ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เปิดแล้ว! "พุทธิพงษ์" ยืนยันรู้ผลมั่วไม่มั่วภายใน 2 ชั่วโมง
วันนี้ (1 พ.ย.) เวลาประมาณ 13.30 น. นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธานแถลงข่าวเปิดตัว ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center) โดยเน้นข่าวที่มีผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง กระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินประชาชน เพื่อคาดหวังให้เกิดการรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องและเผยแพร่ต่ออย่างรู้เท่าทันสื่อ และเป็นโอกาสดีที่มีการเปิดตัวศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (PCT) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กับ สํานักงานตํารวจแห่งชาติ อีกด้วย
สำหรับศูนย์ดังกล่าวจะทำหน้าที่ดูแล กลั่นกรอง ตรวจสอบ หรือกําจัดข่าวปลอม ซึ่งเป็นข่าวที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง และจะมีการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจในข่าวที่ถูกต้อง เพื่อ ประชาชนทุกคนให้เข้าใจ และรู้เท่าทันว่าข่าวไหนปลอมข่าวไหนจริง
ในส่วนของหลักเกณฑ์ในการพิจารณาข่าวปลอมที่มีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยตรง เช่น โรคระบาด ภัยพิบัติ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ข่าวที่สร้างความแตกแยกในสังคม ข่าวที่สร้างความเข้าใจผิดต่อสังคมตลอดจนข่าวที่ทําลายภาพลักษณ์ ต่อประเทศ คือ
- ข่าวกลุ่มภัยพิบัติ (น้ำท่วม แผ่นดินไหว เขื่อนแตก สึนามิ ไฟไหม้ เป็นต้น)
- ข่าวกลุ่มเศรษฐกิจ การเงินการธนาคาร/หุ้น
- ข่าวกลุ่มผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสําอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายอื่น และ
- ข่าวกลุ่มนโยบายรัฐบาล / ข่าวสารทางราชการ / ความสงบเรียบร้อยของสังคม / ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ
โดยจะมีการดำเนินการตามหลัก Code-of-Principles ดังนี้
1. ความเที่ยงธรรมและความปราศจากอคติในการคัดเลือกข่าว
2. ความเป็นส่วนบุคคลกับสิทธิเสรีภาพของการนําเสนอข่าว
3. การขัดกันด้านผลประโยชน์ และ ผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่นําไปสู่ความขัดแย้ง
4. ให้ความเป็นธรรมแก่ฝ่ายที่ถูกพาดพิงและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างเท่าเทียมกัน
5. สามารถอธิบายกระบวนการการพิสูจน์ การตรวจสอบ แหล่งที่มาของบทความและข้อเท็จจริงต่างๆ ได้
6. มีความรู้เกี่ยวกับข่าวนั้นๆ ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงในด้านต่างๆ ได้อย่างเปิดเผย ซื่อสัตย์ และ โปร่งใส และข้อสุดท้าย
7. เป็นหน่วยงานที่อิสระ ไม่ขึ้นต่ออิทธิพลของหน่วยงานหรือองค์กรใดๆ
สำหรับศูนย์นี้จะทําหน้าที่รับแจ้งข้อมูลที่ต้องการตรวจสอบ และส่งต่อเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยนายพุทธิพงษ์ระบุว่ามีอยู่กว่า 200 หน่วยงาน ซึ่งจะมีกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง แล้วแจ้งผลการตรวจสอบกลับมา ประชาชนจะสามารถตรวจเช็คข่าวปลอมได้ทันที ในเบื้องต้นคาดว่าจะใช้เวลาในการตรวจสอบได้ภายใน 2 ชั่วโมง
ทั้งนี้ ช่องทางหลักในการสื่อสารของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ณ ขณะนี้มีอยู่ 5 ช่องทาง ดังนี้
- เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com
- LINE: @ANTIFAKENEWSCENTER
- facebook page: ANTI-FAKE NEWS CENTER
- twitter: @AFNCTHAILAND
- ศูนย์รับแจ้งข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ชั้น 6
เพื่อเน้นการมีส่วนร่วมให้กับประชาชน รวมทั้งเป็นศูนย์กลางในการตรวจสอบข่าวสาร หรือข้อมูลอันเป็นเท็จ รวมทั้งข้อมูลหรือข่าวที่มีการตัดต่อข้อมูล เนื้อหา และการนําเสนอข้อมูลข่าวสารโดยปราศจากข้อเท็จจริงนั่นเอง
อัลบั้มภาพ 13 ภาพ