เผยนักวิจัยไทยพัฒนาวัคซีนหวัด2009 สำเร็จ

เผยนักวิจัยไทยพัฒนาวัคซีนหวัด2009 สำเร็จ

เผยนักวิจัยไทยพัฒนาวัคซีนหวัด2009 สำเร็จ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นักวิจัยไทยสองทีมทำงานคู่ขนานพัฒนาต้นแบบวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 ทั้งชนิดฉีดพ่นเข้าจมูก และชนิดฉีด เตรียมทดสอบในสัตว์เพื่อดูประสิทธิภาพก่อนส่งต่อให้องค์การเภสัชกรรมผลิตและทดสอบในมนุษย์

ทีมวิจัยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เลือกพัฒนาวัคซีน ไข้หวัดใหญ่ 2009 ชนิดเชื้อเป็น ซึ่งหมายถึงการนำเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ตัวล่าสุดมาทำให้มีฤทธิ์อ่อนจนไม่สามารถทำอันตรายต่อร่างกายผู้รับวัคซีนได้ แต่กลับกระตุ้นภูมิคุ้มกันร่างกายให้ส่งแอนติบอดี้มาทำลายเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่หากได้รับเชื้ออีกครั้ง

นักวิจัยจากคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเปิดเผยว่า การพัฒนาวัคซีน ชนิดเชื้อเป็น ประสบความสำเร็จสามารถผลิตวัคซีนต้นแบบได้แล้ว และตอนนี้กำลังทดสอบนำวัคซีนไปฉีดพ่นในโพรงจมูก ตัวเฟอร์เร็ต สัตว์ที่อยู่ในตระกูลเดียวกับอีเห็น คาดว่าภายใน 2-3 เดือนจะรู้ผลและสามารถส่งมอบเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนต้นแบบให้กับองค์การ เภสัชกรรมสำหรับนำไปผลิตและทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานในมนุษย์ต่อไป" ศ.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว

การสร้างสายพันธุ์วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ชนิดเชื้อเป็น นักวิจัยใช้เทคนิคที่เรียกว่า รีเวอร์สเจเนติกส์ (Reverse genetics: RG) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่หลายประเทศนิยมใช้ในการสร้างวัคซีนไข้หวัดนก และได้เลือกใช้เชื้อไวรัสนนทบุรี 102 ซึ่งเป็นเชื้อลูกผสมที่ได้จากผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 2009 รายแรกในไทย พร้อมด้วยต้นแบบรหัสพันธุกรรม (จีโนม) ที่ได้จากองค์การอนามัยโลกเป็นสารตั้งต้นในการผลิต

"เชื้อดังกล่าวเมื่อฉีดเข้าจมูกจะไม่ก่อให้เกิดโรคแต่เป็นตัวกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส เอ เอช1 เอ็น1 ขึ้นมา " ศ.นพ.ประเสริฐ อธิบาย

ขณะเดียวกัน ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) และทีมวิจัยได้พัฒนาต้นแบบวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในรูปแบบของ ชนิดเชื้อตาย เป็นผลสำเร็จแล้วเช่นกัน และอยู่ระหว่างทดสอบในสัตว์ทดลอง หากพบว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2009 สามารถนำไปใช้ในรูปของวัคซีนสำหรับฉีดเข้าร่างกายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันไข้หวัดมรณะ

"การพัฒนาวัคซีนชนิดตาย เป็นการใช้เชื้อไวรัสสูตร 5+3 ครั้งแรกของโลก โดย 5 ในที่นี้หมายถึงการใช้เชื้อไวรัสต้นแบบนนทบุรี 102 ซึ่งได้จากผู้ป่วยไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่รายแรกในไทยเป็นต้นแบบ 3 ยีน และใช้เชื้อต้นแบบจาก Puerto Rico 5 ยีน จากเดิมที่มาตรฐานโลกนิยมใช้สูตร 6+2 ในการผลิตวัคซีน"ดร.อนันต์ กล่าว

วัคซีนป้องกันไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 ชนิดเชื้อเป็นและชนิดเชื้อตายอยู่ระหว่างการทดสอบในสัตว์ทดลองหรือตัวเฟอร์เร็ต ซึ่งเป็นสัตว์ที่ทั่วโลกใช้เป็นมาตรฐานในการทดลองในการพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คาดว่าอีก 3 เดือน หากวิจัยแล้วเสร็จจะส่งมอบเทคโนโลยีการผลิตให้แก่องค์การเภสัชกรรม เพื่อเดินเครื่องโรงงานต้นแบบนำร่องทดลองผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 หรือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 สำหรับนำไปทดสอบในมนุษย์ต่อไป

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook