเลข 12 ก็คือกองเชียร์นี่แหละ และมีความสำคัญมาก คือถ้าไม่มีหมายเลข 12 คอยสนับสนุน สนามก็จะโล่ง ๆ เตะไปเถอะ มีแต่กล้องถ่ายทอดสดให้คนทั่วประเทศดู แต่ไม่มีคนเชียร์ในสนาม” คุณสราวุฒิกล่าว
ฟุตบอลไทยกับความเป็นชาติ
นอกจากจะเป็นความบันเทิงแล้ว ฟุตบอลยังถูกยึดโยงอยู่กับความเป็นชาติ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน ก็คือความภาคภูมิใจของแฟนบอลทุกครั้งที่ทีมฟุตบอลทีมชาติไทยลงแข่งขัน ก่อเกิดเป็นความสามัคคีและเป็นหนึ่งเดียวของคนในชาติ ซึ่งในประเด็นนี้ อาจารย์อาจินต์ได้อธิบายเอาไว้ว่า
“ฟุตบอลหรือกีฬา โดยเฉพาะทีมชาติ กลายเป็นสัญลักษณ์ของชาติได้ ก็เพราะความรู้สึกของการเป็นชาติคือจินตนาการที่คนมีร่วมกัน เราจะมองไม่เห็นว่าชาติทำงานอย่างไร หรือปะทะแข่งขันกับชาติอื่น ๆ อย่างไร เราไม่เห็นมันอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน แต่ในกรณีของกีฬา การมีนักกีฬายืนอยู่ในสนามแข่ง ทำให้มองเห็นจินตนาการของความเป็นชาติที่เราเคยเห็นอยู่ในหัวร่วมกัน มันปรากฏเป็นรูปร่างผ่านตัวนักกีฬา เป็นรูปธรรมขึ้นมา พูดง่าย ๆ ก็คือ กีฬาทำให้จินตนาการของชาติเป็นรูปธรรมขึ้นมาได้ ผ่านตัวแทนนักกีฬาทีมชาติ”
เมื่อความเป็นชาติถูกทำให้เห็นเป็นรูปธรรม จึงเกิดความรู้สึกสำนึกรักชาติขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมด้วยเช่นกัน โดยแฟนบอลมักจะยึดโยงความรักชาติเข้ากับการเชียร์ทีมฟุตบอลหรือทีมกีฬาทีมชาติไทย
“ทีมชาติไทย คือทีมประเทศของเรา ไม่มีใครหรอกที่จะบอกว่าไม่เชียร์ทีมชาติไทย แล้วฟุตบอลก็เป็นชาตินิยม ถ้าว่าถ้าเราเป็นคนไทย ไม่เชียร์ทีมชาติไทย แปลกไหม แปลกมาก บางคนก็ด่าทีมชาติไทยเยอะเลยนะ ด่าอย่างเดียว ไม่ฟังใครเลย ชนะก็ยังด่า แต่ถามว่าด้วยลึก ๆ ของคนที่เชียร์ ใครไม่อยากเห็นทีมชาติไทยชนะบ้าง ถ้าคิดว่าอยากเห็นทีมชาติไทยแพ้ทุกนัด ใช่คนไทยหรือเปล่า” คุณสราวุฒิตั้งคำถาม
อย่างไรก็ตาม กีฬาฟุตบอลไม่เพียงแต่ยึดโยงอยู่กับความเป็นชาติเท่านั้น แต่ก็ยังมีนัยทางสังคมในปัจจุบันที่ส่งผลให้ฟุตบอลได้รับความนิยมจากคนในชาติ
“มันเป็นเรื่องของความหวัง มันสร้างเป้าหมายบางอย่างให้กับชีวิต อย่างประเทศในละตินอเมริกา สิ่งที่หล่อเลี้ยงจิตใจของผู้คนคือฟุตบอล ถึงกับมีคำพูดว่าฟุตบอลเอาไว้หลอกคน เพราะมันยังเป็นของที่ทำให้ความแตกต่างทางความคิด ทางการเมือง ทางจุดยืน ยังพอทำให้ไปอยู่ในจุดเดียวกันได้” อาจารย์ศิริพจน์ชี้
นอกจากนี้ อาจกล่าวได้ว่า ฟุตบอลหรือกีฬาถูกใช้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจในช่วงที่สังคมระส่ำระสาย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ในช่วงปี ค.ศ. 1920 สหรัฐอเมริกามีนักกีฬาที่โด่งดังเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และนักกีฬาเหล่านี้ก็กลายเป็นฮีโร่หรือวีรบุรุษของชาติ เนื่องจากสภาวะที่ไม่มั่นคงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และภาวะทางเศรษฐกิจที่เพิ่งกระเตื้องขึ้น ความต้องการวีรบุรุษเพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจทำให้ยุคนั้นได้ชื่อว่าเป็นยุคทองของการกีฬายุคหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ขณะที่ประเทศไทย ช่วงที่ทีมฟุตบอลทีมชาติไทยภายใต้การนำทีมของโค้ชซิโก้ เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ก็เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ทีมฟุตบอลทีมชาติไทยในขณะนั้นจึงได้รับการขนานนามว่าเป็น “คสช.ตัวจริง” หมายถึงเป็นผู้ที่คืนความสุขให้ประชาชนที่แท้จริง
“ในช่วงที่สังคมเริ่มมีปัญหา คนไม่สบายใจกับภาวะสังคมที่เป็นอยู่ เรื่องการเมือง เรื่องต่าง ๆ นานา คนก็พยายามหาฮีโร่ในทางอื่น ในเมื่อการเมืองของคุณเป็นที่ที่ทำให้คุณสบายใจไม่ได้ คุณก็จะเห็นว่านักกีฬาของไทย หรือนักฟุตบอลกลายเป็นมาออกทีวี เป็นพรีเซนเตอร์โฆษณา มีรายได้เยอะแยะมากมาย สิ่งเหล่านี้ปรากฏขึ้นมาเยอะแยะมากมาย มันจึงเป็นช่วงที่คนไทยโหยหาฮีโร่อะไรบางอย่าง” อาจารย์อาจินต์กล่าว
ฟุตบอล ประวัติศาสตร์ ชาติ และบาดแผล
แม้กีฬาฟุตบอลจะทำหน้าที่ของความบันเทิงและเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจให้คนในสังคม แต่ฟุตบอลก็ยังมีภาพของการทำสงครามประจันหน้ากันในเขตแดนตรงกลาง โดยเฉพาะกรณีของประเทศไทยที่แฟนบอลมักจะเรียกนักฟุตบอลว่า “ขุนศึก”
“ระบบสัญลักษณ์ของกีฬาหลาย ๆ อย่างหรือฟุตบอลก็จะเห็นได้ชัด มันวางระบบสัญลักษณ์แบบเดียวกับการทำสงคราม ลองนึกถึงตำแหน่งของนักฟุตบอลที่ยืนเป็นปีก เป็นกองหน้า เป็นกองหลัง มันเหมือนกับการยืนในตำแหน่งของการทำสงคราม หรือของกองทัพที่ประจันหน้ากัน หรือสองกองทัพปะทะกันในเขตแดนตรงกลาง และลักษณะของกีฬาสมัยใหม่ก็มีลักษณะเป็นการต่อสู้และการปะทะกันโดยใช้กำลัง ภายใต้ขอบเขตหรือเงื่อนไขที่จำกัด อาจเรียกได้ว่าเป็นการทำสงครามอย่างอารยะ ซึ่งคำนิยามของความเป็นอารยะก็คือการจำกัดการใช้ความรุนแรงนั่นเอง” อาจารย์อาจินต์อธิบาย
หากมองให้ลึกลงไปกว่าการเป็นภาพแทนของสงคราม เมื่อเราผูกฟุตบอลเอาไว้กับความเป็นชาติ ฟุตบอลก็ย่อมเชื่อมโยงอยู่กับประวัติศาสตร์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ที่ในอดีตเคยเป็นศัตรูและเคยทำสงครามกันมาก่อน นั่นจึงเป็นหนึ่งเหตุผลที่อธิบายเหตุการณ์ความขัดแย้งต่าง ๆ ของแฟนบอลไทยและแฟนบอลประเทศเพื่อนบ้านในทุกครั้งที่มีการแข่งขันฟุตบอล เช่น ในกรณีประเทศเวียดนาม ที่มักจะมีความร้อนระอุและความเข้มข้นของความเป็นชาติทาบทับอยู่ในการเตะฟุตบอลในสนามและระหว่างกองเชียร์อยู่เสมอ ซึ่งอาจารย์อาจินต์มองว่าคนไทยเพิ่งรู้สึกว่าเวียดนามเป็นคู่แข่งเมื่อไม่นานมานี้ เพราะตำแหน่งแห่งที่ในเวทีเศรษฐกิจ การเมืองโลกของประเทศไทยอาจดูมั่นคงกว่าของเวียดนามมานานพอสมควร แต่ในตอนหลัง เวียดนามเริ่มพัฒนาและท้าทาย ขณะเดียวกันเวียดนามเองก็มองว่าประเทศไทยเป็นเป้าหมายที่ต้องเอาชนะให้ได้ และเกิดการสะท้อนออกมาผ่านทางกีฬา
ทางด้านอาจารย์ศิริพจน์ก็แสดงความคิดเห็นว่าฟุตบอลไทยได้สร้างความรู้สึกของการเป็นเจ้าซีเกมส์ให้กับคนในชาติ ซึ่งการเป็นเจ้าซีเกมส์ก็เท่ากับการเป็นเจ้าอาเซียน ซึ่งทำให้คนไทยหลอกตัวเองมาตลอดว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ดีที่สุดในอาเซียน แม้แต่กับประเทศสิงคโปร์ ที่มีการพัฒนาและเจริญกว่าประเทศไทย แต่ประเทศไทยก็ยังเป็นเจ้าเหรียญทองซีเกมส์แทบทุกครั้ง เพราะฉะนั้นในบริเวณภูมิภาคเดียวกัน จึงมีบาดแผลที่ถูกสร้างระหว่างกันแต่เดิมอยู่แล้ว และไม่ใช่กับเวียดนามเพียงประเทศเดียว แต่ประเทศอื่น ๆ เช่น พม่า อินโดนีเซีย ก็ไม่ต่างกัน
ขณะที่คุณสราวุฒิชี้ว่า ในกรณีฟุตบอล ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความสูสีกันของสองประเทศ ทั้งในเรื่องของนักฟุตบอลและทีมชาติ ที่มีความใกล้เคียงและพร้อมที่จะแพ้ชนะกันได้
“ไทยกับเวียดนาม ตอนนี้คือห้ามแพ้ คือเราจะแพ้ใครก็ได้ แต่ห้ามแพ้เวียดนาม” คุณสราวุฒิเล่า
เมื่อประวัติศาสตร์ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างชาติ และเป็นเครื่องมือในการแบ่งแยกความเป็นชาติ เพราะรัฐต้องเขียนประวัติศาสตร์เพื่อหมุดหมายหรือจุดประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ ดังนั้น ประวัติศาสตร์ที่คนในประเทศจดจำจึงมีแนวโน้มที่จะแบ่งแยกความเป็นเขาและความเป็นเรา เกิดเป็นความขัดแย้งที่ลงไปสู่การกีฬา แต่คำถามที่ตามมาก็คือ กีฬาควรเป็นตัวแทนของความขัดแย้งจริงหรือ และมีวิธีการใดที่จะช่วยขจัดความขัดแย้งที่แฝงอยู่ในกีฬาได้
“ต้องเบลอบาดแผลที่ถูกสร้างขึ้นโดยประวัติศาสตร์ เอาความจริงในประวัติศาสตร์มาพูดคุยกัน เช่น พงศาวดารของไทยกับพม่า ไม่เหมือนกัน ก็พูดทั้งสองเล่ม จะพูดเล่มเดียวทำไม แล้วบอกว่าของไทยถูก จะบ้าเหรอ เอาสองอันมาถกกันให้เป็นเรื่องปกติ” อาจารย์ศิริพจน์เสนอ
เส้นแบ่งความเป็นชาติที่เจือจาง
อย่างไรก็ตาม ในโลกปัจจุบันความเป็นชาตินิยมในกีฬาเป็นสิ่งที่ล้าสมัยไปแล้ว เพราะเส้นแบ่งความเป็นชาติเจือจางลงไป กระนั้น ความเป็นชาติก็ไม่ได้หายไป เพียงแต่มีบทบาทลดลง เช่น การรวมประเทศของสหภาพยุโรปหรืออียู ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงความคิดเรื่องชาติ แม้จะไม่สามารถลบล้างเอาความเป็นชาติออกไปได้หมด แต่ก็เกิดเป็นการรวมตัวของแต่ละชาติเพื่อจุดมุ่งหมายทางเศรษฐกิจและการเมือง เป็นต้น
“พวกฟุตบอลยุโรปที่เป็นบอลโลก ทุกวันนี้ชัดมากว่าพอเป็นโปรแกรมแข่งระดับชาติ คนดูบอลจะเฉย ๆ เพราะความเป็นชาติเปลี่ยนรูปแบบไปแล้ว ผมว่ามันเปลี่ยนไปแล้วเพราะสังคมไม่ได้ยึดโยงอยู่กับพื้นที่อีกต่อไป มันมีสังคมบนโซเชียล สังคมสารพัด ซึ่งเน้นความหลากหลาย” อาจารย์ศิริพจน์ชี้
สอดคล้องกับอาจารย์อาจินต์ที่มองว่าการผูกกีฬาเข้ากับความเป็นชาติเป็นเรื่องที่เชยมากแล้ว เพราะกีฬาทีมชาติเป็นสิ่งที่ถูกให้ความสำคัญมากในช่วงสงครามเย็น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการแข่งขันทางอุดมการณ์ของโลกสังคมนิยมและเสรีนิยม แต่ในยุคปัจจุบันที่คนมีการเคลื่อนย้าย เดินทาง มีการแต่งงานข้ามพื้นที่ เกิดอัตลักษณ์ที่หลากหลาย ก็ทำให้เส้นแบ่งของความเป็นชาติและความเป็นสัญชาติของคนเปลี่ยนไป ดังนั้นชาติจึงไม่ใช่คำตอบสากลอีกต่อไป เพราะมีอะไรที่มากกว่าความเป็นชาติปรากฏขึ้นมานั่นเอง
“คนไม่มีสัญชาติไม่ถูกรับรองอย่างเป็นทางการ คนไร้สัญชาติ ไร้รัฐที่ไม่ได้อยู่ในสารบบของทีมชาติ ถ้าเป็นแบบนี้ กีฬาทีมชาติก็ไม่ใช่กีฬาของมนุษยชาติ แต่เป็นกีฬาของมนุษย์ที่มีสังกัดแบบใดแบบหนึ่ง” อาจารย์อาจินต์ตั้งข้อสังเกต
แม้ฟุตบอลสำหรับคนไทยจะเป็นเรื่องราวของศักดิ์ศรีความเป็นชาติและการดำรงไว้ซึ่งความภาคภูมิใจในเกียรติภูมิของความเป็นไทย แต่เมื่อความเป็นชาติมีการเปลี่ยนแปลง เส้นแบ่งความเป็นชาติเริ่มเจือจางลงเพราะโซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทกับชีวิตคนมากขึ้น รวมถึงการข้ามพื้นที่และการเกิดอัตลักษณ์ใหม่ ๆ ของประชากรโลกที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับความเป็นชาติอีกต่อไป ถึงเวลาหรือยังที่คนไทยควรหมุนไปตามการเปลี่ยนมุมมองของโลก โดยเปลี่ยนมุมมองเรื่องความเป็นชาติ อย่างน้อยก็เพื่อคลายความขัดแย้งระหว่างประเทศและลดความเกลียดชังต่อประเทศอื่น ๆ ในที่สุด