“อาหารปลอดภัย” ความรับผิดชอบของใครในสังคม

“อาหารปลอดภัย” ความรับผิดชอบของใครในสังคม

“อาหารปลอดภัย” ความรับผิดชอบของใครในสังคม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“อาหาร” คือปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของมนุษย์ทุกคนบนโลกใบนี้ แต่ขณะเดียวกัน “อาหาร” ก็สร้างผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คนมากมาย สาเหตุหลักเกิดจากสารเคมีที่ถูกใช้ในกระบวนการผลิตอาหารเพื่อผลผลิตที่มากขึ้นตามความต้องการของผู้บริโภค จนเราไม่สามารถปฏิเสธอาหารปนเปื้อนเหล่านี้ได้เลย ขณะเดียวกัน เกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษที่ไม่ทำร้ายสุขภาพ ก็มีราคาแพงจนแทบเอื้อมไม่ถึง แล้วทางเลือกสำหรับผู้บริโภคทั่วไปในสังคมจะมีหรือไม่ และอาหารปลอดภัยควรเป็นความรับผิดชอบของใครที่จะต้องสร้างความเข้าใจและการเปลี่ยนแปลง วันนี้ Sanook จึงขอพาคุณไปร่วมค้นหาคำตอบ เพื่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีกว่าของพวกเราทุกคน

เสี้ยนหนามอาหารปลอดภัย

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา “ทีมงานซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก” ซึ่งเป็นการรวมตัวกันขององค์กรภาคประชาคมต่าง ๆ ได้จัดงานเสวนาภายใต้หัวข้อ “เรื่องกล้วย ๆ ที่ไม่กล้วย: อาหารที่ถูกปาก ปลูกบนความทุกข์ยากของใคร?” โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักรู้และรณรงค์ให้การผลิตและบริโภคอาหารในประเทศไทยมีความยั่งยืนมากขึ้น ภายในงานมีการฉายภาพยนตร์เรื่อง Bananas!* ที่นำเสนอภาพของคนงานสวนกล้วย ในประเทศนิการากัว ที่ต้องรับสารเคมีเกษตรทุกวันเป็นระยะเวลาหลายปีและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของพวกเขา เกิดเป็นการฟ้องร้องบริษัทผลิตอาหารที่ใหญ่ที่สุดในโลก แม้ในประเทศไทยจะยังไม่มีกรณีดังเช่นในภาพยนตร์ แต่ปัญหาการใช้สารเคมีในอาหารก็เป็นปัญหาใหญ่ที่สร้างผลกระทบให้กับผู้บริโภคและเกษตรกรของไทยไม่ต่างกัน

หนึ่งปัจจัยที่ทำให้เรื่องสารเคมีในอาหารไม่ถูกให้ความสำคัญ เกิดจากระบบการตรวจสอบอาหาร คุณสุนทร คมคาย ผู้เคยทำอาชีพขายเคมีเกษตรและต่อมาได้ผันตัวมาทำเกษตรอินทรีย์ ชี้ว่า เมื่อประเทศไทยไร้การตรวจสอบอาหาร ก็เหมือนประเทศไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสารเคมี และทำให้ผลผลิตที่ปนเปื้อนสารเคมีวางขายอยู่ทั่วไปในท้องตลาด

“จริง ๆ แล้วกรณีอาหารในประเทศไทยก็คือ มันไม่มีมาตรฐานอะไรเลย ไม่มีการตรวจสอบ ยกตัวอย่างสมัยที่ผมทำงานเป็นเซลส์ ผักผลไม้ที่ส่งออกไปต่างประเทศ ส่งไปญี่ปุ่น ส่งไปยุโรป ตรวจไม่ผ่าน ปรากฏว่าผักผลไม้ที่ว่าก็วนกลับมาที่เมืองไทย ก็เอามาขายต่อในเมืองไทย และผักผลไม้ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ก็ไม่มีการตรวจสอบเหมือนกัน” คุณสุนทรกล่าว

เมื่อถามถึงสาเหตุของการใช้สารเคมี คุณสุนทรก็อธิบายว่า สำหรับเกษตรกรหากอยากจะทำรายได้มาก ๆ ก็ต้องปลูกพืชผักนอกฤดูกาลที่คนอื่นไม่ทำกัน ซึ่งจะทำให้ได้ราคาดีกว่า แต่การทำแบบนั้นก็ต้องแลกด้วยการใช้สารเคมีเยอะเช่นกัน ซึ่งตรงกับที่คุณกิตติวัฒน์ วสุรัฐเดชาพงศ์ เกษตรกรไร่ส้มจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหนองสามวัง จ.ปทุมธานี ที่ยกตัวอย่างกรณีของส้มที่วางขายนอกฤดูกาล ว่ามีการใช้สารเคมีในปริมาณที่มากเพื่อให้ได้ผลผลิตงอกงามและกำไรที่มากตามไปด้วย

“เดี๋ยวนี้มียาแก้อักเสบเข้าไปปะปนในส้มด้วยนะครับ เพราะว่าต้องฉีดเข้าต้นส้ม ไม่งั้นส้มจะกรีนนิ่ง แล้วลูกส้มก็จะร่วงหล่นโดยไม่ทราบสาเหตุ ชาวไร่ส้มเลยแก้ไขโดยการใช้ยาแก้อักเสบละลายน้ำ เอาสว่านเจาะ แล้วก็ฉีดเข้าลำต้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เราเห็นส้มวางขายนอกฤดูกาลเยอะ” คุณกิตติวัฒน์อธิบาย

แม้จะได้ผลผลิตที่สวยงามจากการใช้สารเคมี แต่เกษตรกรก็ต้องประสบปัญหาดินเสียเพราะการใช้สารเคมีที่มากจนเกินไป และต้องเจอกับปัญหาสุขภาพที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ใช้

“ในฐานะของคนที่อยู่ในสวน ก็ต้องรับสารเคมีก่อนผู้บริโภค พอฉีดยาปุ๊บ เขาก็จะได้กลิ่นยา ได้รับละอองยาที่มันฟุ้งอยู่ในอากาศ แล้วคนงานพวกนี้จะมีอาการเพลียอย่างเห็นได้ชัด บางคนก็อาเจียน แต่เขาจะพักเดี๋ยวเดียวแล้วก็ลงไปฉีดยาต่อ เพราะถ้าไปรับจ้างแบบอื่นจะได้เงินแค่ 200 บาท แต่ถ้ามาฉีดยาก็จะได้ 300 บาทต่อวันเลย” คุณกิตติวัฒน์กล่าว

ในช่วงหลังมานี้ คนทั่วไปเริ่มตระหนักถึงอันตรายจากเคมีเกษตรที่ใช้ในผลผลิตทางการเกษตร จึงเกิดเป็นความนิยมอาหารออร์แกนิก ที่ปราศจากเคมีเกษตรและปลอดภัยต่อผู้บริโภค แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือผักและผลไม้ออร์แกนิกเหล่านี้มีราคาที่สูงจนเกินอำนาจการซื้อของผู้บริโภคบางกลุ่ม

“จริง ๆ แล้วผักที่ปลูกไม่ได้แพง คนขายเองก็มีความสุขที่ได้ขายราคานั้น แต่พอมาถึงคนกิน ห่วงโซ่อุปทานมันยาวมาก แต่ละห่วงโซ่ก็ต้องการกำไร ทำให้ราคาของมันแพงมากจนเราเข้าไม่ถึง” คุณสุนทรแสดงความคิดเห็น

หนทางสร้างอาหารปลอดภัย

เมื่อปัญหาหลักของอาหารที่เห็นกันตามท้องตลาด คือเรื่องของความปลอดภัย ซึ่งส่งผลกระทบกับทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิต ดังนั้น การแก้ไขปัญหาจึงไม่ควรตกเป็นหน้าที่ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งคุณสุนทรมองว่าสิ่งที่ผู้บริโภคสามารถทำได้ ก็คือการสื่อสารความต้องการของตัวเองว่าไม่ต้องการผักผลไม้ที่มีสารพิษ ต้องการความปลอดภัย โดยอาจจะต้องเรียกร้องเรื่องนี้กับตลาดหลัก เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต ว่าไม่ยอมรับผักและผลไม้ที่มีสารตกค้าง เป็นต้น ขณะเดียวกัน เกษตรกรก็ต้องตระหนักถึงผลเสียของสารเคมี เลิกทำการเพาะปลูกที่พึ่งพิงสารเคมี และหันมาทำเกษตรอินทรีย์ซึ่งจะให้ผลผลิตที่ดีและไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายของเกษตรกร

“เกษตรอินทรีย์มันพูดหลายเรื่อง ไม่ได้พูดแต่เรื่องปลูกผักขายอย่างเดียว แต่พูดในมิติเชิงอนุรักษ์ เกษตรอินทรีย์เพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พูดถึงเรื่องการค้าที่เป็นธรรม เรื่องของคนกินและคนปลูกต้องได้รับความเป็นธรรม” คุณสุนทรกล่าว

ทางด้านคุณกิตติวัฒน์ก็เล่าว่า หลังจากเลิกใช้เคมีเกษตรในไร่ส้มของเขา คนงานในไร่ก็สุขภาพดี ยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่ต้องกินยา ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ขณะที่ ปัญหาราคาของสินค้าเกษตรอินทรีย์ ที่มีราคาแพงเพราะช่องทางการตลาดน้อยและไม่เป็นที่นิยมของผู้บริโภค เนื่องจากเข้าถึงได้ยาก คุณสุนทรมองว่า เกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ต้องรู้จักหาช่องทางการตลาดที่หลากหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทในชีวิตของคนทั่วไป การเข้าถึงสินค้าเกษตรอินทรีย์ก็จะง่ายยิ่งขึ้น และเมื่อผู้บริโภคสามารถเข้าถึงเกษตรอินทรีย์ได้มากขึ้น ราคาก็จะถูกลง เพราะเกษตรกรจะเริ่มหันมาปลูกเยอะขึ้นนั่นเอง

ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก

แม้เทคโนโลยีจะพัฒนาขึ้นและเปิดพื้นที่ให้กับผู้คนได้ติดต่อสื่อสารกันได้อย่างง่ายดายเพียงปลายนิ้ว ผู้ผลิตและผู้บริโภคสามารถสื่อสารกันได้โดยตรงมากกว่าในอดีต ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความต้องการของกลุ่มคนทั้งสองกลุ่มในสายธารอาหารโดยตรง อย่างไรก็ตาม แม้การเข้าถึงโซเชียลมีเดียจะมีแนวโน้มที่มากขึ้น “ซูเปอร์มาร์เก็ต” ยังเป็นสถานที่ที่คนเมืองพึ่งพามากที่สุดเมื่อเป็นเรื่องอาหารการกิน

หน้าที่ของซูเปอร์มาร์เก็ตจึงไม่ใช่เป็นสถานที่ขายอาหาร ผักและผลไม้เพียงเท่านั้น แต่ซูเปอร์มาร์เก็ตคือตัวกลางระหว่างผู้บริโภคและผู้ผลิตที่ควรมีบทบาทในการช่วยสื่อสารความต้องการของคนทั้งสองกลุ่ม อย่างไรก็ตาม แม้ว่าซูเปอร์มาร์เก็ตจะเป็นผู้ค้าที่มีบทบาทในการเป็นผู้สื่อสารที่สำคัญในสายธารอาหาร แต่ซูเปอร์มาร์เก็ตในประเทศไทยกลับยังไม่ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่นี้ของตัวเองเท่าที่ควร ซึ่งแตกต่างจากนโยบายของซูเปอร์มาร์เก็ตอื่น ๆ ทั่วโลกที่กระตือรือร้นและมุ่งสร้างความเข้าใจให้กับผู้บริโภคของตัวเอง โดยผลประเมินนโยบายสาธารณะด้านสังคม ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยปี 2562 ซึ่งจัดทำโดยกลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก ชี้ว่า

มีซูเปอร์มาร์เก็ตเพียง 3 รายที่มีผลประเมินดีขึ้นจากการปรับเพิ่มนโยบายและสื่อสารต่อสาธารณะ ในขณะที่ซูเปอร์มาร์เก็ตส่วนใหญ่ในประเทศไม่พบการเปลี่ยนแปลงในตัวนโยบายหรือแนวปฏิบัติ ตลอดจนขาดการสร้างความโปร่งใสผ่านการสื่อสารต่อผู้บริโภคในวงกว้าง นอกจากนี้พบว่ามีซูเปอร์มาร์เก็ต 1 รายที่กลับมีผลประเมินลดลง

คะแนนด้านสังคมของซูเปอร์มาร์เก็ตไทยยังต่ำ เน้นทำ CSR มากกว่าปรับนโยบาย

ในประเด็นเรื่องบทบาทของซูเปอร์มาร์เก็ตนั้น คุณสุนทรแสดงความคิดเห็นว่า สิ่งที่ซูเปอร์มาร์เก็ตควรทำ คือการสื่อสารกับผู้บริโภคว่าสินค้าที่พวกเขาได้รับไปนั้น มีที่มาที่ไปและกระบวนการผลิตเป็นอย่างไร ซึ่งสิ่งนี้เรียกว่า “การกินอย่างรู้ที่มา” นั่นคือการสร้างความชัดเจนให้กับผู้บริโภค พร้อมกับต้องตรวจสอบสายพันธุ์ของผักและผลไม้ รวมถึงที่มาของห่วงโซ่อุปทานของผลผลิตที่ส่งมาถึงมือของซูเปอร์มาร์เก็ต ทั้งนี้ ซูเปอร์มาร์เก็ตก็ต้องส่งเสริมและสร้างตลาดให้กับผลผลิตเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกรไทย พร้อมสื่อสารให้ความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์มากขึ้นด้วยเช่นกัน

“วันนี้อาหารที่เรากิน ผักที่เราทาน นับนิ้วน่าจะครบ มีอยู่ไม่กี่ชนิดหรอก แล้วผักที่ว่าไม่กี่ชนิดเหล่านี้ เป็นผักที่ไม่ใช่ผักท้องถิ่นของประเทศไทยเลย ก็คือ เป็นผักจีนเป็นหลัก ตามด้วยผักฝรั่ง ทั้ง ๆ ที่ประเทศไทยอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร มีความหลากหลายทางชีวภาพมากมาย มีผักเป็นร้อยชนิด แต่เราทิ้งภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษสั่งสมมา แล้วเราก็ไปกินอาหารไม่กี่ชนิดที่เกษตรกรบ้านเราผลิตได้ด้วยความยากลำบาก” คุณสุนทรอธิบาย

ซึ่งพ้องกับคุณกิตติวัฒน์ที่มองว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตควรให้ความรู้ที่ผู้บริโภคยังไม่รู้ เริ่มที่การประชาสัมพันธ์ โดยยกตัวอย่างของส้มเขียวหวาน ที่แม้ว่าผิวจะไม่สวยแต่ข้างในอร่อย กินแล้วปลอดภัย

“จริง ๆ แล้วส้มเคมี ส้มอินทรีย์ แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ส้มเคมีรูปลักษณ์ภายนอกจะสวยงาม น่ากินมาก เงาวาว คนรุ่นใหม่จะชอบมากเพราะสวย แต่คนโบราณชอบส้มที่ลูกดำ ๆ ผิวเขรอะ ๆ ข้างในหอมหวาน อร่อย เนื้อในแดง แต่มันไม่มีวางขายในท้องตลาดเลย” คุณกิตติวัฒน์กล่าวปิดท้าย

อาหารที่ปลอดภัย คือความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีบทบาทเป็นคนกลางเชื่อมโยงการสื่อสารของผู้ผลิตและผู้บริโภคเข้าหากัน ในส่วนของผู้ผลิตก็ต้องรับรู้และเข้าใจปัญหาการใช้สารเคมีที่จะส่งผลกระทบต่อตัวเองและผู้บริโภค ขณะเดียวกัน ทางฝั่งผู้บริโภคก็ต้องตระหนักรู้ถึงอันตรายของอาหารปนเปื้อนและส่งเสียงเรียกร้องคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับตัวเอง เพราะการได้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และปลอดภัยเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกคนในสังคมพึงมีพึงได้นั่นเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook